ลุ้นไปกับปริศนาอันน่าระทึกใน ‘ม่อนเมิงมาง’ งานสืบสวนสอบสวนจาก กันต์พิชญ์

บทสัมภาษณ์

แนะนำผลงานให้แก่ผู้อ่านที่ยังไม่เคยรู้จักผลงานของ ‘กันต์พิชญ์’
‘ม่อนเมิงมาง’ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงรอยต่อของชีวิตพอดีเลยครับ หลังจากเรียนจบและเพิ่งกลับกลับมาเมืองไทยได้ไม่นาน ก็ประจวบเหมาะกับทางเว็บนิตยสารออนไลน์ ‘อ่านเอา’ ได้ร่วมกับ ‘ช่องวัน31’ จัดโครงการช่องวันอ่านเอาขึ้น เพื่อเฟ้นหาพลอตและเนื้อเรื่องที่มีความหลากหลายทั้งวัฒนธรรมและความชำนาญ โดยโจทย์มีอยู่ว่าต้องสร้างความต่างที่แปลกใหม่ ทำให้วงการละครไทยไม่น่าเบื่อและสร้างสรรค์ ทำให้คนดูได้พัฒนามุมมองและความคิดให้กว้างไกลจากแนวละครเดิมๆ เมื่อเห็นโจทย์ที่ทางคณะกรรมการได้วางเอาไว้แล้ว ผมเลยตั้งใจจะส่งพลอตเข้าประกวดตั้งแต่ตอนนั้นเลยครับ”

การเขียนเรื่อง ‘ม่อนเมิงมาง’ มีความยาก-ง่ายอย่างไรบ้าง?
“ยากมากครับ (ตอบโดยไม่ต้องคิด) ตอนวางพลอตก็วางเอามันครับ เพราะว่าการประกวดในโครงการช่องวันอ่านเอานั้นต้องผ่านด่านพลอตไปให้ได้ก่อน ซึ่งจำนวนนักเขียนที่ส่งพลอตเข้าประกวดก็มีตั้งเกือบ 500 คน และนักเขียนสามารถส่งได้เพียงคนละหนึ่งเรื่องเท่านั้น ไม่มีพลอตสำรองให้แก้ตัวเลย เพราะถ้าพลอตไม่ผ่านเข้ารอบสอง นั่นหมายความว่านักเขียนไม่สามารถส่งนวนิยายฉบับเต็มเข้าประกวดได้

ตอนแรกผมจึงไม่คิดว่าตัวเองจะได้เข้ารอบกับเขาหรอกครับ เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่นักเขียนมืออาชีพและเก่งๆ เต็มไปหมด แต่พอผลออกมาว่า ม่อนเมิงมาง’ เป็น 1 ใน 52 เรื่องที่เข้ารอบสอง แถมกรรมการยังต้องคัดนวนิยายฉบับสมบูรณ์ทั้ง 52 เรื่องนี้ให้เหลือผู้ชนะไม่กี่เรื่องอีกต่างหาก นั่นละครับผมถึงกับนอนก่ายหน้าผากอยู่หลายคืนเลย

อย่างที่บอกว่าตอนวางพลอตก็สนุกดีอยู่หรอก แต่พอลงมือเขียนนี่สิ อาการปวดไล่ตั้งแต่ตับไปจนถึงก้านสมองเลยละครับ เพราะโจทย์ของโครงการเองก็บอกอยู่ว่า ‘เนื้อเรื่องต้องมีความหลากหลายทั้งวัฒนธรรมและความชำนาญ’ เมื่อกวาดตาอ่านพลอตของตัวเองอีกรอบ ผมก็คิดอยู่ในใจ...ตายละวา ตายแน่ ๆ นี่ผมเซ็ตฉากนวนิยายเอาไว้ในสมัยเมื่อเกือบร้อยห้าสิบปีก่อน แล้วคนสมัยนั้นเขากินอะไร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เครื่องแต่งกายเป็นแบบไหน ค่านิยมเป็นอย่างไร ฯลฯ คำถามทั้งหลายก็ประเดประดังเข้ามาไม่หยุด

