บทที่ ๑

 

 เสียงไก่ขันเจื้อยแจ้วปลุกบุษบงให้ตื่นขึ้นมา หญิงสาวลืมตาทันที ไม่มีร่องรอยของความง่วงงุนหลงเหลือ หล่อนตื่นนานแล้วเพียงแต่หลงเข้าไปในอีกที่ที่ไม่คุ้นเคยเท่านั้น ความฝันเมื่อคืนนี้เหมือนจริงอย่างเหลือเกิน กลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ยังติดอยู่ตรงปลายจมูก รอยสัมผัสและความอบอุ่นยังกระจายอยู่ทุกความรู้สึก น้ำตายังเปียกชุ่มอยู่บนแก้ม ความโหยหาอาดูรยังติดตรึงอยู่ในจังหวะการเต้นของหัวใจ

 แม่...คือคำที่หล่อนโหยหามาตลอดชีวิตที่ผ่านมา เพราะเป็นเด็กกำพร้าที่ไม่รู้ว่าอ้อมกอดของแม่เป็นเช่นไร ตั้งแต่จำความได้ก็เป็นเด็กในปกครองของคุณหญิงแขมารดาของพระยาธรรมานุรักษ์ผู้เป็นเจ้าของเรือนนี้ ถึงแม้ว่าหล่อนจะได้รับความเมตตาจากคุณหญิงแขมากกว่าใครทั้งหมด ทว่าลึกลงไปแล้วก็ไม่อาจทดแทนความอบอุ่นที่ขาดหายไปได้ หล่อนยังคงโหยหาอ้อมกอดของแม่เหมือนกับคนอื่นๆ

 หล่อนไม่รู้จักแม่ จำไม่ได้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ครั้นถามใครก็ไม่มีใครรู้แม้กระทั่งคุณหญิงแขเองก็ไม่เคยเอ่ยปากถึงเรื่องนี้ จนเวลานี้หล่อนอายุสิบเจ็ด ความโหยหาอย่างเด็กๆ ก็จางหายไป แต่ความฝันเมื่อคืนกระตุ้นให้ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง จนรู้สึกเศร้าตรมอย่างที่สุด

 ไก่นอกบ้านขันแข่งกันอีกระลอก ทำให้บุษบงรู้ว่าหน้าที่ที่ต้องทำในวันใหม่มาถึงอีกครั้ง เนื่องจากระยะนี้หล่อนอาสามานอนที่หน้าเตียงในห้องคุณหญิงแขเผื่อท่านเรียกใช้ในยามดึก

หญิงสาวชะโงกหน้าขึ้นไปมองบนเตียง หญิงชรารูปร่างบอบบางยังหลับอยู่ภายใต้ผ้าแพรสีเข้ม และเพื่อไม่ให้รบกวนท่านหล่อนจึงค่อยๆ ขยับกายลุกขึ้นอย่างแผ่วเบา เก็บที่นอนที่ค่อนข้างเก่าแต่ยังคงสะอาดสะอ้านเพราะได้รับการดูแลอย่างดี จากนั้นบุษบงก็เดินย่องออกจากห้องของท่านกลับไปยังห้องของตนเอง 

นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หล่อนได้เหนือบ่าวคนอื่นคือมีห้องส่วนตัวไม่ต้องรวมกับใคร ซึ่งสิทธิพิเศษนี้ทำให้คุณสร้อยผู้เป็นภรรยาของพระยาธรรมานุรักษ์เต้นเร่าๆ แต่เรือนเล็กนี้เป็นอาณาเขตปกครองของคุณหญิงแข คุณสร้อยจึงมิอาจบงการอะไรได้นอกจากกระฟัดกระเฟียดตะบึงตะบอนเมื่อทุกอย่างไม่เป็นดังใจ หล่อนเองก็ไม่สบายใจเรื่องนี้นัก แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคุณหญิงแข เมื่อท่านยังคงมอบห้องส่วนตัวให้ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะคัดค้าน เพียงแต่เลือกที่จะอยู่ห้องให้น้อยและออกไปอยู่โรงครัวให้มาก เพื่อที่คุณสร้อยจะได้ไม่มาหาเรื่องหาราว

