10

บทที่ 10

10

 

จวนจะห้าทุ่มอยู่แล้วรสิกายังไม่ได้รับการปล่อยตัวจากนายตำรวจหนุ่มที่อยู่ๆ ก็นึกอยากสอบปากคำขึ้นมา ซักไซ้ไล่เลียงถามเธอไม่ยอมหยุด

โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เธอถูกคุณอมรรัตน์ระรานเมื่อวันก่อน พอได้ฟังเขาก็เปิดรอยยิ้มกว้างแทบจะหัวเราะสะใจก่อนบอกให้เธอเล่าซ้ำวนไปอีกสามรอบ...บอกว่าจะเอารายละเอียดไปอธิบายให้คุณลุงธนัตกับเอเธนส์ฟัง

ข้ออ้างนั้นมันฟังดูจริงจังและเป็นเหตุเป็นผลเกินกว่าจะปฏิเสธได้

รสิกาเล่าวนไปอย่างอดทน...จนจะทนไม่ไหวอยู่แล้วนะ หญิงสาวจ้องมองเขาตาขุ่น พงศ์เผ่าจึงยอมเปลี่ยนเรื่อง แต่ก็ไม่วายเฝ้าถามถึงความสัมพันธ์ของเธอกับกันต์ และไล่ย้อนไปถึงเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันของหญิงสาว ไปจนถึงการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่ของเธอ

หลังจากเผลอตอบไปหลายคำถามแล้วรสิกาจึงได้สติ

นี่มัน...ไม่ได้เกี่ยวกับคดีความสักหน่อยนี่นา!

เขาจะมาอยากรู้เรื่องราวในชีวิตเธอไปทำไมกันนักหนา เล่นถามย้อนไปถึงตอนเด็กๆ ขนาดนี้...หรือจะหาช่องโหว่ยัดเยียดข้อหาอะไรย้อนหลังให้เธออีกหรือเปล่าก็ไม่รู้

พงศ์เผ่ามองหญิงสาวที่เม้มปากแน่น ตวัดตาขุ่นๆ มองมาก็รู้แล้วว่า...

ยายหนูรัสรู้ตัวเสียแล้วสิ!

นายตำรวจหนุ่มยิ้มพราย ไม่แสดงพิรุธเลยสักนิดเมื่อเบี่ยงเบนประเด็นกลับมาเนียนๆ

“แล้ว...ตกลงหนูรัสไปช่วยชีวิตคุณอารัณย์ไว้ได้ยังไง เล่าเหตุการณ์ตอนนั้นให้ฟังหน่อยสิ”

สีหน้าจริงจังไม่มีเค้ารอยล้อเล่นของพงศ์เผ่าทำให้รสิกากลับมาสู่ความจริงจัง จนนึกว่าเมื่อกี้ที่เห็นรอยสนุกพราวในดวงตาเขานั้นเป็นเรื่องตาฝาดไป แต่รสิกาก็ไม่มีเวลาไปตีความท่าทางของเขานานนัก เพราะถูกคำถามนั้นดึงดูดให้ไปหาคำตอบมาให้เขาเสียก่อน เธอกลอกตาทำท่าคิดหนักและเค้นความคิดไปรอบหนึ่งก่อนส่ายศีรษะช้าๆ อย่างจนใจ

“ไม่รู้เลยค่ะ ฉันพยายามนึกมาตลอดตั้งแต่ตอนที่คุณกันต์บอกแล้ว นึกเท่าไรก็นึกไม่ออกว่าไปช่วยชีวิตคุณพ่อเขาไว้ตอนไหน”

“เฮ้ มันจะเป็นไปได้ยังไง เรื่องใหญ่อย่างการช่วยชีวิตคนนะหนูรัส มันต้องเป็นเหตุการณ์ที่มีอะไรพิเศษกว่าปกติสิ” พงศ์เผ่าท้วงอย่างประหลาดใจ มีที่ไหนกันคนที่ไปช่วยชีวิตคนอื่นไว้แล้วจำอะไรไม่ได้

“ไม่มีจริงๆ ค่ะ คุณแพน แล้วก่อนหน้านั้นฉันก็เคยเจอกับคุณลุงอารัณย์แค่ครั้งเดียวเองนะคะ” รสิกาบอกอย่างท้อแท้...ท้อแท้ที่ทำไมต้องมาถูกตำรวจสอบปากคำในเรื่องที่ไม่ได้ทำด้วยเนี่ย

“งั้นก็ต้องเป็นเหตุการณ์ในระหว่างที่เจอกันนั่นแหละ ระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างครับหนูรัส” พงศ์เผ่าตะล่อมหลอก ใช้หลักจิตวิทยานิดหน่อยให้หญิงสาวค่อยๆ รื้อฟื้นความทรงจำออกมา

“ไม่มีอะไรเลยนอกจากนั่งคุยกันค่ะ” รสิกาตอบ

“นั่งคุยกันตลอดเลยเหรอ” พงศ์เผ่าขมวดคิ้วนิ่วหน้า รู้สึกว่าเรื่องมันไม่ควรมีแค่นี้ แต่สตรีตรงหน้าก็ไม่ได้มีท่าทางพิรุธหรือปกปิดอะไร แต่เป็นไปไม่ได้หรอกนะที่การ คุยกันเฉยๆ นั้นจะเป็นการช่วยชีวิตใครบางคนไว้ ยายหนูรัสต้องยังเล่าไม่หมดแน่ๆ เพียงแต่หญิงสาวอาจจะละเลยบางสิ่งบางอย่างไปเพราะไม่คิดว่ามันสำคัญก็เป็นได้

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสารวัตรผู้ผ่านงานสอบปากคำมาอย่างโชกโชนจะใช้เทคนิคที่ตนเชี่ยวชาญในการช่วยรื้อฟื้นเรื่องเหล่านั้นออกมาให้ได้

“ค่ะ นั่งคุยกันอยู่สองชั่วโมงกว่า...” รสิกานิ่งคิดถึงเรื่องที่คุยกับคุณอารัณย์ในวันนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องสัพเพเหระทั้งสิ้น

“หนูรัส...นี่แหละที่มันผิดปกติ หนูรัสนั่งคุยกับคุณลุงแปลกหน้าที่เพิ่งเคยเจอกันครั้งแรกได้ทีละเป็นสองชั่วโมงเลยเหรอ” พงศ์เผ่าขมวดคิ้ว เท่าที่เขาสังเกตดู รสิกาไม่ใช่คนช่างพูดขนาดจะพูดคุยได้ยาวนานขนาดนั้น

