19 พฤศจิกายน 2015

เปิดตัว ‘Shayna’ เจ้าของนวนิยายดีสู่ละครดัง ‘เสน่หาสัญญาแค้น’ และ ‘หงส์’

  สำหรับนักอ่านและคอละครโทรทัศน์ คงยอมรับว่าละครสนุก ๆ หลายเรื่อง มักเกิดจากบทประพันธ์ที่มีคุณภาพ เหตุนี้ทำให้นักเขียนหลายคน ‘แจ้งเกิด’ ในบรรณพิภพด้วยบทประพันธ์ที่นำไปดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ เช่นเดียวกับ‘Shayna’ หรือ‘เรนนี่’สาวอีสานนักเขียนจากอุบลราชธานีคนนี้ นวนิยายหลายเล่มของเธอเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการสร้างเป็นละครดัง ไม่ว่าจะเป็น ‘เสน่หาสัญญาแค้น’ และ‘หงส์’ หนึ่งในนวนิยายซีรี่ส์ชุด ‘เลือดมังกร’ รวมไปถึงเรื่อง ‘ลูบคมกามเทพ’ ในซีรี่ส์ ‘กระท่อมกามเทพ’ ที่กำลังถ่ายทำอยู่และจะออนแอร์ในไม่ช้า มาทำความรู้จักนักเขียนสาวสวยคนนี้ให้มากขึ้นกันเถอะ
 

all : ‘Shayna’ เริ่มต้นชีวิตนักเขียนได้ยังไง

Shayna : จุดเริ่มต้นจริง ๆ เลยคือเป็นคนที่ชอบอ่านนิยายมาตั้งแต่เด็กค่ะ สมัยเรียนมัธยมก็เจียดค่าขนมไว้เช่านิยายอ่านตลอด พอเรียนมหาวิทยาลัยก็ยิ่งอ่านหนักขึ้นไปอีก เพราะเหมือนกับเราได้พาตัวเองไปอยู่ในโลกของจินตนาการ พอย้ายมาอยู่อเมริกา เรนนี่เหงา ๆ ก็เลยลองค้นหานิยายออนไลน์อ่าน ไปเจอนิยายในเว็บเด็กดี อ่านไปได้ประมาณ 5 เรื่อง ก็เริ่มคิดและถามตัวเองว่าทำไมไม่ลองเขียนดูบ้าง ถ้าจำไม่ผิดช่วงที่ลงมือเขียน เป็นช่วงปลายปี 2551 ค่ะ พอได้เขียนและเห็นฟีดแบ็คจากผู้อ่านก็เริ่มมีกำลังใจฮึกเหิม อยากเขียนต่อไปเรื่อย ๆ ช่วงแรกที่เขียนนั้น เขียนได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 10 หน้า A4 เลยนะคะ แต่ก็ไม่ได้คาดหวังหรือคิดถึงเรื่องการนำเสนอต้นฉบับต่อสำนักพิมพ์เพื่อนำไป ตีพิมพ์เลยสักครั้ง เพราะยังคิดว่าฝีมือยังไม่เข้าขั้น (ยิ้ม) ความคิด ณ จุดนั้นคือ ต้องการเขียนเพื่อตอบสนองความสุขของตัวเองโดยแท้จริง ทว่าพอเริ่มเขียนเรื่องที่สอง ติดอันดับท็อปฮิตในเว็บไซต์เด็กดี ก็มีหลายสำนักพิมพ์ติดต่อมา ครั้งแรกที่ได้อ่านข้อความจากบรรณาธิการที่ติดต่อขอนำไปตีพิมพ์นั้น ร้องดีใจเหมือนคนบ้าอยู่หนึ่งวันเต็มๆ เลยค่ะ (หัวเราะ) เพราะความฝันเล็ก ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในหัวใจกำลังจะเป็นจริง 
 

all : ทราบว่า เรนนี่มีหลายนามปากกา เช่น Shayna, เศกศัณย์ บรรณวิชญ์, ศิรพิชญ์ แต่ละนามปากกามีที่มาอย่างไร และใช้ในแนวเขียนที่แตกต่างกันไหม