จริงอยู่ช่วงที่วางโครงเรื่องได้อ่านปมปัญหามาคร่าวๆ บ้างแล้ว แต่เวลาเขียนก็ต้องเอาตัวเองไปอยู่ในยุคนั้นให้ได้เสียก่อน ไม่อย่างนั้นก็เขียนไม่ออกแน่ๆ ครับ

ผลที่ได้คือต้องค้นทุกอย่างเท่าที่พอจะมีหลักฐานให้ค้นได้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อค้นได้ข้อมูลมาก็ใช่ว่าจะนำมาใช้ได้เลย เพราะบางประเด็นนักวิจัยแต่ละท่านก็ยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น แค่ต้องการคำบอกเวลาเพียงแค่คำเดียว ก็ต้องค้นไปดูการนับเวลาคนล้านนาซึ่งมีบันทึกไว้ใน ‘พับสาของแสนอินทอักษร’ หรือตอนผมจะเขียนถึงที่ประทับของเจ้าผู้ครองเมือง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ทรงอธิบายเรื่อง ‘คุ้มหลวง’ ไว้ใน ‘บันทึกความเห็นเรื่องคุ้มหลวงและหอคำ’ ว่า สถานที่ซึ่งภาษาไทยเหนือเรียกว่า ‘คุ้ม’ ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ‘วัง’ เมื่อกล่าวถึงคำว่า ‘คุ้มหลวง’ จึงหมายความถึง วังหลวงหรือวังอันเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครองเมือง แต่ที่น่าสนใจคืองานศึกษาของวรชาติ มีชูบท ได้ชี้ว่า ที่ประทับหรือที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ไม่ได้เรียกว่า ‘คุ้มหลวง’ แต่เรียกว่า ‘เวียงแก้ว’ เป็นต้น

‘ม่อนเมิงมาง’ จึงเป็นงานเขียนที่ผมต้องชั่งน้ำหนักในหลักฐานและงานวิจัยค่อนข้างมาก ไม่อย่างนั้นจะโดนผู้อ่านติเตียนเอาได้ครับ”

นิยามความรักของพระเอก-นายเอกเรื่องนี้
“ความรักของพระเอก-นายเอกของเรื่องนี้เป็นไปอย่างเรียบง่ายครับ แม้แรกเริ่มนายเอกจะดูแลพระเอกที่ได้รับบาดเจ็บเพราะตนเป็นหมอยา แต่ระหว่างหนีเอาชีวิตรอดจากการถูกไล่ล่า ความรู้สึกผูกพัน ความห่วงหาอาทร ก็ก่อเกิดเป็นความรู้สึกดีๆ ขึ้นมา ฉะนั้นความรักของ ‘กานฟ้า’ กับ ‘ธายุ’ จึงเป็นความรักที่ผู้ชายคนหนึ่งต้องการให้ผู้ชายอีกคนมีความสุขโดยไม่มีนิยามใดมาจำกัด ก็เท่านั้นเองครับ”

ชอบตัวละครตัวไหนในเรื่องนี้มากที่สุด เพราะอะไร?
“จริงๆ ชอบ ‘เป็งคำ’ ครับ เพราะเธอกล้าที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม จารีต และกรอบสังคม เพราะผมเองก็เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพทางเพศ การตัดสินใจของแต่ละบุคคลโดยไม่คำนึงถึงเพศ ความเสมอภาคทางด้านโอกาสทุกโอกาส และการปฏิบัติต่อผู้อื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันครับ”

มีข้อคิดที่อยากส่งผ่านนิยายเรื่องนี้ไหม?
“ผมขอยกตัวอย่างเนื้อความในเรื่อง ซึ่งผมยึดเป็นแก่นของ ‘ม่อนเมิงมาง’ ครับ ‘เจ้าอ้ายช่างคล้ายดอกพยับหมอกบอบบางสีอ่อนหวานที่เพิ่งเกิดใหม่ในบ่อโคลนอันห่มคลุมด้วยสายหมอกหนาทึบ ดอกอ่อนสวยสะอาดเยาว์วัยถลำตัวเข้าไปในโลกที่ผู้คนต่างแย่งชิงอำนาจเพียงเพื่อเติมเต็มความหิวกระหายของตนเท่านั้น’

