Talk with ถังถัง :

บทสัมภาษณ์

ถังถัง หรือ น้ำตาล คือ ผู้หญิงที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์จีนและตำนานจีน ดังนั้นสำหรับผลงานเรื่อง 'เทพอภินิหาร ตำนานอลเวง' จึงได้จับเอาสิ่งที่ชื่นชอบใส่ลงไปด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้รับสาระที่นอกเหนือจากความบันเทิง

สำหรับเรื่องนี้เป็นนิยายแนวเทพเซียนของจีน ทว่ามีกลิ่นอายของไทยอยู่ด้วย เป็นเรื่องราวของเทพเอ้อร์ เทพผู้คุมกฎสวรรค์ถูกหลานชายสังหาร จึงกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นนายเนตรตรัยผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ และยังถูกยัดภารกิจแบบมัดมือชกให้ต้องไปตามหาเหล่าเซียนหนีงานตามช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์จีน เอาล่ะ เกริ่นกันมาพอหอมปากหอมคอแล้ว ไปทำความรู้จักกับถังถังกันต่อเลยดีกว่า

> นามปากกา ถังถัง มาจากชื่อเล่น
“ถังถัง 糖糖 แปลว่าน้ำตาลค่ะ นามปากกามาจากชื่อเล่นเลยค่ะ ใช้ตั้งเป็นชื่อน้องสาวนายตรัยพระเอกของเราเพราะตอนนั้นนึกอะไรไม่ออก อย่าได้คิดว่าคนเขียนนิสัยเหมือนยัยน้ำตาลขมทีเดียว (ฮา)
ส่วนที่มาก็จากเพื่อนชาวจีนซึ่งบังเอิญรู้จักกันทางแชต เพราะดันไปบอกเค้าว่าชื่อ Namtan ในที่นี้หมายถึง sugar ค่ะ นี่ยังคิดอยู่ถ้าบอกว่าหมายถึง brown จะออกมาเป็นยังไง (หัวเราะ)”

> มาเขียนหนังสือได้อย่างไร
“เริ่มจากการเป็นนักอยากเขียนค่ะ จุดที่เหมือนกับนักเขียนท่านอื่นก็คือชอบอ่านหนังสือ ตั้งแต่หนังสือการ์ตูนผีเล่มละบาทสมัยก่อน (มีความบ่งบอกวัย) พัฒนามาเรื่อยๆ จนเริ่มอ่านนิยายเป็นเล่มจริงจังประมาณตอน ม. ต้น เวลาอ่านนิยายหรือดูหนังเชื่อว่าหลายคนคงเคยมีความรู้สึกขัดใจนู่นนี่ ทำไมไม่เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ และเริ่มมโนในแบบของตัวเองบ้าง ตาลก็เหมือนกันค่ะ แต่แค่มโนเฉยๆ สำหรับตาลแล้วยังไม่สะใจพอ มันต้องเขียนออกมาค่ะ ไม่มีคอมฯ ไม่มีพิมพ์ดีด ก็จับดินสอปากกานี่ละค่ะละเลงลงในสมุดมันซะเลย จากนั้นก็เหมือนหลุดเข้าไปในวังวนอะไรสักอย่างจนหยุดเขียนไม่ได้อีกเลยค่ะ”

> จุดเริ่มต้นในการเขียนเรื่องนี้มาจากการดู
“สิ่งที่จุดประกายการเขียนเรื่องนี้ไม่ใช่การอ่านแต่เป็นการดูค่ะ ด้วยความที่ที่บ้านนำพาดูหนังจีน ซีรีส์จีนมาตั้งแต่เด็กๆ ก็จะได้ดูหนังจีน คุ้นเคยกับการดูมากกว่าการอ่านนิยายจีนซึ่งค่อนข้างจะไม่สันทัดกับสำนวน”

