"กวิน" ผู้จับ "ยักษ์" และ "นาค" ลงมาร้อยเรียงลงในนิยายได้อย่าง 'ดีงาม'

บทสัมภาษณ์

"ก็ไม่เชิงว่าเลือก แต่เขียนแล้วมันเป็นแบบนี้มากกว่า อย่างเมื่อก่อนก็เคยเขียนแฟนตาซีหรือไพรัชนิยายทั่วไป รู้สึกอยากลองอะไรใหม่ๆ บ้างเลยลองเขียนเรื่องที่ยังเป็นในยุคปัจจุบันกับเรื่องที่เป็นแนวเรื่องเล่าดู มันก็ผสมกันได้นะ" คุณกวาง หรือ นามปากกาที่เรารู้จักกัน "กวิน" ได้บอกถึงสาเหตุที่เลือกผลิตงานนวนิยายแนวโรแมนติก-แฟนตาซีไทย ซึ่งตอนนี้ได้รับการตีพิมพ์กับพิมพ์คำสำนักพิมพ์ คือ แก้วกุมภัณฑ์ และ พันธนาคินทร์ โดยทั้งสองเรื่องได้นำ "ยักษ์" และ "นาค" เข้ามาเป็นตัวละครเอกในเรื่อง 
 
ก่อนที่เริ่มเขียนทั้งสองเรื่องนี้ กวินสารภาพว่าค่อนข้างคิดมากเหมือนกันที่จะนำ "ยักษ์" และ"นาค" มาเล่น เพราะบางคนมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่เธอมองในแง่ของสิ่งที่เป็นเรื่องเล่า เป็นตำนาน ถ้าเทียบกับต่างประเทศก็ได้อารมณ์อย่างพวกมังกร หรือเรื่องปกรณัม จากนั้นก็หาข้อมูลจากหนังสือหลายเล่มมาย่อยข้อมูล แล้วเลือกจุดที่คิดว่าน่าจะเข้ากับเรื่องได้มาเขียน  

 
"อยากลองเขียนแนวที่ไม่เคยเขียน ก็มองดูเรื่องใกล้ตัวแต่มันก็ยังอยู่ในขอบเขตของนิยายทั่วไปก็เลยอยากใส่อะไรให้ตื่นเต้นบ้าง แล้วเหมือนจะได้ยินเพลง "ร้ายก็รัก" ของ โจอี้บอย จากตอนไหนไม่รู้จำไม่ได้แล้ว ตรงที่เป็นท่อนแร็พนิดนึงเกี่ยวกับทศกัณฐ์ก็เลยคิดว่าเป็นยักษ์ก็น่าสนใจดีนะ แล้วก็หาข้อมูล ทำพลอต เขียนเลย" นักเขียนคนเก่งเล่าถึงที่มาของนิยายที่มีตัวเอกเป็น "ยักษ์"
 
ช่วงที่เขียนเรื่อง แก้วกุมภัณฑ์ กวินเพิ่งลาออกจากงาน  และช่วงหางานใหม่ก็ได้เขียนนิยายซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบไปด้วย ระหว่างนั้นสำนักพิมพ์ก็ติดต่อไปพอดี  โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หกที่เธอเขียน แต่เป็นเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์  

 
เรื่อง แก้วกุมภัณฑ์ นอกจากจะมีพลอตที่แหวกแนวน่าสนใจแล้ว ยังมีกลิ่นอายความเป็นไทยที่มีเสน่ห์อย่างการที่ "ยักษ์" ในเรื่องพูดเป็นกลอนแปด ซึ่งต้องใช้เทคนิคในการเขียนมาก โดยตอนแรกกวินตั้งใจจะให้มันเป็นคำพูดคล้องจองกันเฉยๆ แต่ดูไม่ค่อยมีแบบแผนจึงเขียนเป็นกลอนแปดไปเสียเลย และจำนวนคำก็มากพอที่จะเป็นประโยคพูดด้วย  