หรือ...ตาลุงอารัณย์นั่นจะเป็นฝ่ายชวนคุยเสียเอง ว่าไม่ได้ ชายวัยกลางคนบุคลิกดีลูกล่อลูกชนเยอะและชอบพูดคุยกับเด็กสาวๆ ไร้เดียงสาคราวลูกนี่เขาเห็นมาเยอะแล้ว

ชัก...ไว้ใจไม่ได้ทั้งพ่อทั้งลูกชายแล้วมั้ยเนี่ย

“ไม่ผิดปกติหรอกค่ะ เราติดฝนกันอยู่ เลยหาเรื่องคุยสัพเพเหระไปเรื่อย” รสิกาบอกแบบไม่รู้สึกถึงความผิดปกติอะไร

“ทำไมถึงติดฝน?” พงศ์เผ่าสงสัย “เท่าที่หนูรัสเล่าเขาก็มีรถหลายคัน กับมีลูกน้องเยอะแยะไม่ใช่เหรอ จะออกจากไปไหนก็ไม่น่าจะยาก”

“จริงๆ คงต้องบอกว่าหนูรัสติดฝนน่ะค่ะ แล้วที่ตรงนั้นมันเปลี่ยวน่ากลัว คุณลุงอารัณย์เลยมาอยู่เป็นเพื่อนให้ เลยทำให้คุณลุงกับลูกน้องพลอยต้องติดฝนไปด้วยกัน” รสิกาบอกอย่างเขินๆ

“หนูรัสไปติดฝนอยู่ที่ไหนครับเนี่ย” พงศ์เผ่าชักสงสัย

“ที่ศูนย์วิจัยของคุณหมอรวิค่ะ” รสิกาตอบคำก่อนถามต่อ “คุณแพนรู้จักคุณหมอรวิไหมคะ”

พงศ์เผ่าขมวดคิ้ว นิ่งคิดถึงข้อมูลของผู้ที่ถูกเอ่ยถึง เขาเคยได้ยินชื่อนั้นมาบ้าง แต่ไม่เคยพบเจอตัว และไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอะไรที่สำคัญพอจะต้องให้ติดตาม ประวัติของนายแพทย์รวิจึงค่อนข้างเลือนรางในความทรงจำเขา

“เขาเป็น...นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องโรคร้ายหายากใช่ไหม” ข้อมูลเท่าที่จำได้ของพงศ์เผ่ามีเพียงเท่านี้

“ใช่ค่ะ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ร้ายแรงซึ่งพบได้ยากและไม่มีทางรักษา”

“แต่...เขาไม่ได้อยู่ที่ศูนย์วิจัยนั่นหลายปีมาแล้วนี่...ที่นั่นตอนนี้ก็ปิดร้างไว้ไม่ใช่หรือ” พงศ์เผ่าชักสงสัยว่าหญิงสาวไปทำอะไรที่นั่นกันแน่

“คุณหมอไปหาข้อมูลทำวิจัยที่ต่างประเทศหลายปีมาแล้วค่ะ ส่วนที่นั่น...ยังมีอัฐิของคุณยาย...คุณแม่คุณหมออยู่ค่ะ ฉันไปที่นั่นเพราะเป็นวันครบรอบวันเสียของท่าน...คุณหมอไม่อยู่นานแล้ว...ไม่มีใครไปแสดงความอาลัยที่นั่นบ้างเลย ฉันเลยมักจะแวะไป เอาดอกไม้ไปวางในทุกๆ วันครบรอบให้ค่ะ” รสิกาอธิบายเสียงเบา เหมือนมีร่องรอยสะเทือนใจเจืออยู่ในน้ำเสียงนั้น

“ดูเหมือนหนูรัสจะสนิทกับคุณหมอคนนี้?” พงศ์เผ่าตั้งข้อสังเกต ดูเหมือนเธอยังไม่ได้ไร้ญาติขาดมิตรเสียทีเดียว เพียงแต่คนที่เธอสนิทสนมด้วยนั้นอยู่ห่างไกลถึงต่างประเทศ

“เขาเป็นหมอที่ช่วยดูแลคุณแม่ฉันในระยะสุดท้ายค่ะ” รสิกาพูดอย่างหม่นหมอง รอยยิ้มบางขื่นๆ หวานปนเศร้าผุดขึ้นบนหน้า ก่อนจะเห็นสายตาสงสัยของพงศ์เผ่า เธอเม้มปากนิดหนึ่งก่อนตัดสินใจเล่าเรื่องราวออกมา “คุณแม่ฉันเป็นคนไข้ของคุณหมอค่ะ ใช่...แม่ฉันโรคที่ไม่มีทางรักษา คุณแม่เสียไปเมื่อหกปีก่อน แต่ก่อนที่ท่านจะเสีย ฉันกับคุณพ่อก็ต้องพาคุณแม่ไปรักษาตัวที่นั่นอยู่นานจนคุ้นชินกับคุณหมอค่ะ เราเลยค่อนข้างสนิทกัน”

“เสียใจด้วยนะครับเรื่องคุณแม่...” พงศ์เผ่าเอ่ยขึ้นหลังจากนิ่งอึ้งไปชั่วพัก ก่อนรู้สึกตัวเมื่อสบสายตากังขาของรสิกา “เอ่อ...เรื่องคุณพ่อด้วย”

“พ่อฉัน...แม้จะปุบปับไปสักหน่อย แต่ฉันก็...ทำใจได้แล้วละค่ะว่ามันเป็น...เป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ” รสิกาเอ่ยฝืนๆ ฝืนจนไม่อาจเผยรอยยิ้มปลอบใจคู่สนทนาไหว

เรื่องความสูญเสียของครอบครัว...เป็นเรื่องเดียวที่แม้เธอพยายามปลงจนผ่านเวลาไปเนิ่นนาน แต่เมื่อถูกรื้อฟื้นในลักษณะที่ไม่เต็มใจแบบนี้ก็เหมือนตะกอนแห่งความเสียใจที่นอนก้นอยู่เนิ่นนานถูกกวนขึ้นมาใหม่จนยากจะทำสีหน้าดีๆ ได้ ไม่อาจแม้แกล้งทำตัวปกติหรือยิ้มเพื่อปลอบใจคู่สนทนาว่าเธอไม่เป็นไร 

เธอเป็นผู้สูญเสียนะ มันจะไม่เป็นไรได้อย่างไร ยิ่งเรื่องราวมาถูกขุดคุ้ยโดย...ตำรวจ!

ช่างยากที่จะทำใจไหว

“คุณแพนมี...มีอะไรที่อยากถามหรือสอบปากคำฉันอีกไหมคะ” รสิกาถามเขาด้วยน้ำเสียงเหนื่อยล้า หวังเพียงว่าเขาจะปรานีกับสภาพจิตใจเธอบ้าง...ซึ่ง...

“มี”

ไอ้คุณตำรวจ!

