บทที่ ๓

ความนัยจากภาพเก่า

“มีอา มีอา ญามีอา!”

“พะ...พ่อ! หนูตกใจหมด” 

ญามีอาผวาเฮือก เกือบกระโดดตอนถูกบิดาคว้าแขน หากท่านไม่ดึงเธอไปกอดเสียก่อน คนร่างเล็กคงได้สั่นไปทั้งตัว

“เป็นอะไร พ่อเรียกเท่าไหร่ก็ไม่ได้ยิน” ลูกสาวเขาเอาแต่เดินเหม่อ ทั้งโบกมือ ทั้งตะโกนเรียก อีกฝ่ายก็ทำเหมือนไม่ได้ยิน “ลูกเป็นอะไร เมาเครื่องหรือไม่สบายตรงไหนหรือเปล่า” 

ชโยดมดันลูกออกจากอก มองซ้ายทีขวาที ก่อนจะจับจ้องหน้าซีดเซียวของลูก

ญามีอาส่ายหน้า “เปล่าค่ะ มีอาไม่ได้เป็นอะไร ก็แค่คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไปหน่อย พ่อมาได้ไงคะ ไหนว่าวันนี้มีประชุมดึก เลยมารับหนูที่สนามบินไม่ได้”  

พอหายตกใจและเห็นหน้าบิดาชัดๆ ความหวาดกลัวและฟุ้งซ่านต่างๆ ก็ทุเลาลงไปมาก

“คิดถึงหนูจนทนไม่ไหวใช่ไหมคะ” ทั้งที่ขอบตาร้อนผ่าว แต่เธอไม่อยากจะงอแงทันทีที่พบหน้าพ่อ ญามีอาสวมกอดร่างอวบของบิดาบ้าง สองมือประสานกันที่แผ่นหลังนุ่มๆ รับรู้การมีอยู่ของท่านที่ไม่ใช่ความฝัน “มีอาคิดถึงพ่อจังเลยค่ะ”

ในที่สุดเธอก็กลับมาถึงบ้านแล้วจริงๆ 

“พ่อก็คิดถึงมีอา” คิดถึงมากเสียจนวันนี้ทั้งวันไม่เป็นอันทำอะไร ชโยดมเงยหน้าหัวเราะเบาๆ แปดปีที่ต้องอยู่กันคนละซีกโลกช่างไม่สนุกเอาเสียเลย “ไป พ่อพาไปกินของอร่อย”

“มีอาอยากไปกินร้านนั้น ร้านที่เราเคยไปกันสามคน” สมัยมารดายังมีชีวิตอยู่ ครอบครัวเธอมีร้านอาหารประจำที่มักจะไปรับประทานสัปดาห์ละครั้ง ที่นั่นอาหารอร่อยและยังเป็นอาหารต้นตำรับตาลูลาที่มารดาของเธอชอบ

จริงๆ แล้วญามีอาเป็นลูกครึ่งไทย-ตาลูลา พ่อเป็นคนไทย ส่วนแม่เป็นชาวตาลูลา๑ ก่อนจะเสียท่านไป ครอบครัวเธอเคยไปอยู่ที่ตาลูลาหลายปี ไป-กลับระหว่างไทยกับตาลูลา ภาษาตาลูลาจึงไม่ยากสำหรับเธอสักนิด พูดและเขียนได้พอๆ กับภาษาไทย

“พ่อก็อยากไป แต่ร้านนั้นไม่ได้อยู่ที่เดิมแล้วนะ”

“ทำไมล่ะคะ อยู่ตรงนั้นก็ออกจะขายดี มีอาจำได้ว่าคนเต็มร้านตลอดเลย”

ร้านอาหารตาลูลาในไทยมีไม่มาก ร้านประจำของครอบครัวเธอจึงเต็มอยู่ตลอด จะไปแต่ละครั้งต้องจองล่วงหน้า

“นั่นมันกี่ปีมาแล้วเล่า” ถ้าจำไม่ผิด ร้านนั้นย้ายไปที่ใหม่หลังจากลูกสาวเขาไปเมืองนอกไม่ถึงครึ่งปี เพราะคนใช้บริการเยอะทุกวันอย่างที่ลูกสาวเขาว่านั่นละ เจ้าของร้านจึงจำเป็นต้องขยายร้านออกไป และหาทำเลที่เหมาะสมกว่า “โลกเปลี่ยนไปทุกวัน เขาก็ต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย”

