4 นักเขียน เจ้าของผลงานสุดแซ่บสะท้อนสังคมชุด 'เมียน้อย'

บทสัมภาษณ์

"ใครอยากเป็นก็เมียน้อยเกิดมา อนุภรรยาถูกตราหน้าทุกคน ว่าเป็นนางกาลีปี้ป่น..."

นั่นคือส่วนหนึ่งของเพลง "น้ำตาเมียน้อย" ของ จินตรา พูนลาภ บอกชัดว่าผู้หญิงที่เป็นเมียน้อยล้วนถูกสังคมประณาม แต่ถึงกระนั้นผู้หญิงหลายคนก็ยินยอมที่จะตกเป็นเบี้ยล่าง ทนชอกช้ำใจ และยอมให้คนในสังคมต่างตราหน้าว่าเลว ด้วยเหตุผลใดใครเล่าจะรู้แน่

ด้วยสาระนั้น สำนักพิมพ์มายดรีมจึงจับนักเขียนฝีมือดีทั้งสี่คน ได้แก่ กันเกรา อัปสรา จำปาลาว และพรรทิพา มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของ "เมียน้อย" ผ่านการเล่าเรื่องใน ม่านดอกงิ้ว วิมานดอกงิ้ว มายาฉิมพลี และ บาปรักใต้เงาบุญ ภายใต้สโลแกน 'ถ้าไม่แน่จริง...อย่าริอ่านเป็นเมียน้อย'

"เริ่มจากการเข้าไปอบรมในโครงการพัฒนาทักษะด้านการเขียนนิยายโครงการหนึ่ง แล้วได้มีโอกาสพบ บก. พี่โป่ง ซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับทักษะการเขียนนิยายมากมาย ผู้เขียนและเพื่อนๆ อยากจะเขียนนิยายที่สะท้อนสังคม ซึ่งตั้งใจว่าหลังอ่านจบคนอ่านต้องได้ข้อคิด ไม่ใช่ได้เพียงแค่ความสนุก สะใจเท่านั้น จึงได้นำปัญหาครอบครัวอันดับหนึ่ง ‘เมียน้อย’ มาเป็นโจทย์ และนักเขียนทั้งสี่คนจะคิดพลอตและเขียนให้ฉีกกันออกไปตามสไตล์นักเขียนแต่ละคน" อัปสราเล่าถึงจุดเริ่มต้นของนิยายชุดนี้

เรื่อง ม่านดอกงิ้ว โดย อัปสรา บอกเล่าถึง ภาคิน ไฮโซหนุ่มที่สลัดคราบเพลย์บอยเข้าสู่ประตูวิวาห์หวานกับมีนรญา ความรักของเขาและเธอกำลังไปได้ดี แล้วจู่ๆ ไลลา อดีตสาวไซด์ไลน์ ที่ผันตัวเองมาเป็นพริตตีเงินล้านก็เดินเข้ามาขวางเส้นทางรัก ภาคินตกหลุมพรางเสน่หาของเธอทันที แม้ความรู้สึกผิดกับภรรยาจะกัดกินหัวใจเขา แต่ไฟปรารถนาที่อีกฝ่ายหยิบยื่นให้ก็ยังคงร้อนแรง เขาจะทำเช่นไรที่จะดับเพลิงหัวใจให้มอดลง ก่อนที่มันจะเผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างจนยากเกินจะเยียวยา

เรื่อง มายาฉิมพลี โดย พรรทิพา เป็นเรื่องราวของสองพี่น้องที่เกิดจากเมียน้อยกับเมียหลวงของพ่อ ชนิกานต์ เป็นลูกเมียหลวง หลานสาวเพียงคนเดียวที่คุณย่ายอมรับ ขณะที่ ชนากานต์ ลูกเมียน้อยถูกไล่ออกจากบ้านเหมือนหมูเหมือนหมา ในวันที่เธอเข้าไปแสดงตัวว่าเป็นหลานอีกคน และความคิดที่ช่วงชิงของที่สมควรเป็นของตัวเองคืนมาทั้งหมดก็เกิดขึ้นในหัวของชนากานต์ ที่มีความทะเยอทะยานสูง เธอดิ้นรนจนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ และกลับมาทำตามอุดมการณ์ของตัวเอง รวมทั้งการแย่งสามีของน้องสาวต่างบิดาไป เพื่อแก้แค้นบิดาและย่าที่ทำกับเธอไว้คราวนั้น