 เมื่อถึงห้องก็ผลัดเสื้อผ้าเป็นผ้าถุงผืนเก่านุ่งกระโจมอกขมวดปมอย่างแน่นหนา จากนั้นก็คว้าขันออกไปยังหลังเรือนอันเป็นสถานที่สำหรับอาบน้ำซักผ้า ตักน้ำจากตุ่มล้างหน้าล้างตาราดรดตัว แม้อากาศย่ำรุ่งจะเหน็บหนาวแต่เพราะความเคยชินจึงไม่มีอาการสะท้านออกมาให้เห็น

 หล่อนผลัดผ้าซิ่นอีกครั้งด้วยความชำนาญ จากนั้นก็นำผ้าซิ่นผืนเปียกซักในอ่างดินเผารวมกับเสื้อผ้าชิ้นอื่นๆ ของคุณหญิงแขและป้าจำปาที่เอามาซักรวมกัน งานชิ้นแรกของวันเสร็จลงอย่างเรียบร้อยและรวดเร็ว

 เมื่อตากผ้าเสร็จบุษบงก็เดินกลับขึ้นเรือนเพื่อแต่งตัวไปตลาด ผัดแป้งเพียงบางๆ และลงน้ำอบตามตัวซึ่งน่าจะเป็นความเคยชินมากกว่าการปรุงแต่งกลิ่นกายให้หอมฟุ้งตามวัยสาว เพราะตั้งแต่เล็กมาคุณหญิงแขมักจะให้ป้าจำปาทำให้จนหล่อนติดเป็นนิสัย น้ำอบน้ำปรุงที่ใช้ก็ทำกันเองในบ้านไม่ต้องซื้อหาให้สิ้นเปลืองจึงใช้ได้อย่างสบายใจ ชุดที่จะสวมไปตลาดนั้นหล่อนเลือกเสื้อคอกระเช้าตัวเก่าและนุ่งโจงกระเบนแทนผ้าซิ่นตามสมัยนิยม เพราะมีความทะมัดทะแมงกว่ายามก้าวขึ้นลงเรือ 

บุษบงหันมามองกระจกเพื่อสำรวจความเรียบร้อยเป็นครั้งสุดท้าย กระจกบานนั้นสะท้อนเงาของหญิงสาวผู้มีใบหน้าเรียวรูปไข่ องค์ประกอบต่างๆ งดงามอย่างที่ใครๆ ต่างฝันถึง มีคนบอกว่าดวงหน้าของหล่อนนั้นงดงามดั่งภาพวาด คิ้วโก่งเรียวสีดำพาดอยู่บนดวงตารียาวคล้ายกับตากวาง นัยน์ตาดำขลับดึงดูดผู้พบเห็นอย่างน่าประหลาด เปลือกตาพับซ้อนกันเป็นสองชั้นประดับด้วยแพขนตาหนายาวงอน พวงแก้มสองข้างเนียนใสไร้สิวระเรื่อด้วยเลือดฝาดของวัยสาว จมูกโด่งเป็นสันรับกับปากอิ่มรูปกระจับสีกุหลาบ

 หล่อนไม่ได้ทะนงในความงามของตนแต่อย่างใด คุณหญิงแขมักพร่ำสอนเสมอว่าสังขารนั้นไม่เที่ยงและหล่อนก็เห็นจริง ไม่มีใครรักษาความงามไว้ได้จนแก่เฒ่า ความดีต่างหากที่ควรยึดถือ หล่อนจึงยึดมั่นในความกตัญญูกตเวทีและหมั่นทำความดีอยู่ตลอดเวลา 

 การไปตลาดเป็นหน้าที่ประจำที่ต้องทำทุกวัน เพื่อจับจ่ายซื้อหากับข้าวสำหรับผู้คนในเรือนทั้งหมด บุษบงจึงต้องตื่นขณะที่ทุกคนยังหลับสนิท โดยเฉพาะคุณๆ ทั้งหมดบนเรือนใหญ่ เพราะนี่คือบัญชาของคุณสร้อยผู้เป็นภรรยาของพระยาธรรมานุรักษ์ผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในบ้านหลังนี้ ส่วนสาเหตุที่คุณสร้อยมอบหมายงานนี้ให้ หล่อนคิดว่าคงจะเป็นเพราะหล่อนมีความรู้พอที่จะคำนวณค่าใช้จ่าย และอีกประการหนึ่งคือ แม้จะเป็นบ่าวในเรือนคุณหญิงแขก็ไม่ควรจะอยู่อย่างสุขสบายเกินไป ควรตื่นเช้าและรู้จักหน้าที่