นี่ในสายตาเขาเธอคือผู้ต้องหาที่เขาจะสอบปากคำอย่างไร้ความปรานีไปแล้วใช่ไหมเนี่ย

“ผมอยากรู้ว่า...ระหว่างติดฝนกันอยู่หนูรัสกับคุณอารัณย์คุยอะไรกันบ้าง” พงศ์เผ่าถามพลางยิ้มใส่นัยน์ตาของหญิงสาวตรงหน้าที่ตวัดค้อนมองมาอย่างขึ้งขุ่น

เธอเป็นเด็กสาวใสซื่อที่ดูเหมือนไร้พิษสงและอ่านได้อย่างง่ายดาย แต่เขาก็ไม่ยอมให้ความรู้สึกนั้นมาทำให้ละเลยประเด็นที่ต้องการได้หรอกนะ

ใช่...คนอย่างเขาคือตำรวจที่ไม่ปรานีคนชั่วและก็ไม่ได้ละเว้นคนดีหรอก จำไว้ได้เลยยายหนูรัส...หึๆๆๆ

เมื่อถูกคาดคั้นหนักๆ เข้า รสิกาจึงพยายามนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ในวันที่ได้พบกับคุณอารัณย์อีกครั้งตั้งแต่ต้น...

ในวันนั้นช่วงเช้าท้องฟ้าสดใสก็จริง แต่พอสายหน่อยหมู่เมฆครึ้มก็ลอยต่ำลง ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างปุบปับ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้รสิกาไม่ได้พกร่มกันฝนติดตัวมาด้วย ก็...ตอนที่เธอออกจากที่พักมามันไม่ได้ครึ้มขนาดนี้ไง ใครจะคิดเล่าว่าจะมีฝนหลงฤดูและทำท่าจะเป็นพายุขนาดนี้ 

รสิกามองท้องฟ้าด้วยสีหน้าหนักใจ แต่ก็ยังกอดกระชับดอกไม้ช่อใหญ่ในอ้อมแขนไว้แน่นหนา และไม่ได้ลังเลหรือเปลี่ยนทิศทางในการเดินไปแต่อย่างใด เธอมีกุญแจรั้วที่คุณหมอรวิมอบไว้ให้เผื่อให้ช่วยเข้ามาตรวจดูความเรียบร้อยบ้างเป็นครั้งคราว นานๆ ทีหญิงสาวก็จะเปิดประตูบานใหญ่ออกกว้างเพื่อเช็กสภาพและใช้งานมันให้หายฝืดเพราะถูกทิ้งร้างไว้หลายปี ประตูเหล็กกล้าส่งเสียงเสียดหูไม่น้อยเลย หญิงสาวบอกตัวเองไว้ว่าขากลับก่อนออกไปต้องเอาน้ำมันหล่อลื่นหยอดให้มันสักหน่อยแล้ว

เมื่อเดินไปตามทางเดินอิฐสีน้ำตาลที่ถูกหญ้ารกๆ รุกเข้ามาจนเริ่มเดินลำบาก ทางคดเคี้ยวพาเธอผ่านสวนรกเรื้อไปในท่ามกลางหมู่พุ่มไม้ใหญ่น้อยอันสลับซับซ้อน 

สุดทางเดินเป็นซุ้มประตูทรงโค้งก่อด้วยอิฐคือ อาณาเขตที่โอบรอบไว้ด้วยกำแพงที่ก่อด้วยก้อนหินธรรมชาติที่จัดเรียงซ้อนๆ กันจนสูงเกือบเมตร สวนปลูกแซมสลับระหว่างไม้พุ่มกับไม้ดอกอย่างลงตัว แต่พอถูกทิ้งร้างไว้โดยไร้การตัดแต่งดูแลผนวกกับวัชพืชที่แทรกขึ้นมาหนาทึบทำให้ความไร้ระเบียบทำลายความงามของสวนแบบอังกฤษที่เคยตกแต่งไว้อย่างดีนั้นจนหมด กลายเป็นสวนกึ่งธรรมชาติที่มีความงามแบบไม่ตั้งใจไปอีกแบบหนึ่ง

บันไดเตี้ยๆ สามขั้นพาขึ้นไปสู่ยกพื้นที่มีแท่นหินวางอยู่ตรงกลาง แผ่นหินสีขาวสลักจารึกชื่อคุณมาลัย มารดาของคุณหมอรวิอยู่ใต้ภาพสลักนูนต่ำ ภาพสุภาพสตรีนั้นมีอายุนั้นราวกับเหลือบมองมา อมยิ้มจางๆ นั้นราวกับเปล่งคำทักทายอันอบอุ่นแก่ผู้มาเยือน

ที่นี่คือที่เก็บอัฐิของผู้ที่รสิกานับถือผู้หนึ่ง เพราะท่านเสียไปด้วยโรคเดียวกันกับมารดาของเธอ จึงทำให้รสิการู้สึกใกล้ชิดกับทั้งหญิงชราและคุณหมอผู้เป็นลูกชายซึ่งช่วยดูแลมารดาเธอในวาระสุดท้าย

ราวกับ...เป็นผู้ร่วมรับชะตากรรมเดียวกันจึงเข้าใจกันและกันอย่างลึกซึ้ง

รสิกายังได้รับการติดต่อจากนายแพทย์ผู้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปหาหนทางรักษาโรคที่ไม่มีทางรักษานี้อย่างไม่ยอมถอดใจ ตัวเธอเองนั้นจะมาที่นี่ในทุกปี เหมือนเป็นตัวแทนบุตรชายของผู้วายชนม์มาแสดงความอาลัยและอยู่คอยเป็นเพื่อนอยู่ใกล้ๆ กับป้ายหินสีขาวนี้

หญิงสาวไม่รู้ว่ามีโลกหลังความตายไหม หรือว่าวิญญาณนั้นมีจริงหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เธอและหมอรวิเคยพูดคุยและเห็นตรงกันคือ...ความรู้สึกในจิตใจ...ความโศกเศร้าอาลัยนั้นมีอยู่จริงแท้

มนุษย์จึงหาหนทางผ่านเรื่องเล่า ผ่านศาสนา ผ่านศาสดา ผ่านความเชื่อต่างๆ นานามาสร้างเหตุผลให้รู้สึกว่าคนที่เรารักยังคงอยู่ ยังไม่ได้จากไปไหน ไม่มีสิ่งใดสูญสลายแตกมลายดับไปโดยสิ้นเชิง การเวียนว่ายตายเกิดเป็นเพียงกลไกหนึ่งที่ทำให้ผู้คนพบพานแล้วพลัดพราก แต่การจากกันนั้นเป็นเรื่องชั่วคราว เพียงเพื่อรอเวลาที่จะหมุนวนมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง...ก็เท่านั้น

