1

บทที่ 1

บทที่ 1

 

ควันพวยพุ่งขึ้นมาหลังจากเยาวลักษณ์เปิดฝาลังถึง ข้างในเป็นขนมกล้วยในถ้วยตะไล กลิ่นหอมหวานอบอวล เธอใช้คีมคีบถ้วยออกมาเรียงพักในกระจาด ต่อมาก็หยิบถ้วยตะไลชุดใหม่ลงไปก่อนจะปิดฝาลังถึงอีกครั้งแล้วเดินมาที่โต๊ะกลาง          

        หญิงสาวคนหนึ่งกำลังใช้ถุงบีบบีบขนมเปียกปูนเป็นวงกลมคล้ายก้นหอย หัวบีบเป็นรอยหยักก่อให้เกิดร่องริ้วสวยงาม 

“สวยจัง” 

“ขนมกล้วยของแม่เสร็จหรือยัง”

“เหลืออีกชุดเดียว”

ทิพารักษ์พยักหน้าก่อนจะบีบขนมเปียกปูนใบเตยจนหมด เธอเปลี่ยนมาใส่เปียกปูนดำแล้วบีบเป็นวงก้นหอยเหมือนเดิม ต่อจากนั้นก็เอามะพร้าวขูดมาโรยไว้ตรงกลางกลุ่มขนม

ต่อจากนั้นก็เอาทั้งเปียกปูนใบเตยกับเปียกปูนดำใส่หัวบีบอย่างละครึ่งเพื่อทำให้เป็นสองสี ซึ่งกำลังขายดีในตลาดนัดกลางคืนซึ่งเธอเป็นคนเอาไปขายเองระหว่างรอบริษัทที่สมัครงานไว้ติดต่อกลับ

ปีนี้ทิพารักษ์อายุยี่สิบห้า จบปริญญามาได้เกือบครึ่งปีแล้วแต่ยังหางานไม่ได้ แต่เจ้าตัวก็ช่วยแม่ทำขนมขายรอไปพลางๆ ยิ่งมีตลาดมาเปิดใหม่ยิ่งมีช่องทางหลากหลาย โดยเฉพาะการผสมผสานขนมที่ใกล้เคียงกันเป็นหนึ่งชิ้นซึ่งเป็นจุดขายของขนมแม่เยาว์

“เดี๋ยวปีบเอากล่องใหญ่มาใส่ขนมให้ป้าอิมเลยนะ”

“งั้นแม่เลือกเองเลยดีกว่าจ้ะ เดี๋ยวปีบดูขนมกล้วยให้” เธอบอกขณะส่งกล่องเบเกอรี่สีเขียวลายใบตองให้แล้วหยิบมะพร้าวมาขูดเพื่อเตรียมไว้สำหรับโรยหน้า

ในบ้านไม้สองชั้นเก่าๆ มีสมาชิกแค่สองคน พิทักษ์ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตไปหลายปีแล้วด้วยโรคมะเร็ง สองแม่ลูกใช้ชีวิตสงบสุขตามอัตภาพ ทิพารักษ์ได้รับการอุปการะจากครอบครัวเจ้านายของพ่อ ซึ่งเธอกำลังจะไปหาเขาในบ่ายวันนี้พร้อมขนมเปียกปูนกล่องใหญ่

ทิพารักษ์ไม่รู้ว่า การไปครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล

 

ทิพารักษ์กดกริ่งที่รั้วไม้สูงแล้วยืนรอ เธอโทร.บอกเจ้าของบ้านไว้ก่อนแล้ว เวลาผ่านไปไม่ถึงหนึ่งนาทีประตูเล็กก็เปิดออก แม่บ้านอายุห้าสิบโผล่หน้าออกมา

“ป้าติ๋วสวัสดีค่ะ”

“น้องปีบ เข้ามาเลยค่ะ คุณอิมรออยู่แล้ว”

ขณะที่หญิงสาวกำลังเดินเข้าประตูเล็ก ประตูใหญ่ก็ค่อยๆ เปิดออกด้วยระบบอัตโนมัติ เธอเหลือบไปมอง

“น้องปีบไปหาคุณอิมได้เลยนะ ป้าทำครัวค้างไว้”

ทิพารักษ์หันกลับมา น่าจะมีใครสักคนกำลังเข้ามา แต่เธอไม่ได้สนใจเดินต่อ ระยะทางจากรั้วถึงตัวบ้านประมาณห้าสิบเมตร ตอนนั้นบ่ายสองอากาศกำลังร้อน

“ปี๊น!

