ตีแผ่ปมความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ใน เงื่อนวิปลาส กับ "เรณี"

บทสัมภาษณ์

               'คนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ' คำนี้ยังคงใช้ได้จนถึงปัจจุบัน และเห็นได้ชัดในนิยายเรื่อง เงื่อนวิปลาส ผลงานเรื่องล่าสุดของ เรณี ที่ครั้งนี้เธอได้นำประเด็นความซับซ้อนของปมในจิตใจมนุษย์มาบอกเล่าผ่านตัวหนังสือได้อย่างแยบยลและน่าติดตาม
 
"เรณีเคยเขียนนิยายสืบสวนลึกลับมาแล้วคือ นาฏกรรมอำพราง เรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องนั้นที่ฉาก ฉากในเรื่องแรกจะเกิดที่โรงละคร ส่วนฉากในเรื่องนี้จะเกิดที่คลินิกจิตเวช ความแตกต่างจะอยู่ที่การหาข้อมูล โดยเรื่อง นาฏกรรมอำพราง จะต้องค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำละครเวที ส่วนเรื่อง เงื่อนวิปลาส ต้องค้นข้อมูลเกี่ยวกับด้านจิตเวช และในเรื่อง เงื่อนวิปลาส จะมีตัวละครที่หลากหลายและมีความซับซ้อนของตัวละครมากขึ้น เพราะทุกคนมีปัญหาทางจิต ตัวละครจะค่อนข้างมีบุคลิกหลากหลาย มีการซ่อนตัวตนที่แท้จริงไว้ข้างใน"

 
เงื่อนวิปลาส เป็นเรื่องเกี่ยวกับหญิงสาวชื่อกชกรที่หายตัวไป โดยครั้งสุดท้ายเธอกลับไปที่คลินิกจิตเวช ชญตว์ เพื่อนรักของเธอจึงออกตามหา และระหว่างการตามหา เขาก็ได้ค้นพบความลับมากมายของคนหลายคนที่เกี่ยวโยงกันอย่างไม่น่าเชื่อ และที่สำคัญชญตว์ก็ได้สานสัมพันธ์กับมะพร้าว หญิงสาวที่มีปมด้านจิตใจ

 
"เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบกพร่องทางจิตในตัวบุคคลซึ่งก่อเกิดเป็นความขัดแย้งด้านความรัก กลายเป็นการฆาตกรรมและเรื่องเศร้า"
นักเขียนคนเก่งเล่าว่าเธอได้แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้มาจากสองอย่าง คือ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการสะกดจิตบำบัด ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องลึกลับและวิญญาณที่น่าสนใจ เลยคิดว่าถ้านำมาผูกเรื่องเป็นการตามหาตัวฆาตกรโดยใช้การสะกดจิตน่าจะสนุก อีกอย่างคือได้อ่านข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในสังคม 

 
"คนเรามักจะขาดความเข้าใจในกันและกัน และคิดถึงแต่ความต้องการของตัวเองเป็นหลักจนทำร้ายคนอื่น ทำให้อยากนำเสนอว่าทุกคนล้วนมีปัญหา และถ้าเราใส่ใจปัญหาของคนอื่นมากกว่าจะมองเห็นแต่ความเจ็บปวดของตนเอง เราก็จะลดความรุนแรงหรือการปะทะกันลงได้มาก"

 
เรณีเขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการบอกผู้อ่านว่า ปมด้านจิตใจหรือข้อบกพร่องทางอารมณ์เป็นเรื่องปรกติของมนุษย์ธรรมดา เพียงแต่เราจะเรียนรู้และจัดการกับมันอย่างไร การให้อภัยและเพิ่มความเข้าใจในตัวผู้อื่นว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้จะช่วยได้มาก

 
เรื่องที่สองคือการยอมรับในความแตกต่างและข้อบกพร่องของกันและกันโดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว เพื่อนำไปสู่การประนีประนอมร่วมมือแก้ปัญหาและไม่ใช้วิธีรุนแรงจนปัญหาบานปลายใหญ่โต

 
เรณียอมรับว่าการเขียนนิยายสืบสวนทำให้ค่อนข้างปวดหัว เพราะต้องสร้างปมและค่อยๆ คลายไปทีละจุด ถ้าเฉลยตอนท้ายอย่างไร ต้องมีการขมวดปมไว้ตั้งแต่ตอนต้น เทคนิคคือต้องรู้ตัวฆาตกรก่อน แล้วคิดว่าตัวเอกจะเจอหลักฐานและพยานอะไรที่นำไปสู่ตัวฆาตกร โดยที่คนเขียนต้องสวมวิญญาณตัวละครเอกที่ไม่รู้ว่าฆาตกรคือใคร ค่อยๆ ให้เขาได้ไปเจอกับคนหรือเหตุการณ์ที่จะคลี่คลายไปทีละจุด เหมือนจิกซอว์ที่ค่อยๆ ต่อทีละชิ้น จนเฉลยออกมาเป็นภาพ เวลาเขียนต้องทบทวนและแก้ไขหลายรอบ เพราะต้องดูว่าวางปมอะไรไว้ และถ้าต้องการให้เรื่องจบไปในทิศทางนี้ต้องวางปมอะไรเพิ่ม

 
"สำหรับตัวเองยอมรับว่าการเขียนเรื่องสืบสวนสอบสวนนั้นยากกว่าการเขียนเรื่องแนวอื่นที่เคยเขียนทั้งหมด เพราะต้องมีการวางพลอตหลายชั้นและต้องค่อยๆ เฉลยเพื่อให้คนอ่านอยากติดตาม และค่อนข้างเครียด เนื่องจากต้องเป็นเหมือนคนวางแผนฆาตกรรมเสียเอง 

 
"การหาข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องอ่านและค้นคว้าเกี่ยวกับการบำบัดทางจิตเวชการสะกดจิตว่าเขาทำกันอย่างไร มีทฤษฏีอะไรและนักจิตบำบัดทำงานอย่างไร

 
"ส่วนที่ง่ายคงจะเป็นเพราะว่าเคยเขียนเรื่องสืบสวนมาแล้ว พอจะรู้ว่าจะต้องวางโครงเรื่องแบบไหนค่ะ" 
คือความยากง่ายในการเขียนนิยายเรื่องนี้ของนักเขียนที่บอกว่าจะพักเรื่องซับซ้อนซ่อนปม มาลองเขียนแฟนตาชีแนววิทยาศาสตร์สนุกๆ บ้าง เพราะยังไม่เคยลองเขียนแนวนี้

 
"ฝากนักอ่านที่ชอบนิยายแนวลึกลับ สืบสวน แอบมีน่ากลัวกระตุ้นหัวใจเล็กๆ ด้วยนะคะ อ่านที่ให้สัมภาษณ์มาบางคนอาจจะกลัวว่าเรื่องเครียดไปหรือเปล่า ไม่ต้องกลัวนะคะ มีฉากกุ๊กกิ๊กของพระนางให้ได้อมยิ้มกันด้วย และเนื้อเรื่องก็สนุกให้ได้ตามลุ้นกัน ขออย่างเดียวอย่าเปิดตอนจบอ่านเฉลยกันก่อนแล้วกันนะคะ (หัวเราะ) 

 
"ขอบคุณนักอ่านที่ให้การสนับสนุนเรณีมาตลอดด้วยค่ะ" เรณีกล่าวทิ้งท้าย