กัลฐิดา...เพราะรักจึงเขียน
คอลัมน์ Writer's room เรื่อง : มาทิลดา ภาพ : อาภรณ์ อินทรชิต
นิตยสารขวัญเรือน ฉบับที่ 1070 ปักษ์หลังมิถุนายน 2559
อายุ 19 ปี เธอลงมือเขียนนิยายแฟนตาซีเรื่อง 'เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา' ในนามปากกา ''กัลฐิดา' นับแต่นั้นโลกของเด็กสาวที่ชื่อเฟมีล ก็ครองใจนักอ่านวัยเยาว์ นั่นคือหนึ่งความตั้งใจที่จะสร้างห้องทำงานในห้องสมุด กัลฐิดาก็ลงมือสานฝันให้เป็นจริง
“ปุ้ยชอบอ่านหนังสือแต่เด็ก เริ่มจากอ่านหนังสือนิยายประโลมโลกเล่มบางๆ ที่พี่เลี้ยงซื้อมา พออ่านแล้วก็ติด แต่ไม่มีให้อ่านแล้ว เพราะตอนเด็กคุณพ่อคุณแม่ไม่สนับสนุนให้อ่านหนังสืออ่านเล่ม พวกการ์ตูน นิยายนี่ห้ามเลย จะให้อ่านแต่อะไรที่เป็นความรู้ แต่เราอยากอ่าน พี่ชายที่อายุมากกว่าบอกว่า ในเมืองมีห้องสมุดประชาชน มีหนังสือเต็มเลย เราก็นั่งรถเมล์เข้าเมืองเพื่อจะไปอ่านหนังสือ พอมาเรียนมัธยมฯ ที่กรุงเทพฯ ชอบมาก เพราะกรุงเทพฯ มีทั้งร้านหนังสือ ร้านเช่าหนังสือ ที่โรงเรียนก็มีห้องสมุดใหญ่ พอเรียนมหาวิทบาลัยก็เข้าไปฝังตัวในห้องสมุด ความฝันสูงสุดของเราคืออยากเปิดห้องสมุด"
เมื่อมาทำงานเป็นทันตแพทย์ที่บ้านเกิด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เธอก็เริ่มโครงการห้องสมุดตามที่ฝัน โดยขอห้องเช่าซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวมาปรับปรุงใหม่ เอาหนังสือทั้งของตัวเองและพี่น้องประมาณ 30,000 เล่ม มารวมไว้ในห้องสมุดยายพัน ห้องสมุดที่ตั้งตามชื่อซอยคือยายพัน ซึ่งเป็นคุณเทียดของเธอ
“ห้องสมุดเปิดมาได้ 5 ปีแล้ว มีความสุขมากกับการได้เย็บ ได้ห่อปกหนังสือ ได้เก็บหนังสือเข้าชั้น ตอนแรกตั้งใจเปิดห้องสมุดให้เป็นห้องทำงานของตัวเอง เพราะอยากเก็บหนังสือให้ดี แต่แม่ปุ้ยเห็นว่าในเมื่อเปิดแล้ว น่าจะทำการค้าด้วย อย่างน้อยก็มีเงินมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟบ้าง เลยเปิดเป็นร้านหนังสือเช่า ซึ่งคนที่มาเช่าหนังสือมาอ่านหนังสือส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ หรือสาวโรงงานละแวกนี้"
ห้องสมุดยายพันตั้งอยู่หัวมุมถนน ใกล้กับแม่น้ำ เมื่อเปิดประตูเข้ามาจะเจอเคาน์เตอร์สำหรับยืมคืนหนังสือ ส่วนอีกมุมคือโต๊ะทำงานของกัลฐิดา ซึ่งตั้งหันหน้าออกไปทางประตู เพราะเธอชอบเห็นความเคลื่อนไหวของผู้คนที่ผ่านไปมาในซอย ชอบมองดูท้องฟ้า พักสายตากับต้นไม้สีเขียว มีความสุขกับการนั่งอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยหนังสือที่เต็มไปด้วยหนังสือ อยากจะหยิบเล่มไหนมาอ่านก็เดินไปหยิบ นอกจากนั้นกัลฐิดายังสามารถเขียนหนังสือท่ามกลางผู้คนที่เข้ามาใช้บริการในห้องสมุดได้อีกด้วย