  จู่ๆ มีเสียงแตรลั่น เธอสะดุ้งโหยง กระโดดหนีอัตโนมัติ รถเก๋งสีดำแล่นไปจอดด้านหน้าบ้านสองชั้นที่ซ่อนอยู่ใต้ร่มชมพูพันธุ์ทิพย์ ขณะที่ทิพารักษ์ยังตกใจประตูรถก็เปิดออก

“ขอโทษครับน้องปีบ”

เขาเป็นคนขับรถชื่อเกษม ทิพารักษ์ยังไม่ทันพูดอะไรประตูรถที่นั่งด้านหลังก็เปิดออก มีคนก้าวลงมา ชายหนุ่มรูปร่างสูงโปร่งสวมเสื้อคอกลมสีดำร่นแขนขึ้นไปถึงข้อศอกกับกางเกงยีน เขาซึ่งสะพายกระเป๋าเป้เหลือบมองมาแวบเดียวแล้วเดินต่อเข้าไปในตัวบ้าน 

ทิพารักษ์รู้สึกร้อนผ่าวไปทั้งร่าง

“น้องปีบ ขอโทษนะครับ เมื่อกี้พี่รีบไปหน่อย”

เสียงเกษมเรียกอีกครั้ง เขาก้มศีรษะขออภัยอย่างจริงใจ เธอกลับมาเป็นตัวเอง

“ไม่เป็นไรค่ะ พี่เกษม ปีบแค่ตกใจ”

เธอคิดในใจว่าคนที่รีบไม่ใช่อีกฝ่าย เกษมไม่ใช่คนขับรถเร็ว จึงไม่ใช่ความผิดของเขา เขาพยักหน้ารับและรีบกลับไปที่รถเปิดกระโปรงหลังหยิบกระเป๋าเดินทางออกมา นอกจากนั้นยังมีถุงกระดาษอีกสองใบ

“ปีบช่วยค่ะพี่เกษม”

“โอ๊ะ ไม่เป็นไรครับ”

“แต่...”

เกษมลดเสียงลงอัตโนมัติ “คือว่า นี่เป็นของคุณศาสครับ ถ้าเกิดมีอะไรขึ้นมาเดี๋ยวน้องปีบจะโดนดุนะ”

ทิพารักษ์กะพริบตาปริบ จังหวะนั้นอีกฝ่ายก็ถือกระเป๋าเดินทางกับถุงกระดาษเข้าไปในตัวบ้านแล้ว 

 

ที่ห้องรับแขก คนคู่หนึ่งนั่งอยู่แล้ว เมื่อทิพารักษ์มาถึงก็ทักทันที

“หนูปีบ”

“สวัสดีค่ะคุณป้า”

อมรรัตน์ลุกเดินมาหา “มาๆ นั่งก่อน”

“ไม่เป็นไรค่ะ หนูแค่แวะเอาขนมมาให้” ขณะที่พูดก็รู้สึกได้ถึงสายตาที่จ้องมองมา เจ้าของความเร็วที่ทำให้เกษมวัยสี่สิบต้องมาขอโทษเธอ

“อุ๊ย เยอะแยะเลย”

“พอดีพรุ่งนี้วันพระ แม่คิดว่าบางทีคุณป้าจะไปทำบุญเลยทำมาเผื่อให้น่ะค่ะ”

“ดีจัง ขอบใจมากนะจ๊ะ” สุภาพสตรีอายุห้าสิบที่ดูอ่อนกว่าวัยด้วยผิวขาวสะอาดและดวงตาสดใส เธอสวมเสื้อลายดอกไม้บนพื้นขาวกับกางเกงผ้าลินินสีครีม

“อ้อ จริงสิ มานี่มา” เธอจับมือทิพารักษ์มานั่ง “นี่พี่ศาส เพิ่งกลับมาจากอังกฤษ ปีบจำได้รึเปล่า ศาส นี่หนูปีบ จำน้องได้ไหม”