คุณหมอรวิเคยบอกเธอว่า ในความเห็นของเขาความเชื่อเหล่านี้คือ วิธีการคลายปมทางจิตวิทยาชนิดหนึ่ง ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมารับมือกับความเศร้าจากการสูญเสีย เพื่อไม่ให้คนเราโศกเศร้ามากเกินไป สุดท้ายจุดมุ่งหมายมีเพียงเพื่อให้คนเราทำใจและสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปในวันข้างหน้า มันเป็นเรื่องที่บางคนทำได้ แต่ไม่ใช่กับทุกคน

การสร้างความหวังกับเรื่องภพภูมิในศาสนาคือตัวช่วยของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติภพ สวรรค์ นรก การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ปรมาตมัน ไปจนโลกหลังความตายของศาสนาอื่นๆ อีกมากมายนั้นอาจมาจากการอยากช่วยปลอบประโลมจิตใจผู้คน ก่อนที่มันจะแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพียงแต่ว่าผลทางจิตวิทยานั้นยังคงทำงานอยู่ ข้ามผ่านกาลเวลามาช่วยเยียวยาจิตใจของผู้คนมาจนทุกวันนี้

อย่างน้อย...ความเชื่อ นี้ก็ทำให้รสิกามีอะไรทำ...นอกเหนือจากการโหมทำงานทั้งงานประจำและงานพิเศษและเรียน...

อย่างน้อย...ก็มีวันสำคัญอย่างน้อยสามวันทุกปีให้เธอรอคอยและผูกพัน

อย่างน้อย...มันก็ช่วยทำให้หัวใจอันแหว่งวิ่นได้รำลึกถึง...การเคยถูกเติมเต็มที่ไม่มีวันหวนคืน...

รสิกาวางช่อดอกไม้ลงบนโต๊ะหินอ่อนหน้าแท่นหิน

ดอกเบญจมาศ...ตัวแทนของสัจจะ...ความเป็นจริงที่ไม่มีใครหลีกหนีพ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ...ความตาย

ความวางวายย่อมเป็นสมบัติสุดท้ายของมนุษย์ทุกรูปนาม มันคือความจริงแท้ 

ดอกสแตติสที่จัดช่ออยู่ด้วยกันหมายถึงความทรงจำดีๆ ที่เคยมีต่อกัน

และดอกไฮเดรนเยียแทนคำขอบคุณ...ขอบคุณที่เคยพบเคยได้รู้จักกัน ขอบคุณที่ทำให้ได้พบกับความสวยงามของการพบปะและจากลา คุณจะยังคงเป็นที่จดจำอยู่ในหัวใจใครบางคนไปตราบนานเท่านาน

ทุกทีรสิกาจะนั่งอยู่ที่นี่ราวหนึ่งหรือสองชั่วโมงเสมอ แต่วันนี้เพราะเมฆฝนครึ้มต่ำและลมที่เริ่มพัดแรงทำให้ไม่อาจอยู่ในที่โล่งอย่างศาลากลางสวนได้นานนัก รสิกาจึงเดินกลับออกมาด้วยฝีเท้าที่เร่งร้อนแข่งกับเม็ดฝนที่ตั้งท่าจวนจะหยดหยาดลงมา ได้แต่ภาวนาว่าเวลาจะยืดออกไปอีกนิดหนึ่ง ให้เธอมีโอกาสเดินออกไปหาที่หลบฝนด้านนอกบริเวณรอรถที่จะมีรถประจำทางผ่านมาบ้าง

ฝนยังไม่ตกลงมา ที่หน้าอาคารมีกลุ่มคนเกือบสิบคนยืนอยู่ รสิกาเหลือบมองประตูที่เปิดออกกว้างซึ่งเธอเป็นคนเปิดเอาไว้เองเพื่อให้มันถูกใช้งานบ้าง คิดไม่ถึงเลยว่าจะทำให้คนอื่นเดินเข้ามาได้ง่ายดาย เมื่อมองออกไปที่ด้านนอกมีรถหลายคันจอดอยู่ พวกเขาคงเห็นประตูรั้วเปิดไว้จึงได้เข้ามากัน หญิงสาวเดินเข้าไปต้อนรับผู้มาเยือนโดยอัตโนมัติ พวกเขาเป็นผู้ชายกลุ่มใหญ่ ทุกคนสวมเสื้อสีน้ำเงินเหมือนๆ กันคล้ายเป็นเครื่องแบบ ยกเว้นไว้แค่ชายวัยกลางคนตรงกลางที่ยืนมองมาที่เธอ ดวงตาคมกริบคู่นั้นจับจ้องตั้งแต่ตอนที่เธอยังเดินอยู่ในสวนแล้ว 

“มาหาคุณหมอรวิกันหรือคะ” รสิกาเปิดรอยยิ้มทักทายก่อนอย่างมีมารยาทและเมื่อเห็นว่าคนทั้งกลุ่มนั้นเป็นชายที่อายุราวสี่สิบถึงห้าสิบปีเศษกันหมดเธอจึงยกมือไหว้อย่างมีมารยาท

“ใช่ คุณหมอไม่อยู่หรือหนู” คุณอารัณย์เอ่ยถามพลางเพ่งพินิจสตรีเยาว์วัยตรงหน้าอย่างละเอียด

“คุณหมอไปทำวิจัยที่ยุโรปหลายปีมาแล้วค่ะ” รสิกาเอ่ยพลางมองอีกฝ่ายอย่างพินิจเช่นกัน สีหน้าเธอมีรอยคาดเดา ขมวดคิ้วเป็นปมเมื่อคิดว่าคนพวกนี้มาตามหาหมอเฉพาะทางเพื่ออะไรกันแน่ “คุณลุงดู...ไม่เหมือนนักวิจัยหรือคนที่ทำเกี่ยวกับการแพทย์เลยนะคะ” 

รสิกาตั้งข้อสังเกตกึ่ง...ซักถาม ถ้าหากเขาไม่ใช่คนในแวดวงฝ่ายแพทย์หรือนักวิจัย ความเป็นไปได้ที่เหลือคือ....