 
"ช่วงนั้นเราจะนั่งเปิดพจนานุกรมแล้วลิสต์คำที่น่าสนใจขึ้นมาเอาไว้เผื่อนึกถึง เวลาเขียนก็จะกำหนดใจความหลักก่อน พอเริ่มเขียนเป็นกลอนมันจะมีบังคับสระอยู่แล้ว ถ้านึกคำไม่ออกก็มองคีย์บอร์ดแล้วลองเอาตัวอักษรมาใส่ แล้วก็ค่อยๆ นึกถึงความหมายไล่เป็นคำๆ ไป ส่วนเสียงวรรณยุกต์ที่บังคับก็จะพยายามปรับให้ได้ แต่กลอนที่เสียงวรรณยุกต์ไม่ลงก็มีเหมือนกัน ช่วงที่เขียนบ่อยๆ จะเขียนเร็ว แต่ถ้าเป็นช่วงนี้คงคิดไม่ออกเหมือนกันค่ะ" กวินเผยถึงเทคนิคการเขียนกลอนอย่างละเอียด 

 
หลังจากเขียนเรื่อง แก้วกุมภัณฑ์ จบลง กวินก็เกิดความคิดว่าตัวละครในเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อ จะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นได้อีกหากตัวป่วนในเรื่องผันมาเป็นตัวหลัก จึงเกิดเป็น พันธนาคินทร์ ขึ้นมา  โดยเรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวหลังจากแก้วกุมภัณฑ์ของนาคินทร์โผล่มาตอนท้ายเรื่อง 
"พันธนาคินทร์ เป็นเรื่องของนาคินทร์ ชายหนุ่มที่เจอเรื่องประหลาดในชีวิตมาตั้งแต่เด็ก เขาพยายามมองว่ามันไม่เป็นปัญหาจนกระทั่งมีจุดพลิกผันให้รู้ว่าสิ่งที่เคยเข้าใจนั้นผิด และต้องหาทางแก้ปัญหาไปโดยที่มีทั้งคน (และไม่ใช่คน) ที่คอยช่วยและขัดขวางไปจนกว่าจะสามารถปลดพันธนาการของคำสัญญาได้ค่ะ" กวินเล่าให้ฟังคร่าวๆ 

ก่อนจะเขียนเรื่องนี้ เธอเริ่มด้วยการกำหนดตัวละครขึ้นก่อนโดยเอาตัวนาถภุชงค์เป็นหลัก แต่จะพัฒนาให้กลายเป็นนาคินทร์โดยที่พิจารณาจากสิ่งแวดล้อมที่ใส่เข้าไปอย่างครอบครัว การเลี้ยงดู ปมในใจ กำหนดแรงจูงใจของตัวละคร แล้วก็หาอุปสรรคมาให้เป็นขั้นๆ ไป รวมทั้งของตัวละครอื่นอย่างเมลินดาด้วย พลอตที่อยากจะเขียนเลยตั้งใจว่าเป็นเรื่องของการเติบโตของตัวละครเพื่อให้เป็นคนที่ดีขึ้น

 
แม้จะเขียนนวนิยายมาแล้วหลายเรื่อง แต่กวินก็ยังประสบปัญหาในการเขียนมากมาย อย่างการไม่สามารถดึงตัวละครให้กลับมาลงพลอตที่วางไว้ได้ จึงต้องพักไปอ่านทบทวนช่วงหนึ่งระหว่างนั้นก็ไปเขียนเรื่องอื่นแทน เมื่อพร้อมแล้วค่อยกลับมาดูว่าจะปรับตรงไหนเพื่อให้ไปต่อได้บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเนื้อเรื่องด้วยว่ายืดหยุ่นได้มากแค่ไหน  และเมื่อเริ่มเบื่อก็ต้องพยายามสร้างแรงจูงใจดึงตัวเองกลับมา บางทีอาจจะข้ามไปเขียนฉากถัดไปหลังจากนั้นก่อนจะได้รู้สึกว่าอยากจะกลับมาทำส่วนที่เหลือต่อ

 
เรื่องของการเขียน กวินจะฝึกตัวเองด้วยการเขียนทุกวัน จะมากหรือน้อยก็ตาม และจะพยายามทำตัวให้อารมณ์ดีไว้จะได้เขียนงานได้เรื่อยๆ

 
เมื่อถามถึงเรื่องแนวคิดในการทำงาน นักเขียนคนเก่งได้ให้คำตอบที่ชวนให้อมยิ้มว่า "เพียงแค่ตั้งใจ หากทำอะไรด้วยความตั้งใจที่ดีแล้วคนอ่านจะรู้สึกดีได้ ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของจังหวะและโอกาสค่ะ"

 
เท่านี้ก็รับรู้ได้ถึงความสุขอย่างที่หวังไว้หากได้ลองหยิบหนังสือของเธอขึ้นมาพลิกอ่านแม้เพียงหน้าแรก.