ทิพารักษ์ยกมือไหว้ ชายหนุ่มรับไหว้ด้วยสีหน้าเฉยเมยค่อนไปทางเย็นชา หญิงสาวรู้สึกหายใจขัด

“เอ ไม่ได้เจอกันนาน น่าจะหลายปีแล้วเนอะ”

ชายหนุ่มถอนใจยาวแล้วลุกขึ้น “ผมง่วง ขอไปพักก่อนนะ”

“เอ้า ไม่กินข้าวก่อนเหรอ”

แต่คนเป็นลูกก็เดินออกไปโดยไม่ตอบคำถามนั้นอีก 

อมรรัตน์หันมามองทิพารักษ์ “ขอโทษแทนพี่เขาด้วยนะ พอดีพี่เขาเพิ่งกลับมาน่ะ คงอยากพักผ่อน ไหนดูสิ มีอะไรบ้าง ขนมเปียกปูนดำ กำลังอยากกินพอดี อุ๊ย อันนี้มีสองสี”

ทิพารักษ์รู้ว่านั่นไม่ใช่กิริยาแสร้งทำ อมรรัตน์ชอบขนมฝีมือของแม่เธอจริงๆ

“เป็นสองรสในอันเดียวค่ะ ใบเตยกับกาบมะพร้าว อันนี้ปีบคิดเองค่ะ ขายดีด้วยนะคะ”

“จริงเหรอ ต้องลองหน่อยแล้ว ติ๋ว มาเอาขนมไปใส่จานหน่อย”

แม่บ้านเดินเข้ามารับกล่องขนม อมรรัตน์แจกแจงว่าส่วนไหนให้แบ่งมากิน ส่วนไหนเก็บไว้ อีกฝ่ายรับคำชัดเจนแล้วเดินออกไปอย่างคล่องแคล่ว

“แม่เป็นยังไงบ้าง สบายดีไหม”

“สบายดีค่ะ ทำขนมทุกวัน ตอนปีบออกมาเพิ่งจะกินข้าว” หญิงสาวเล่ากึ่งบ่น

“แม่เยาว์เขาเป็นคนขยัน เมื่อก่อนขายกับข้าวขนาดไม่สบายยังลุกขึ้นมาทำ พ่อเราห้ามก็ไม่ฟัง พอบอกว่าเดี๋ยวเชื้อโรคลงอาหารนั่นละถึงได้หยุด”

ทิพารักษ์ยิ้มขำ เรื่องนั้นพ่อเล่าซ้ำไปซ้ำมา หลังจากพ่อเสียไปแม่ก็เปลี่ยนมาทำขนมอย่างเดียวแล้วเอาไปขายตลาดตอนเช้าทุกวัน

“ปีบได้งานหรือยังลูก”

“ยังค่ะ”

“ป้าบอกให้ไปทำงานที่บริษัทลุงเขาก็ไม่ไปนี่นา”

คนรุ่นลูกยิ้มเขินปนสำนึกผิด เคยให้เหตุผลไปว่าไม่อยากรบกวน เธออยากพึ่งตัวเองมากกว่า เพราะที่ผ่านมาครอบครัวนี้ก็ช่วยเหลือเธอกับแม่มาตลอด คอยไถ่ถามไม่ขาดว่าค่าเทอมต้องจ่ายเมื่อไร แล้วก็รีบจัดการโอนเงินมาให้มากกว่าจำนวนที่บอกไปเสมอ 

“ถ้าปีบอยากช่วยแม่ขายขนมก็ได้นะ ป้าช่วยหาทำเลเปิดร้านให้ ปีบจะได้มีหน้าร้าน เผื่อขายออนไลน์ด้วย ดีไหม”

ทิพารักษ์ยอมรับว่าสนใจข้อเสนอนี้ แต่ก็ปฏิเสธด้วยความเกรงใจ “เดี๋ยวขอปีบลองทำงานดูก่อนแล้วกันค่ะ จะได้มีประสบการณ์คุยกับคนเยอะๆ ถ้าเบื่องานหรือไปไม่ไหวจริงๆ จะบอกคุณป้านะคะ”

“ได้” อมรรัตน์ยิ้ม แม่บ้านติ๋วเอาขนมมาให้พร้อมน้ำดื่ม เธอตักชิม “อร่อย หอม หวานกำลังดี ฝีมือแม่เยาว์ไม่ตกเลยจริงๆ ยิ่งได้ปีบมาช่วยคิดสูตรใหม่ๆ ทำตลาดใหม่ๆ นี่ยิ่งดี อย่าลืมนะ ถ้าอยากขยับขยายอะไรบอกป้าเลย”