เรื่อง บาปใต้เงาบุญ โดยกันเกรา เล่าถึง จารุวี ซึ่งถูกคนรักหักหลังเลยหนีกลับภาคเหนือเพื่อรักษาแผลใจ แต่ก็ถูกครอบครัวทอดทิ้งอย่างไม่ไยดีจนต้องหนีมาตายเอาดาบหน้าในเมืองกรุงอีกครั้ง และได้พบกับโยธิน ชายที่ต้องแต่งงานกับ เสาวลักษณ์ ผู้หญิงที่เขาไม่ได้รักตามคำขอของพ่อ และในเวลาที่ย่ำแย่ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อข้าวกิน โยธินให้ความช่วยเหลือเธอด้านที่อยู่ อาหารการกิน และให้พักจนกว่าจะหาลู่ทางเดินที่ดีได้

เรื่อง วิมานเพลิง โดย จำปาลาว เป็นเรื่องราวของ เพราโพยม ศิลปินสาวที่มีพร้อมทุกอย่างทั้งชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง แต่สิ่งหนึ่งที่เธอไม่มีก็คือ ‘ความรัก’ และเมื่อหัวใจของเธอเปิดต้อนรับปราณรต์เข้ามา เขาก็เป็น ‘รักต้องห้าม’ สำหรับเธอ เพราโพยมต้องต่อสู้กับความผิดชอบชั่วดีในใจที่จะไม่ไปยุ่งกับผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว แต่สุดท้ายเธอก็พ่ายแพ้ให้แก่กิเลสที่อ้างเหตุผลต่างๆ นานา เธอยอมเป็น ‘เมียน้อย’ ของปราณรต์ด้วยความเต็มใจ ยอมอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง โดยคิดว่าการไม่ไประรานเมียหลวงคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่เธอลืมไปว่าไม่มีใครหรอกที่ต้องการเป็น ‘เมียหลวง’ ไม่มีใครอยากร่วมใช้สามีกับคนอื่น

เมื่อเส้นทางแห่ง ‘เมียน้อย’ เริ่มต้น เพราโพยมก็ได้เรียนรู้ว่า ‘วิมานแห่งความสุข’ ที่เธอสร้างร่วมกับเขา ความสุขจากสิ่งที่ยื้อแย่งมา ไม่ต่างกับการอยู่บน ‘วิมานแห่งกองเพลิง’ ที่มีแต่จะเผาไหม้ให้เธอร้อนรนจนตาย

มองเมียน้อยอย่างไร
อัปสรา : เมียน้อย คำนี้คงไม่มีใครยินดีอยากจะเป็น แต่การเป็นคนมาทีหลังก็มีหลายกรณี หากรู้ทั้งรู้แต่เต็มใจคงไม่ดีแน่ และคงไม่มีใครเห็นใจ แต่ก็มีไม่น้อยที่ตกอยู่ในสภาพจำยอมเพราะถูกหลอกลวงจนต้องได้ชื่อว่าเป็นเมียน้อย แต่ผู้เขียนเชื่อว่าหากเลือกได้คงไม่มีใครอยากเป็นเมียน้อยหรอกจริงไหมคะ เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดสินเมียน้อยว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ดีเป็นเรื่องยากหากเราไม่รู้จักเขาดีพอ

พรรทิพา : เป็นผู้หญิงนิสัยไม่ดี เลว ชอบแย่ง รักสบาย หวังกอบโกย ชอบระรานเมียหลวงที่น่าสงสาร แต่บางทีเมียหลวงก็ร้ายนะ ไปตบเมียน้อยถึงที่ก็มี

กันเกรา : อืม...กันเกราจะเป็นคนมองอะไรกลางๆ และเชื่อเสมอว่าผู้หญิงทุกคนเกิดมา ถ้าเลือกได้ย่อมไม่มีใครอยากอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคมอย่างแน่นอน ทุกคนอยากเกิดมาร่ำรวย อยากมีสามีเป็นของตัวเอง ไม่ประสงค์จะแย่งของของใครแน่ เพราะฉะนั้นคนที่เป็น ‘เมียน้อย’ บางคนในมุมมองของกันเกราอาจจจะตกอยู่ในภาวะไร้ทางเลือก ตกกระไดพลอยโจน ต้องเจ็บช้ำ และต้องเสียสละในกรณีที่มีลูกต้องดูแลรับผิดชอบ คนกลุ่มนี้น่าเห็นใจและน่ายกย่องในความอดทนกับการกินน้ำใต้ศอกส่วนบางกลุ่มคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพวกที่มักง่าย รักความสบาย อยากได้อยากมีแต่ไม่อยากลงแรงมากมายนอกจากการเอาร่างกายเข้าแลก เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินและชีวิตที่ดีกว่าพื้นเพเดิมของตัวเอง โดยไม่สนใจว่านั่นคือ ‘บาป’ มีคนกลุ่มนี้มากมายในสังคมบ้านเรา และยังคงอยู่ได้โดยไม่รู้สึกผิดใดๆ

