30 มกราคม 2018

สถาพรบุ๊คส์จัดกิจกรรม “ล่องเรือสู่ฝัน...วันก่อนคืนเก่า” ปลุกแรงบันดาลใจสร้างสรรค์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์


      เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2561 บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด ร่วมกับกระดาษถนอมสายตา Green Read by SCG Packaging และสแน็คแจ็ค จัดงานอบรม “คิด อ่าน เขียน ฝัน ครั้งที่ 5” ตอน “ล่องเรือสู่ฝัน...วันก่อนคืนเก่า” โดยมีวิทยากรคือ เอนก นาวิกมูล นักวิชาการและนักสะสมของโบราณ และธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นักวิชาการอิสระ นักสะสมหนังสือเก่า ที่มาถ่ายทอดความรู้เรื่องประวัติศาสตร์อย่างเจาะลึกให้แก่นักเขียนสถาพรบุ๊คส์กว่า 30 คนได้ฟัง
       วรพันธ์ โลกิตสถาพร กรรมการผู้จัดบริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า “สถาพรบุ๊คส์จะมีการอบรมนักเขียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้และศักยภาพให้แก่นักเขียนอยู่แล้วทุกปี โดยในปีนี้ได้ส่งเสริมความรู้เรื่องประวัติที่สำคัญๆ โดยการพานักเขียนล่องเรือเยี่ยมชมวัดต่างๆ อาทิ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร, โบสถ์คอนเซปชัญของสังฆราชปาลเลอกัวซ์, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และล้ง 1919 โดยวัตถุในการจัดงานในครั้งนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียนต่อยอดสร้างงานนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ และเพื่อให้นักเขียนมีประสบการณ์และตระหนักในคุณค่าของประวัติศาสตร์ จากการได้สัมผัสสถานที่จริง และเรียนรู้จากวิทยากร”
        เอนกได้บรรยายในหัวข้อ “สังฆราชปาเลอกัวและปัญญาชนชื่อ ก.ศ.ร. กุหลาบ” ซึ่ง ก.ศ.ร. กุหลาบเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่เคยทำงานหนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์ ออกหนังสือชื่อ “สยามประเภท” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในนั้นมีเกร็ดความรู้มากมาย เช่น เรื่องแม่นากพระโขนง เป็นต้น และให้เหตุผลในการเลือกวัดราชาธิวาสราชวรวิหารในการเป็นจุดหมายในครั้งนี้ว่า วัดราชาธิวาสเป็นวัดที่มีพระอุโบสถพร้อมจิตรกรรมฝาผนังจากเรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่สวยงาม พร้อมด้วยสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่น่าสนใจหลายอย่าง ข้าวของสำคัญบางอย่างที่ทางวัดได้จับเก็บและแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะเปิดเฉพาะวันอาทิตย์ และให้เยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ
        ส่วนวัดคอนเซปชัญนั้นอยู่ท่ามกลางชุมชนเก่าแก่ของเขมรและญวน ตัววัดเป็นที่ที่สังฆราชปาลเลอกัวซ์ หรือ Jean – Baptiste Pallegoix ชาวฝรั่งเศสปกครองอยู่ สังฆราชปาลเลอกัวซ์เป็นผู้นำวิชาถ่ายรูปเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นผู้ได้วิสาสะแลกเปลี่ยนความรู้กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะผนวชอยู่ที่วัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาสซึ่งอยู่ติดกัน
        วิทยากรอีกท่าน คือ ธงชัย ได้มาบรรยายในหัวข้อ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : ปฐมบทและวาระสุดท้าย” ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยพระเจ้าตากสินเป็นผู้สถาปนากรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2310 ซึ่งพระยาตากสินได้เคลื่อนกองกำลังทหารไทยจีนจำนวน 1,000 คน ออกจากรุงศรีอยุธยาตั้งแต่เดือน 2 ขณะที่กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อราวเดือน 5 โดยการตั้งต้นนำกองทัพไปตั้งหลักแถบหัวเมืองชายทะเลตะวันออก คือ ระยอง จันทบุรี และตราด และใช้เวลาในการเตรียมกองกำลัง 3 เดือน จึงหวนกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยาที่ค่ายโพธิ์สามต้น พร้อมกับสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่
        ด้านเมญาณี ยาวิละ นักเขียนนามปากกา เมญาณี กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ว่า “รู้สึกประทับใจมากที่ได้มาชมสถานที่ต่างๆ อย่างวัดแรกที่ได้ไปคือวัดราชาธิวาส วัดนี้เป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์เยอะมาก พอได้ไปเห็นของจริง ก็ทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายย้อนยุค ส่วนที่วัดอรุณฯ ก็ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในยุคกรุงธนบุรีก่อนที่จะมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถึงแม้สถานที่นี้เราจะเคยไปมาแล้ว แต่เราไม่ได้รู้ประวัติ การได้มาฟังก็ทำให้สนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมและนำมาเขียนเป็นนิยายเชิงประวัติศาสตร์ ส่วนที่สุดท้ายที่มา คือ ล้ง 1919 เป็นประวัติศาสตร์จีน และสถานที่นี้ยังคงมีสถาปัตยกรรมที่งดงาม”
          การสร้างสรรค์งานเขียนนั้น สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือการสร้างแรงบันดาลใจ โดยการได้มาเห็นสถานที่ในประวัติศาสตร์และได้ฟังเรื่องราวที่น่าประทับใจในครั้งนี้ ในอนาคตข้างหน้า เราน่าจะได้เห็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หรือนวนิยายรักที่มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ให้อ่านกันจากปลายปากกาของนักเขียนสถาพรบุ๊คส์