“ขอบคุณคุณป้ามากๆ ค่ะ คุณป้ากับคุณลุงดีกับปีบและเสมอ ไม่รู้จะตอบแทนยังไง” เธอยกมือไหว้ผู้สูงวัย อีกฝ่ายจับมือไว้

“ไม่เป็นไร ป้าเคยบอกแล้วไงว่าอย่าไปคิดเรื่องบุญคงบุญคุณอะไร ที่ป้าทำน่ะยังเทียบไม่ได้เลยกับที่พ่อหนูช่วยลุงเขาไว้ หนูเองก็เป็นเด็กดี ไม่มีเหตุผลเลยที่จะไม่ช่วยเหลือกัน”

ทิพารักษ์รู้สึกถึงความเมตตาเต็มเปี่ยม พ่อของเธอเคยทำงานเป็นคนขับรถให้สุทินอยู่หลายปี เป็นลูกจ้างที่ขยัน เช่นเดียวกันกับแม่ ถ้าไม่เจ็บป่วยขนาดล้มหมอนนอนเสื่อก็จะไม่หยุดงานเด็ดขาด

วันหนึ่งขับรถไปต่างจังหวัด เกิดอุบัติเหตุดินถล่มรถไถลตกเนินเขา สุทินสลบไป พิทักษ์ดึงร่างของเจ้านายมาแบกขึ้นบ่าแล้วเดินเท้ามาขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านทั้งที่ตัวเองก็บาดเจ็บที่ขา ก่อนจะช่วยกันพาส่งโรงพยาบาล หมอแจ้งว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี หากมาช้ากว่านั้นสุทินอาจจะไม่รอดเนื่องจากชีพจรเต้นอ่อนมาก 

อมรรัตน์ถือว่าตนกับสามีเป็นหนี้บุญคุณลูกจ้างคนนี้ ดังนั้นเมื่อเสียผู้นำครอบครัวไปเธอจึงเต็มใจช่วยเหลือสมาชิกที่เหลืออย่างไม่มีข้อแม้ ยิ่งสองแม่ลูกเป็นคนดีจึงยิ่งอยากสนับสนุน

นั่งคุยกันสักพักทิพารักษ์ก็ขอตัวกลับ 

 

เสียงมอเตอร์ไซค์มาจอดที่หน้าบ้านไม้สองชั้น เยาวลักษณ์ชะโงกหน้าไปมองแล้วตะโกน

“ปีบ ดามาแล้วลูก”

“จ้า” ทิพารักษ์ตะโกนลงมาพร้อมฝีเท้าที่ย้ำบันได

“น้าเยาว์สวัสดีครับ”

อัษฎาเป็นผู้ชายตัวสูง หน้าคมดวงตาเรียว ตัดผมสั้นดูสะอาดสะอ้าน เขาสวมเสื้อยืดสีขาวทับด้วยเสื้อเชิ้ตสีฟ้าอ่อนกับกางเกงยีน เดินเข้ามาชะโงกหน้ามองหม้อบนเตาแล้วพูดคุยกับเยาวลักษณ์อย่างสนิทสนม

“โห แกงส้มกุ้งด้วย มิน่าล่ะหอมไปถึงหน้าบ้านเลย”

“พี่ดา ทำไมมาเร็วจัง” ทิพารักษ์ลงมาจากห้องชั้นสอง เธอสวมเสื้อสีขาวกับกระโปรงยาวทรงบาน สะพายกระเป๋าใบย่อมลายนกฮูก

“เร็วตรงไหน จะเจ็ดโมงแล้วน้อง” เขาพูดล้อๆ ขณะที่หญิงสาวหยิบตะกร้าที่เตรียมของใส่บาตรไว้เรียบร้อย กับถุงผ้าใส่กล่องข้าวมื้อเช้าส่งให้ชายหนุ่ม ซึ่งเป็นปกติสำหรับการทำบุญ ถ้าไปกับอัษฎาเธอจะจัดข้าวใส่กล่องไปนั่งกินในวัด ก่อนที่จะไปซื้อของหรือเดินเล่นกันต่อไป

