‘แด่...เธอที่รัก’ เรื่องราวความรักผ่านอนุสรณ์สถานแห่งความประทับใจทั้งสี่แห่ง

บทสัมภาษณ์

อนุสรณ์สถานที่ต่างๆ ย่อมมีเรื่องราวความเป็นมา คราวนี้พิมพ์คำสำนักพิมพ์ผุดโพรเจ็กต์ใหม่ในคอนเซปต์อนุสรณ์สถานแห่งความรักในชื่อ ‘แด่...เธอที่รัก’ นวนิยาย 4 เรื่อง 4 นักเขียน 4 อรรถรส ได้แก่ ‘ทัชมาฮาล...ตราบคงคาคู่หิมาลัย’  โดย ลัลล์ลลิล ‘มิราเบล...ตราบคีตาบรรเลง’  โดย คณิตยา อบูซิมเบล...ตราบดินสิ้นกาล’ โดย ชมจันท์ และ ‘เคลลี คาสเซิล...ตราบชีวาวาย’ โดย พิมพิสุธญ์  เรามาคุยกับพวกเธอถึงนวนิยายชุดนี้กันค่ะ

จุดเริ่มต้นของนวนิยายชุดนี้
ชมจันท์ :  เริ่มต้นจากที่เราไปพบเว็บไซต์ที่เล่าถึงสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่ละที่มีเรื่องราวความรักที่น่าซาบซึ้ง ประทับใจ เลยปิ๊งขึ้นมาว่าน่าจะเอาอนุสรณ์สถานและตำนานเหล่านี้มาผูกเรื่องเข้าด้วยกันใหม่ ทีนี้ถ้าจะเขียนแค่เล่มเดียว เราก็เสียดาย เพราะมีสถานที่หลายแห่งมากที่มีเรื่องราวตำนานเก๋ๆ เราก็เลยไปชวนพี่ๆ นักเขียนที่รู้จักสนิทกัน ทั้งคุณพิมพิสุธญ์ คุณคณิตยา คุณลัลล์ลลิล ว่าลองมาเขียนดูไหม ปรากฏทุกคนก็ตื่นเต้น ชอบธีมนี้กันมาก ก็แยกย้ายกันไปหาอนุสรณ์สถานที่ตัวเองชอบ แล้วเอาพลอตที่ตัวเองคิดได้มาเมาท์สู่กันฟัง โอ้โห...ตอนฟังเขาเล่ายิ่งสนุกใหญ่ ในธีมเดียวกัน แต่ทุกคนคิดนิยายที่มีแนวแตกต่างกันได้ถึง 4 เรื่อง ทำให้อยากอ่านขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเลย

 

ทัชมาฮาล...ตราบคงคาคู่หิมาลัย โดย ลัลล์ลลิล

 

แต่ละเรื่องเป็นแนวไหนบ้าง?
ชมจันท์ : เน้นธีมหลักเกี่ยวกับความรักของผู้ชายคนหนึ่งที่มีต่อผู้หญิงคนหนึ่ง มันเป็นความรักที่ลึกซึ้ง มั่นคง ยิ่งใหญ่ มีการเสียสละ ความเข้าอกเข้าใจ คอยปกป้องคนที่รัก เหมือนกับตัวอนุสรณ์ที่มีชื่อเสียงในแต่ละแห่ง เรานำตำนานมาผูกร้อยเรียงเข้ากับพลอตที่มี อาจมีรายละเอียดที่เพิ่มเติมมากขึ้น เน้นให้นวนิยายทั้ง 4 เล่มมีอรรถรสความสนุกอย่างครบถ้วน คือ ได้รับความซาบซึ้ง ความประทับใจ ความตื่นเต้น ความลุ้นระทึก และซ่อนเงื่อน มีพ่อแง่แม่งอนกันบ้าง สุดท้ายจบลงด้วยความอิ่มเอมใจ เราตั้งใจสร้างนวนิยายรักโรแมนติกชุดนี้ขึ้นมาเพื่อผู้หญิงทุกคนที่มีความคิดว่า อยากเป็นคนที่โชคดีได้เจอกับผู้ชายที่มีความรักมั่นคง เพราะเรารู้สึกว่าลึกๆ ในใจของผู้หญิงทุกคนไม่ได้ต้องการอะไรมากนักหรอก แค่ได้พบคนดีๆ ความรักดีๆ ก็พอแล้ว

