‘เพียงดวงใจ’ มีที่มาที่ไปหรือแรงบันดาลใจจากอะไร?
ต้องเกริ่นก่อนว่าพระ-นางในเรื่อง ‘เพียงดวงใจ’ (คุณพี่หมื่นและแม่ปราง) เคยรับบทรองในนิยายเรื่องแรกของผู้เขียนค่ะ แต่ผู้เขียนรู้สึกว่าตัวละครทั้งสองนี้สามารถหยิบยกมาเล่าเรื่องต่อได้ มีปมปัญหาที่น่าสนใจซึ่งอยากนำมาถ่ายทอดต่อ โดยเฉพาะในมุมของ ‘แม่ปราง’ ที่ค่อนข้างจะไม่เป็นที่เอ็นดูของนักอ่านในตอนนั้น สืบเนื่องจากการกระทำบางอย่างที่อาจจะทำไปโดยไม่ได้ทบทวนให้ดีก่อน ส่วน ‘คุณพี่หมื่น’ ก็มีปมฝังใจในเรื่องของความรักที่ไม่สมหวัง คนสองคนที่มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของความสัมพันธ์จะสามารถกลับมาลงเอยกันได้อย่างไร จึงเป็น point สำคัญที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจเปิดเรื่อง ‘เพียงดวงใจ’ ขึ้นมาค่ะ
แนะนำเรื่องนี้ให้แก่นักอ่านที่ยังไม่เคยอ่านผลงานของ ‘ฟ้าหลังบ้าน’
‘เพียงดวงใจ’ เป็นนิยายรักที่มีฉากหลังเป็นยุคกรุงศรีอยุธยา หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 1 โดยเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างขุนศึกหนุ่มกับนางรำสาวชาวสองแควที่เริ่มต้นด้วยความขัดแย้ง ก่อนจะก่อเกิดเป็นความรักและผูกพันอย่างช้าๆ ผ่านการร่วมฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาทดสอบหัวใจ ซึ่งในระหว่างทางจะมีการสอดแทรกปมปัญหาเกี่ยวกับมิตรภาพ และความละโมบของคนที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของตัวเองเข้ามาเป็นสีสันเล็กๆ น้อยๆ ด้วยค่ะ
คิดว่าอะไรคือส่วนที่ยากที่สุดในการเขียนเรื่องนี้?
การถ่ายทอดความคิดของตัวละครค่ะ โดยเฉพาะตัวร้ายในเรื่องที่คงจะเรียกเขาเป็นผู้ร้ายได้อย่างไม่เต็มปากนัก อย่างที่บอกว่าทุกตัวละครต่างมีเหตุผลที่ถูกต้องที่สุดเป็นของตัวเอง แต่ในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น การยึดถือความคิดตัวเองเป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียวอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะถึงเสียงความคิดของตัวเองจะเป็นเสียงที่เราพึงรับฟังเป็นเสียงแรก แต่เสียงความคิดของผู้อื่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทัดทานให้เราไม่หลงเดินทางผิดได้ค่ะ
ดูเหมือนผู้เขียนจะชอบแนวพีเรียด เพราะอะไร?
ตอนเด็กๆ เติบโตมากับภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ค่ะ ช่วงเข้าฉายในโรงหนังที่บ้านก็จะพาไปดู พอมีแผ่นวางจำหน่ายก็ซื้อมาเปิดอีกจนกลายเป็นความเคยชิน ที่จำความได้ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่บ้านจะชอบพาไปเที่ยวอยุธยาด้วย แต่ตอนนั้นยังเด็กมาก ประมาณประถมเองค่ะ เลยยังไม่ได้เข้าใจมากเท่าตอนนี้
พอโตขึ้นอีกหน่อย ช่วงมัธยมที่โรงเรียนจะมีชมรมอ่านการ์ตูนประวัติศาสตร์ค่ะ จุดเริ่มต้นที่ปลูกฝังให้รักการอ่านหนังสือหรือบทความแนวๆ นี้คงจะเริ่มจากตรงนั้นด้วย มารู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นความหลงใหลไปแล้ว เลยเกิดความคิดที่อยากจะลองถ่ายทอดเรื่องราวในแบบฉบับของตัวเอง อยากเห็นภาพเหล่านั้นออกมาโลดแล่นเป็นตัวอักษร จึงเกิดเป็นผลงานในหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา และ ‘เพียงดวงใจ’ ก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ
นิยามความรักของพระเอก-นางเอกเรื่องนี้
อาจจะฟังดู cliché แต่ความรักของคุณพี่หมื่นกับแม่ปราง คือ “ความอดทน” ค่ะ อดทนต่ออุปสรรคที่ถาโถมเข้ามา อดทนให้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ความมั่นคงของหัวใจ การดำเนินเรื่องเลยคล้ายจะมีบททดสอบอยู่เป็นระยะ เมื่อผ่านด่านหนึ่งไปได้ ก็มีด่านใหม่เข้ามาให้พระ-นางของเราช่วยกันฟันฝ่า เรียกได้ว่าบีบหัวใจและชวนลุ้นตลอดทาง จนเคยมีนักอ่านทางออนไลน์บอกลูกหมูว่า “เรื่องนี้จะมีแต่ทุกข์ ไม่มีสุขเลยใช่ไหมคะ”
ถ้าหากมองว่านี่คือบันทึกหน้าหนึ่งของชีวิต ที่ในแต่ละวันมันคงไม่ได้สุขหรือทุกข์ตลอดไป อุปสรรคจึงเป็นเหมือนครูที่เข้ามาสอนให้รู้คุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันค่ะ :)
สิ่งที่ท้าทายในการเขียนเรื่องนี้คืออะไร?