“ขอแค่รสชาติยังเหมือนเดิม มีอาก็โอเคค่ะ มีอาอยากไป” นอกจากคิดถึงอาหารแล้ว เธอยังคิดถึงมารดาด้วย

ชโยดมพยักหน้า มีหรือจะไม่เข้าใจลูกสาว “รับประกันว่ายังเหมือนเดิม ด้วยเกียรติของนายชโยดมเลย”

เขาเองก็คิดถึงภรรยาผู้ล่วงลับ จึงไปร้านนั้นบ่อยครั้ง ถึงสถานที่จะเปลี่ยนไป แต่เจ้าของร้านก็ยังคงบรรยากาศและรสชาติอาหารไว้อย่างเดิม 

“งั้นด้วยเกียรติที่มีอาแบกไว้ไม่ไหวของพ่อ วันนี้มีอาจะกินให้เดินกลับบ้านไม่ไหวไปเลย” 

“กลับไม่ไหว พ่อจะแบกมีอากลับบ้านเอง” แม้จะมีขาจริงเพียงข้างเดียว แต่ขาเทียมที่ใส่มาหลายปีก็ทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้ของจริง ลูกสาวเพียงคนเดียว ต่อให้ต้องอุ้มไว้กับอกตลอดเวลาชโยดมก็ไม่หวั่น

“ก็เพราะแบบนี้มีอาถึงรักพ่อที่สุด” เพราะมีบิดาที่รัก เธอจึงเติบโตมาอย่างไม่ขาดความอบอุ่น 

ญามีอาคล้องแขนและจูบหัวไหล่ท่านเบาๆ 

ชโยดมหัวเราะร่า “ก็เพราะแบบนี้ พ่อถึงคิดถึงเราใจจะขาด”

และรักอย่างไม่มีเงื่อนไข เขาหอมกระหม่อมลูกแล้วพากันก้าวออกจากสนามบิน 

“นี่อะไรเหรอคะพ่อ”

ญามีอาถามขณะดูภาพถ่ายเก่าๆ บนผนังร้านอาหาร จะว่าเป็นของตกแต่งก็ดูไม่ค่อยพิสมัย แต่กลับมีมนตร์ขลังบางอย่างที่ไม่อาจมองข้าม เหมือนเธอจะไม่เคยเห็นภาพถ่ายเหล่านี้ที่ร้านอาหารประจำของครอบครัวมาก่อน

“รูปสมัยสงครามกลางเมืองน่ะ เจ้าของร้านเขาเป็นคนตาลูลา เคยเป็นทหารของหน่วยก่อการ สมัยนั้นยิ่งใหญ่เอาการเลยนะ ทางการกลัวหัวหดเลยทีเดียว” ชโยดมอธิบาย เขาเองก็เพิ่งจะได้รู้เรื่องราวของเจ้าของร้านเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งที่เป็นลูกค้ามาสิบกว่าปี

“สงครามกลางเมือง...” ญามีอารู้สึกคุ้นเคยแปลกๆ มารดาของเธอเป็นคนตาลูลา แต่ก็ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา เป็นถึงลูกสาวคนสำคัญของนายพล คนโปรดของจ่อป่า๒คนก่อน เกือบได้เป็นจ่อป่ามึ๓ หากไม่มาพบรักกับบิดาเธอเข้า คนตาลูลาไม่นิยมคลุมถุงชน อาจมีหมั้นหมายไว้บ้าง แต่หากถึงเวลาหนุ่มสาวไม่ชอบพอกันก็สามารถตกลงกันได้ “พ่อหมายถึงสงครามที่เกิดขึ้นภายในน่ะเหรอคะ แล้วสงครามนั้นเกิดตอน พ.ศ. อะไรคะ”

“ถ้าพ่อจำไม่ผิด น่าจะ พ.ศ. ๒๕๑๔ ถึง ๒๕๒๔ นะ”

“สิบปีเลยเหรอคะ ยาวนานขนาดนั้นเชียว!”