 

มิราเบล...ตราบคีตาบรรเลง โดย คณิตยา

สาเหตุที่เลือกอนุสรณ์สถานนี้
พิมพิสุธญ์ : หลังจากตกลงร่วมทำโพรเจกต์นี้แล้วก็เริ่มค้นหาสถานที่แห่งความรักที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก กระทั่งพบข้อมูลการจัดอันดับปราสาทที่เจ้าของสร้างขึ้นเพื่อคนรักในเว็บไซต์หนึ่งที่มีการจัดไว้รวม 10 อันดับ และหนึ่งในนั้นก็มี Kellie’s Castle รวมอยู่ด้วย สาเหตุที่เลือกปราสาทเคลลีก็เพราะว่าอยู่ในประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเราเอง ประกอบกับเมื่อได้อ่านประวัติของ วิลเลียม เคลลี สมิธ ชายชาวสกอตแลนด์ ผู้ก่อสร้างปราสาทหลังนี้ก็ยิ่งเกิดความประทับใจในเรื่องราวความรักที่เขามีต่อหญิงสาวนามว่าแอ็กเนส ที่รู้จักกันมาแต่เยาว์วัยกระทั่งได้แต่งงานกัน เขาจึงต้องการสร้างคฤหาสน์หลังงามเพื่อเธอและบุตรธิดาที่ติดตามมาอาศัยอยู่ด้วยกันในมลายา แต่สุดท้ายเขาก็ทำไม่สำเร็จเพราะเสียชีวิตลงด้วยโรคนิวมอเนียไปเสียก่อน ทิ้งปราสาทแห่งความรักหลังนี้ไว้เบื้องหลังอย่าน่าเสียดาย กระทั่งเกิดเป็นเสียงร่ำลือว่า เคลลี ยังไม่ยอมไปไหน เขายังคงอยู่เฝ้ารักษาปราสาทหลังนี้ เพราะมีคนเคยเห็นอยู่บ่อยๆ ว่าเขายังคงยืนคอยภรรยาสุดที่รักอยู่ที่เฉลียงทางเดินบนชั้นสอง

คณิตยา : เราทั้ง สี่คนพยายามกระจายอนุสรณ์สถานแห่งความรักให้ครอบคลุมหลายทวีปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เมื่อคุณพิมพิสุธญ์เลือกปราสาทเคลลี ซึ่งอยู่ในประเทศมาเลเซีย และคุณลัลล์ลลิลเลือกทัชมาฮาล ซึ่งอยู่ในอินเดีย ซึ่งทั้งสองท่านมีสถานที่แห่งนี้ในดวงใจไว้ก่อนแล้วซึ่งเป็นความตั้งใจก่อนที่จะมีโพรเจกต์นี้ ขณะที่คุณชมจันท์เลือกอบูซิมเบล ในอียิปต์ ฉะนั้นพวกเราทั้งสี่จึงเห็นพ้องกันว่าในส่วนของคณิตยา ควรจะเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักที่อยู่ในทวีปอื่นที่ไม่ใช่เอเชียเพื่อกระจายความหลากหลาย พวกเราก็มาช่วยกันคิดว่าแถบยุโรป อเมริกา อเมริกาใต้ หรืออังกฤษ มีอนุสรณ์สถานแห่งความรักอะไรที่น่าสนใจบ้าง ช่วยกันคิดช่วยกันค้นข้อมูล สุดท้ายก็มาลงตัวที่มิราเบลล์ ซึ่งสวมเข้ากับพล็อตเดิมที่คณิตยามีอยู่ในใจไว้ก่อนอยู่แล้ว