“หนูก็ไม่เหมือนคนทำงานด้านนั้นเหมือนกัน” คุณอารัณย์บอกอย่างไม่ยอมเฉลยสิ่งที่เธอสงสัยให้กระจ่าง “ขอโทษนะ หนูเป็น...เอ่อ...คนไข้ของหมอเหรอจ๊ะ”

“ไม่ใช่ค่ะ หนูรัสสบายดี คุณแม่หนูต่างหากที่เคยเป็น...เป็นคนไข้ของคุณหมอค่ะ” รสิกาบอกด้วยน้ำเสียงสะดุดนิดๆ 

“เคยเป็น? งั้นคุณแม่หนูก็...” คุณอารัณย์ทวนคำก่อนทักถามด้วยสีหน้าที่อ่อนโยนลงอย่างไม่รู้ตัว

“คุณแม่เสียแล้วค่ะ เสียไปหลายปีแล้ว” รสิกาเล่าเสียงแผ่วเบา

“เสียใจด้วยนะ...” คุณอารัณย์เอ่ยหลังจากนิ่งไปชั่วครู่

“คุณลุงมาที่นี่กันทำไมคะ มาหาคุณหมอเพื่อ...โอ๊ะ” รสิกาไม่ทันได้จบคำถามเพราะอยู่ๆ ลมก็พัดกระโชกแรง จากนั้นฝนก็เทโครมลงมา ทั้งเม็ดใหญ่ทั้งตกแรงกระหน่ำหนัก ซัดลงมาจนทุกคนที่ยืนอยู่ด้านหน้าต้องวิ่งเข้าไปหลบฝนใต้ร่มกันสาดของตัวอาคาร

ด้านหน้าของตึกศูนย์วิจัยสูงสองชั้นคือระเบียงกว้าง มีขอบระเบียงเป็นแผ่นปูนขนาดใหญ่สูงเลยเข่า คล้ายเป็นม้านั่งยาวๆ ปูยาวตลอดแนวซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นจุดรับน้ำฝนที่สาดซัดเข้ามาจนใช้เป็นที่นั่งไม่ได้แล้ว คนทั้งหมดจึงยืนอยู่ใต้ชายคา รอคอยให้ฝนหยุด ถาวรควักผ้าผืนหนึ่งออกมาให้คุณอารัณย์ซับหน้าและผมที่ชื้นจากละอองน้ำฝนที่ร่วงพรูลงมาเมื่อครู่

คุณอารัณย์เช็ดหน้าจนเรียบร้อยจึงหันไปสนใจหญิงสาวที่ชะเง้อคอมองออกไปยังสายฝนที่ตกหนักจนเห็นเป็นม่านขาว เธอขมวดคิ้วนิ่วหน้า สีหน้าวิตกกังวล

“ตกหนักขนาดนี้คงไม่หยุดง่ายๆ หรอก หนูจอดรถไว้ที่ไหน ที่ในรถของลุงน่าจะมีร่มอยู่ เดี๋ยวลุงให้คนไปเอามากางไปส่งที่รถให้เอาไหม” คุณอารัณย์ถามอย่างเอื้อเฟื้อ แต่อีกฝ่ายหันมายิ้มแหยๆ ให้

“หนู...เอ่อหนูไม่มีรถหรอกค่ะ” รสิกาบอกเสียงเบา

“อ้าว แล้วหนูมาถึงที่นี่ได้ยังไงกันล่ะ” คุณอารัณย์แปลกใจ จากถนนใหญ่ต้องเข้าซอยเล็กมาเกือบหนึ่งกิโลเมตรเลยเชียวนะกว่าจะมาถึงที่นี่ได้ “หรือว่าบ้านอยู่แถวนี้”

“เอ่อ...เปล่าค่ะ หนูมารถประจำทางค่ะ แล้วเดินเข้ามาอีกหน่อย” รสิกาบอกเสียงแผ่วลงทุกที ด้วยความประหม่าว่าคู่สนทนาอาจรังเกียจเธอได้ที่ไม่มีรถ

“โอ้...ทางไม่ใช่ใกล้ๆ เลยนะ” คุณอารัณย์อุทานแบบทึ่งๆ 

“ไม่ไกลเกินค่ะ เดินได้ เป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย” รสิกาบอกยิ้มๆ เมื่อเห็นท่าทีอีกฝ่ายไม่ได้แปรเปลี่ยนไปอย่างที่เธอนึกกลัว

“เดินเก่ง” คุณอารัณย์ชมกลั้วหัวเราะ บรรยากาศพลันผ่อนคลายขึ้นมาทันทีอย่างน่าประหลาดหลังจากนั้นเขาก็ถามชื่อและแนะนำตัวเองกับรสิกา แต่อย่างอื่นก็ละไว้ ไม่เอ่ยอะไรมากนัก 

“คุณหมอรวิไม่อยู่แบบนี้ ถ้าใครที่มีธุระต้องการพบเขาต้องทำยังไงงั้นรึ” คุณอารัณย์ถามขึ้น หลังจากที่ฟังรสิกาเล่าถึงสาเหตุที่เธอมาที่นี่ในวันนี้จนรู้ว่าเธอสนิทสนมกับเจ้าของสถานที่พอสมควร ไม่อย่างนั้นแล้วจะเอาดอกไม้มาเคารพอัฐิมารดาของเจ้าบ้านเนื่องในวันครบรอบวันตายได้อย่างไร

“นานๆ ทีคุณหมอจะโทร. มาคุยกับหนูรัสบ้างค่ะ คุณลุงอยากติดต่อกับเขาด้วยเรื่องอะไรหรือคะ” รสิกาเอ่ยแบบแบ่งรับแบ่งสู้พลางมองผู้ติดตามของคุณอารัณย์ด้วยสายตาเป็นกังวล

เธอได้ยินพวกเขาเรียกคุณอารัณย์ว่า ‘นาย’ ด้วยท่าทางนอบน้อม

พอสังเกตดีๆ ท่าทางของแต่ละคนนั้นไม่ใช่พนักงานบริษัทหรือลูกจ้างทั่วๆ ไป ออกจะดูคล้าย...คล้ายแก๊งทวงหนี้นอกระบบหรืออะไรเทือกนั้น!

คือ...ทุกคนดูดุๆ สายตาแข็งๆ จ้องมองรายรอบด้วยแววตาเฉียบคมจนคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงอาชญากรอย่างเธอยังรู้สึกได้ว่าพวกเขาดูอันตราย...แล้ว...คนที่ท่าทางอันตรายเหล่านี้จะมาหาคุณหมอรวิทำไมกัน...ที่สำคัญคือ...ไม่ได้มาแบบประสงค์ร้ายใช่ไหม

ถ้า...ถ้าพวกเขาเกิดเป็นคนไม่ดีขึ้นมาแล้วเธอจะให้ข้อมูลของคุณหมอกับพวกเขาได้ยังไง เกิดพวกเขาเอาไปทำอันตรายคุณหมอขึ้นมาล่ะ

ดังนั้นรสิกาจึงไม่ได้บอกเบอร์ติดต่อหรือที่อยู่ของนายแพทย์รวิออกไป เพียงบ่ายเบี่ยงว่าเขาเดินทางตลอดเวลา อยู่ไม่เป็นที่ ทุกครั้งคุณหมอจะเป็นฝ่ายติดต่อมาเอง เธอไม่รู้หนทางติดต่อเขาหรอก