 ทั่วบริเวณยังมืดอยู่ หล่อนจึงจุดไต้เพื่อให้แสงสว่าง จึงทำให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น         

 บ้านพระยาธรรมานุรักษ์นั้นเป็นเรือนไม้ทรงไทยหลังใหญ่กว่าบ้านของผู้คนในละแวกใกล้เคียงมาก ภายในบริเวณบ้านมีเรือนเล็กของผู้เป็นมารดาแยกออกมาต่างหากอีกหนึ่งหลัง และยังมีเรือนยาวชั้นเดียวตั้งอยู่หลังโรงครัวซอยออกเป็นหลายห้อง เพื่อให้บ่าวไพร่ได้อยู่อาศัย แม้จะหมดยุคทาสไปแล้ว บ้านหลังนี้ก็ยังมีคนพึ่งใบบุญอยู่หลายสิบคน จึงไม่เงียบเหงาเลย

 บุษบงเดินตามทางเดินมาจนถึงหน้าเรือน จากนั้นก็แยกลงมาตรงท่าน้ำที่มีเรือพายลำเล็กจอดขนาบข้างเรือยนต์หรูหราของพระยาธรรมานุรักษ์ซึ่งเป็นยานพาหนะที่โก้หรูอย่างยิ่งในสมัยนี้ นอกจากเรือยนต์แล้วท่านยังมีรถม้าที่สั่งตรงมาจากต่างประเทศเป็นยานพาหนะอีกอย่าง แต่ถนนหนทางยังไม่ค่อยสะดวกนักท่านจึงนิยมเดินทางด้วยเรือเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นมีธุระในวังหรือบ้านขุนนางชั้นผู้ใหญ่จึงจะใช้รถม้า

 แม้จะมีถนนเข้าถึงบ้านแต่หนทางยังมืดและเปลี่ยว ดวงไฟที่ติดอยู่ตามหัวมุมนั้นแสงน้อยเสียเกือบเท่าแสงหิ่งห้อย นานๆ จะพบบ้านเศรษฐีที่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านยังจุดไต้จุดตะเกียง หล่อนจึงเลือกไปตลาดทางเรือ อีกทั้งมีความชำนาญในการพายเรือเป็นอันดีเพราะเป็นสาวชาวคลองตั้งแต่เกิด 

 ยามตีสี่ชาวบ้านริมน้ำก็เริ่มตื่นจากการหลับใหล บ้านเรือนหลายหลังมีแสงไฟวับแวม มีเสียงคนคุยกันตลอดทาง แต่สรรพสำเนียงนั้นไม่ได้ผ่านเข้าหูบุษบงแม้แต่คำเดียว เมื่อได้อยู่ในที่สงบอีกครั้งก็ทำให้นึกถึงความฝัน ความฝันก่อนตื่นนั้นยังคงวนเวียนอยู่ในใจ ค่อยๆ ก่อเกิดความกังวลและไม่สบายใจอย่างบอกไม่ถูก

 เรือนทาส...

 บุษบงหลับตาลงอย่างอ่อนล้า มันคือสถานที่ที่ฝันเห็นแม่ แต่สิ่งที่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรือนแห่งนี้ก็คือมีวิญญาณร้ายสิงสู่คอยหลอกหลอนให้คนหวาดกลัวอยู่ร่ำไป จนกระทั่งคนรับใช้เก่าแก่ต้องออกจากบ้านไปหมด ที่เหลืออยู่ก็มีเพียงยายจำปาต้นห้องของคุณหญิงแขผู้ที่เลี้ยงดูหล่อนมา และยายเจียมผู้เป็นแม่ครัวเท่านั้น ทุกครั้งที่ถามถึงความเป็นมาของเรือนเพราะความอยากรู้ตามประสาคนรุ่นหลังทั้งคู่ก็จะอ้ำอึ้งหรือไม่ก็เฉไฉไปเรื่องอื่น หนักเข้าจำปาก็เอ็ดอึงจนหล่อนต้องเงียบไปในที่สุด 