Shayna : นามปากกาที่ใช้หลัก ๆ และใช้ตั้งแต่เริ่มเขียนนิยายมาคือ Shayna (อ่านว่า เช – นา) ค่ะ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย นอกจากหาชื่อที่ตัวเองชอบ แล้วก็คิดว่าถ้ามีลูกสาวจะให้ชื่อ Shayna เพราะมีความหมายดี คือ ผู้เป็นที่โปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้า แต่พอมีลูกสาวจริง ๆ กลับเลือกชื่ออื่นซะงั้น (หัวเราะ) เรนนี่ใช้นามปากกา Shayna สำหรับเขียนนิยายรักที่แฝงความดราม่าและแอ๊คชั่นค่ะ ส่วนนามปากกา ‘เศกศัณย์ บรรณวิชญ์’ เลือกเอาไว้สำหรับเขียนนิยายแนวผจญภัย และ ‘ศิรพิชญ์’ เป็นนามปากกาที่ตั้งใจเอาไว้ว่าจะใช้สำหรับเขียนแนวรักคอเมดี้ค่ะ

 

all : เรียนจบการท่องเที่ยว และทำงานด้านไอที แล้วเหตุผลที่เรนนี่ชอบเขียนหนังสือคืออะไร

Shayna : คงเพราะเป็นเรนนี่ชอบอ่านชอบเขียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ค่ะ สมัยก่อนเรนนี่มักจะเขียนไดอารี่เก็บไว้เสมอ แต่ก็ไม่ถึงกับเขียนทุกวันหรอกนะคะ เขียนเฉพาะในวันที่มีเรื่องสวยงามน่าจดจำ กับวันที่ไม่มีอะไรน่าจดจำมาก ๆ เท่านั้นเอง พอเริ่มเขียนนิยายก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ทำแล้วมีความสุข อะไรที่เราเรียนรู้ ได้อ่าน ได้เห็น ได้พบมาก็สามารถเอามาประยุกต์ใส่ในงานเขียนนั้น ๆ ได้

 

all : งานเขียนชิ้นแรกได้แนวคิดหรือแรงบันดาลใจมาจากไหน

Shayna : แรงบันดาลใจก็คือนิยายที่อ่านออนไลน์เลยค่ะ ประมาณว่าพออ่านนิยายของคนอื่นแล้ว ก็เริ่มคิดว่าแบบนี้เราก็เขียนได้นี่นา แต่เรนนี่ก็คงเหมือนกับนักเขียนทุก ๆ ท่าน ที่ตอนแรกเขียนแบบไม่ได้กะเกณฑ์หรืออิงหลักการเขียนอะไรเลย เรียกว่าเขียนเอามันแค่นั้น (หัวเราะ) อะไรที่คิดได้ขณะนั้นก็พิมพ์ลงแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง พอเวลาผ่านไป กลับไปอ่านงานชิ้นแรก ๆ ก็เกาหัวแกรก ๆ ส่ายหน้าให้ตัวเองในกระจก ด้วยความคิดที่ว่า เฮ้ย ! ฉันเขียนลงไปได้อย่างไรเนี่ย คำซ้ำก็เยอะ พล็อตก็เน่า ฯลฯ สารพัดจะบ่นกับตัวเอง แต่ถึงอย่างไรก็แอบภูมิใจในตัวเองอยู่ดี เพราะถ้าไม่ลงมือเขียนงานชิ้นแรกในวันนั้น ก็คงจะไม่มีเราในวันนี้ (ยิ้ม)

 

all : เขียนหนังสือมาหลายเล่ม Shayna มีหลักในการคิดพล็อตและกลวิธีการประพันธ์อย่างไร

Shayna : ส่วนมากเรนนี่ไม่ได้มานั่งคิดพล็อตเอาเป็นเอาตายหรอกค่ะ พล็อตส่วนมากมักจะมาจากการดูข่าว โชว์ สารคดี ฝัน เรื่องเล่า หรือเหตุการณ์ที่เจอมากับตัวเอง แล้วก็ปิ๊งพล็อตขึ้นมาทันที จากนั้นก็มาคิดต่อยอด ลงรายละเอียดว่าเส้นเรื่องหลักเป็นแบบนี้ แล้วเราจะเพิ่มรายละเอียดและตัวละครตัวไหนเข้ามาเพื่อให้เรื่องราวมีสีสัน น่าติดตามยิ่งขึ้น ส่วนกลวิธีในการประพันธ์นั้น เรนนี่มักจะนำเสนอเรื่องราวโดยการดึงคนอ่านให้เข้ามาอยู่ในนิยาย คือทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ร่วมกับตัวละคร วิธีการนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกร่วมและอินกับเนื้อหามากยิ่งขึ้นค่ะ การ นำเสนอแบบนี้ตรงข้ามกับวิธีการนำเสนอแบบเล่าเรื่องให้ผู้อ่านฟัง เพราะในฐานะผู้อ่าน พอรู้สึกว่าเราอ่านนิยายสักเรื่อง แล้วรู้สึกเหมือนกับคนเขียนมานั่งเล่าเนื้อเรื่องให้ฟังว่าใครทำอะไร อยู่ที่ไหน กับใคร อย่างไร มันจะไม่ตื่นเต้น ไม่น่าติดตามเท่ากับการเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นกับตัวละคร