คุณอารัณย์มองสีหน้า ไม่เนียน นั้นด้วยสายตาวิเคราะห์ก่อนรอยยิ้มนิดๆ จะกดลึกมุมปากบนสีหน้าที่มีรอยรู้ทันปะปนสายตาเอ็นดู

“อืม...หนูรัสเป็น...คนรอบคอบแบบนี้เสมอเลยหรือ” ชายวัยกลางคนตั้งคำถามยิ้มๆ

สาวน้อยที่อยู่ตรงหน้าเขา หน้าตาเหมือนเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเลยด้วยซ้ำ แต่การวางตัว การพูดคุย มารยาท และการให้เกียรติคู่สนทนานั้นเหนือล้ำกว่าอายุเธอไปไกล ดูก็รู้ว่าได้รับการอบรมมาดีเป็นพื้นฐาน และเหมือนได้รับการขัดเกลามาแล้วจากการเข้าสังคมแบบผู้ใหญ่วัยทำงาน จึงทำให้เธอมีความสุขุมและไตร่ตรองคำพูดมาเป็นอย่างดี

รสิกายิ้มแหยให้เมื่อถูกดักคออย่างรู้ทัน แต่ชายวัยกลางคนก็ไม่ได้คุกคามคาดคั้นอะไรให้เธอลำบากใจ บทสนทนาจึงค่อยๆ ผ่อนคลายขึ้น

“แล้วเดี๋ยวหนูรัสจะกลับยังไง รอฝนหยุดอย่างนั้นหรือ” คุณอารัณย์ถามเมื่อเห็นท่าทางกระสับกระส่ายของหญิงสาว

“ก็...คงต้องแบบนั้นแหละค่ะ” รสิกาตอบอย่างปลงๆ การเดินตากฝนเป็นกิโลออกไปยังถนนใหญ่เพื่อรอรถประจำทางผ่านมาและต้องต่อรถอีกหลายต่อไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเลยสักนิด ขอให้เป็นตัวเลือกสุดท้ายเถอะ

แม้ไม่ใช่คนอ่อนแอบอบบางอะไร แต่การตากฝนหนักๆ เปียกปอนหัวจดเท้าอยู่เป็นชั่วโมงนี้คงทำให้เธอป่วยได้ไม่ยาก และการเจ็บป่วยไม่ว่าหนักหรือเบาก็เป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุดสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังเช่นเธอ

“ติดรถลุงออกไปไหม เดี๋ยวลุงไปส่งให้ถึงบ้านเลย” คุณอารัณย์บอกอย่างเอื้อเฟื้อท่ามกลางสีหน้าประหลาดใจของพวกลูกน้องที่มองเจ้านายอย่างงงๆ

ปกติเจ้านายของพวกเขาเคยอาสาไปส่งใครที่ไหนกัน สายตาหลายคนจับมาที่หญิงสาวอย่างสนใจ และพยายามพิจารณาว่าเจ้านายเห็นอะไรในตัวเธอกันแน่ ทำไมอยู่ๆ จึงใส่ใจให้ความสำคัญผู้หญิงคนนี้ขึ้นมา

รสิกาถูกสายตาเหล่านั้นมองจนอึดอัดไปหมด หญิงสาวหันกลับไปมองพวกเขาบ้างและพบว่าแต่ละคนดูน่ากลัวอยู่ไม่น้อยเลย สัญชาตญาณระแวงภัยเริ่มทำงานส่งสัญญาณเตือนว่า...แม้คุณลุงอารัณย์จะดูอัธยาศัยดีก็จริง แต่ก็เพิ่งรู้จักกันเมื่อกี้นี้เอง ความเป็นมาอะไรอย่างไรก็ยังไม่รู้เลย

แม้เธอจะเป็นคนไม่ถือตัว แต่การจะติดรถคนที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรกไปแบบนี้...แถมลูกน้องเขาก็ดูไม่น่าไว้ใจเท่าไร และที่สำคัญคือเป็นผู้ชายล้วนๆ ภาพที่ออกมาคง...มองไปในทางที่คิดดีไม่ได้เลย

“ไม่เป็นไรค่ะ หนูรัสไม่รบกวนดีกว่า ถ้าพวกคุณลุงมีธุระก็ไปกันได้เลยนะคะ” รสิกาบอกด้วยรอยยิ้มแห้งๆ ท่าทางเกรงใจเปี่ยมมารยาท

หวังว่าอีกฝ่ายจะไม่คะยั้นคะยอจนทำให้เธอวางตัวไม่ถูก ถ้าเขาคาดคั้นบังคับขึ้นมาจะให้เธอทำยังไง จะให้บอกเขาไปหรือว่า...คุณลุงขา ลูกน้องคุณลุงดูน่ากลัวเกินไป หนูรัสไม่กล้าติดรถไปด้วยหรอกค่ะ ขืนบอกออกไปแบบนี้...

คนคิดกลืนน้ำลายฝืดคอ กวาดตามองกลุ่มชายฉกรรจ์เป็นสิบคนนั้นอีกที อืม...เห็นทีจะรอดยากอะ

คุณอารัณย์มองสีหน้าลำบากใจปนหวาดระแวงของหญิงสาวแล้วก็ไม่ได้คาดคั้นอีก 

“งั้นลุงอยู่เป็นเพื่อนหนูที่นี่อีกสักพักก็ได้” คุณอารัณย์ว่าพลางหันไปพยักหน้าส่งสัญญาณกับพวกลูกน้องว่าเขาจะยังไม่กลับไปในตอนนี้

ถาวรกวาดตามองรอบตัวก่อนเดินไปยกโต๊ะเก้าอี้ที่อยู่สุดมุมระเบียงมาวางไว้ให้เจ้านายและรสิกานั่งพัก ชุดโต๊ะเก้าอี้ที่ถูกทิ้งฝุ่นจับได้รับการเช็ดถูจนสะอาด ถาวรมีกระทั่งขวดน้ำและแก้วน้ำที่เขาให้คนวิ่งฝ่าฝนไปเอามาจากในรถ ลูกน้องกลับมาพร้อมร่มคันใหญ่ และข้าวของเครื่องใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้านายอีกมาก ในบรรดาสิ่งของที่พวกเขาเอามา มีกระเป๋าใส่ยาใบเขื่องมาด้วย ถาวรดูนาฬิกาก่อนลงมือจัดยาใส่ถ้วยเล็ก ยื่นให้เจ้านาย

“อะไรวะ ได้เวลากินยาอีกแล้วเรอะ” คุณอารัณย์ทำหน้าเบ้ใส่ยาเม็ดใหญ่ๆ สารพัดสีที่อยู่ในถ้วยเล็กนั้น

“ได้เวลาแล้วครับ” ถาวรบอกพลางกดปิดเสียงของนาฬิกาข้อมือที่ตั้งไว้ ซึ่งร้องเตือนขึ้นพอดี 

รสิกามองเขาอย่างทึ่งๆ ที่เขาทำทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วว่องไวและตรงเวลาเสียยิ่งกว่านาฬิกาปลุกที่ตั้งไว้อีก

เมื่อเจ้านายรับถ้วยยาไปแล้ว ถาวรก็เปิดขวดน้ำรินใส่แก้ว ยื่นให้คุณอารัณย์ที่เขย่ายาสารพัดสีในถ้วยด้วยสีหน้าพะอืดพะอม ทำให้รสิกาพลอยมองไปยังเม็ดยาเหล่านั้นไปด้วย

เม็ดยาพวกนั้น...