 ปริศนาของเรือนทาสก็ยังเป็นที่สงสัยและน่าสนใจมาจนกระทั่งทุกวันนี้

 ความคิดของหล่อนวกไปวนมา แล้วสุดท้ายก็สรุปในใจ...แม่ไม่มีทางจะไปอยู่ที่นั่น ทุกอย่างเป็นเพียงความเพ้อเจ้อและคิดมากของตนเองเท่านั้น

 บุษบงพายเรือไปเรื่อยๆ ไม่นานนักก็ถึงตลาด แม้ฟ้ายังมืดแต่ผู้คนก็มากมาย เสียงทักทายถามไถ่สารทุกข์สุกดิบดังมาตลอดทางเนื่องจากคุ้นเคยกันทั้งสิ้น

หล่อนจับจ่ายซื้อของพร้อมกับนำผักที่ปลูกไว้มาขาย ซึ่งหล่อนเตรียมใส่เรือไว้ตั้งแต่ตอนค่ำ 

 ตอนแรกหล่อนคิดจะปลูกผักเหล่านี้ไว้แค่กินในบ้านเท่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาเก็บก็พบว่ามันมากมายจนกินไม่หมด จึงแบ่งส่วนหนึ่งออกมาขายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับคนในเรือนเล็ก เพราะตั้งแต่คุณสร้อยขึ้นเป็นใหญ่ก็มิเคยเอาเงินของพระยาธรรมานุรักษ์มาจุนเจือคุณหญิงแขผู้เป็นแม่สามีอีกแม้แต่แดงเดียว อ้างว่ามีข้าวปลาและที่พักให้กินอยู่แล้ว แต่คงลืมนึกว่านอกจากที่อยู่และข้าวปลาอาหาร คุณหญิงแขก็ยังจำเป็นต้องใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ เช่นหยูกยาเวลาเจ็บป่วย หล่อนจึงต้องหาเงินมาเก็บเอาไว้บ้าง ยามฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนบากหน้าไปขอแล้วถูกเหน็บให้เจ็บใจเล่น

 การกระทำของคุณสร้อยเป็นที่เลื่องลือจนบ่าวไพร่เอาไปนินทากันสนุกปากและคุณหญิงแขก็ทราบเรื่องนี้ดี แต่ท่านก็ยังวางเฉยไม่ปริปากว่าอะไร ใช้เงินส่วนที่สามีมอบให้ไว้ก่อนตายอย่างประหยัด ซึ่งส่วนหนึ่งท่านก็นำมาส่งเสียหล่อนให้เล่าเรียนถึงชั้นมัธยม เมื่อเกิดเหตุให้ไม่ได้เรียนต่อ หล่อนก็หาเงินมาชดใช้ท่านด้วยการปลูกผักโดยใช้พื้นที่ท้ายเรือนเล็กนั่นเอง แล้วเอามาขายเก็บเล็กผสมน้อยจนพอมีพอใช้กันตามประสา เมื่อขายผักได้หมดก็มีเงินพอสมควร แม้ไม่มากมายนักแต่ก็พอที่จะซื้อหาอาหารอย่างดีให้คุณหญิงได้ เพราะตอนนี้หล่อนเลือกที่จะแยกครัวเล็กออกมาอีกแห่ง เพื่อให้คุณหญิงแขและป้าจำปาได้รับอาหารดีๆ ไม่ใช่ของเหลือเดนจากคุณๆ บนเรือนใหญ่

 ขณะที่เดินผ่านแผงปลา แรงดึงดูดบางอย่างทำให้หล่อนชะงักเท้า วันนี้มีปลาทูสด ตาใส เหงือกแดงอยู่หลายตัว ทำให้หล่อนนึกถึงอาหารอย่างหนึ่งขึ้นมาทันที อาหารที่คุณหญิงแขเปรยว่าอยากกินเมื่อสองสามวันก่อน บุษบงจึงเลือกปลาทูใส่เข่งสานเล็กๆ ที่แม่ค้ายื่นมาให้ แล้วจ่ายด้วยเงินที่ได้จากการขายผัก

การมาตลาดในเวลาเช้ามักจะได้เปรียบคือได้เลือกของก่อน วันนี้หล่อนตั้งใจจะทำต้มกะทิสายบัวให้คุณหญิงแข และจะแบ่งส่วนหนึ่งไปตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่แม่ที่หล่อนฝันถึง การจับจ่ายใช้เวลาไม่นานนักเนื่องจากเป็นสิ่งที่ซื้ออยู่เป็นประจำจนเกิดความชำนาญแทบจะหลับตาเดินได้ เพราะรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนของตลาด ของที่ซื้อส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกเนื้อสัตว์ เพราะผักปลูกไว้ที่บ้านแล้ว ส่วนสายบัวก็เก็บเอาจากบึงไม่ต้องซื้อหาให้เปลืองเงิน

