อีกหนึ่งนักเขียนที่โลดแล่นอยู่ในวงการวรรณกรรมมาแล้วกว่า 10 ปี มีผลงานมาแล้ว 15 เล่ม “นิกร เภรีกุล” คือเจ้าของนามปากกา คามิน คมนีย์ ได้สร้างสรรค์ผลงานหลากหลายแนวทั้งวรรณกรรมเยาวชน ท่องเที่ยว สารคดี ฯลฯ โดยทุกเล่มถ่ายทอดจากมุมมอง ประสบการณ์ชีวิตของเขาทั้งสิ้น เรื่องราวในวัยเด็กของเขาก็เช่นกันถูกถ่ายทอดออกมาผ่านวรรณกรรมเยาวชนสองเล่มคือ “ลูกยางกลางห้วย” และ “ลูกนกจากคอน”
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คามิน คมนีย์ ร่วมกับสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ “ลูกนกจากคอน” ขึ้น ณ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. อาคารไอบีเอ็ม อารีย์ โดยมีแขกรับเชิญ อาทิ เฉลิม อัคคะพู ผู้วาดภาพประกอบ, บุญเอก พฤกษาวัฒนา บรรณาธิการหนังสือเด็กและเยาวชนสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ธาร ธรรมโฆษณ์ นักเขียน ฯลฯ
ลูกยางกลางห้วย บอกเล่าเรื่องราวของ จ้อย เด็กบ้านป่าภาคใต้ของไทยในสมัยที่น้ำห้วยยังใส น้ำใจยังมี ความสนุกเที่ยวเล่นตามธรรมชาติ
และต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลดีเด่น หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี (บันเทิงคดี) ประจำปี พ.ศ. 2556 จากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2556 และ 2557 คณะกรรมการนานาชาติด้านหนังสือเด็กและเยาวชน (The International Board on Books for Young People: IBBY) ได้ประกาศให้ ลูกยางกลางห้วย เป็นหนึ่งในรายชื่อหนังสือเกียรติยศ ประจำปี 2557
จากการที่คามินเคยใช้ชีวิตวัยเด็กบริเวณเชิงเขาแถบภาคใต้เช่นเดียวกับตัวละครในเรื่อง จึงสามารถบรรยายภาพในความทรงจำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพอย่างเด่นชัด สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวสวนยางพารา และ ชาวเหมืองแร่ ซึ่งเป็นอาชีพที่นิยมทำกันมากในสมัยนั้นแสดงภาพความเจริญของเมืองที่รุกคืบเข้ามา สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่หมู่บ้านช้าๆ อย่างมั่นคงจนน่าหวั่นใจ
หนังสือเล่มนี้จึงแสดงภาพทางแยก ชีวิตของเด็กน้อยในบ้านป่าแห่งนี้ เฉกเช่นเดียวกับเราท่านที่ต้องพบทางแยกสักครั้งหนึ่งในชีวิต ที่การตัดสินใจนั้นมักจะยากเย็น แต่ก็เย้ายวนด้วยกลิ่นความฝันอันเป็นปลายทางของการตัดสินใจของเราเอง
แน่นอนว่าการเดินทางของจ้อยต้องดำเนินต่อมา โดยหลังจากที่จ้อยตัดสินใจไม่เรียนต่อ จึงไปทำงานรับจ้างกรีดยางแบบผู้ใหญ่ แต่ก็พบกับปัญหาสารพัดทั้งถูกขโมยแผ่นยาง สุขภาพทรุดโทรมเพราะทำงานเกินกำลัง และยังคงมีปมด้อยในใจลึกๆ ว่าแม่ไม่รักเพราะทำอะไรสู้พี่ๆ น้องๆ ไม่ได้สักอย่าง อีกด้านหนึ่ง ธรรมชาติของการใฝ่รู้ใฝ่เรียนของจ้อยก็เรียกร้องมากขึ้นทุกวัน จนในที่สุด เขาจึงตัดสินเลือกหนทางที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด นั่นคือการสอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนในตัวเมืองนครศรีธรรมราช โดยเรื่องราวเหล่านี้ถ่ายทอดผ่านผลงานเรื่อง “ลูกนกจากคอน”