“ไม่มีใครยอมใครยังไงล่ะ และก็คงยอมไม่ได้ด้วย ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง” เหตุผลที่คิดว่าดีกว่าและถูกต้องกว่าของฝ่ายตรงข้าม ประวัติศาสตร์ก็มักจะมีคำถามจากคนรุ่นหลังอยู่เสมอนั่นละ มันเป็นเรื่องธรรมดาเพราะต่างคนต่างมองจากต่างเวลาต่างสถานะและเหตุผล

“เพราะแบบนั้น ประชาชนตาดำๆ เลยต้องลำบากกันไปหมด”

สงครามมีอะไรดีบ้าง...ญามีอาอดตั้งคำถามไม่ได้

“บางครั้งความลำบากก็ไม่ใช่ความลำบากหรอกลูก” ชโยดมเองก็เคยคิดเช่นเดียวกับลูกสาว แต่พอมองจากตอนนี้ มองเข้าไปในมุมของคนในยุคนั้นตามหลักการ Empathy๔ สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่ความลำบาก แต่พวกเขายินยอมพร้อมใจจะให้มีอิสรภาพเกิดขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต “หากมันคือสิ่งที่เขาอยากให้เป็น เต็มใจให้เป็น เพราะมันจะทำให้ชีวิตดีขึ้น ประชาชนก็คงยินยอมลำบากเช่นนั้น มันอาจจะคุ้มค่ามากกว่าไม่ทำอะไรเลย”

“พ่อพูดเหมือนเคยอยู่ในตอนนั้นเลยนะคะ” ญามีอาหันมองหน้าบิดา 

ดวงตาท่านยิ้มและเอ่ยทีเล่นทีจริง “พ่ออาจไม่เคย แต่มีอาอาจจะเคยก็ได้ เราเกิดหลังปี ๒๕๒๔ นี่นา ใครจะไปรู้ว่าตอนนั้นลูกสาวพ่อเป็นใคร” 

“...” 

บิดาเพียงหยอกล้อ แต่ญามีอากลับนิ่งงัน เพราะบางอย่างในคำพูดท่านสะกิดให้เธอนึกถึงความฝันที่เหมือนจริงเกินไปตอนที่อยู่บนเครื่องบิน ความฝันที่เริ่มจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตลอดแปดปีที่ผ่านมา

หรือว่าเธอจะเคยอยู่ที่นั่นในตอนนั้น!?

“เป็นอะไรมีอา” ชโยดมถาม จู่ๆ ลูกสาวก็นิ่งไปอีกแล้ว

“เปล่าค่ะ” ญามีอาไม่รู้แล้วว่าตั้งแต่กลับมาส่ายหน้าให้บิดาไปกี่ครั้ง เธอหันกลับไปมองภาพ “พ่อพอมีหนังสือหรือเรื่องราวในตอนนั้นบ้างไหมคะ มีอาอยากลองศึกษาดู ยังไงก็บ้านเกิดแม่” 

“มีสิ ไว้ถึงบ้านพ่อจะเอามาให้ มีหลายเล่มเชียวละ” เขาเองก็เคยอยากศึกษาเกี่ยวกับบ้านเกิดภรรยา จึงเป็นที่มาของหนังสือเหล่านั้น ซึ่งหากไปหาในตอนนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว

“ดีจัง มีอาคิดว่าจะหายากเสียอีก แล้วในนั้นมีใครเด่นๆ พอจะเอามาทำหนังชีวประวัติได้ไหมคะ”

ชโยดมนิ่งไปครู่หนึ่ง “เยอะเชียวละ อยู่ที่ว่ามีอาสนใจฝ่ายไหน” 

“มีทหารฝ่ายไหนสวมชุดสีน้ำตาลไหมคะพ่อ และทหารในรูปพวกนี้ใส่ชุดสีอะไรกันเหรอคะ” เนื่องจากเป็นรูปขาวดำ จึงไม่อาจมองเห็นสีสันได้ ญามีอาพยายามหาความโดดเด่นในภาพมาสักพัก แต่ก็ยากเต็มที 