“เป็นนิสัยของตัวเองตั้งแต่ตอนเรียนแล้วค่ะ อย่าในห้องสมุดจะมีโซนเงียบให้นั่ง แต่เราไม่ชอบนั่ง ต้องไปนั่งในโซนหนังสือพิมพ์ที่มีคนเดินตลอด 80 เปอร์เซ็นต์ของการทำงานชอบอยู่ในที่มีคน ครั้งหนึ่งเคยไปเยี่ยมเพื่อนที่เปิดคลินิกอยู่เชียงราย ด้วยความที่ต่างฝ่ายต่างไม่ค่อยมีเวลาเจอกันก็เจอที่คลินิกเพื่อน เพื่อนรับคนไข้ไป เราก็นั่งพิมพ์นิยายในคลินิก พอเพื่อนว่างค่อยมาคุยกัน แล้วก็เป็นคนชอบสังเกตคน คนนี้เดินยังไง คนนี้แต่งตัวยังไง ทำไมวันนี้คนนี้ถึงถือร่มมา พยากรณ์อากาศบอกว่าฝนจะตกหรือ ไม่ได้ดูแล้วมาวิจารณ์ แต่ดูเพื่อฝึกจินตนาการของตัวเอง เพราะเวลาเขียนนิยายภาษากายสำคัญ"
กัลฐิดาเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่อง 'เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา' ตอนเรียนปี 3 คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งเรียนหนักและต้องส่งต้นฉบับนิยายอย่างต่อเนื่อง การจัดสรรเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเธออย่างยิ่ง และเธอก็ได้เริ่มต้นสร้างสินัยในการเขียนตั้งแต่ตอนนั้น
“เพราะเราเรียนไปด้วยเขียนนิยายไปด้วย และค่อนข้างโรคจิตกับเวลามาก ต้องจับเวลาการทำงานทุกอย่าง ฉันใช้เวลาอาบน้ำ 10 นาที กินข้าว 20 นาที ล้างจาน 10 นาที แล้วมาจัดสรรเวลา 24 ชั่วโมง จำได้ว่าพ่อปุ้ยพูดคำหนึ่งว่า พ่อยังนึกไม่ออกว่าหนูเอาเวลาช่วงไหนไปนอน ช่วงนั้นนอนแค่ 3 ชั่วโมงเอง"
เมื่อทำงานประจำ กัลฐิดาต้องตั้งกฎเหล็กให้ตัวเองไว้ว่า หลังจากออกจากห้องทันตกรรม เธอไม่ใช่หมอฝันแล้ว แต่เป็นนักเขียน และต้องถึงบ้านภายใน 5 โมงเย็น จัดการทำธุระส่วนตัวทุกอย่างให้เสร้จภายในเวลา 1 ทุ่ม จากนั้นเริ่มต้นเขียนหนังสือเรื่อยไปจนถึงตี 2 เข้านอน และตื่น 7 โมงเช้า เป็นแบบแผนเช่นนี้ทุกวัน ไม่เว้นแม่แต่วันเสาร์-อาทิตย์
“วันเสาร์-อาทิตย์ ตื่นสายหน่อย จะแบ่งการทำงานเป็นช่วงๆ คือ 10 โมงถึงบ่าย พักกินข้าว แล้วก็ทำงานต่อถึงเย็น จากนั้นกินข้าวเย็น พอทุ่มหนึ่งก็เริ่มเขียนเรื่อยจนถึงตี 2 เหมือนวันปกติ การทำงานในวันหยุดทำให้เรารู้ซึ้งว่าเรารักมันจริงๆ เราชอบถึงรู้สึกผ่อนคลาย เทียบกับงานทันตกรรมที่แล้วเวลาพอๆ กัน คือ 8 ชั่วโมง แต่รู้สึกว่ากลับมาถึงบ้านแล้วเหนื่อยมาก แต่งานเขียนเราสามารถทำได้ตลอด 7 วัน"
เป็นเวลาปีครึ่งแล้วที่กัลฐิดาลาออกจากงานประจำมาเขียนหนังสืออย่างเดียว เธอบอกโชคดีที่เปิดห้องสมุดก่อนจะลาออก เพราะห้องสมุดที่เป็นร้านเช่าหนังสือด้วยนั้นยังมีส่วนช่วยกำหนดเวลาให้ จากเดิมที่เคยไปทำงานที่โรงพยาบาลแต่เช้าก็เปลี่ยนเป็นมาเปิดห้องสมุดแทน จนถึงทุ่มหนึ่งถึงกลับเข้าบ้าน ส่วนต้นฉบับก็นั่งเขียนไปเรื่อยๆ ในห้องสมุด ถ้าอยู่ที่บ้านจะนั่งทำงานในห้องนอน
