ออกอากาศแค่ตอนแรก แอบรักออนไลน์ ก็กลายเป็นละครในกระแสที่คนพูดถึง เรตติ้งเพิ่มขึ้นเรื่องย ๆ คนดูทั้งอินและฟินไปกับตัวละคร คนที่ดีใจไม่ต่างกับทีมงานละครก็คือคนเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ซึ่งรู้สึกผูกพันกับ แอบรักออนไลน์ เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นนวนิยายเรื่องแรกของเธอที่ได้รับการตีพิมพ์ และนั่นคือก้าวแรกสู่โลกการเขียนนวนอยายของร่มแก้ว (ฉัตรารัศมิ์ แก้วมรกต)
"ก่อนหน้านั้นมีเรื่องที่เขียนเสร็จแล้ว ส่งไปนิตยสารบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง แต่ไม่มีการตอบรัก ส่วนแอบรักออนไลน์เขียนเสร็จเอาไปลงให้คนอ่านในอินเตอร์เน็ต เขาก็ชอบกันนะทำให้เริ่มมั่นใจขึ้นนิดหนึ่งว่าเรื่องนี้น่าจะมีคนอ่านบ้าง เลยส่งมาที่สถาพรบุ๊คส์ แค่ 7-8 วันเอง บก. โทร.กลับมาแล้วบอกเดี๋ยวพิมพ์ให้ ดีใจมาก จนหนังสือออกมาทำให้รู้สึกว่าเราได้เริ่มก้าวแรกไปสู่เส้นทางนักเขียนที่เคยฝันไว้ คนอ่านที่เคยอ่านเรื่องเราในอินเตอร์เน็ต ก็มาขอแอดเป็นเพื่อนใน MSN และคุยเป็นเพื่อนกันจนถึงทุกวันนี้ เพราะนวนิยายเรื่องนี้"
แอบรักออนไลน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2549 ร่มแก้วเขียนช่วงที่เธอทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ซึ่งแรงบันดาลใจเกิดขึ้นจากการแชทในที่ทำงานนั่นเอง
"สมัยนั้นไม่มีไลน์ โปรแกรมที่ฮิตมากคือ MSN อยู่ในออฟฟิศเดียวกัน นั่งตรงข้ามกับเพื่อน ก็แชทคุยกัน แล้วที่ออฟฟิศเรามีหัวหน้าเป็นผู้หญิงดุ ๆ อายุ 30 กว่า มีเพื่อนทอมในออฟฟิศ ชอบแชทกับผู้หญิงแต่ใช้ชื่อเป็นผู้ขาย อีกอย่างคือรู้สึกว่าเวลาอ่านคำพูดที่ผ่านการแชทมันเป็นคนละอารมณ์จากคุยแบบเจอหน้า มันมีเสน่ห์ เราก็เอามาปะติดปะต่อ นึกพล็อตจากชีวิตใกล้ ๆ ตัว รู้สึกว่าน่าจะวุ่นวาย สนุกดี เป็นการเสนอสภาพสังคมตอนนั้นอยู่ในออฟฟิศเดียวกันแท้ ๆ ไม่คุยกันตรง ๆ นอกจากนั้นก็มีเรื่องความหลอกลวงเข้ามา แต่ไม่ได้เสนอในแนวซีเรียส เอาความกุ๊กกิ๊ก ความขำมาใส่เป็นหลัก"
หลังจากนวนิยายเรื่อง "แอบรักออนไลน์" ชื่อของร่มแก้วก็เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีผลงานเขียนออกมาเรื่อย ไ อย่างสม่ำเสมอ ผลงานของเธอหลายเรื่องทีเดียวที่ถูกนำไปสร้างเป็นละคร ไม่ว่าจะเป็น สุดแดนหัวใจ, ปฐพีเล่ห์รัก, 365 วันแห่งรัก, คุณชายปวรรุจ, ต้นรักริมรั้ว ฯลฯ เจ้าตัวบอกว่า คงเป็นเพราะโชคด้วยที่ทำให้นวนิยายของเธอมีผู้จัดสนใจ อีกอย่างต้องยกเครดิตให้กับทางสำนักพิมพ์ที่ช่วยโปรโมท รวมถึงการได้ทำงานเขียนเป็นทีมร่วมกับนักเขียนท่านอื่น ที่นักอ่านคุ้นเคยกันดีคือซีรีส์ สี่หัวใจแห่งขุนเขา และสุภาพบุรุษจุฑาเทพ