 เมื่อเสร็จสิ้นการซื้อของ บุษบงก็พายเรือกลับบ้าน จากนั้นก็เข้าครัวซึ่งยายเจียมตื่นมารออยู่แล้ว หล่อนจึงวางตะกร้าของให้ยายเจียมตรวจดูซึ่งเป็นสิ่งที่ทำอยู่ทุกวัน

 “ซื้ออะไรมาบ้าง” ยายเจียมถามพลางรื้อค้นภายในตะกร้า

 “หมูกับไก่จ้ะ ส่วนผักเดี๋ยวไปเก็บที่แปลง”

 สีหน้าของเจียมไม่ค่อยสบายใจนัก นางมองบุษบงอย่างสงสารแกมเอ็นดู “เอาเงินตัวเองออกอีกแล้วใช่ไหม”

 บุษบงยิ้มตอบ

 “เงินตัวเองที่ไหนกันจ๊ะ เงินท่านทั้งนั้น” หล่อนตอบไปตามที่ใจคิด ด้วยเจียมตัวเสมอว่าเงินที่ได้มานั้นแม้จะมาจากน้ำพักน้ำแรง แต่ผืนดินนี้ก็เป็นของท่าน

 “แม่บุษเอ๋ย ใจเอ็งประเสริฐนัก ยายขอบใจแทนบ่าวคนอื่นด้วย หากไม่ใช่เงินขายผักของเอ็ง พวกบ่าวทั้งหลายคงได้กินแต่ข้าวคลุกน้ำพริก”

 บุษบงไม่กล่าวอะไร เพียงแต่ยิ้มบางๆ หล่อนถูกสอนมาให้มีน้ำใจต่อทุกคนและเข้าใจความยากแค้น ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นบ่าวให้เจ้านายข่มเหง ดังนั้นเมื่อช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยกันไปตามสมควร

 “เอ๊ะ วันนี้มีปลาทูด้วยหรือ ของคุณท่านเรือนเล็กใช่ไหม”

 “ใช่จ้ะยาย ฉันว่าจะต้มกะทิสายบัว”

 ยายเจียมเงยหน้าขึ้นจากตะกร้า มองหญิงรุ่นหลานด้วยสายตากังวลก่อนจะท้วงขึ้นมาเบาๆ “นึกยังไงขึ้นมาถึงอยากทำ ถ้าคุณสร้อยรู้เดี๋ยวก็แย่หรอก”

 ปลาทูต้มสายบัวเป็นอาหารที่คุณสร้อยเกลียดชังอย่างที่สุด และสั่งห้ามแม่ครัวทุกคนทำอาหารชนิดนี้โดยเด็ดขาด ซึ่งไม่มีใครรู้เหตุผลนอกจากยายเจียม แม่ครัวเก่าแก่ผู้อยู่มานานที่ไม่คิดจะเปิดปากให้ใครรู้ ด้วยเกรงว่าหากถึงหูคุณสร้อยเข้าตนก็จะเดือดร้อน แต่บุษบงไม่หวั่นเกรง หล่อนโตพอที่จะรู้ว่าอะไรคือสาระและอะไรคือเรื่องไร้สาระ อีกทั้งครัวเล็กกับครัวใหญ่ก็แยกกันอย่างเด็ดขาด จึงไม่มีวันที่คุณสร้อยจะรู้หากไม่มีใครฟ้อง

 “อย่าให้รู้สิจ๊ะ ฉันทำให้คุณท่านแล้วก็จะแบ่งไปตักบาตร ซื้อมาแค่สี่ตัวเท่านั้น”

 ยายเจียมมองปลาทูอย่างไม่สบายใจ แต่เมื่อบุษบงกล่าวเช่นนั้นก็ไม่อยากขัดข้อง เพราะเป็นเรื่องกุศล

 “ถ้าอย่างนั้นก็ตามใจ ตักบาตรก็อย่าลืมอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรด้วย จะได้รอดพ้นเรื่องร้ายๆ คนชั่วจะได้เลิกจองเวรจองกรรม”