> แรงบันดาลใจมาจากตำนาน
“เรื่องราวของเทพเอ้อร์หลางกับหลิวเฉินเซียงหลานชายในนิยายนั้นก็มาจากตำนานโคมวิเศษเจ้าแม่หัวซานนั่นเอง ซึ่งตำนานนี้ถูกสร้างเป็นซีรีส์ อนิเมชันมาหลายเวอร์ชัน ตีความแตกต่างกันไป เวอร์ชันที่จุดประกายคือเวอร์ชันล่าสุดเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน (ล่าสุดแล้วจริงๆ ค่ะ) ซึ่งเป็นการตีความตัวละครเทพเอ้อร์หลางใหม่
“ปกติแล้วจุดจบของตำนานนี้คือหลิวเฉินเซียงช่วยแม่ออกจากเขาหัวซานสำเร็จ ทางด้านเทพเอ้อร์หลางที่ได้รับหน้าที่ตามล่าหลิวเฉินเซียงตั้งแต่ต้น บ้างก็ให้กลับไปทำหน้าที่เดิม บ้างก็ได้รับโทษทัณฑ์ โดยรวมแล้วท่านมักจะถูกวางตัวเป็นผู้ร้าย ความแตกต่างของเวอร์ชันล่าสุดคือการพลิกมุมมองให้เห็นว่าภายใต้ความร้ายกาจนั้นก็สามารถซ่อนความรักและความหวังดีเอาไว้มากมาย ตัวร้ายที่ถูกด่ามาทั้งเรื่องกลับดูน่าสงสารได้ในพริบตา
“จุดนี้มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างเปิดโลกอีกด้านของตาลเลยค่ะ ทำให้รู้ว่าตัวละครที่มีคาแรกเตอร์ร้ายกาจแบบนี้เอาเข้าจริงถ้าสร้างให้มีมิติลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้นก็อาจมีอะไรน่าตื่นตะลึงและน่าค้นหาซ่อนอยู่ก็เป็นได้
“อีกอย่างคือการมองคน เข้าใจถึงคำพูดที่ว่าไม่ควรตัดสินใครโดยการมองอย่างผิวเผินได้ชัดเจน ผนวกกับสไตล์ซีรีส์ การตัดจบย่อมต้องรวบรัดตัดความแบบสุดจะขัดใจ เพราะยังอยากให้ทั้งสองตัวละครที่ตีกันมาตลอดอย่างหลิวเฉินเซียงและเทพเอ้อร์หลางได้ผจญภัย สานสัมพันธ์ในแบบดีๆ (?) ไม่ใช่ฐานะศัตรูต่อกันไปอีกยาวๆ ดังนั้นนายตรัยจึงได้ถือกำเนิด หลิวเฉินเซียงจึงได้เติบโตขึ้นอีกครั้งใน เทพอภินิหาร ตำนานอลเวง ค่ะ”

> มีแนวทางการหาข้อมูลอย่างไร
“อ่านค่ะ อ่านทุกอย่างที่อ่านได้ในทุกที่ที่สามารถเข้าถึง
“ความยากของงานนี้คือข้อมูลประวัติศาสตร์ ตำนาน หรือเรื่องเล่ามักดิ้นได้ไม่มีวันตาย เราอาจเจอข้อมูลที่ขัดแย้งกันเอง ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน บางเรื่องไม่มีข้อสรุปแน่นอน หรือแตกแขนงไปหลากหลายแล้วแต่จะเล่าในมุมของใคร ใครคือผู้แปล ผู้เล่า เอามาจากฉบับไหน เรื่องเล่าผ่านปากต่อปาก มือต่อมือมักจะไม่เหมือนเดิม มีการต่อเติมเสริมแต่งมาเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
“การเลือกว่าจะนำจุดใดจุดหนึ่งในทะเลข้อมูลมหาศาลที่กลายเป็นคลื่นซัดตีกันเองจนมึนมาใช้อย่างไรให้เหมาะสมลงตัว ก็จะพยายามตั้งเป้าหมาย มองหาให้ชัดเจนว่าแก่นเรื่องของเราเน้นอะไร ซึ่งนั่นต้องควบคู่ไปกับความน่าสนใจของข้อมูลนั้นๆ ด้วย เช่น มีจุดที่แตกต่าง อาจเป็นจุดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้ไม่กี่บรรทัดแต่ดึงดูดและน่าสนใจ หรือ เรื่องราวทั่วๆ ไปไม่ลึกซึ้ง แต่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญหรือเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีน การเขียนถึงบุคคลเหล่านั้นจะเน้นมุมมองในความเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ไม่เน้นมองความยิ่งใหญ่หรือชื่อเสียงเกียรติยศ
“เนื่องจากคีย์เวิร์ดความสัมพันธ์ของสองลุงหลาน คือ อำนาจและครอบครัว การนำเรื่องราวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ล้วนเกี่ยวพันกับสองสิ่งนี้มาใส่ในนิยายก็จะสามารถหาจุดเชื่อมโยงเนื้อหาของพล็อตหลักและพล็อตรองได้ลงตัวพอดีนั่นเองค่ะ” > คิดว่าประวัติศาสตร์จีน และตำนานจีนมีเสน่ห์อย่างไร
“จริงๆ เป็นพวกชอบวิชาสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยเรียนเลยค่ะ แต่ความจำปลาทองต้องมีหนังสือใกล้มือไม่อย่างนั้นก็จำสับสนปนกันมั่วไปหมด (หัวเราะ)
“ประวัติศาสตร์จีนมีความยาวนาน ในความยาวนานนั้นมีเรื่องราวมากมาย ในเรื่องราวมากมายมีสิ่งที่น่าค้นหาซ่อนอยู่แค่ไหน สิ่งที่ซ่อนอยู่นั้นก็เหมือนกระจกสะท้อนให้คนรุ่นหลังเห็นข้อดี ข้อเสีย เห็นถึงความผิดพลาด การหาคำตอบเหล่านี้เหมือนจะยาวนานไม่จบไม่สิ้นตราบใดที่ยังมีแรงอ่าน แรงค้นคว้า คิดว่านี่แหละค่ะคือเสน่ห์ของประวัติศาสตร์จีน”