“น้ำตาล ทหารในรูปพวกนี้คือทหารจากหน่อยก่อการฯ ตอนนั้นหน่วยก่อการฯ ใส่ชุดสีน้ำตาล ทางการใส่ชุดสีดำ”

“งั้นหน่วยก่อการฯ มีใครเด่นๆ บ้างเหรอคะ”

“เด่นสุดก็ต้องนายพลเชลา เขาเป็นผู้นำหน่วยก่อการฯ รวบรวมประชาชนเข้าป่าเพื่อต่อต้านทางการ วีรกรรมของเขากึกก้องเชียวละ”

นายพล...ญามีอาส่ายหน้า เธอจำได้ว่าชายคนนั้นถูกเรียกว่าผู้กอง ถ้าเทียบยศก็เป็นร้อยเอก

“มีแค่คนเดียวเหรอคะ” 

“ดูลูกสนใจเรื่องนี้ดีนะ” 

“อ้อ...” ถ้าบิดาไม่ทัก ญามีอาก็นึกไม่ถึงว่ากำลังให้ความสนใจชายในความฝันคนนั้นขึ้นมาจริงจังแล้ว “ก็พ่อเล่าได้น่าสนใจนี่คะ มีอาก็อยากรู้ว่าประชาชนในตอนนั้นเขาคิดอะไรกัน แล้วสรุปมีใครเด่นๆ อีกไหมคะ”

อย่างไรเธอก็อยากรู้อยู่ดีว่าสิ่งที่ฝันเป็นแค่ความฝัน หรือเป็นแค่จินตนาการของเธอเองจริงหรือไม่

“มีอีกคน คนนี้เด่นไม่แพ้นายพลเชลาเลยละ แต่เสียดายเขาเสียชีวิตก่อนสงครามจะสงบ อาจจะพูดได้ว่าเพราะการเสียชีวิตของเขา ทำให้สงครามยุติก็เป็นได้”

“ขนาดนั้นเชียว เขาคือใครเหรอคะ”

“มือยิง...”

“สวัสดีครับคุณชโยดม ไม่ได้แวะมาพักใหญ่เลยนะครับ” ชายชราคนหนึ่งเดินออกมาจากหลังร้าน เขาทักลูกค้าประจำที่แวะเวียนมารับประทานอาหารและเป็นเพื่อนคุยกับเขามาช้านาน

ชโยดมที่กำลังคุยกับลูกหันไปหาและทักทายอีกฝ่ายอย่างคุ้นเคย “ช่วงนี้งานยุ่งนิดหน่อยน่ะครับ เลยไม่ค่อยได้มา ลุงผันสบายดีนะครับ นี่ลูกสาวผม แกเพิ่งกลับจากต่างประเทศเลยพามากินข้าว” 

“สวัสดีค่ะ” ญามีอาไหว้ทักทายผู้มาใหม่ ชายชราตรงหน้าดูสูงวัยตามอายุ แต่ร่างกายดูแข็งแรงกว่าคนวัยเดียวกันอยู่มาก ดูๆ ไป ผมสีดอกเลาก็ขับให้ใบหน้าของเจ้าของร้านดูเด็กกว่าอายุ 

“ลุงดูแก่ใช่ไหม”

“ไม่ค่ะ คุณลุงยังดูหนุ่มอยู่เลย” เธอเผลอจ้องใบหน้าชายชราจนถูกจับได้เสียนี่ ญามีอายิ้มกลบเกลื่อน โดยไม่รู้ว่าที่อีกฝ่ายจับได้ก็เพราะจ้องเธอไม่วางตาเช่นกัน

“ก็ชมคนแก่ไป แต่ลูกสาวคุณชโยดมสวยนักนะครับ”  

“ขอบคุณครับ แกได้แม่มาเยอะ ถ้าได้ผมคงจะขี้ริ้วกว่านี้” 

“ไม่หรอก ไม่แน่ๆ คุณชโยดมออกจะคมคาย ได้คุณไม่มีทางขี้ริ้ว วันนี้อยากกินอะไรเป็นพิเศษล่ะครับ ผมจะเข้าครัวให้”