ลัลล์ลลิล :  ตั้งแต่พี่ป๊อป (ชมจันท์) ชวนเข้าร่วมงานเขียนชุดนี้ เมื่อได้ฟังธีมของโพรเจกต์แล้วก็รู้ทันทีเลยว่าต้องมีทัชมาฮาลด้วยแน่ ๆ เพราะเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักชื่อก้องโลก ไม่มีใครไม่รู้จัก และแต่เดิมผู้เขียนก็มีความคิดอยากจะเขียนนิยายเกี่ยวกับทัชมาฮาลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากนิยายเรื่องก่อน ๆ ที่ผู้เขียนเลือก 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคต่าง ๆ รวมถึงมรดกโลก นำมาเรียงร้อยเรื่องราวเป็นนิยายขึ้นมา ได้แก่ เรื่องดวงใจแห่งโรม (โคลอสเซียม) ,โรม ณ ที่นี้มีรัก (ปอมเปอี) , มนตราบาบิโลน (สวนลอยบาบิโลน) และคิดไว้ว่าจะเขียนทัชมาฮาลต่อเป็นเรื่องที่ 4 แต่ทิ้งไว้นานหลายเดือนจนกระทั่งพี่ป๊อปชักชวนมาทำโพรเจกต์นี้ จึงบอกพี่ ๆ ไปว่าเรามีความคิดจะเขียน มีพลอตคร่าว ๆ เกี่ยวกับทัชมาฮาลอยู่แล้ว พี่ ๆ จึงยกทัชมาฮาลให้อยู่ในความรับผิดชอบของเรา

ชมจันท์ : ที่เลือกวิหารอบูซิมเบลขึ้นมาเขียน เพราะประทับใจในตำนานความรักขององค์ฟาโรห์รามเสสที่สองกับพระนางเนเฟอร์ตารีเป็นพิเศษ ปกติวิหารในอียิปต์โบราณจะสร้างขึ้นเพื่อเหตุผลที่ว่า ต้องการสรรเสริญแด่องค์เทพและเพื่อประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ขององค์ฟาโรห์ แต่วิหารหลังนี้เป็นเพียงแห่งเดียวที่องค์ฟาโรห์รามเสสที่สองทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่พระนางเนเฟอร์ตารี เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานความรักที่พระองค์ทรงมีต่อมเหสีสุดที่รัก พออ่านแล้ว โอ๊ย...ตาย พระองค์ทรงโรแมนติกสุดๆ แอบคิดว่าถ้าเราเป็นผู้หญิง แล้วโชคดีมีคนมารักเรามากถึงขนาดนี้ เราจะมีความสุขมากแค่ไหน ประจวบเหมาะกับที่เรากำลังอยากจะเขียนนิยายแนวทะเลทรายสักเรื่อง เพราะยังไม่เคยเขียนแนวนี้มาก่อนเลย รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ยาก แต่ก็น่าท้าทาย เราอยากรู้ว่าตัวเองจะมีความสามารถเขียนแนวนี้มากน้อยแค่ไหน ก็เลยเลือกวิหารหลังนี้ขึ้นมาเขียนแบบไม่คิดเลย ฮ่าๆๆ

 

อบูซิมเบล...ตราบดินสิ้นกาล โดย ชมจันท์

 

เคยมีความหลังกับสถานที่ที่นำมาเขียนไหม?
ลัลล์ลลิล : ไม่เชิงเป็นความหลัง เพราะเพิ่งค้นพบไม่นานตอนที่หาข้อมูลเขียนนิยายเรื่องนี้นี่เอง ผู้เขียนได้ค้นพบว่าพระนางมุมตาซ มะฮัล สตรีผู้ก่อให้เกิดทัชมาฮาลขึ้นมานั้น สวรรคตในวันที่ 17 มิถุนายน 1631 ซึ่งตัวผู้เขียนเองเกิดในวันที่ 17 มิถุนายน ตรงกับวันสวรรคตพอดิบพอดี แม้จะห่างกันเป็นร้อย ๆ ปีก็ตาม แต่เมื่อได้เห็นข้อมูลนี้แล้วขนลุกขึ้นมาเลยค่ะ ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นพรหมลิขิตที่ได้มาเขียนนิยายเรื่องนี้