> เล่มไหนท้าทายและเขียนยากที่สุด
“แทบไม่ต้องคิดเลยค่ะ แน่นอนว่าเล่ม 3 เปิดตำนานเทพสามตา จริงๆ ตอนเขียนนี่ไม่ได้คำนึงถึงความยาวเลย สารภาพว่าตกใจมากตอนเห็นถึงความหนา แต่ที่ตอบว่าเล่มนี้คือความยากและท้าทายที่สุดเพราะเป็นเล่มที่มีเรื่องราวผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์และตำนาน สองอย่างนี้มันซ้อนทับอยู่ในเรื่องเดียว ยังไม่นับนายตรัยเราต้องเปลี่ยนเพศสภาพ ทำตัวเป็นสายลับ เจอโจทก์เก่า โจทก์ใหม่ ที่หนักสุดคือมันมีฉากให้พระเอกเรานำทัพออกศึกด้วยค่ะ
“การนำทัพออกศึก กระบวนการรบ ฉากบู๊ เรียกว่าเป็นอะไรที่ยากมากกก (กอไก่ล้านตัว) ด้วยทีแรกที่เขียนก็ไม่ได้กะว่าจะเอาบู๊อะไรมากมายอยู่แล้ว แต่เหมือนเรื่องราวมันนำพามาตรงจุดนี้ มันจำเป็นต้องบู๊ พระเอกเราจำเป็นต้องรบ แถมต้องเป็นผู้นำ นำกันแบบลุ่มๆ ดอนๆ ก็ต้องพยายามประคองตัวพาเค้าผ่านไปให้ได้แบบละมุนละม่อมและสมเหตุสมผลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งกว่าจะสำเร็จก็หืดขึ้นคอพอดูเหมือนกันค่ะ” > ชอบยุคไหนของจีนมากที่สุด
“หากเอาแค่ในเรื่องคงตอบได้ไม่ยาก (อีกแล้ว)ว่ าชอบยุคราชวงศ์สุย รัชสมัยขององค์สุยเหวินตี้หยางเจียน เหตุผลนั่นก็เพราะเป็นยุคที่ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข นายตรัยก็พลอยได้อานิสงส์ไม่ต้องลำบากลำบนมาก แน่นอนว่าคนเขียนก็ได้ผลของความชิลล์ส่วนนี้ด้วยเหมือนกันหลังจากปวดหัวกับความซวยไม่จบไม่สิ้นของพระเอกมานาน แม้จะแค่แป๊บเดียวก็ตามค่ะ (ฮา)”

> นักอ่านถามเข้ามากันมาก เรื่องนี้ Y ไหม
“เต็มปากเต็มคำว่าไม่วายค่ะ เรียกได้ว่าเหล่าตัวเอกเกี่ยวข้องกับเรื่องรักๆ ฉันชู้สาวน้อยมาก ผจญภัย ผจญซวยกันล้วนๆ แต่เนื่องด้วยตัวละครผู้ชายเยอะ คนเขียนเป็นสาววาย (ที่แต่งวายไม่ขึ้น) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครก็ค่อนข้างเอื้ออำนวยจึงไม่แปลกที่จะเกิดการจิ้นแบบมโหฬารอันเป็นที่มาของตอนพิเศษแบบวายๆ ที่ล้วนเป็นนักอ่านเสนอพล็อตมา นักเขียนก็สนองตอบแบบฟินๆ เอามันกันไปค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื้อหาตอนพิเศษที่ว่าก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องหลักแต่อย่างใดค่ะ”

> สุดท้ายแล้ว อยากฝากอะไรกับนักอ่าน
“เทพอภินิหาร ตำนานอลเวง อาจถือได้ว่ากำเนิดขึ้นเพื่อสนองมโนของนักเขียน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อตาลได้ตัดสินใจเผยแพร่ความมโนของตัวเองออกไปสู่สาธารณะ ตาลก็อยากให้นิยายเรื่องนี้ให้อะไรแก่ผู้อ่านบ้าง อาจจะเป็นความบันเทิง สาระเล็กๆ น้อยๆ เป็นเพื่อนคลายเหงา เป็นกำลังใจยามเศร้า ท้อถอยหรือเจอปัญหา อยากให้นายตรัยได้เผยแพร่ลัทธิผู้มีตาที่สาม (?)...
“ตาที่สาม ในที่นี้คือตาที่สามที่สามารถมองเห็นทางออกจากทุกปัญหา และสามารถนำพาทุกคนผ่านพ้นทุกอุปสรรคของชีวิตไปได้เช่นนายตรัยค่ะ “ตาลต้องขอขอบคุณสำหรับทุกการติดตามและทุกกำลังใจในตลอดหลายปีที่หัวหกก้นขวิดอยู่กับความซวยขั้นสุดของนายตรัยค่ะ
“ขอความซวย เอ๊ย ความสำเร็จจงสถิตอยู่กับนักอ่านทุกท่านค่า”