นาทีนี้ละครที่กำลังมาแรงสุดๆ ชนิดที่ทำให้แฟนละครติดหนึบทั้งที่ฉายไปเพียงไม่กี่ตอนและได้รับเสียงชมมากมายบนโลกออนไลน์ คงไม่พ้นเรื่อง ‘แรงตะวัน’ เรื่องราวการปะทะกันของเจ้าพ่อผู้เป็นดั่งดวงอาทิตย์บ้าคลั่ง และดีไซเนอร์สาวปากกล้าที่แรงไม่แพ้กัน และพร้อมจะฟาดฟันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง วันนี้สถาพรบุ๊คส์จะพาไปพูดคุยกับ ‘เบญจามินทร์’ เจ้าของผลงานเรื่องนี้ที่จะมาพูดคุยถึงเรื่องแรงตะวัน พร้อมทั้งเผยเคล็ดลับ และบอกเล่าถึงเส้นทางนักเขียนให้ฟังกันค่ะ • แนะนำตัวสักนิดทีค่ะ สวัสดีค่ะเบญจามินทร์มีชื่อจริงว่า กาญจนา อนันต์ ตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่มุกดาหารค่ะ งานเขียนส่วนใหญ่ของเบญจามินทร์จะเป็นแฟนตาซี ทั้งยิงแสงและไม่ยิงแสง (ฮา) เพิ่งมาเขียนแนวโรแมติก แนวดราม่าหนักๆ ก็เรื่อง ‘แรงตะวัน’ ค่ะ คนอ่านที่ไม่อ่านแนวแฟนตาซีอาจจะไม่คุ้นชื่อ
• อยู่ในวงการนักเขียนมานานแค่ไหนแล้วคะ สิบกว่าปีแล้วค่ะ มีงานตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2549 มีหนังสือตีพิมพ์ออกมายังไม่มาก เพราะเป็นคนเขียนงานช้า ได้ปีละเล่มหรือสองปีเล่มค่ะ
• เล่าถึงเส้นทางนักเขียนตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงตอนนี้ให้ฟังหน่อยนะคะ เริ่มแรกเลยคืออ่านนิยาย ชอบไปเดินดูตามร้านหนังสือ มีความฝันว่าอยากมีชื่อตัวเองอยู่บนปกหนังสือ อยากเห็นคนยืนเลือกหนังสือเราในร้านหนังสือ ทำให้เริ่มเขียนนิยาย ใช้เวลาหลายปีเลย เขียนจบก็ลองเอาไปโพสต์ในเว็บไซต์พันทิพ มีคนมาคอมเมนต์ไม่กี่คนหรอกค่ะ แต่กลับดีใจมากๆ มันเป็นความสุขที่ได้คุยกับคนที่อ่านงานเขียนเรา พอเขียนจบก็ส่งสำนักพิมพ์ ไม่ผ่าน ผิดหวังหลายครั้ง แต่ละครั้งก็เอามาแก้ไข กระทั่งมีนิยายเล่มแรกตีพิมพ์ เรื่อง ‘รัตนมณีแห่งดวงดาว’ กับสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์นี่แหละค่ะ
• คุยกันถึงเรื่อง ‘แรงตะวัน’ บ้าง เรื่องนี้เบญจามินทร์ได้รับแรงบันดาลใจจากไหนคะ ช่วงนั้นมีความรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแนวเขียน บังเอิญเห็นข่าวเด็กถูกพี่เลี้ยงทำร้าย พี่เลี้ยงก็คือคนที่พ่อแม่เด็กไว้ใจ ช่วงนั้นข่าวดังมาก มีการเอานักวิชาการมาคุย มันน่าสนใจตรงที่เรื่องไม่ได้จบแค่นั้น แผลที่ตัวเด็กอาจรักษาหายได้ แต่แผลที่เกิดขึ้นในใจเด็กจะยังอยู่ จิตใจเด็กเหมือนมีรอยร้าว มีความกลัว เด็กแต่ละคนมีวิธีรับมือแตกต่างกัน เด็กบางคนผ่านมันไปได้ถ้าเขามีคนรอบตัวคอยดูแลใกล้ชิด แต่เด็กบางคนไม่ ยังคงอยู่กับความกลัวนั้น ยิ่งถ้าไม่มีคนเข้าใจจะยิ่งเลวร้าย เพราะความกลัวนั้นจะกลายเป็นเบ้าหลอมให้เขาโตมาเป็นคนที่จะทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง กลายเป็นคนที่ชอบใช้ความรุนแรง จัดการกับอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ทั้งที่เป็นคนที่ต้องการความรักที่สุด แต่กลับไม่รู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะได้รัก หรือรักษาความรักนั้นไว้ได้ยังไง...