“ผมมาถูกวันจริงๆ” ชโยดมหัวเราะพออกพอใจ แล้วถามญามีอา “อยากกินอะไรมีอา ลุงผันแกไม่เข้าครัวเองบ่อยๆ นะ”

“เหมือนเดิมค่ะพ่อ” เหมือนตอนที่มารดายังอยู่ สองพ่อลูกรู้กัน 

ชโยดมยิ้มรับ หันไปสั่งอาหารอย่างคล่องแคล่ว บางจานที่เคยรับประทานเปลี่ยนชื่อไปแล้ว แต่เขาก็ยังจำได้และสั่งมันโดยไม่ต้องใช้ใบเมนู

“รอสักครู่นะครับ ถ้ามีอะไรอยากได้เพิ่มเติม ก็เรียกเด็กมาสั่งเพิ่มได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ” 

ผันจดเมนูอาหารแล้วกลับไปด้านหลังร้าน ไม่มีใครเห็นว่าขาที่ยังแข็งแรงมากของเขาอ่อนแรง ชายชราค่อยๆ ทรุดนั่ง พึมพำไม่ได้ศัพท์อยู่หลายคำ 

“เหมือน...เหมือนจริงๆ”

อาหารค่ำแสนอร่อย ได้รับประทานกับบุคคลที่คิดถึง บรรยากาศจึงอบอวลไปด้วยความสุข ญามีอากลับมาถึงบ้านอย่างอิ่มเอม หญิงสาวอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดนอน นั่งทาครีมบำรุงผิวอยู่หน้ากระจก บิดาก็เคาะประตูก่อนจะเข้ามา

“พ่อมาดูว่ามีอาขาดเหลืออะไรไหม” ชโยดมเดินมายืนข้างลูกสาว

“ไม่ค่ะพ่อ ไม่ขาดอะไรเลย ที่พ่อเตรียมไว้ให้ดีมากๆ แล้วค่ะ...นั่นพ่อถืออะไรมาด้วยคะ” ญามีอามองเลยไปที่กล่องสี่เหลี่ยมในมือบิดา ขมวดคิ้วน้อยๆ เพราะเหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อน

“อ้อ...” ชโยดมดึงมือด้านหลังออกมา กล่องเครื่องประดับสีม่วงเข้ม 

“ของใครคะ ให้มีอาเหรอ” บิดาเงียบเธอจึงถาม ซึ่งเขาก็พยักหน้า

“พ่อจะเอามาถามว่ามีอาจะรับไหม”

“ทำไมถามมีอาล่ะคะ”

“คือ...” ชโยดมอึกอัก แต่แล้วก็เล่าความเป็นมาของเครื่องประดับในกล่องให้ลูกฟังอย่างละเอียด

ของชิ้นนี้เป็นมรดกจากจ่อปาคนปัจจุบัน มอบให้เพื่อหมั้นหมายลูกสาวของเขากับบุตรชายคนโตของเจ้าตัว ซึ่งก็คือญามีอากับผู้สืบทอดคนปัจจุบันของตาลูลา

“เขาไม่ได้บังคับอะไรเรา เพียงแต่แม่เคยผิดสัญญาหมั้นหมายก็เพราะพ่อมาหนหนึ่งแล้ว คราวนี้ถึงเขาไม่พูดถึงเสียที พ่อจึงไม่อาจดูดายได้ ถ้ามีอาเต็มใจ เราจะรับหมั้น แต่ถ้าไม่ พ่อจะเป็นคนส่งคืนของหมั้นนี้แทนลูกเอง”

เพราะเหตุผลนี้ เขาจึงต้องถาม...

“พ่อเคยเจอตาเนซา๕ไหมคะ” 

ญามีอานิ่งไปชั่วครู่ ตกใจที่จู่ๆ ก็มีคู่หมั้นกะทันหัน แต่ด้วยความไม่ใช่คนไร้เหตุผลจึงทำใจยอมรับได้ง่าย และเข้าใจเหตุผลที่บิดารับเครื่องประดับชิ้นนี้ไว้ตั้งแต่ต้น 