“ไปก่อนนะแม่”

“จ้า ขับรถดีๆ นะดา”

“ครับน้าเยาว์” อัษฎายกมือไหว้แล้วเดินตามกันออกไป 

เยาวลักษณ์มองตาม ลูกสาวเธอคบกับอัษฎามาสามปีแล้ว ทั้งสองรู้จักกันเพราะอัษฎาเป็นเพื่อนกับพี่รหัสของทิพารักษ์ ค่อยๆ คุยเป็นพี่น้องและขยับมาเป็นแฟนในที่สุด

อัษฎาเป็นคนขยัน ตั้งใจทำงาน อาศัยอยู่กับแม่สองคน อาจจะเพราะเหตุผลนี้เองทำให้เขากับทิพารักษ์เข้าใจหัวอกซึ่งกันและกัน 

ในฐานะแม่ เยาวลักษณ์ไม่คาดหวังอะไรมากกว่าอยากให้ลูกมีความสุข

 

ทำบุญเสร็จเรียบร้อย สองหนุ่มสาวนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์สยาม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทั้งคู่ทำตั้งแต่คบกันมา นั่นคือการไปเดินเที่ยวตามมุมต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเลือกจุดที่รถสาธารณะไปถึงและอาจจะเดินอีกเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นการท่องเที่ยว บางครั้งเดินเข้าตรอกซอกซอยที่ดูไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ใจกลางเมืองหลวง บางครั้งทะลุผ่านหลังบ้านคนที่กำลังกินข้าวกันอยู่ก็มี

อัษฎาจะถ่ายรูปสถานที่เหล่านั้นลงในเฟซบุ๊ค โดยเลือกให้ภาพติดทิพารักษ์ในบางมุมแต่ไม่ให้เห็นหน้าชัด พร้อมคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับสถานที่ๆ ไป นานวันเข้าคนติดตามเพิ่มขึ้น และเริ่มสอบถามว่าผู้หญิงในรูปเป็นใคร อยากให้เห็นหน้าชัดๆ แต่อัษฎาก็ไม่ตอบคำถามนั้น

เรื่องนี้เป็นความต้องการของทิพารักษ์เอง อัษฎาก็ชอบให้เป็นความลับแบบนั้น

ทั้งสองออกจากพิพิธภัณฑ์ ไปหามื้อเที่ยงกิน ต่อด้วยการเดินซื้อของในห้าง เมื่อเวลาล่วงเข้าบ่ายสามทิพารักษ์ก็อยากกินของหวาน อัษฎาเลือกร้านที่มีกาแฟ

เขาให้เธอไปจองที่นั่ง ระหว่างนั้นก็มาสั่งเครื่องดื่ม

“คาปูชิ...”

“คาปู...อุ๊ย”

มีเสียงผู้หญิงแทรกขึ้นมาตอนที่อัษฏากำลังจะเอ่ยชื่อเมนู เขาหันไป อีกฝ่ายก็รู้สึกตัวกำลังจะขอโทษ แต่แล้วต่างคนก็เบิกตาโต

“ดา”

“นัท”

หญิงสาวหน้าคมผิวสีน้ำผึ้ง ตัดผมบ๊อบเททำสีน้ำตาลทองสวมเบลเซอร์สีขาวทับเสื้อยืดสกรีนข้อความภาษาอังกฤษ ท่อนล่างเป็นกางเกงขาสั้นกับรองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ ดูทันสมัยแต่เซกซี่อยู่จางๆ  

“ไม่ได้เจอกันนานเลย สบายดีเหรอ”

“สบายดี นัทล่ะ เอ่อ คาปูชิโน่เย็นกับชาเขียวปั่นครับ” ประโยคสุดท้ายเขาหันไปสั่งเมนูให้พนักงานที่กำลังรออยู่ ทำให้ณัฐวราก็สั่งต่อเช่นกัน

“สบายดี ดามาเที่ยวเหรอ”

“อืม” เขาตอบสั้น 

หญิงสาวมองเครื่องดื่มสองแก้วอย่างเข้าใจ “ดายังทำงานที่เดิมอยู่ไหม” 

“ทำอยู่”

“ถ้าเราชวนให้ดามาทำงานที่บริษัทเรา ดาก็คงปฏิเสธเหมือนเดิมใช่ไหม”