“ของบนโต๊ะทำงานไม่ค่อยเยอะ ตั้งแต่เด็กเราเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดมาตลอด เลยไม่ชอบให้หนังสือมาวางบนโต๊ะ ถ้าใช้เสร็จต้องเอาไปเก็บเข้าชั้น ใช้ใหม่ค่อยหยิบออกมา อีกอยางหนึ่งคือทำงานราชการมี 5 ส. (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย) เลยติดนิสัยมา โต๊ะต้องไม่มีอะไร งานที่ทำคือที่ทำ งานที่ไม่ทำ เอาเก็บไว้ก่อน"
เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา, The Draker's Story, มนตร์อธิษฐาน, Calendae Castle, Lincorn Diary, Lost ฯลฯ คือผลงานบางส่วนของกัลฐิดา นักเขียนที่อยู่บนเส้นทางนิยายแฟนตาซีมากว่า 10 ปีแล้ว และยืนยันจะเป็นนักเขียนแนวแฟนตาซีไปตลอด เพราะเมื่อได้ลงมือเขียนก็พบกับเสน่ห์ที่ยากถอนตัว
“ถ้าใครเขียนแนวแฟนตาซีแล้วจะชอบ แทบจะเขียนอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เราชอบความเปลี่ยนแปลงของตัวละครซึ่งในนิยายแนวอื่นๆ ก็มีแต่มีน้อย เพราะ range ของนิยายอื่นมันสั้น จำกัดโดยเวลาของตัวเนื้อเรื่อง แต่นิยายแฟนตาซีไม่จำกัดเวลาของการเล่าเรื่อง ถ้าคุณสามารถเขียนและทำให้คนอ่านติดตามไปได้เรื่อย จะสามารถเขียนได้ 20-30 เล่ม"
ผลงานเขียนของกัลฐิดามีออกมาอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้วเธอมีหนังสือวางแผงถึง 8 เล่ม เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา ซีรีส์ที่สร้างชื่อให้กับเธอก็ได้รับการพิมพ์ซ้ำเป็นประจำ ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 101 เล่มในดวงใจของนักอ่านและนักเขียน และเป็นหนังสือที่อยู่ในสิต์ต้นๆ เมื่อใครสักคนจะแนะนำนิยายแฟนตาซีให้คนอื่นได้ลองอ่าน
“การที่คนอ่านหนังสือของเรา การที่เรามีแฟนคลับ ทำให้นักเขียนต้องตระหนักว่าคุณควรมีความรับผิดชอบต่อนักอ่านของคุณว่าจะเขียนอะไรออกมา ปุ้ยเชื่อเรื่องการให้ ไม่ว่าจะทำงานอะไร กับใคร ต้องให้ใจไปก่อน ปุ้ยไม่ได้เป็นคนดีเลิศเลอ ทำอะไรเพื่อสังคมมากมาย แต่เชื่อว่าการทำตัวให้ดี คือการช่วยเหลือสังคมที่ดีที่สุด จึงพยายามให้สิ่งนี้สอดแทรกอยู่ในนิยายที่เขียนทุกเรื่อง"
ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นิยายแฟนตาซีของกัลฐิดาอยู่ในใจของนักอ่านเสมอ และถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายหนังสือคุณภาพ
18 ซอยลาดปลาเค้า 63 ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220