จำปาลาว : แต่ก่อนคิดในแง่ลบนะคะ แต่พอมาเขียนนิยายเรื่องนี้ ต้องหาข้อมูลเยอะก็เลยได้เห็นอีกในหลายๆ มุมมองน่ะค่ะ ความคิดเปลี่ยนไป กลายเป็นมองโลกในมุมกว้างมากขึ้น คนเป็นเมียน้อยก็ไม่ได้เลวร้ายทุกคน เพราะบางคนมีเหตุผลที่เราก็ยังบอกตัวเองไม่ได้ว่า ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับพวกเธอ เราจะตัดสินใจแก้ไขปัญหาแบบไหน บางคนไม่ได้อยากเป็นแต่ถูกกระทำ แต่บางคนก็เหมือนโรคจิตที่ต้องแย่งมาให้ได้ ผู้หญิงในรูปแบบของ เพราโพยม ไลลา ชนากานต์ และจารุวี มีอยู่จริง

ทำไมถึงอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับ 'เมียน้อย'
อัปสรา : ผู้เขียนมีความเชื่อส่วนตัวว่าสำหรับผู้หญิงทุกคนสามีจะขออะไรก็ได้ แต่คำขอที่เมียหลวงทุกคนยอมไม่ได้ก็คือสามีขอมีเมียน้อย แต่เรื่องแบบนี้ตบมือข้างเดียวไม่ดัง และวิธีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคงจะไม่ดีเท่ากับการล้อมรั้วหัวใจให้แข็งแรงจนมือที่สามไม่อาจเข้ามาแทรกกลางระหว่างความรักของเราได้ จึงอยากเขียนเรื่อง ม่านดอกงิ้ว ไว้เป็นข้อคิดเตือนใจในการใช้ชีวิตคู่

พรรทิพา : มันท้าทายความสามารถตัวเองดีค่ะ ได้เขียนอะไรที่แปลกแหวกแนวออกไปจากเดิมๆ เหมือนเพิ่มทักษะความรู้ให้ตัวเองได้ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง

กันเกรา : เป็นงานเขียนที่ท้าทายกว่าเรื่องอื่นๆ ที่เคยเขียนมา เพราะเอาความจริง ความขมขื่น ของคนกลุ่มหนึ่งมาตีแผ่ให้สังคมได้รู้ คนอ่านจะได้ตระหนักว่ายังมีอีกหลายชีวิตที่ต้องเป็น ‘เมียน้อย’ อยู่ในสังคมไทยเรา และไม่รู้ว่าจะหมดไปเมื่อไร

จำปาลาว : สะท้อนภาพของสังคมอีกมุมมองหนึ่งที่เราไม่เคยรู้ค่ะ หัวใจของนิยายชุดนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาให้รู้สึกดีกับคนที่เป็น ‘เมียน้อย’ นะคะ แต่แค่อยากให้มองต่างมุมมากขึ้น เพราะเราไม่รู้หรอกว่า วันหนึ่งเราที่เคยเป็นเมียเดียวมาตลอด จู่ๆ อาจได้ตำแหน่ง ‘เมียหลวง’ หรือโชคร้ายสุดๆ กลายเป็น ‘เมียน้อย’ ก็ได้ และเราก็ต้องไม่ลืมว่าคนต้นเรื่อง ตัวปัญหาที่สุดนั้นคือ ‘สามี’ ผู้ชายไม่ควรลอยนวลอยู่บนความผิดที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายได้รับ

หาข้อมูลจากที่ไหน
อัปสรา : หาได้ไม่ยากแค่มองไปรอบๆ ตัวไม่ว่าจะเป็นคนรู้จัก สื่อ เพราะปัญหานี้มีให้เห็นทั่วไป แค่เปิดประตูออกจากบ้านกวาดตามองไปรอบๆ บ้าน เรื่องระหว่างผู้หญิงที่มาก่อน และผู้หญิงที่มาทีหลังก็มีให้เห็น เข้าหูให้ได้ยินจนชิน อีกทั้งสื่อต่างๆ มากมาย ข้อมูลในการเขียนเรื่องนี้จึงนำมาจากสิ่งรอบๆ ตัวของผู้เขียนบ้าง ได้ยินได้ฟังมาจากคนรอบข้างบ้างจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจเขียนนิยายเรื่อง ม่านดอกงิ้ว เรื่องนี้ขึ้นมา