เอกลักษณ์ของนิยายเรื่องนี้คืออะไร?
“ผมคิดว่าเอกลักษณ์ของนวนิยายเรื่องนี้คือ วรรณศิลป์และความกล้าบ้าบิ่นที่ต้องการจะเขียนให้ฉีกขนบไปจากเดิมครับ เพราะเมื่อหันไปดูบนแผงหนังสือในหมวดนวนิยายพระเอก-นายเอกบนแผงแล้ว ยังไม่เห็นเรื่องที่ใช้ประวัติศาสตร์โบราณมาเป็นพื้นหลังมากนัก และตัวผมเองก็อยากให้ทั้งนักอ่านรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้อ่านนวนิยายที่มีวรรณศิลป์ดี หลากหลาย genre โดยไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะหยิบขึ้นมาอ่านครับ”

ความสัมพันธ์ของพระเอก-นายเอกเปรียบเทียบได้กับอะไร?
“เป็นความสัมพันธ์แบบ ‘ช้างเท้าหน้าคู่’ ครับ (หัวเราะ) ขอเพียงพระเอกอ้าปาก นายเอกก็เห็นลิ้นไก่รู้ไส้รู้พุงได้ทันที ยิ่งไปกว่านั้นนายเอกเขายังไม่ยอมเดินตามรอยเท้าใครง่ายๆ ด้วยครับ ต้องเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กันไปเท่านั้น”

ผลงานเรื่องต่อไปอยากเขียนแนวไหน?
“ผลงานที่กำลังลงให้อ่านออนไลน์อยู่ตอนนี้คือ ‘วายัง’ ครับ เป็นแนวปัจจุบัน สืบสวนสอบสวน มีพิธีกรรมโบราณร่วมด้วย กระแสตอบรับเป็นที่น่าพอใจมากเลยละครับ เห็นแต่ละคอมเมนต์แล้วหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลย ส่วนเรื่องต่อๆ ไปก็อยากสลับเขียนฉากหลังเป็นทั้งแนวปัจจุบันและอิงประวัติศาสตร์ไปเรื่อยๆ

ส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบเขียนแนวสืบสวนสอบสวนครับ แต่ใจจริงก็อยากเขียนสลับกับแนวรักกุ๊กกิ๊กบ้าง ดราม่าน้ำตาแตกบ้าง เพราะเดี๋ยวนักอ่านจะเบื่อกับแนวเดิมๆ ของผมไปเสียก่อน และแน่นอนว่างานเขียนของผมทุกเรื่องจะคงสำนวนและวรรณศิลป์อันแสดงถึงตัวตนของผมเอาไว้เสมอครับ”

ฝากผลงาน
“ในที่สุด ‘ม่อนเมิงมาง’ ก็ได้ออกเป็นรูปเล่มให้นักอ่านทุกท่านได้ลองหยิบจับขึ้นมาอ่านกันแล้ว ยังไงก็อยากฝากให้ทุกท่านได้อ่านก่อนดูละครทางช่องวัน31 กันด้วยนะครับ และถ้าอยากพูดคุย หรือกรุณาสละเวลาคอมเมนต์นวนิยายกับนักเขียนตัวน้อยๆ คนนี้ ก็สามารถเข้าไปที่เฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์ได้เลยครับผม”

ติดตามความสนุกใน ม่อนเมิงมาง ได้แล้ววันนี้ ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ และสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์สถาพรบุ๊คส์ www.satapornbooks.com หรือดาวน์โหลดอีบุ๊กได้ที่ Application : Satapornbooks, MebNaiin AppHytextOokbeeFictionlogSE-ED และ comico

ร่วมรีวิวหนังสือและพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ นักอ่านได้ที่แฮชแท็ก #ม่อนเมิงมาง