 

 

all : นวนิยายเล่มไหนที่ทำให้ Shayna เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านไทย

Shayna : ถ้าเป็นเรื่องที่ถือได้ว่ามีคนติดตามมากที่สุดก็คงจะเป็นเรื่อง ‘แรงพยาบาท ไฟปรารถนา’ ซึ่ง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เสน่หาสัญญาแค้น’ และได้สร้างเป็นละครโทรทัศน์ค่ะ เรื่องนี้มีจุดเด่นตรงความเป็นดราม่าที่เล่นกับความรู้สึกของคนค่ะ ในโลกของความเป็นจริงมันยากมากที่เราจะให้อภัยคนที่ทำลายความสุขของเรา และเปลี่ยนมาเป็นรักเขาในตอนจบได้ ในส่วนของเนื้อหานั้น ในละครดัดแปลงออกมาแตกต่างจากในนิยายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะครึ่งหลังที่เพิ่มตัวละครอื่นเข้ามาค่ะ

 

all : ในฐานะนักเขียน เรนนี่รู้สึกอย่างไรที่นวนิยายของตนเองได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์

Shayna : ดีใจมากค่ะ ปกติเวลานิยายแต่ละเรื่องคลอดออกมาเป็นรูปเล่ม เรนนี่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดแล้ว แต่การได้เห็นนิยายของตัวเองในรูปแบบตัวละคร เหมือนกับได้โชคสองชั้น เปรียบไปก็เหมือนกับเราได้ทำงานที่เรารัก แล้วพอสิ้นปีเจ้านายยื่นโบนัสให้ค่ะ (ยิ้มกว้าง) อย่างเรื่อง ‘หงส์’ ที่ เพิ่งจบไป ก็ปลาบปลื้มยินดีมากนะคะ เพราะก่อนที่ละครจะออนแอร์นั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบกันมากพอสมควร พอละครออนแอร์และประสบความสำเร็จก็พลอยดีใจไปกับทุกท่านที่เกี่ยวข้องด้วย

 

all : การเขียนนวนิยายคนเดียว กับการเขียนงานเป็นซีรี่ส์ มีความยากง่ายแตกต่างกันอย่างไร

Shayna : ต่างกันมากค่ะ การเขียนคนเดียวนั้น ความง่ายคือเราสามารถใส่ความเป็นตัวตนและความชอบของเราเข้าไปได้อย่างเต็ม ที่ มีความมั่นใจในตัวเอง เปรียบไปก็เหมือนว่าเราคือพระเจ้า สามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ตามแต่ใจปรารถนา แต่ความยากของการเขียนคนเดียวคือ เราต้องคอยถามตัวเองว่าสิ่งที่เราเขียนไปนั้นดีพอ น่าติดตาม และมีความสมเหตุสมผลหรือยัง ในขณะที่ความง่ายของเขียนร่วมกับนักเขียนท่านอื่นคือ เขาเหมือนเสียงสะท้อนที่คอยบอก เตือนสติ หรือแนะนำว่าเรามาในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ ทว่าการร่วมงานกับคนอื่นก็ยากตรงที่เราจะต้องคอยปรึกษาหารือกัน เพราะเนื้อหาของเรื่องราวในแต่ละเรื่องจะต้องสอดคล้องกัน ทั้งเรื่องไทม์ไลน์และนิสัยใจคอของตัวละครที่จะต้องไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนสิ่งที่ได้รับจากการร่วมงานกับผู้อื่นคือ เรนนี่รู้จักรับฟังและเคารพความเห็นของคนอื่นและลดอัตตาของตัวเองลงค่ะ

 

all : การที่นวนิยายได้ดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์คิดว่ามีส่วนช่วยในการส่งเสริมการขายมากน้อยแค่ไหน

