23 กุมภาพันธ์ 2015

AEC รู้จักเพื่อนบ้านผ่าน "นิทานอาเซียนแสนสนุก"


ในยุคที่สังคมไทยกำลังตื่นตัวหับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ถึงแม้ว่าจะมีการเลื่อนออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากความไม่พร้อมในหลายๆ ด้านของไทย แต่การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเพื่อนบ้านก็ไม่ควรเป็นสิ่งที่เราเพิกเฉย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นอนาคตของชาติการให้ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายก็คงหนีไม่พ้นนิทาน โดยช่วงนี้มรหลายสำนักพิมพ์ด้วยกันที่จัดพิมพ์หนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนสำหรับให้เด็กได้อ่านกัน ทั้งในรูปแบบการ์ตูน.นิทาน และหนังสือเสริมสร้างความรู้

เช่นเดียวกับสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ซึ่งได้จัดพิมพ์ "ชุดนิทานอาเซียนแสนสนุก : นิทานเพื่อนบ้าน" ครบทั้ง 10 ประเทศ เพื่อให้เด็กๆและผู้ปกครองได้เห็นจุดร่วมในวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ ว่ามีการรับ-ส่งอิทธิพลซึ่งกันและกันอย่างไร เขียนโดยนักเขียนที่เป็นที่เคารพในวงการวรรณกรรมทั้งสองท่าน คือ ส.พลายน้อย และ อ.โชติ ศรีสุวรรณ

อ.โชติ ศรีสุวรรณ บอกว่า นิทานในพื้นบ้านในอาเซียนไม่ค่อยแตกต่างกันมากนักเพราะมีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน นิทานบางเรื่องสอนในเรื่องเดียวกัน แต่เล่าในเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น เรื่องผู้ผิดคำสัญญาของฟิลิปปินส์ซึ่งคล้ายกับเรื่องสังข์ทองของไทย โดยเนื้อหาจะว่าด้วยการเลือกคู่ครองเจ้าหญิงทั้ง 7 เช่นกัน

"นิทานของแต่ละประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนที่นับถือศาสนาพุทธส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลมาจากนิทานชาดก ทั้งไทย ลาว กัมพูชา จึงมีเนื้อหาคล้ายๆกัน โดยเฉพาะไทยกับกัมพูชาจะคล้ายกันมากที่สุด ส่วนในประเทศมีติดทะเลทำประมงก็จะมีนิทานที่เล่าถึงความเป็นอยู่ของชาวเลและคติธรรมไว้ด้วย อย่างเช่นเรื่องบุตรสาวชาวประมง ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเรื่องราวของหญิงสาวถูกเทพที่จากท้องทะเลจับตัวไปเพื่อเลี้ยงดูแทนบุตรสาว ด้วยความงามกล้าหาญและกตัญญู เธอจึงพยายามหนีกลับมาหาพ่อแม่ที่แท้จริงได้สำเร็จ"

นิทานมีจุดเด่นที่ชัดเจนเหมือนกันคือทุกเล่มจะสอดแทรกแง่คิด วัฒนธรรม ความรู้สึก วิถีชีวิตของคนในแต่ละประเทศไว้เป็นอย่างดี นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมนิทานจึงเป็นสื่อที่มนุษย์เราใช้เป็นเครื่องมือในการอบรมสั่งสอนลูกหลานมาอย่างช้านาน ซึ่ง อ.โชติบอกว่า การสอนเด็กๆ ด้วยนิทานนั้นเป็นการสอนโดยเด็กไม่รู้ตัว เด็กจะไม่รู้ว่าถูกพ่อแม่อบรมอยู่ เพราะคติ ข้อคิดที่ได้จากนิทานจะค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปในตัวเด็ก ซึ่งวิธีการสอนแบบนี้จะดีกว่าการที่เราไปบอกว่าเด็กว่าสิ่งไหนต้องทำอย่างไร ตัวละครส่วนใหญ่ในนิทานจะเป็นชาวบ้านธรรมดา สัตว์ป่า ผีปีศาจ เทวดา ซึ่งสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่มีรักโลภ โกรธ หลง และชี้ให้เห็นถึงหายนะอันเกิดจากกิเลสทั้งปวง เด็กๆ จะได้รับประโยชน์จากคติธรรมที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องซึ่งนับเป็นขนบของการแต่งนิทานพื้นบ้านเหล่านี้

การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เพียงผู้ใหญ่จะต้องตื่นตัว เด็กๆ ก็ควรจะต้องศึกษาข้อมูลเหล่านี้ด้วย แต่ถ้าหากเป็นเด็กเล็ก การให้เค้ารู้จักเพื่อนบ้านผ่านนิทาน ดูจะเป็นสื่อที่เข้าใจง่ายที่สุด โดยอ.โชติ ได้ให้ทรรศนะในเรื่องนี้ว่า "การจะก้าวเข้าสู่ประเทศประชาคมอาเซียนนั้น ผู้ใหญ่ควรจะสอนให้เด็กตระหนักถึงความร่วมมือร่วมใจของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ในอาเซียน ไม่ควรสอนเรื่องประวัติศาสตร์การรบราฆ่าฟันกันในสมัยก่อน การสอนเด็กผ่านนิทานอาเซียนจะช่วยให้เด็กเห็นถึงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียม ความเชื่อจองคนในแต่ละประเทศ ซึ่งเมื่อเราเข้าใจกันแล้ว ความร่วมมือต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น โลกของเราก็จะกว้างขึ้น การจับมือกันไปข้างหน้าอย่างมั่นคงคือ สิ่งที่เราต้องคำนึงถึง"