คามินพูดถึงหนังสือทั้งสองเล่มว่า “ผมเห็นลูกยางตกลงจากต้น แล้วก็มาคิดว่าคนเราอาจจะเหมือนกับลูกยางที่เคว้งคว้างไปทั่วแล้วแต่ว่ามันจะหล่นไปไหน พอไปตกลงในน้ำก็แล้วแต่น้ำจะนำพาไป จ้อยก็เหมือนลูกยางเป็นเด็กที่ไม่กล้าคิดหรือว่ามีความเข้มแข็งพอที่จะทำอะไร แต่เมื่อจ้อยโตขึ้นก็เริ่มมีความคิดจึงกลายมาเป็น ลูกนกจากคอน เขามีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น แต่ยังคงกล้าๆ กลัวๆ อยู่ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็คิดได้ว่าชีวิตคนเราต้องเดินหน้า เหมือนธรรมชาติของนกทุกตัวก็ต้องโบยบิน คือถ้าไม่บินก็จะปีกหัก เพราะฉะนั้นในภาคต่อเราก็จะได้เห็นจ้อยในมุมที่เติบโตขึ้น”
คามินบอกว่า เรื่องราวของทั้งสองเรื่องนี้มีบางส่วนที่มาจากชีวิตจริงและเรื่องราวที่แต่งขึ้นมาเพื่อให้หนังสือน่าอ่านขึ้น โดยในเรื่องมีการสะท้อนความเป็นอยู่ของคนภาคใต้ ซึ่งสาเหตุที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้เริ่มมาจากความคิดถึงบ้าน จากนั้นก็คิดถึงแม่ที่เสียชีวิตไปเมื่อสองปีที่แล้ว คิดถึงคนในครอบครัวซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังอยู่ที่นครศรีธรรมราช เมื่อหวนคิดถึงสิ่งต่างๆ ฉากต่างๆ ก็ต้องยอมรับว่าสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ยากที่จะให้กลับมาเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ยังมีค่าและควรเก็บรักษาเอาไว้คือการละเล่น สังคมและวัฒนธรรมในสมัยก่อนซึ่งเป็นสิ่งสวยงามมากๆ ซึ่งผู้เขียนก็อยากเก็บไว้ในลักษณะของเรื่องเล่า
โดยคามินกล่าวเพิ่มเติมในเรื่องเกี่ยวกับอุปสรรคของตัวละครจ้อยว่า “อุปสรรคของจ้อยคือ แม่ หลายคนฟังแล้วอาจจะรู้สึกขัดแย้ง ซึ่งแม่เองก็ไม่ได้เป็นตัวร้าย แต่จริงๆ แล้วจ้อยอยากให้แม่รักเขา ซึ่งในใจของจ้อยรู้สึกว่าแม่ไม่ได้รักเขาเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาทำทุกอย่างเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกว่าแม่รักเขา ส่วนอีกตัวละครที่สำคัญคือลุงเพิ่ม ซึ่งเป็นคนที่คอยช่วยเหลือคุ้มครองและป้องภัย ส่วนจิ๋วที่หลายคนมองว่าเป็นตัวร้ายก็ไม่ใช่แบบนั้น เขาเป็นเพียงคนที่มาทำให้จ้อยรู้สึกไขว้เขวเท่านั้นเอง”
คามินกล่าวทิ้งท้ายว่า “ในวงการหนังสือ การอ่าน การเขียนค่อนข้างที่จะซบเซาลงพอสมควร แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่รัก ส่วนตัวผมรักในงานเขียน ผมก็จะเขียนหนังสือต่อไป ส่วนคนที่รักการอ่านก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเลิกอ่านหนังสือ”
แน่นอนว่าเมื่อมีผู้อ่านก็ต้องมีผู้เขียนหนังสือ สองสิ่งนี้เป็นของคู่กัน แต่จะทำอย่างไรให้ทั้งนิสัยรักการอ่านและรักการเขียนติดตัวคนไทยไปตลอด นั่นก็ต้องขึ้นอยู่กับการปลูกฝังของคนในครอบครัว โรงเรียน รวมถึงองค์กรใหญ่ อย่างภาครัฐบาลด้วย
วรรณกรรมเยาวชนถือเป็นสื่อที่ทุกคนในสังคมจับต้องได้ง่ายซึ่งเหมาะสำหรับเด็กๆ ที่จะเริ่มต้นการอ่าน และเริ่มการเขียนอะไรง่ายๆ ที่อยู่รอบตัว
(คอลัมน์ จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ 27 มิถุนายน 2559 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1040)
ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายหนังสือคุณภาพ
18 ซอยลาดปลาเค้า 63 ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220