อัษฎาจุดยิ้มมุมปาก “ใช่ เลิกตื้อเราเถอะ” 

ณัฐวราไหวไหล่ มองชายหนุ่มรับเงินทอนจากพนักงานและถือแก้วกาแฟ   

“ไปก่อนนะ” เขากล่าว

“ตามสบาย” เธอตอบพลางคิดในใจ 

อยากรู้ว่าคำว่าเลิกตื้อ อีกฝ่ายหมายถึงเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว

 

“เจอเพื่อนเหรอพี่ดา”

ทิพารักษ์ถามเมื่อัษฎาส่งชาเขียวปั่นให้ และบอกเลขคิวสำหรับรับขนมให้เธอช่วยฟังการขานเรียก เขานั่งลงที่เก้าอี้ฝั่งตรงกันข้าม พยักหน้าตอบคำถามนั้น

เธอดูดชาเขียวกะพริบตาปริบๆ “ใช่คนที่ว่าเป็นลูกเจ้าของบริษัทรึเปล่า”

อัษฎายกเสียงสูงพร้อมๆ คิ้ว “ทำไมรู้”

คนความจำดีวางแก้ว ยิ้มซน “ตอนแรกก็ไม่แน่ใจเพราะเขาทำผมใหม่ พอหันมาตรงๆ ก็จำได้”

ชายหนุ่มกลอกตาก่อนจะวางแก้ว ยื่นหน้าเข้าไปหา “ไม่ต้องจำเก่งขนาดนั้นก็ได้นะ หนูปีบ”

ทิพารักษ์ยื่นหน้ากลับไป “มีความลับอะไรเหรอคะ คุณชายพี่ดา”

อัษฎาหัวเราะ เสียงพนักงานเรียกคิวรับขนมพอดี ชายหนุ่มจึงลุกออกไป ทิพารักษ์ยิ้มระบายหยิบเครื่องดื่มมาดูดอีกรอบ เธอเคยเจอเพื่อนคนนี้ของอัษฎามาก่อน เขาเล่าอย่างไม่ปิดบังว่าอีกฝ่ายมายื่นไมตรีแต่เขาก็ปฏิแสธไป ที่เจอกันล่าสุดคือชวนเขาไปทำงานที่บริษัทเธอ ซึ่งเขาก็ปฏิเสธอีก ให้เหตุผลว่าทุกวันนี้งานที่ทำก็ไม่มีอะไรแย่

“มาแล้วคร้าบ”

ถาดขนมที่มีสตรอว์เบอรี่ผลใหญ่มาวางตรงหน้าพร้อมกลิ่นนมเนยหอมอบอวลดึงทิพารักษ์ออกจากภวังค์ และก่อนที่จะกินอัษฎาก็ขอถ่ายรูปก่อนเหมือนอย่างเคย

 

ศาสนะมองภาพที่ฝ่ายศิลป์ออกแบบสินค้าตัวใหม่มาให้บนจอ มือขาวลูบคาง สีหน้าไม่บอกอารมณ์แต่แววตากำลังครุ่นคิด 

“คอนเซปต์คือความเรียบหรูครับ” ฝ่ายออกแบบพูด

“สวย แต่มันไม่ใช่แฟชั่นยุคนี้” ศาสนะลดมือที่เท้าคางลงมา เอนตัวไปข้างหลังวางข้อศอกกับพนักพิง “แบรนด์ใหม่ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวกว่านี้ แบบที่เห็นแล้วรู้เลยว่านี่คือชื่ออะไร แบบที่เห็นแล้วต้องมีคนก๊อปปี้ไปขาย ผมอยากได้แบบนั้น”

ความเงียบครอบคลุมห้องประชุมอีกครั้ง สุทินในฐานะประธานที่ประชุมกล่าวขึ้น

“ศาสคิดว่าอะไรที่จะเป็นเอกลักษณ์ได้”

ศาสนะมองบิดา อีกฝ่ายกำลังไกล่เกลี่ยความขุ่นใจให้กับฝ่ายศิลป์ “เอาเหลี่ยมมุมออก ใส่สีพาสเทล เอาเครื่องประดับที่มีเงาออกไปแล้วออกแบบกระเป๋าหนังให้นิ่มพอที่จะใส่กับรองเท้าผ้าใบได้”