“นานแล้ว แต่ก็เคย ตาเนซาเป็นผู้ชายที่มีความเป็นผู้นำมากทีเดียว ในสายตาพ่อ ภรรยาของเขาอาจจะไม่ได้ถูกทะนุถนอมอย่างดีที่สุด แต่เกียรติยศอันสุงสุดจะต้องไม่ขาดตกบกพร่องสักเสี้ยวเดียว” ด้วยความเป็นผู้นำ อาจมีบ้างที่ละเลยบุคคลข้างกาย แต่คนประเภทนี้จะไม่ทอดทิ้งคนของตนยามลำบากและจะเชิดชูคนของตนอย่างถึงที่สุด

“พ่อเห็นด้วยไหมคะ ถ้ามีอาจะแต่งกับเขา”

“พ่อแค่อยากให้มีอามีความสุข ถ้าเป็นความสุขของลูก พ่อเห็นด้วยทุกอย่าง”

“งั้นถ้ามีอาจะขอไปพบเขาก่อน ค่อยตัดสินใจ พ่อจะอนุญาตไหมคะ” เธออยู่ต่างประเทศมาหลายปี ย่อมรับวัฒนธรรมตะวันตกมาไม่น้อย เธอเข้าใจเหตุผลของการแต่งงานนี้ แต่ก็อยากจะให้ทุกอย่างแก่ชายที่เธอรักโดยไร้เหตุผลเช่นกัน หากสามารถพบเขาก่อนได้และพึงพอใจกัน การแต่งงานก็ดำเนินต่อ แต่หากเธอพบว่าทั้งเขาและเธอต่างไม่พอใจซึ่งกันและกัน หรือเขามีคนในใจแล้ว เธอก็จะคืนของหมั้นและอิสรภาพแก่เขาอย่างมีศักดิ์ศรี

“มีอาอยากไปตาลูลางั้นเหรอ”

“ค่ะ มีอาอยากไป มีอารู้ค่ะว่าตอนนี้ที่นั่นไม่ค่อยปลอดภัย แต่ก่อนจะกลับมา มีอาตั้งใจจะไปเป็นแพทย์อาสา ช่วยเหลือผู้คนแถวชายแดนสักสองสามเดือนอยู่แล้ว ถ้าพ่ออนุญาตมีอาก็อยากไปที่นั่นอีกสักครั้ง” ครอบครัวของเธอเคยอาศัยอยู่ตาลูลา ความทรงจำต่างๆ อาจเลือนรางไปบ้าง แต่ความผูกพันยังคงฝังรากลึกในใจ

“ถ้ามีอาอยากไปพ่อก็อนุญาต แต่มีอาต้องจำไว้ว่าความปลอดภัยของตัวเองสำคัญที่สุด เราต้องไม่บาดเจ็บถึงจะช่วยผู้อื่นได้ และมีพ่อรอมีอาอยู่ทางนี้”

“แน่นอนค่ะ มีอาจะจำให้ขึ้นใจ”

“งั้นก็พักผ่อนเถอะ พรุ่งนี้พ่อจะให้คนดูๆ ให้”

“ค่ะพ่อ เอ่อ...พ่อคะ พ่อหาหนังสือที่ว่าเจอไหมคะ”

“หนังสือ...อ้อ พ่อลืมไปเลย เดี๋ยวพ่อกลับไปหาให้นะ” ถ้าลูกไม่ทวงถาม เขาก็ลืมไปแล้วจริงๆ ดีที่เขาค่อนข้างมีระเบียบ แยกหนังสือต่างๆ ไว้เป็นสัดเป็นส่วนชัดเจน จึงไม่น่าจะใช้เวลามาก

“ขอบคุณค่ะพ่อ กู๊ดไนต์ค่ะ”

“กู๊ดไนต์ลูก” หากเป็นตอนเด็กเขาคงจูบหน้าผากลูกสักที แต่ตอนนี้ลูกโตแล้ว ชโยดมจึงเพียงยิ้มและปิดประตู

ญามีอามองประตูสีน้ำตาลนิ่งๆ ทำให้นึกถึงชุดทหารสีน้ำตาลของผู้กองคนนั้น 

คืนนี้เธอจะฝันอีกไหม...

 

รีวิวผู้อ่าน

0 ผู้รีวิว

จัดเรียงตาม

ความคิดเห็น