ชมจันท์ : ความหลังคงไม่มี แต่ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบประเทศอียิปต์มาก ปฏิญาณว่าชาตินี้จะต้องไปเยือนที่นี่สักครั้งหนึ่งให้ได้ เราชอบอารยธรรมของคนโบราณ ชอบแนวคิด ความสร้างสรรค์ กลยุทธ์ต่างๆ ผ่านสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพีระมิด สฟิงซ์ มัมมี่ มันดูลึกลับและน่าค้นหามาก เหมือนมีมนตร์ขลังที่ทำให้เราอยากไปดูให้เห็นกับตาถึงความยิ่งใหญ่สักครั้งหนึ่ง

พิมพิสุธญ์ :  โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่มีความหลังใดๆ กับ Kellie’s Castle แต่ถ้าเป็นประเทศมาเลเซียคงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีเลย เพราะคุณตาและคุณยายเป็นชาวมาเลเซียโดยกำเนิด โดยมีภูมิลำเนาอยู่บน เกาะปีนัง ซึ่งอาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนเลือกปราสาทเคลลี ด้วยความที่อยากจะเขียนถึงประเทศเพื่อนบ้านสุดปลายด้ามขวานแห่งนี้สักครั้ง

คณิตยา : ไม่เคยมีความหลังเลยค่ะ ต้องสารภาพว่าเพิ่งมารู้จักมิราเบลล์ ก็จากการเขียนนิยายเรื่องนี้ ตอนที่ตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ก็แวะเข้าร้านหนังสือ ซื้อหนังสือเกี่ยวกับมิราเบลล์มาอ่านสี่ห้าเล่ม ตลอดจนค้นข้อมูลทางเว็บไซต์โดยเข้าไปที่เว็บไซต์การท่องเที่ยวของออสเตรีย

 

เคลลี คาสเซิล...ตราบชีวาวาย โดย พิมพิสุธญ์

อนุสรณ์สถานที่นำมาใช้ เกี่ยวพันกับเรื่องอย่างไร?
ลัลล์ลลิล : เนื่องจากนิยายดำเนินเรื่องราวอยู่ในอินเดีย นางเอกเป็นคนไทยเดินทางไปอินเดีย ย่อมไม่พลาดที่จะไปเยี่ยมชมทัชมาฮาลอยู่แล้ว นางเอกทั้งสองคนมีความประทับใจชื่นชมในความสวยงามและประวัติอันแสนโรแมนติกของสถานที่แห่งนี้ ในขณะที่พระเอกของเรากลับแสดงท่าทีชัดเจนว่ามีอคติต่อทัชมาฮาลเป็นอย่างมาก จะเป็นเพราะอะไร ทำไมพระเอกถึงได้จงเกลียดจงชังทัชมาฮาลขนาดนั้น ไปติดตามกันในเรื่องแล้วกันนะคะ แต่สุดท้ายทัชมาฮาลก็ได้สอนให้ตัวละครในเรื่องได้รู้จักกับอานุภาพของความรัก และสร้างตำนานรักแสนโรแมนติกของพวกเขาขึ้นมาเอง อาจไม่ยิ่งใหญ่เท่าตำนานรักทัชมาฮาล แต่ก็เป็นความรักอันน่าประทับใจของชายหญิงคู่หนึ่ง

ชมจันท์ : วิหารอบูซิมเบลเป็นหัวใจสำคัญของนิยายเรื่อง อบูซิมเบล...ตราบดินสิ้นกาล เลย เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความชิงชัง ริษยา อาฆาต ความพลัดพราก สุข ทุกข์ ระหว่างตัวพระเอก นางเอก และผู้ร้าย ล้วนเกิดขึ้นที่สถานที่แห่งนี้ ดำเนินไป และก็จบลงที่นี่เหมือนกัน เนื้อหาของเรื่องนี้เราจะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครทั้งสามเป็นหลัก มีการเล่าถึงองค์เทพในอียิปต์โบราณ เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจ ตัวนางเอกในเรื่องนี้มีองค์เทพดลบันดาลให้มาพบกับพระเอก และมีเรื่องแปลกประหลาดหลายอย่างซึ่งไม่สามารถหาเหตุผลได้เกิดขึ้นกับตัวเอง และทุกเรื่องก็ล้วนเกี่ยวข้องกับพระเอกทั้งสิ้น ทำให้นางเอกต้องค้นหาความจริงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวพันกับชะตาชีวิตของเธอยังไง เรื่องราวดำเนินไปอย่างสนุก ตื่นเต้น เน้นการผจญภัยในดินแดนทะเลทรายผ่านตัวนางเอก เรียกว่าตอนอ่านจะต้องนั่งลุ้นจนหายใจหายคอกันไม่ทันทุกตอนเลย แต่บทจะหวานขึ้นมา ก็หวานไม่เกรงใจใครเหมือนกันนะเออ ฮ่าๆๆ