ฝ่ายศิลป์มองหน้าจอ ก่อนจะหันมามองลูกชายเจ้าของบริษัทที่เพิ่งเรียนจบมาจากต่างประเทศ ค่าที่เป็นคนวัยไม่ต่างกันมากจึงพอเข้าใจความไฟแรงและกระหายที่จะทำงาน แต่ก็ขัดหูขัดตากับท่าทางกับคำพูดที่แสดงออกอยู่เหมือนกัน แต่ความเป็นลูกน้องจำต้องรับคำอย่างสุภาพ

“ผมจะไปออกแบบมาใหม่ครับ”

“ขอบใจมากนะคุณจ๊อบ” สุทินกล่าวคำนั้นเพื่อให้บรรยากาศคลี่คลาย

“อย่าเพิ่ง” ศาสนะแทรกขึ้นอีก ทั้งหมดมองเขาเป็นตาเดียว ชายหนุ่มเงยหน้ามองเพดาน มองรอบห้อง แล้วชี้มือไปที่ภาพวาดบนผนัง “บนกระเป๋าควรจะมีลวดลายดอกไม้ซะหน่อย”

จ๊อบมองตาม “ดอกไม้...ดอกอะไรครับ”

“ยังนึกไม่ออก ลองออกแบบมาก่อนก็แล้วกัน”

แล้วการประชุมวันนั้นก็จบลงไป ศาสนะเข้ามาทำงานในตำแหน่งการวางกลยุทธ์แบรนด์สินค้า ซึ่งสุทินเห็นว่าน่าจะไปได้ดีเพราะแผนกนี้มีคนรุ่นใหม่ทำงานอยู่เยอะ เท่าที่สังเกตระหว่างการประชุม แนวคิดในการทำงานร่วมกันไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนัก

จะติดตรงที่ท่าทางที่แสดงออกของศาสนะเองนี่แหละ ลูกชายเขาเป็นคนพูดจามะนาวไม่มีน้ำ แววตาก็ไม่เป็นมิตร สีหน้าไม่รับแขกใดๆ จะชนะใจพนักงานทั้งบริษัทไม่ใช่เรื่องง่าย

 

“พี่ดาหยิบก้านกะเพราที่ตากแห้งมาให้หน่อย”

วันอาทิตย์ ทิพารักษ์กับอัษฏาปลูกผักกันอยู่ที่แปลงริมรั้วหน้าบ้านซึ่งมีพื้นที่เล็กๆ เธอเคาะเอาเมล็ดมาหยอดลงรังไข่เยื่อกระดาษที่มีดินรองอยู่แล้ว ค่อยๆ เกลี่ยดินกลบบางๆ แล้วรดน้ำปิดท้าย

อัษฎาลากสายยางมาให้เธอล้างมือ ก่อนจะม้วนเก็บให้อย่างเรียบร้อย

“ดีมากผู้ช่วย” ทิพารักษ์เอ่ยแซวเขา

“ให้มาช่วยทุกวันเลยก็ได้นะ” เขาตอบ

“ไม่ทำงานตัวเองเหรอไง” เธอเช็ดมือกับผ้าขนหนู

“ก็กลับมาทำหลังเลิกงานไง” ชายหนุ่มเดินเข้ามาหา “แล้ววันหยุดก็ตื่นมารดน้ำให้ เก็บมะเขือ เด็ดพริกให้ปีบไปผัดกะเพรา”

ทิพารักษ์เอียงคอเลิกคิ้ว “นั่นฟังดูคล้ายๆ จะมาเป็นคนสวนที่บ้านนี้เลย”

อัษฎาจับมือเธอ “เร็วๆ นี้พี่จะให้แม่มาคุยเรื่องฝากตัวไว้กับน้าเยาว์ แต่ไม่ใช่แค่คนสวนนะ ปีบว่าไง”

หญิงสาวยิ้ม กึ่งเขินกึ่งหมั่นไส้ 

“ปี๊น!

ทั้งสองสะดุ้ง เสียงแตรรถดังสนั่น ทิพารักษ์รีบเดินมาที่ประตู 

“ปี๊น! ปั๊น!