 เจียมกล่าวขึ้นมาลอยๆ แต่บุษบงรู้ดีว่ายายเจียมหมายถึงใคร แม้ยายเจียมจะไม่บอก หล่อนก็ทำอยู่เป็นประจำ แต่ดูเหมือนว่าอีกฝ่ายจะบาปหนาไม่ยอมรับผลบุญที่หล่อนอุทิศให้ ยังคงจองเวรจองกรรมอยู่ร่ำไป

 เมื่อแสงตะวันระบายท้องฟ้า ครัวบ้านพระยาธรรมานุรักษ์ก็ตื่นจากการหลับใหล บ่าวไพร่ตื่นจากที่นอนมาทำหน้าที่ ซึ่งแต่ละคนก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป ในยามเช้าเช่นนี้ในครัวเป็นที่ที่ครึกครื้นที่สุดเพราะมีงานมากมายเกิดขึ้นที่นี่

 ครัวบ้านนี้แยกออกจากตัวเรือนอย่างเป็นสัดส่วน เป็นเรือนไม้โล่งยกพื้นสูงขึ้นมาใช้เป็นที่เตรียมเครื่องปรุงและเก็บหม้อข้าวหม้อแกง ด้านหน้าเป็นเตาที่ทำอย่างง่ายๆ ด้วยการวางก้อนหินเป็นฐานสามก้อน เชื้อเพลิงเป็นฟืนไม้แห้งที่บ่าวชายช่วยกันผ่าแล้วนำมาเก็บไว้ที่โรงเก็บฟืน เตาหนึ่งเอาไว้หุงข้าวกระทะโดยใช้กระทะใบบัว อีกเตาเอาไว้ทำแกงโดยใช้หม้อขนาดใหญ่ ซึ่งต้องทำครั้งละมากๆ เนื่องจากมีคนอาศัยอยู่ในบ้านนี้หลายสิบคน

ส่วนอาหารที่เตรียมขึ้นบนเรือนทั้งสองนั้นเป็นอาหารที่เตรียมต่างหาก โดยจะเตรียมแต่น้อย สำหรับเจ้านายทั้งห้ารวมทั้งจำปาต้นห้องของคุณหญิงแข จึงมีเตาอั้งโล่อีกใบสำหรับทำกับข้าวขึ้นตึกโดยเฉพาะ

 หน้าที่ของบุษบงคือทำอาหารให้คุณหญิงแขกับจำปาที่แยกออกมาอีกเรือน เพราะอาหารที่ทางเรือนใหญ่สั่งลงมาบางครั้งคุณหญิงแขก็ไม่อาจกินร่วมได้ บุษบงจึงตัดปัญญาอาสาทำเองแต่บางครั้งก็ต้องทำอาหารขึ้นเรือนใหญ่ด้วยเพราะเมื่อบุตรชายและบุตรสาวของพระยาธรรมานุรักษ์และคุณสร้อยเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวอาหารการกินก็พิถีพิถันขึ้นตามความต้องการของแต่ละคน ซึ่งในเวลานี้ยายเจียมมีอายุมากขึ้นจึงทำคนเดียวไม่ทัน       

 บุษบงตั้งหน้าตั้งตาทำปลาทูต้มกะทิสายบัวอย่างสุดฝีมือ ไม่นานแกงหม้อเล็กก็สำเร็จด้วยดี หล่อนตักแยกออกมาสองถ้วย ถ้วยหนึ่งสำหรับตักบาตร ส่วนอีกถ้วยเอาไว้ให้คุณหญิงแขกับจำปา เมื่อเรียบร้อยดีก็ถือถาดเงินที่บรรจุขันใส่ข้าวและกับข้าวสำหรับตักบาตรขึ้นเรือนคุณหญิงแขไปก่อน เพื่อให้ท่านได้ตักบาตรก่อนที่จะกินอาหารเช้า

 สถานที่ตักบาตรของหล่อนกับคุณหญิงแขก็คือท้ายเรือนเล็กของคุณหญิงแขนั่นเอง ตรงนี้เป็นเวิ้งโค้ง ที่ดินของพระยาธรรมานุรักษ์นั้นมีลักษณะเหมือนเกาะ มีเพียงทิศใต้ทิศเดียวเท่านั้นที่เป็นแผ่นดิน 

