‘ภาพภพ’ ความรักที่ต้องฟันฝ่าเงาพยาบาทจากอดีต โดย ฟารุต

บทสัมภาษณ์

บทสัมภาษณ์นักเขียน ‘ฟารุต’ กับผลงานนิยายเรื่อง ‘ภาพภพ’

 

 

แนะนำเรื่อง ‘ภาพภพ’
       ‘ภาพภพ’ เป็นเรื่องราวของความรักที่เริ่มต้นจากภาคอดีต ระหว่าง ‘จิอานโน’ จิตรกรหนุ่มจากอิตาลี ผู้เดินทางมากรุงสยาม ได้รู้จักและผูกพันกับหญิงสาวฝาแฝดชาวพระนครชื่อ ‘แม่วง’ และ ‘แม่วาด’ โดยมีความรักของ ‘ทับ’ เด็กหนุ่มซึ่งเป็นบ่าวในเรือน ซุกซ่อนซ้อนเหลื่อมอยู่ใต้เงาของจิอานโน ความรักในภาคอดีตไม่สมหวัง ลงเอยด้วยการพลัดพรากจากลา ฝังรอยแค้นไว้ให้ผู้ที่ผิดหวัง จนมาถึงภาคปัจจุบัน สู่เรื่องราวของ ‘อเดลลา’ หญิงสาวผู้มาสานต่อความรักในศิลปะของปู่ทวด และได้พบกับ ‘บุรฉัตร’ จิตรกรหนุ่มชื่อดังของไทย ความรักของทั้งคู่ต้องผ่านอุปสรรคในปัจจุบันและเงาพยาบาทจากอดีตที่ตามมารังควานไม่จบสิ้น

อะไรคือแรงบันดาลใจหรือจุดเริ่มต้นในการเขียนเรื่องนี้?
       จริงๆ ชีวิตผมวนเวียนอยู่กับสถานที่เก่าๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาตลอด จึงรู้สึกผูกผันมาก เรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็คือวังท่าพระ เช่าหอก็อยู่ใกล้วังสวนสุนันทา แรงบันดาลใจครั้งแรกคือได้รู้จักกับลูกศิษย์คนหนึ่งที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นสอนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ผมรู้สึกถูกชะตากับเด็กคนนี้มาก จนปัจจุบันได้มานับถือเป็นพ่อลูกกัน ผมเชื่อว่าการที่เราได้พบใครสักคนที่รู้สึกรักและผูกพัน น่าจะได้เคยพบได้ร่วมชีวิตกันมาในชาติก่อน นิยาย ‘ภาพภพ’ จึงผุดขึ้นมาในความคิดตอนนั้น ผมเริ่มผูกเรื่องราวเข้าด้วยกัน แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียน จนมาย้ำความคิดเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เมื่อผมไปเห็นภาพถ่ายโบราณภาพหนึ่ง เป็นภาพจิตรกรชาวอิตาลีชื่อ ‘เซซาเร แฟร์โร’ กำลังนั่งวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 และอีกภาพหนึ่ง คือภาพจิตรกรชาวอิตาลีชื่อ ‘คาร์โล ริโกลี’ นั่งวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ในใจตอนนั้นคิดเล่นๆ ว่า หรือผมจะเคยเป็นหนึ่งในจิตรกรชาวอิตาลี แล้วเคยเดินทางเข้ามากรุงสยาม เลยจุดประกายให้เขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา

คิดว่าจุดที่ยากหรือเป็นอุปสรรคในการเขียนเรื่องนี้คืออะไร?
       ผมเชื่อว่าความยากของนักเขียนเกือบทุกคนคือการเขียนนิยายย้อนยุค เพราะต้องค้นหาเกือบทุกด้านของยุคสมัยที่เราเขียนถึง ต้องใช้เวลาหาข้อมูลให้เพียงพอและให้ผิดพลาดน้อยที่สุด สำหรับผมต้องอ่านหนังสือหลายเล่ม ค้นข้อมูลจากโซเชียลมาเก็บไว้อ้างอิง ทำตารางปี พ.ศ. ลงในกระดาษ กำหนดช่วงเวลาว่าเหตุการณ์ทั้งหมดในภาคอดีตเกิดขึ้นตั้งแต่ปีไหนถึงปีไหน เรียงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เอาไว้สำหรับดูเพื่อกันความผิดพลาดของช่วงเวลา และบันทึกหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เช่น คลองรามบุตรี ซึ่งในยุคปัจจุบันไม่มีแล้ว แต่ในช่วงที่เราเขียนถึงยังมีอยู่หรือไม่ หรือรถรางมีขึ้นหรือยังในยุคที่เราหยิบมาเขียน งานฤดูหนาวจัดขึ้นในปีไหนและที่ไหน อีกอย่างที่ช่วยได้มากคือภาพถ่ายโบราณในยุคนั้น เพราะเมื่อมองแล้วทำให้เห็นบรรยากาศ สถานที่ ผู้คน แล้วค่อยมาผนวกกับจินตนาการของเราเพิ่มเข้าไป

ระหว่างการเขียนกับการวาดรูป คิดว่าอะไรยากกว่ากัน และเพราะอะไร?
       การเขียนหนังสือกับการวาดรูปยากคนละอย่างครับ แต่คือการถ่ายทอดเหมือนกัน การวาดรูปถ่ายทอดจากสมองบวกกับจินตนาการผ่านมือเพื่อวาด ใช้ทักษะทางสายตาในการคำนวณสัดส่วน แยกแยะสี ระบายสี ให้ออกมาเป็นภาพ ให้คนมองเห็นภาพตามที่เราจินตนาการ ยิ่งฝึกวาดรูปมากเท่าไหร่ จะยิ่งเพิ่มทักษะการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยมือได้มากเท่านั้น ส่วนการเขียนนิยายถ่ายทอดจากสมองบวกจินตนาการ ต้องอาศัยการอ่านให้มาก ต้องฝึกเขียนให้มาก เพื่อใช้ทักษะทางวรรณศิลป์บรรยายให้คนอ่านคล้อยตามและเกิดจินตภาพตามที่เราคิดไว้ แต่ทั้งสองอย่างคือความสุขของผู้สร้างผลงานและผู้เสพผลงานเช่นกัน

 

 

แนะนำตัวละครหลักของเรื่อง ‘ภาพภพ’
ตัวละครหลักของเรื่องแบ่งเป็นสองภาค
       ภาคอดีต
       1. จิอานโน จิตรกรหนุ่มวัยสามสิบแปดปีจากอิตาลี ที่เข้ามาทำงานวาดภาพในกรุงสยาม
       2. วง ลูกสาวพระยารามภูดิศ มีน้องสาวฝาแฝดชื่อวาด ทั้งสองหน้าตาเหมือนกัน แต่นิสัยใจคอต่างกันลิบลับ ทั้งคู่คือต้นเหตุของความรัก ความพยาบาทในเรื่อง
       3. ทับ เด็กหนุ่มที่เป็นบ่าวรับใช้ในเรือนพระยารามภูดิศผู้หลงรักจิอานโนเงียบๆ แต่ไม่อาจเปิดเผยให้ใครรู้
       ภาคปัจจุบัน
       1. บุรฉัตร จิตรกรหนุ่มที่มีชื่อเสียง
       2. อเดลลา นักศึกษาสาวศิลปะจากอิตาลี เหลนของจิอานโน