Shayna :  มีมากเลยทีเดียวค่ะ เพราะหากละครสนุกถูกใจ คนดูก็มักจะอยากอ่านและสะสมรูปเล่มไปด้วย หรือบางทีคนดูชอบละครตั้งแต่ดูตอนแรก ก็ไม่อยากรอจนอาทิตย์ต่อไป อยากรู้ว่าเรื่องราวในละครต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็ตัดสินใจซื้อนิยายมาอ่าน

 

all : Shayna เป็นสาวอีสานนักเขียนที่มีฝีมือคนหนึ่ง ได้นำเรื่องราวและชีวิตทางภาคอีสานมาถ่ายทอดในนวนิยายบ้างไหม

Shayna : เรนนี่เกิดและโตที่บ้านนอก มีพ่อแม่เป็นชาวนา ได้รับโอกาสดีที่พ่อกับแม่ส่งเสริมให้มีการศึกษา จึงเปิดประตูโอกาสให้เรนนี่ในหลาย ๆ ด้าน ในส่วนของงานเขียน เรนนี่ก็นำเรื่องราวทางอีสาน ภาษา ความเชื่อ หรืออะไรหลายอย่าง ใส่ลงไปในนิยายบางเรื่องที่มีภาคอีสานหรือลาวใต้เป็นแบ็คกราวน์เหมือนกันค่ะ

 

all : นวนิยายหลายเล่มเรนนี่ ได้อัพโหลดขายออนไลน์ในเว็บ Meb ด้วย ประเด็นนี้คิดว่าเป็นทางออกอีกทางหนึ่งของนักเขียนหรือไม่ อย่างไร

Shayna : การขายออนไลน์หรืออีบุ๊กนั้น ถือว่าเป็นอีกช่องทางที่ส่งเสริมการขายให้แก่นักเขียนมากเลยทีเดียว เพราะนักอ่านจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ชอบกอดจับรูปเล่ม ซึ่งเรนนี่เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนั้น และอีกกลุ่มคือชอบอีบุ๊ก เพราะไม่ต้องหาที่ใส่นิยาย นักอ่านบางท่านชอบอ่านมาก จนบางทีไม่มีเนื้อที่ที่จะเก็บก็มีค่ะ (ยิ้ม)

 

all : อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากก้าวเข้ามาเป็นนักเขียนบ้างไหม

Shayna  :  อยากบอกว่า หากรักที่จะเป็นนักเขียนก็อย่ากลัวหรือลังเลที่จะเขียน ทุกวันนี้ประตูสู่การเป็นนักเขียนเปิดกว้างมาก คอร์สการเขียนนิยายก็เปิดให้คนที่สนใจเข้าร่วมอบรมอยู่บ่อย ๆ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ก็เปิดพิจารณางานเขียนอยู่เสมอ สนามประลองฝีมือการเขียนอย่างเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เปิดให้ลงนิยายออนไลน์ก็มีหลายเว็บไซต์ ซึ่งตรงนั้นก็เหมือนการหยั่งเชิงของผู้อ่านว่า ชื่นชอบผลงานของเรามากน้อยเพียงใด และนักอ่านนักวิจารณ์ออนไลน์ก็มักจะให้ฟีดแบ็คกลับมาผ่านคอมเม้นต์ด้วยว่าดี หรือไม่ดีตรงไหน ต้องปรับปรุงในเรื่องใด เรนนี่คิดว่าการลงผลงานออนไลน์ช่วยกรองงานเขียนขั้นแรกให้เราได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญสำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนอีกอย่างก็คือ เราต้องมีหัวใจรักในสิ่งที่เราทำ หากเรารักการเขียน รักที่จะเป็นนักเขียนแล้ว เราก็จะมีความสุขเวลาเขียน พอเรามีความสุข มันจะสะท้อนออกมาผ่านผลงานออกมาเอง อย่างไรก็ตาม เรนนี่ขอเป็นกำลังใจแก่นักอยากเขียนทุกท่านด้วยนะคะ

 

      แม้สาวอีสานนักเขียนคนนี้ จะไปใช้ชีวิตโลดแล่นไกลถึงสหรัฐอเมริกา แต่ก็ฝากบทประพันธ์ไว้ให้นักอ่านไทยหลายต่อหลายเรื่อง นั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ไกลแสนไกลแค่ไหน หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจต่อการเขียนหนังสือ ‘โลกนักเขียน’ ใบนี้ เปิดกว้างสำหรับคุณเสมอ...

(ที่มา นิตยสาร All Magazine)