รสิกาไล่สายตาไปยังซองยาและแผงยาที่วางไว้บนโต๊ะรอการเก็บเข้าที่ หญิงสาวเพ่งจ้องด้วยสีหน้าตื่นตะลึงไป ก่อนเหลือบตากลับมามองคุณอารัณย์ที่จ้องตรงมายังเธอด้วยสายตาระมัดระวังตัวขึ้นมา เหมือนเขารู้...ว่าเธอรู้...อะไรบางอย่าง

คนทั้งคู่สบสายตาด้วยความนิ่งงันไปชั่วพัก ก่อนรสิกาจะกะพริบตาถี่ๆ คล้ายมีหยดน้ำรื้นขึ้นมา แต่ก็ถูกกลบกลืนหายไปไม่แสดงออกมา ชั่วพักกว่าที่รสิกาจะเอ่ยออกมาได้ด้วยเสียงที่พยายามไม่ให้สั่น

“คุณลุง...เป็นคนที่จำเป็นต้องมาหาคุณหมอรวิสินะคะ”

คุณอารัณย์หลุบตาลงมองเม็ดยาในแก้วด้วยสีหน้าครุ่นคิด ประกายตามีความคลุมเครือจนจับความรู้สึกไม่ได้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ พักใหญ่กว่าที่เขาจะเงยหน้าขึ้นมามองสบตารสิกาด้วยสีหน้าคล้ายยิ้มคล้ายไม่ยิ้ม เขย่าถ้วยเล็กจนเม็ดยากลิ้งไปมากระทบกันดังกลุ๊กกลิ๊กเหมือนลูกแก้วหลากสี

“หนูรู้จากเม็ดยาพวกนี้สินะ” เขาถามพลางเงยหน้ากรอกยาทั้งถ้วยเข้าปากแล้วดื่มน้ำตาม

“ใช่ค่ะ...คุณแม่...แม่หนูก็เคยใช้ตัวยาแบบเดียวกันนี้...ก่อนที่ท่านจะ...” เสียงพึมพำแผ่วเบาตอนท้ายกลืนหายไปในคอ สายตาที่มองมายังคุณอารัณย์มีทั้งความโศกเศร้า สะเทือนใจ ทั้งเห็นใจปลอบประโลม เป็นไปโดยไม่รู้ตัว

“หนูรัส...เสียใจด้วยนะคะ” น้ำเสียงปลอบประโลมเกือบเจือสะอื้นนั้นทำเอาคนฟังจับจ้องเธออย่างพินิจยิ่งกว่าเดิม สีหน้าเขาเกือบตื่นตะลึงด้วยซ้ำ

พักหนึ่งกว่าที่คุณอารัณย์จะถอนหายใจออกมา เกือบ...เกือบเจือเสียงหัวเราะออกมาด้วยซ้ำยามที่เอ่ย

“หนูรัส...ยายหนูน้อย หนูจะมาเสียใจสะเทือนใจกับคนที่เพิ่งเคยเจอกันไม่ถึงชั่วโมงแบบนี้ไม่ได้นะรู้ไหม หนูยังไม่รู้จักฉันดีเลย รู้ได้ไงว่าฉันเป็นคนดีควรค่ากับการอาลัยของหนูหือ” คุณอารัณย์ถามด้วยท่าทางอารมณ์ดี ไม่มีเค้ารอยโศกสลดสักนิด

“ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือเคยทำไม่ดีมาก่อน ทุกคนก็ควรมีสิทธิ์ได้รับความเห็นใจและการไว้อาลัยในวาระสุดท้ายนะคะ” รสิกาบอกเขาเสียงเบา แม้จะยังตัดสินใจไม่ถูกว่าคนตรงหน้าเป็นคนดีหรือไม่ แต่...มีกระแสบางอย่างที่ส่งผ่านออกมา ความรู้สึกที่...ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเลย

“ขอบใจ...” คุณอารัณย์ว่ายิ้มๆ หลังจากนิ่งคิดไปและพิจารณาท่าทางของหญิงสาวแล้วพบว่ามันไม่ใช่การเสแสร้ง เป็นความอ่อนโยนเห็นอกเห็นใจแบบที่มีได้ในคนที่เข้มแข็งและเห็นใจคนอื่นมากพอ

แม้จะอ่อนต่อโลกไปบ้าง แต่เด็กคนนี้มีทัศนคติที่ไม่เลวเลยจริงๆ

เขาคิดอย่างพึงใจขณะหยิบซิการ์ออกมาทำท่าจะจุดสูบ

“คุณลุงคะ...” รสิกาเอื้อมมือไปแตะมือใหญ่ของชายวัยกลางคนผิวคล้าม ทำเอาเขาชะงัก หันมามองเธอแบบสงสัยในความห่วงใยที่ล้นทะลักจนเหมือนจะเกินเลยนั้น

ยายหนูนี่ช่างเป็นคนแสดงความเมตตาและเห็นใจเพื่อนมนุษย์แบบวู่วามเกินไปแล้ว เขาไม่ได้แสดงท่าทีดรามาให้เธอต้องมาแสดงความเห็นอกเห็นใจอะไรขนาดนี้เสียหน่อย...