 บุษบงประคองคุณหญิงแขซึ่งบัดนี้อายุล่วงเข้าหกสิบ นับว่าเป็นผู้ที่อายุยืนมากในสมัยนี้ แม้จะผ่ายผอมเพราะถูกโรคภัยรุมเร้า ท่านก็ยังคงความสง่างามอย่างที่ไม่อาจหาผู้ใดเหมือน ท่วงท่ากิริยาก็งดงาม ยามเดินยังเดินตัวตรงไม่ได้หลังค่อมเหมือนคนในวัยเดียวกัน ส่วนใบหน้าของท่านแม้จะมีร่องรอยตามกาลเวลาแต่ยังผุดผ่องชวนมองเหมือนยามมองดวงจันทร์

 ไม่นานนักพระภิกษุและลูกวัดก็พายเรือมาถึง บุษบงทำหน้าที่นิมนต์ เมื่อเรือจอดเทียบท่าคุณหญิงแขกับจำปาจึงตักบาตร

บุษบงมองอย่างอิ่มเอมใจ เพราะในเวลานี้ความสุขของคุณหญิงแขน่าจะมีอยู่เพียงอย่างเดียวคือการทำบุญสุนทานสร้างบารมีให้ตนเองและคนรอบกาย

 เมื่อตักบาตรเสร็จพระก็ให้ศีลให้พร อันเป็นคติธรรมเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ บุษบงนำศีลไปปฏิบัติอยู่เป็นนิตย์ ทำให้เกิดความสุขกายสบายใจ จากนั้นก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลและแผ่เมตตาให้แก่เหล่าบรรพชน เจ้ากรรมนายเวร ผู้ที่เกื้อหนุนและทุกสรรพสิ่งรอบกาย

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น

อะเวราโหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

อัพยาปัชฌาโหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

อะนีฆาโหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิดฯ 

 ดวงหน้าละมุนงดงามดั่งดวงจันทร์ยิ้มแย้มยามที่เสียงสวดสิ้นสุดลง 

ร่างที่รางเลือนอยู่ในความมืดส่องรัศมีสีทองทอประกาย กุศลผลบุญที่ได้รับทำให้ดวงจิตของวิญญาณที่ถูกกักขังแข็งกล้าขึ้นทุกวัน แต่ยังมิอาจหลุดพ้นจากมนตราชั่วช้าที่จองจำให้ได้รับความทุกข์ทรมาน

 เพราะตัณหา ราคะ กามา และริษยา ทำให้เกิดเรื่องราวอันน่าอัปยศอดสู การชิงดีชิงเด่นและนำไปสู่ความตายที่ไม่มีใครคาดคิด ความตายอันน่าอนาถก่อให้เกิดเสียงเล่าลือทั่วทั้งคุ้งน้ำตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งบัดนี้

 เรื่องราวเมื่อสิบเจ็ดปีก่อนยังกระจ่างชัดเหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้น 

 ใบหน้าสวยสลดลงยามเมื่อนึกถึงสิ่งที่ผ่านมา หัวใจแม่กลัดหนองยามเห็นลูกมีน้ำตาโดยที่ไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้แม้แต่นิดเดียว ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นเคียดแค้น

 อำนาจยิ่งใหญ่ของหัวใจแม่คือความรักอันบริสุทธิ์ที่ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน พร้อมที่จะทำทุกอย่างแม้แต่กระทั่งสละชีวิตเพื่อให้ลูกได้มีชีวิตสืบไป แต่ความรักของแม่ก็พร้อมที่จะแปรเปลี่ยนเป็นเสือร้าย ใครก็ตามที่กระทำย่ำยีเจ้ายอดดวงใจ อย่าหวังว่าจะได้รับการให้อภัย จะจองเวรจองกรรมจนถึงที่สุด

 วิญญาณผู้เป็นแม่เลื่อนสายตาไปทางเรือนใหญ่ ฉับพลันแทบจะลุกเป็นไฟเมื่อเห็นพวกมันยังสุขสบายดี

 อีกไม่นาน...อีกไม่นานคงหลุดพ้น และเมื่อใดที่ถึงวันนั้น พวกมันจะต้องชดใช้ด้วยชีวิต

รีวิวผู้อ่าน

0 ผู้รีวิว

จัดเรียงตาม

ความคิดเห็น