"บางทีอยากเขียนเรื่องไกลตัว อย่างแนวพีเรียดแต่ไม่กล้าเขียน เพราะรู้สึกยังยากไปสำหรับเรา แต่พอได้ทำงานเป็นทีมเราได้เรียนรู้จากคนรอบข้างมาก ๆ อย่างเขียนเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ซึ่งเราคิดว่าตัวเองเขียนไม่ได้แต่พอได้เขียนกับคนอื่น ทำให้ได้เห็นว่าคนอื่นทำงานกันยังไง มีวิธีคิด วิธีหาข้อมูลกันยังไง คนนี้มีวิธีคิดพล๊อตแบบนี้อีกคนคิดแบบละเอียดเลย มีการตอบคำถามตัวละครหมดบางคนมีวิธีไปหาข้อมูลจากหนังสือพงศาวดาร ทำให้เราได้เปิดกว้าง ได้เรียนรู้วิธีการทำงานของคนอื่น แต่การทำงานร่วมกันมีเรื่องระยะเวลาเข้ามา ปกติเป็นคนเขียนหนังสือช้า เพราะเขียนตามอารมณ์นิดหนึ่ง แต่พอต้องทำงานเป็นซีรี่ส์ ถ้าเผื่อเราเขียนไม่จบ คนอื่นก็ออกไม่ได้นะต้องกดดันตัวเองให้เขียนให้จบ ทำให้เรามีระเบียบวินัยทำงานเร็วขึ้น"
ปัจจุบันร่มแก้วทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์อยู่ที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ก่อนหน้านั้นเธอทำงานด้านประชาสัมพันธ์ให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่งานที่เธอเริ่มต้นหลังจากเรียนจบมาทางนิเทศศาสตร์ ก็คืองานนักข่าวหนังสือพิมพ์ซึ่งเอื้อกับการเขียนนวนิยายไม่น้อย
"การเขียนนวนิยายต้องมีประเด็นไม่ต่างอะไรกับการเขียนข่าว เราพาดหัวอะไร ไฉไลท์อะไร เขียนหนังสือก็ต้องเอาประเด็นขึ้นมาเลย แต่การนำเสนออาจไม่ได้เอามาบอกหมดทุกอย่างในช่วงแรก ๆ ต้องมีเทคนิคการเขียน มีซ่อนไว้เป็นระยะ การเป็นนักข่าวเราต้องหาข้อมูล ต้องสัมภาษณ์คน เราก็ได้ประสบการณ์ตรงนี้ การได้เจอคนเยอะ ๆ เวลาไปทำข่าว ได้เห็นอะไรเยอะกว่าคนอื่นเป็นอารมณ์ที่ได้ไปสัมผัส บางทีก็จับมาใส่ในนวนิยายบ้างสร้างเป็นพล็อตเรื่องบ้าง"
ร่มแก้วบอกว่า นวนิยายของเธอนั้นส่วนใหญ่เขียนถึงเรื่องใกล้ตัว พระเอก นางเอก เป็นคนธรรมดา ที่สามารถพบเห็นได้ในสังคม พระเอกไม่ใช่มหาเศรษฐี รวยล้นฟ้า นางเอกไม่ต้องสวยหวานแสนดี นวนิยายหลายเรื่องของเธอนางเอกไม่ได้เป็นคนสวยแต่มีมุมน่ารัก พระเอกไม่หล่อเพอร์เฟกต์ แต่มีเสน่ห์ ซึ่งความธรรมดาแบบน่ารักนี่เองที่จับใจคนอ่านได้
"แรงบันดาลใจในการเขียนขึ้นอยู่กับแต่ละเรื่องบอกไม่ถูกเหมือนกัน บางทีอ่านหนังสือเจอประโยคเดียวกระทบใจมาก ๆ ก็สามารถคิดต่อได้ หรือเจอสถานการณ์นิดหนึ่ง เออสนุกดีเนอะ ก็คิดต่อ อะไรที่เจอแล้วรู้สึกว่าไปต่อได้ จะเอาไปนอนคิดเรื่อย ๆ ถ้ามันไปต่อได้ก็เอามาเขียนเป็นเรื่องย่อก่อนสัก 4-5 หน้า ถ้าเขียนได้จบ ถึงจะเอามาทำเป็นนิยาย"
คือวิธีทำงานเขียนแบบคร่าว ๆ ของร่มแก้ว นักเขียนที่บอกเราเราว่า ยึดความสนุกเป็นที่ตั้งในการเขียน แต่จะต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า ในแต่ละเรื่องมีประเด็นอะไรต้องการบอกกับคนอ่าน ส่วนเป้าหมายในอาชีพนักเขียนนวนิยาย เธอฝันไว้ว่า เมื่อวัยเกษียณยังคงนั่งเขียนนวนิยายอยู่ และมีงานเขียนสักเล่มกลายเป็นนวนยายอมตะที่ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าก็ยังคงอ่านนวนิยายเล่มนั้นได้ตลอด
ขอขอบคุณข่าวประชาสัมพันธ์จากนิตยสาร