คงต้องแบ่งเป็น 2 พาร์ทด้วยกันนะคะ พาร์ทแรกคือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ค่ะ เป็นที่ทราบกันดีว่าตรงนี้จะค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก ลูกหมูเลยพยายามทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้พอเห็นภาพวิถีชีวิตในยุคสมัยนั้น เวลาถ่ายทอดออกมาในงานเขียนจะได้ไม่ขัดแย้งในความรู้สึกนักอ่านจนเกินไป แต่คงจะไม่ได้ลงลึกถึงเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้น จึงมีบางส่วนที่เสริมแต่งตามจินตนาการเพื่อเพิ่มอรรถรสในการดำเนินเรื่อง และจะเน้นย้ำกับนักอ่านเสมอว่าอยากให้อ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ลูกหมูจึงไม่เรียกนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ แต่ขอจำกัดความว่าเป็นนิยายรักที่มีฉากหลังเป็นยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยา คงจะเหมาะสมกว่าค่ะ
ส่วนตัวแล้วลูกหมูไม่ใช่นักเขียนอาชีพ อาจจะเรียกว่าเป็น “คนที่รักการอ่านและการเขียนคนหนึ่ง” ประกอบกับจบการศึกษาในสาขากฎหมาย ฟังดูแล้วค่อนข้าง contrast กันมากๆ เลยใช่ไหมคะ แต่ลูกหมูมีความเชื่อส่วนตัวว่า ไม่ว่าจะเป็นงานกฎหมายหรืองานประพันธ์ ทุกอย่างมีพื้นฐานเดียวกันคือต้องผ่านการค้นคว้าหาข้อมูลและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่นำเสนอออกไป เพียงแต่ในส่วนของงานประพันธ์อาจจะสามารถเสริมแต่งจินตนาการเข้าไปได้ ตรงนี้จึงเป็นข้อแตกต่างจากงานกฎหมายที่มีความเคร่งครัดมากกว่า
พารท์ 2 ที่มองว่าท้าทายคือการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครค่ะ มีทั้งความขัดแย้งในตัวเองและความขัดแย้งต่อตัวละครอื่น การลดอัตตาของตัวเองลงและเปิดใจสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ
คิดว่า ‘เพียงดวงใจ’ ให้แง่คิดอะไรแก่ผู้อ่านบ้าง?
จริงๆ มีหลายประเด็นเลยค่ะ แต่ขอหยิบยกมาในประเด็นที่ลูกหมูชอบมากที่สุด อย่างที่ทิ้งท้ายไว้ในคำตอบเมื่อกี้นะคะ
ส่วนตัวเชื่อเหลือเกินว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมากๆ บางครั้งความเข้าใจผิดในเรื่องเล็กน้อย อาจนำไปสู่รอยร้าวในระยะยาวได้ ส่งผลให้เราตัดสินคนคนหนึ่งจากความคิดของเราฝ่ายเดียวแล้วตั้งกำแพงใส่ เหมือนคุณพี่หมื่นที่เคยปักใจเชื่อว่าแม่ปรางนั้นแสนร้ายและเอาแต่ความพึงพอใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง ทั้งๆ ที่เคยได้พูดจากันแค่ไม่กี่ครั้ง จนได้มีโอกาสมาเรียนรู้นิสัยใจคอจากการอยู่ใกล้ชิด จึงค่อยๆ เปลี่ยนความคิดนั้นไป แต่กว่าจะคิดได้ก็เกือบสายเกินไปเหมือนกันค่ะ ตรงนี้ขออนุญาตอุบไว้ให้ติดตามต่อในเล่มนะคะ
ส่วนแม่ปรางก็มีประเด็นทางครอบครัวที่สอดแทรกไว้เล็กน้อย อาจจะพอทำให้เข้าใจวิธีคิดและนิสัยของแม่ปรางขึ้นมาบ้าง ว่าทำไมถึงเลือกแสดงออกด้วยวิธีแบบนี้
“บางคราเราอาจแสดงความรักในรูปแบบที่ต่างกันออกไป แลบางครา เราก็มักนึกถึงคนไกล ก่อนถนอมน้ำใจคนที่อยู่ใกล้ตัว ด้วยคิดว่าเป็นคนที่เข้าใจกันโดยมิต้องเอ่ยถ้อยคำ ฤๅแสดงการกระทำให้มากความ...”
ประโยคนี้เป็นประโยคที่ลูกหมูชอบมากๆ เลยค่ะ ฝากติดตามต่อในเล่มเช่นกันนะคะ
ฝากผลงาน
ขออนุญาตฝากนิยายเรื่อง ‘เพียงดวงใจ’ ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจของนักอ่านด้วยนะคะ เป็นผลงานอีกชิ้นที่ตั้งใจมากๆ
การเดินทางอาจจะไม่ได้ราบรื่นหรือสุขใจตั้งแต่ต้น แต่อยากขอให้เอาใจช่วยคุณพี่หมื่นและแม่ปรางจนถึงปลายทางไปด้วยกัน จนถึงตอนนั้นเชื่อว่านักอ่านคงจะได้รับอะไรกลับไปไม่มากก็น้อยแน่นอนค่ะ :)
ติดตามความสนุกใน เพียงดวงใจ ได้แล้ววันนี้ ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์สถาพรบุ๊คส์ www.satapornbooks.com หรือดาวน์โหลดอีบุ๊กได้ที่ Application : Satapornbooks, Meb, Naiin App, Hytext, Ookbee, Pinto E-Book, SE-ED และ comico
ร่วมรีวิวหนังสือและพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ นักอ่านได้ที่แฮชแท็ก #เพียงดวงใจ
...