พิมพิสุธญ์ : Kellie’s Castle ปรากฏอยู่ในเรื่องในฐานะสถานที่อันเต็มไปด้วยมนตร์ขลังและพลังแห่งความรัก ดึงดูดให้หนุ่มสาวคู่หนึ่งที่อยู่ห่างไกลกันคนละซีกโลกได้มาพบกัน โดยที่บรรพบุรุษของทั้งคู่เคยมีความหลังครั้งสำคัญในปราสาทหลังนี้

คณิตยา : ในเรื่องมิราเบลล์...ตราบคีตาบรรเลง สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พบรักของพ่อและแม่ของนางเอก แต่เป็นความรักที่ไม่สมหวัง มาในรุ่นนางเอกซึ่งเป็นรุ่นลูก ได้พบกับคนรักอีกครั้ง เพียงแต่ประวัติศาสตร์ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปเมื่อความรักของเธอสมหวังและก่อเกิดเป็นเพลงรักอมตะที่คู่รักทุกคู่ต้องใช้เพลงของพวกเขาในทุกครั้งที่มาจัดงานแต่งงานที่สถานที่แห่งนี้ อ้อ...ลืมบอกว่าปัจจุบันพระราชวังมิราเบลล์ ยังเป็นสถานที่ยอดฮิตในการจัดงานแต่งงานด้วยค่ะ เพราะคู่บ่าวสาวจะมีความรู้สึกไม่ต่างจากเจ้าหญิงเจ้าชายเมื่อได้มาแต่งงานที่พระราชวังแห่งนี้p>

สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงนักอ่าน
ชมจันท์ :  ก็อยากฝากนิยายชุดนี้ทั้ง ทัชมาฮาล...ตราบคงคาคู่หิมาลัย เคลลี คาสเซิล...ตราบชีวาวาย มิราเบลล์...ตราบคีตาบรรเลง และ อบูซิมเบล...ตราบดินสิ้นกาล ให้ทุกคนได้ลองพิจารณากันดูค่ะ ถึงธีมหลักจะเหมือนกัน แต่เนื้อหาของแต่ละเล่มไม่เหมือนกันแน่นอน นักเขียนแต่ละคนมีพลอตและสไตล์การเขียนที่แตกต่างกันไปเลย แต่ที่เหมือนกันก็คือทุกคนตั้งใจกับผลงานชิ้นนี้มาก อยากให้งานออกมาดีที่สุด ทุกคำที่กลั่นออกมา นักเขียนบรรจงคิดบรรจงเขียน ใส่ความซาบซึ้งตรึงใจ อรรถรสความสนุกสนาน ความตื่นเต้น โรแมนติกชวนฝันของความเป็นนิยายเอาไว้อย่างครบถ้วน เพื่อให้คนอ่านมีความสุขที่สุดเวลาที่หยิบนิยายชุดนี้ขึ้นมารับรองว่าถ้าหากได้อ่าน จะได้ความสนุกประทับใจกันไปคนละแบบแน่ ก็หวังว่าคนอ่านน่าจะชอบกันนะคะ

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ ทำเอาต้องรีบไปหาประวัติของอนุสรณ์สถานทั้งสี่แห่งมาอ่านเลยทีเดียว นักอ่านท่านไหนที่ชื่นชอบเรื่องราวความรักโรแมนติก ที่ตัวละครทุ่มเท เสียสละเพื่อความรัก ซาบซึ้ง ประทับใจ ตื่นเต้นและลุ้นระทึก เรียกว่าครบรส ห้ามพลาดที่จะหยิบนวนิยายชุด แด่...เธอที่รัก มาอ่านกันนะคะ