นั่นเป็นที่มาของสุริเยนทร์หรือนายภูใน ‘แรงตะวัน’ ค่ะ
• ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
สิ่งที่อยากจะบอกคือ อย่าตัดสินคนแค่ภายนอก อย่าเอาความรู้สึกตัวเองมาตัดสินคนอื่น...ถ้าบ้านคุณ รอบตัวคุณมีเด็ก ดูแลเขาให้ดีค่ะ ปกป้องเขาอย่าให้เขาได้เจออย่างที่สุริเยนทร์เจอ... การถือทิฐิอยากเอาชนะคนในครอบครัวไม่เคยสร้างผลดีกับใคร เพราะวันหนึ่งถ้าเขาไม่อยู่ให้เราเอาชนะแล้ว เรานั่นแหละจะเป็นคนเสียใจที่สุด เหมือนสุริเยนทร์ที่รักพี่สาวมาก แต่ก็ไม่ยอมให้อภัย ตัวนางเอกอย่าง ทานตะวัน เองก็ต้องเรียนรู้เหมือนกันว่าการเป็นคนไม่ยอมมีหลายวิธีที่จะแสดงออก เพราะไม่ใช่คนทุกคนที่เธอจะพุ่งชนตรงๆ ได้...สุริเยนทร์ก็ต้องเรียนรู้ว่าถ้าเขายังปล่อยให้แผลในอดีตหลอกหลอน เขาก็จะสูญเสียสิ่งดีๆ ในปัจจุบันไป ในเรื่องนี้ตัวละครจะมีความเชื่อของตัวเองอย่างสุดโต่ง เมื่อมาเจอกันพวกเขาต่างจะต้องปรับตัว เรียนรู้กันค่ะ
• ตอนนี้แรงตะวันได้เป็นละครแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างคะ
ตื่นเต้น ดีใจค่ะ แล้วกังวลเล็กๆ ว่าพอเป็นละคร สิ่งที่เราอยากจะบอกคนดูในนิยายจะมีอยู่ในละครมั้ย แต่พอได้ดูก็โล่งใจค่ะ สิ่งที่เราอยากจะสื่อกับคนอ่านยังคงอยู่ แถมมีความสนุก มีสีสันเข้ามามากมาย ละครดำเนินเรื่องเร็ว เข้มข้นขึ้นมากๆ ค่ะ • คิดว่าเพราะอะไรนิยายของเราถึงได้ทำเป็นละคร คิดว่าเพราะตัวละครอย่างสุริเยนทร์ แครักเตอร์เขาชัดดี มีเรื่องราวให้อยากค้นหา จำได้ว่าตอนไปคุยกับคุณหมอก้อง (ทีมผู้จัด) หมอก้องพูดว่าเขาชอบสุริเยนทร์ ตัวละครตัวนี้ลึกดี ชั่วดี ถ้าพลิกนิดเดียวนี่คือตัวโกงเลวๆ ได้เลย (ฮา)
• เบญจามินทร์มีส่วนช่วยในการเขียนบทละครไหมคะ ถามว่ามีส่วนกับการเขียนบทมั้ย...ไม่มีส่วนช่วยเขียนเลยค่ะ แต่เรียกว่ามีโอกาสได้ไปคุยกับทีมงานครั้งหนึ่ง เพราะตอนนั้นยังเขียนนิยายเรื่องนี้ไม่จบ ทยอยส่งให้ทางนั้นอ่าน พอดีมีโอกาสได้เข้ากรุงเทพฯ ก็นัดเจอกัน ไปพูดคุย เล่าเรื่องราวในแรงตะวันให้ฟังคร่าวๆ ทางนั้นได้ถามที่มาที่ไป ของแต่ละตัวละคร การไปในครั้งนั้นดูเหมือนเราจะได้ประโยชน์ ได้ความรู้มากกว่าไปช่วยคิดค่ะ ^^
• ได้ยินว่าเรื่องนี้ผู้จัดสนใจตั้งแต่ยังเขียนไม่จบ ช่วยเล่าเหตุการณ์ตอนนั้นให้ฟังหน่อยนะคะ
|