พรรทิพา : ชีวิตจริงของเมียน้อยข้างบ้าน ไปสัมภาษณ์นางมาค่ะ (หัวเราะ) เว็บพันทิป อันนี้เด็ดจริง มีทั้งน้อยทั้งหลวงมาระบายความทุกข์เต็มไปหมด เราก็คัดเอาเฉพาะที่เป็นไปได้มาใส่

กันเกรา : จากสังคมเมืองไทยที่ผู้ชายมักจะเอาเปรียบเพศตรงข้ามด้วยการไม่พอเพียงในกิจกาม จนมีข่าวหรือมีตัวอย่างใกล้ตัวให้เห็นมากมายก่ายกอง

จำปาลาว : จากประสบการณ์ของคนใกล้ตัว จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งน่าแปลกใจมากที่ทุกครอบครัวมีเรื่องนี้ทั้งนั้น เก็บข้อมูลทั้งจากคนที่เคยเป็นเมียหลวงและคนที่ยังเป็นอยู่ คนที่เป็นเมียน้อยหรือเคยเป็น แต่ข้อมูลได้มาจากอินเทอร์เน็ตเยอะที่สุดนะคะ แค่พิมพ์คำว่า ‘เมียน้อย’ ในกูเกิล แหล่งข้อมูลก็มาเป็นหลักล้านเลยค่ะ ความยากง่ายในการเขียนนิยายชุดนี้

อัปสรา : เป็นงานเขียนที่จะว่าง่ายก็ไม่เชิงจะว่ายากก็ไม่ใช่ แต่ท้าทายตนเองมากกว่า เพราะฉีกแนวเดิมของตัวเองไปมากเนื่องจากผลงานที่ผ่านมาส่วนมากจะเขียนนิยายพาฝันเป็นหลัก แต่นิยายชุดนี้เป็นนิยายที่สะท้อนสังคม การเขียนจึงมีความแตกต่างกันไปซึ่งเน้นความสมจริง โดยจะคำนึงถึงความเป็นจริง เหตุและผล นิสัยของตัวละครที่เทียบเคียงกับความรู้สึกของคนทั่วไปที่ยังมีรัก โลภ โกรธ หลงอยู่ จนบางครั้งต้องเทียบเคียงความรู้สึกของตนเอง ว่าถ้าเราต้องเผชิญปัญหาอย่างตัวละครในเรื่องเราจะแก้ปัญหาอย่างไร

พรรทิพา : ยากสุดๆ ค่ะ ขอบอกเลย ทุกคนร้องโอดครวญ นี่มันงานหินชัดๆ (หัวเราะ) ไม่เคยเขียนงานแนวนี้มาก่อนเลยค่ะ ขอบอกว่าแทบกระอักเลือดทีเดียวกว่าจะเขียนจบได้

กันเกรา : ยากตั้งแต่คิดพลอตเลยก็ว่าได้ และต้องคิดหลายรอบแก้หลายครั้งมาก เพราะอยากให้เรื่องนี้อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างชีวิตจริงและอิงไปทางนิยายนิดๆ จากนั้นก็มากังวลตรงที่เราเล่นกับความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของนักอ่านบางท่านที่อาจจะอยู่ในสถานภาพ ‘เมียน้อย’ หรือไม่ก็ ‘เมียหลวง’ ต้องระมัดระวังเรื่องการคิดพลอต การนำเสนอไม่ให้นักอ่านทั้งสองกลุ่มเกิดอคติว่าผู้เขียนจะนำเสนอออกมาให้เอนเอียงไปทางไหนระหว่าง‘เมียน้อย’ กับ ‘เมียหลวง’ ฉากที่ยากและเหนื่อยมากเวลาเขียน คือฉากที่ต้าอาละวาดกับคนนั้นคนนี้ไปทั่ว และใช้คำพูดแรงๆ ตามประสาคนที่ถูกตามใจมาตั้งแต่เกิด ส่วนเรื่องความง่ายของนิยายเรื่องนี้ กันเกรายังหาไม่เจอค่ะ (ยิ้ม)