“คุณลุงไม่ควรสูบบุหรี่ค่ะ หมอไม่ได้ห้ามไว้หรอกเหรอคะ” รสิกาบอกเสียงเข้มไร้ความหงุงหงิงและอ่อนโยนอีกสืบไป

“แค็กๆ” คุณอารัณย์ที่จะสูดมวนซิการ์เพื่อจุดให้ปลายด้านที่จ่ออยู่กับไฟแช็กติดไฟถึงกับสำลักคำเตือนด้วยน้ำเสียงจริงจังนั้น

“จริงครับนาย นายไม่ควรสูบครับ” ถาวรรีบบอกพลางดึงมวนยาสูบออกจากปากผู้เป็นนายไปกดดับอย่างไม่สนใจแววตาขุ่นขวางนั้นเลย

“ไอ้วร ไอ้เวร” เสียงงึมงำด่าทอคนสนิทดังขึ้นก่อนที่จะลูบมือไปบนกล่องซิการ์เหมือนชั่งใจว่ายังอยากหยิบออกมาจุดสูบใหม่ “หนูรัส ลุงจะตายวันตายพรุ่งอยู่แล้ว หยวนๆ ให้คนแก่ใกล้ตายหน่อยไม่ได้หรือไงเล่า” คุณอารัณย์หันมากล่อมหญิงสาวด้วยน้ำเสียงประนีประนอมและดูมีความเกรงใจอยู่ไม่น้อยเลย

ถาวรมองเมินแล้วอดแอบอมยิ้มนิดๆ ไม่ได้ เจ้านายผู้เด็ดขาดและเหี้ยมโหดของเขา ในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่ความเจ้ากี้เจ้าการจากความห่วงใยของเด็กสาวคนหนึ่ง...

“ไม่ได้ค่ะ คุณลุงควรรักถนอมร่างกายเพื่อยืดระยะเวลาที่มีอยู่ จะได้มีเวลาอยู่กับคนที่รักไปนานๆ ดีกว่านะคะ หรือถ้า...” รสิกาเหลียวมองไปโดยรอบ พบเพียงผู้ติดตามที่ท่าทางเป็นลูกจ้าง ไม่มีใครที่ดูคล้ายเป็นญาติสนิทของเขาเลย ทำให้เธอคาดเดาด้วยความเศร้าทบทวีว่าเขาอาจอยู่โดดเดี่ยว...และอาจต้องผจญช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตที่เหลือเพียงลำพัง

นั่นไม่สมควรที่เธอจะทุ่มเทความเห็นอกเห็นใจให้เขาเป็นพิเศษหรือไงล่ะ

“ถ้าหากคุณลุงไม่เหลือใครแล้วจริงๆ ก็ควรใช้ช่วงเวลานั้นทำสิ่งที่ตัวเองชอบหรือทำเรื่องต่างๆ ที่ติดค้างให้ดีที่สุดนะคะ”

คุณอารัณย์แทบจะสำลักอีกรอบหนึ่ง เริ่มเข้าใจขึ้นมารางๆ ถึงสายตาเห็นอกเห็นใจเป็นพิเศษของยายหนูนี่ขึ้นมาแล้วละว่า...นอกจากความรู้สึกร่วมที่เธอเคยสูญเสียมารดาไปจากโรคร้ายที่รักษาไม่หายนี้ เธออาจรู้สึกเห็นใจที่เขาดูไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีใครมาคอยดูใจในช่วงเวลาสุดท้าย นอกจากบรรดาพวกผู้ติดตามที่ไม่ใช่ญาติ

“ลุงไม่ได้ไม่มีใคร ลุงมีลูกชายอยู่คนหนึ่ง แล้วถ้าพูดถึงการใช้เวลาร่วมกัน ลุงอยู่กับมันจนเอียนแล้ว ไม่ต้องให้มันมาคอยเกะกะอยู่ใกล้ๆ หรอก อีกอย่างนะ...ยายหนูรัส” คุณอารัณย์จิบน้ำพลางมองหญิงสาวตรงหน้าด้วยดวงตายิ้มๆ ปนเอ็นดู

“คนตาย...คนที่ไม่อยู่แล้วน่ะ เขาไม่เสียใจหรอก เขาไม่รู้สึกอะไรแล้ว คนที่อยู่เท่านั้น...ที่ยังรู้สึก” คนพูดนิ่งไปนิดหนึ่งด้วยสีหน้าไตร่ตรอง “จะว่าไป...คงมีแต่ลูกชายเวรตะไลของฉันเท่านั้นแหละนะที่มันจะเสียใจน่ะ แถม...คงไม่มีใครคอยมาเป็นห่วงใยปลอบใจมันเสียด้วย...ก็ใครใช้ให้มันนิสัยแย่ขนาดนั้นกันวะ”

ท้ายประโยคคล้ายกำลังพึมพำกับตัวเอง แต่เรียกเสียงสำลักกระอักกระไอจากบรรดาลูกน้องที่ยืนอยู่ใกล้และได้ยินประโยคนั้นเต็มๆ หู

“เออ...จริงสิ หนูรัสอายุเท่าไหร่แล้วนะหนู” คุณอารัณย์ถามเหมือนเพิ่งนึกอะไรบางอย่างขึ้นมาได้

“หา...อะ เอ่อ...ยี่สิบค่ะ” รสิกาเผลอตอบตามความจริงไปอย่างงงๆ ที่อยู่ๆ คำถามวกกลับมาเข้าตัวเธอ

“โอ้ หน้าตาเด็กน้อย แต่นิสัยหนักแน่นสุขุมเกินอายุไปไกล...” คุณอารัณย์จ้องมองเธอด้วยสายตาไตร่ตรองก่อนตั้งคำถามใหม่ คราวนี้หนักกว่าเดิมอี๊ก “หนูมีคนที่ชอบแล้วหรือยัง คบใครอยู่หรือเปล่า”

“มะ...มะ...มะ...ไม่มีค่า...คุณลุงถามอะไรคะเนี่ย” รสิกาส่ายหน้า โบกมือว่อน หน้าตาแดงก่ำไปหมดเมื่อเจอคำถามตรงๆ ถามถึงเรื่องส่วนตัวเล่นงานซึ่งหน้าเหมือนโดนหมัดฮุกเข้าไปไม่รู้เนื้อรู้ตัว

“ดีเลย ลูกชายลุงมันก็ยังโสดอยู่นะ หน้าตาดี...แต่น้อยกว่าลุงหน่อยนึง หนูสนใจรับมันไปดูแลมั่งไหม นิสัยมันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ดูแลยากไปบ้าง กินยาก อยู่ก็ยาก แล้วก็...ปากหมาด้วยนะ”

“เอ่อ...นายครับ” ถาวรท้วงขึ้นเบาๆ ขณะคนอื่นๆ ก็กระแอมกระไอคล้ายอะไรติดคอกันเป็นทิวแถว

นั่น...มันไม่เหลือข้อดีอะไรให้น่ารับปากรับรักเลยครับนาย

มีใครกันที่เสนอขายลูกชายตัวเองด้วยการพรีเซนต์ข้อเสียออกมาหมดเปลือกแบบนี้กันบ้าง

นิสัยขนาดนี้...ให้ฟรียังไม่มีใครเขาเอาเลยครับนาย!

 

รีวิวผู้อ่าน

0 ผู้รีวิว

จัดเรียงตาม

ความคิดเห็น