สำหรับบุญเอก พฤกษาวัฒนา บรรณาธิการหนังสือเด็กสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ ผู้คว่ำหวอดอยู่ในวงการหนังสือเด็กมากกว่า 10 ปี บอกว่า "การอ่านเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เป็นประตูสู่แหล่งข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคข้อมูลข่าวสารเช่นทุกวันนี้ใครที่มีข้อมูลสะสมไว้มากก็จะมีโอกาสและทางเลือกมากกว่าคนอื่น การส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น แต่ทั้งนี้ การรักที่จะอ่านก็ต้องเกิดจากความชอบเสียก่อน เด็กแต่ละวัยมีความชอบที่แตกต่างกัน ผู้ใหญ่จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องสังเกตความชอบของเด็ก

เราต้องไม่ลืมว่า ทุกคนชอบความสนุกสนานโดยเฉพาะเด็กๆ นิทานจึงมักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่เด็กจะหยิบมาเปิดดูด้วยความสนใจ เนื่องจากภาพที่ออกแบบอย่างดีโดยศิลปินผู้วาด อีกทั้งยังมีตัวหนังสือน้อย ง่ายต่อการอ่านมากกว่าหนังสือที่มีแต่ตัวอักษรเป็นพรืด นิทานจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการปลูกฝังและส่งเสริมให้เด็กสนใจการอ่าน

นอกจากเรื่องราวที่สนุกสนาน ภาพประกอบที่สวยงามแล้ว นิทานยังกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจในสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ๆ เพราะเมื่อเขาสนุกกับการอ่านนิทานแล้ว เขาก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีกับหนังสือประเภทอื่นๆ ต่อไป"

นอกจากเรื่องราวที่สนุกสนาน ภาพประกอบที่สวยงามแล้ว นิทานยังกระตุ้นให้เกิดความสนใจในสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ๆ เพราะเมื่อเขาสนุกกับการอ่านนิทานแล้ว เขาก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีกับหนังสือประเภทอื่นๆ ต่อไป"

บุญเอกพูดถึงความคล้ายคลึงของนิทานในประเทศอาเซียนว่า "นิทานชุดนี้เป็นนิทานจากกลุ่มประเทศภูมภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งมีสภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่คล้ายกัน ดังจะเห็นได้ว่า เกือบทุกประเทศจะมีนิทานเกี่ยวกับ ข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของประเทศแถบนี้ นิทานเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น การจับปลา การทำสวนทำไร่ และการบูชาเทพเทวดาเพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองผลผลิตพืชไร่ของตนซึ่งเป็นความเชื่อร่วมกันของภูมิภาคนี้"

ความพิเศษของหนังสือชุดนี้นอกจากจะอยู่ที่เนื้อเรื่องที่สื่อสารกับเด็กได้ง่ายแล้วภาพประกอบในนิทานก็เป็นส่วนสำคัญที่จะดึงความสนใจของเด็กๆ ซึ่งภาพในนิทานชุดนี้วาดด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยฝีมือของ เกษมสุข ตันติทวีโชค ที่พยายามสอดแทรกเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆลงไป เช่น ลายผ้าและรูปแบบการแต่งกายของเพื่อนบ้านแต่ละประเทศ ซึ่งเด็กๆ จะได้สนุกกับการสังเกตและเปรียบเทียบความเหมือนความต่างและเอกลักษณ์ของแต่ละชาติในอาเซียน

นิทานอาเซียนแสนสนุกมีตัวหนังสือค่อนข้างเยอะจึงเหมาะสำหรับเด็ก 9 ขวบ คือช่วงประถมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่อ่านหนังสือเองได้ดีพอสมควร มีความเข้าใจเรื่องนามธรรมและคุณธรรมพื้นฐาน เช่น ความดี ความชั่ว ความโลภ ความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของนิทานพื้นบ้านในชุดนี้ ส่วนเด็กวัยที่เล็กกว่านี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านร่วมกันกับลูกแล้วอธิบายในสิ่งที่ลูกยังไม่เข้าใจเพิ่มเติมได้

นอกจากผลงานชุดนิทานอาเซียนแสนสนุกแล้ว บุญเอกเล่าว่า ความภาคภูมิใจในฐานะคนทำหนังสือคือการได้ทำนิทานชุด "ตามรอยพระราชา" ซึ่งนิทานชุดนี้จะปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"นิทานอีกเรื่องที่ผมรู้สึกประทับใจมากๆ ตลอดระยะเวลาการทำงานบรรณาธิการคือเรื่อง คนต่อเทียน ในชุด ตามรอยพระราชาเรื่องราวของตายายยากจนที่อยากช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนเนื่องจากความมืดมิดในป่า ทั้งคู่จึงพยายามจุดเทียนเพื่อให้เกิดแสงสว่างแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี เมื่อชาวบ้านได้ทราบข่าวต่างก็มาช่วยจุดเทียนต่อจากตายาย จนป่าเริ่มสว่างไสว ความมืดและอันตรายต่างๆ ก็หมดไปด้วยความร่วมใจของทุกคน ซึ่งเรื่องนี้ผมอยากให้เด็กๆ ได้อ่านกันครับ"

สุดท้ายบุญเอกพูดถึงการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 นี้ว่า เพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนจะทยอยเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น ณ ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นหลายชาติเข้ามาทำมาหากินอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น การศึกษาความแตกต่างทั้งด้านความคิด ความเป็นอยู่ และการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการปลูกฝังให้เด็ดๆ ของเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ด้วยนิทาน จะทำให้เขามองเห็นภาพรวมของสังคมได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้แล้วยังลดความขัดแย้ง ความกังวล หรือความหวาดระแวงที่มีต่อกันให้หายไป และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขอีกด้วย

ขอขอบคุณข่าวประชาสัมพันธ์จาก : กรุงเทพธุรกิจ