จำปาลาว : เรื่องง่ายไม่มี มีแต่เรื่องยาก...คือ ‘เมียน้อย’ ดูเป็นเรื่องไกลตัวแต่ก็ใกล้ตัวมากๆ ค่ะ ตอนได้โจทย์มานั้นนึกไม่ออกว่าจะนำเสนอออกมาในรูปแบบไหน คือพอเราได้ยินคำว่า ‘เมียน้อย’ มันไม่มีในแง่บวกน่ะ มีแต่แง่ลบ ไม่รู้ว่าจะถ่ายทอดออกมายังไงให้ดูแตกต่างกันทั้ง 4 คน จะถ่ายทอดยังไงให้สะท้อนถึงคนที่ได้รับตำแหน่งนี้ ค่อนข้างสับสน พี่โป่งก็แนะนำว่าให้เขียนในมุมมองของเรา ซึ่งต้องได้โจทย์ 'ไม่รู้ ไม่ได้ตั้งใจ แต่รักไปแล้ว เลิกไม่ได้' และที่ยากที่สุดก็คือ ทำยังไงถึงจะตีโจทย์ออกมาได้ว่า ถึงจะเป็น ‘เมียน้อย’ โดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่นั่นก็คือ ‘ความผิด’ ที่กระทำลงไปแล้ว และคนทำก็ต้องได้รับผลนั้น

ผู้อ่านจะได้อะไรจากนิยายชุดนี้
อัปสรา : ไม่เพียงแต่ความสนุก แต่ผู้เขียนเชื่อว่าหลังจากคุณอ่านนิยายชุดนี้จบคุณจะได้ความคิดอะไรหลายๆ อย่าง นิยายชุดนี้เหมือนกระจกที่จะสะท้อนให้คุณเห็นอะไรหลายๆ อย่าง บางครั้งเรามักจะมองข้อบกพร่องของตนเองไม่เห็น ในขณะที่คนอื่นเห็นข้อบกพร่องของเราเป็นสิบข้อ ถ้าไม่อยากให้รักร้าวก็ขอให้อ่านนิยายชุดนี้นะคะ เราไม่ได้ขายความร้อนแรงในเนื้อหา แต่เราขายแนวความคิด

พรรทิพา : ได้เห็นอีกแง่มุมของผู้หญิงที่ได้ชื่อว่า เมียน้อย และ เมียหลวง มากขึ้น เข้าใจถึงเหตุผลว่าเพราะอะไรพวกเธอถึงเลือกเดินทางนี้ มีเหตุและปัจจัยอะไรชักจูงพวกเธอมา บางครั้งคนที่อยู่ในฐานะเมียน้อยก็ไม่ได้เลวและแย่เสมอไป แต่ก็ใช่ว่าบทสรุปของชีวิตพวกเธอจะสุขสบาย เพราะแต่ละวันพวกเธอต้องกลืนกินหยดน้ำตาแทนอาหารในแต่ละมื้อเลยทีเดียวซึ่งก็สมกับสโลแกนของงานชุดนี้ ‘ถ้าไม่แน่จริง อย่าริอ่านเป็นเมียน้อย’

กันเกรา : เสาวลักษณ์น่าจะเป็นตัวแทนของ ‘เมียหลวง’ ให้นักอ่านได้เอาไปขบคิดว่า การทำตัวเป็นภรรยาแย่ๆ แม้จะมี ทะเบียนสมรสหรือลูกสักคน หรือมีเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะรั้งสามีให้อยู่กับตัวเองได้ ถ้าปราศจากความดี จารุวีน่าจะเป็นตัวแทนของ ‘เมียน้อย’ ที่ไม่มีอะไรเทียบเทียมอีกเมียได้นอกจากความดี แต่ก็มัดใจโยธินให้อยู่ด้วยได้ ส่วนโยธินคือตัวแทนของชายไทยโดยแท้ที่ยังคงมีความ ‘เห็นแก่ตัว’ ในหลายด้านที่ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างโดยสิ้นเชิง เพราะจะทำให้ครอบครัวหาความสงบสุขไม่ได้

จำปาลาว : เมื่ออ่านแล้วคุณจะรู้ว่า ยันต์ป้องกัน ‘เมียน้อย’ ก็คือความสุขในครอบครัว ไม่มีสามีเก่งที่สุดดีที่สุด ไม่มีภรรยาเก่งที่สุดและดีที่สุดเช่นเดียวกัน ครอบครัวจะมีความสุขได้ก็เพราะคนทั้งคู่ประคับประคองความรักไว้ด้วยกัน พากันก้าวเดินไปให้ตลอดรอดฝั่ง และคำว่า ‘ให้อภัย’ ก็ยังคงใช้ได้ดีและเหมาะสมเสมอค่ะ