ถ้าให้เปรียบความสัมพันธ์ของพระ-นางในเรื่อง คิดว่าความรักของทั้งคู่เปรียบเหมือนอะไร และแตกต่างกันตรงไหนระหว่างอดีตกับปัจจุบัน?
       ชีวิตของคนคล้ายกับสีหลากเฉด บ้างคือสีน้ำเงิน นิ่ง สงบ เข้มแข็ง บางคนคือสีแดง ร้อนแรง วูบไหวไม่เคยหยุดนิ่ง ชายหญิงบางคู่เปรียบเหมือนสีคู่ตรงข้าม อยู่ร่วมกันได้ แต่เมื่อนำผสมในอัตราส่วนที่เท่ากัน กลับได้สีเทามืดหม่น ไม่งดงาม แต่ถ้าลดทอนสีใดสีหนึ่งลง ก็ทำให้ความมืดมัวจางลงได้ ไม่ต่างจากคนสองคนที่มาอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะในสถานภาพใด ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราให้กัน ความทุกข์ร้อนก็จะเกิดขึ้น

ในนิยาย ‘ภาพภพ’ เปรียบความรักของ ‘จิอานโน’ กับ ‘แม่วง’ โดยมีความรักของ ‘ทับ’ ซ้อนเหลื่อมอยู่ในความสัมพันธ์นั้น เหมือนภาพที่วาดขึ้นด้วยบรรยากาศของสีโทนเย็น สงบ อบอุ่น และราบเรียบ แต่ ‘แม่วาด’ เปรียบได้กับสีโทนร้อนที่ปาดลงบนภาพวาดชิ้นนี้ สีสันฉูดฉาดแฝงความรุ่มร้อน เรื่องราวของคนทั้งหมดในอดีตคล้ายภาพที่ยังวาดไม่เสร็จสมบูรณ์ เมื่อผ่านกาลเวลา จน ‘อเดลลา’ และ ‘บุรฉัตร’ ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง จึงได้สานต่อภาพวาดนั้นจนเสร็จสมบูรณ์ด้วยความงดงาม

มีสารอะไรที่อยากฝากถึงผู้อ่านผ่านเรื่องนี้เป็นพิเศษไหม?
       หัวใจหลักของนิยายเรื่องนี้คือความรัก แต่ความรักไม่ได้ก่อให้เกิดเพียงความงดงาม ถ้าเราไม่รู้จักความรักที่แท้จริง เราจะสัมผัสได้เพียงความหลง ถ้าไม่รู้จักยอมรับ ให้อภัย และการปล่อยวาง ชีวิตก็จะมีแต่ความทุกข์ ทุกเรื่องราวที่ผ่านไปแล้ว แม้เพียงหนึ่งวินาทีก็คืออดีต เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งที่ผ่านมาได้อีกเลย เหมือนแม่วาดที่ผูกใจไว้กับความเกลียดชังเคียดแค้น แม้จะเหลือเพียงวิญญาณ ไฟร้อนรุ่มแห่งความริษยาอาฆาตก็ยังเผาตัวเองอยู่เช่นนั้นนานเท่านาน

ฝากผลงานเรื่อง ‘ภาพภพ’
       ผมฝาก ‘ภาพภพ’ ให้นักอ่านทุกท่านได้รับไว้ลองอ่านดูนะครับ ท่านใดที่ชอบนิยายแนวพีเรียดสมัยรัชกาลที่ 5 ในกลิ่นอายของศิลปะ มีเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ในช่วงที่สยามกำลังเจริญด้วยอารธรรมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่ศิลปะกำลังเฟื่องฟูในพระนคร มีการจ้างจิตรกรจากต่างประเทศมาวาดภาพ มีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตกที่สำคัญมากมาย นอกจากนี้ ผมยังแทรกชีวิตของผู้คนในยุคนั้น ตลอดจนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ลงในนิยายเรื่องนี้ด้วย ผมขอออกตัวว่าไม่ใช่คนเก่ง แต่เมื่อได้รับโอกาสแล้ว ผมจะตั้งใจเขียนให้ดีที่สุดเพื่อความสุขของนักอ่านทุกท่านครับ

ติดตามความสนุกใน  ภาพภพ  ได้เร็วๆ นี้ ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์สถาพรบุ๊คส์ www.satapornbooks.com หรือดาวน์โหลดอีบุ๊กได้ที่ Application : Satapornbooks,  MebNaiin AppHytextOokbeePinto E-BookSE-ED และ comico

...

ผลงานนักเขียน