ประตูรั้วสูงแค่อกจึงทำให้มองเห็นผู้มาเยือนชัดเจน เขายืนอยู่ข้างรถเก๋งราคาแพงสีขาว ไม่เห็นแววตาเพราะสวมแว่นดำแต่เดาสีหน้านั้นได้ว่าบอกบุญไม่รับ

“คุณ...” ทิพารักษ์ยังพูดไม่ทันจบชายหนุ่มก็พูดสวนขึ้นมา

“แม่ฝากมาให้” เขายื่นถุงกระดาษใบใหญ่ออกมาโดยที่ตัวไม่ขยับ “มารีบๆ เอาไป ร้อน”

ทิพารักษ์เปิดประตูรั้ว ใจก็คิดว่าเวลาสี่โมงเย็นปลายปีกับลมที่พัดโชยห่างไกลอุณหภูมิแบบที่เขากล่าวไม่น้อย เธอพนมมือพร้อมกล่าวคำขอบคุณ

“ใครเหรอปีบ” อัษฎาที่เดินตามมาในวินาทีติดๆ กันกล่าวขึ้น ทำให้ผู้มาเยือนชะงักร่างที่กำลังจะหมุนกลับไปขึ้นรถ เขาหันมา ถอดแว่น

“พี่ดา นี่คุณศาสค่ะ ลูกคุณป้าอิมที่ช่วยดูแลปีบกับแม่”

อัษฎานิ่งขึง แววตาที่มองผู้มาเยือนแข็งกร้าวเพ่งพิจ รู้สึกคล้ายกับว่าอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเมื่อเห็นใบหน้านั้น

“คุณศาส พี่ดาค่ะ” ทิพารักษ์แนะนำแฟนหนุ่มอย่างไม่แน่ใจว่าคู่สนทนาจะอยากทำความรู้จักด้วยหรือไม่ ที่เห็นคือเขาจุดยิ้มมุมปาก เป็นรอยยิ้มที่ทิพารักษ์เดาความหมายไม่ออก ก่อนสวมแว่นอีกครั้ง แล้วเดินกลับไปขึ้นรถ

ทิพารักษ์ถอนใจ เหนื่อยเหมือนเพิ่งวิ่งสักชั่วโมง

“เขาเป็นแบบนั้นละ ท่าทางเหมือนจะหยิ่งๆ หน่อย ตามประสาลูกคนเดียว”

เสียงอ่อนหวานของเธอดึงอัษฎากลับมา

“นิสัยมันเป็นแบบนี้มานานแล้ว”

ทิพารักษ์หันขวับ ยกเสียงตาโต “เอ๊ะ พี่ดารู้จักคุณศาสมาก่อนเหรอ”

อัษฎากำหมัด สีหน้ายังเครียดขึงไม่คลาย 

“รู้จักดีเลย ศาสนะ”

 

ศาสนาะขับรถมาติดไฟแดง เขาเคาะนิ้วกับพวงมาลัย นึกถึงเหตุการณ์เมื่อสิบนาทีก่อน ผู้หญิงคนนั้น ลูกสาวของน้าพิทักษ์คนขับรถ เด็กที่แม่ของเขาเอ็นดูและมักจะเอามาชมในวงสนทนาอยู่เสมอราวกับว่าไม่มีเด็กคนไหนดีกว่านั้นอีกแล้วจนทำให้เขาหมั่นไส้บ่อยครั้ง

วันนี้แม่ให้เอาของฝากจากฮ่องกงมาให้ วันอาทิตย์ที่เขาควรจะนอนพักผ่อนดูหนังเพื่อเตรียมตัวไปทำงานพรุ่งนี้ก็ต้องขับรถออกมา เขาหาทางบ่ายเบี่ยงแต่แพ้สองเสียงที่มีพ่ออยู่ด้วยจึงจำเป็นต้องมา ไม่คิดว่าจะได้เจอกับคู่ปรับตัวฉกาจ

นี่พี่ดาค่ะ

อัษฎา

หมอนั่นเป็นแฟนของเด็กคนโปรดของแม่ ปีบ

ดอกปีบ

ศาสนะกระตุกยิ้ม เขาคิดออกแล้วว่าจะใช้ดอกไม้อะไรบนสินค้าใหม่

 

รีวิวผู้อ่าน

0 ผู้รีวิว

จัดเรียงตาม

ความคิดเห็น