31 สิงหาคม 2016

จากตัวอักษรถึงละครรัก ของ ชญาน์พิมพ์

แฟนละครและแฟนนวนิยายหลายคนคงฟินไปตามๆ กัน เมื่อละครเรื่อง   ‘กาลครั้งหนึ่งในหัวใจออนแอร์ เพราะตัวละครหลักทั้งแดเนียล ฟ้าใส และเฉินหมิง เหมือนเดินออกมาจากนวนิยาย แถมฉากในเรื่องยิ่งสร้างความประทับใจสมกับเป็นละครแอ็คชั่นโรแมนติกคอเมดี้ตรงตามบทประพันธ์ เพื่อให้ทันกระแสความแรงของละครฮิตเรื่องนี้ชญาน์พิมพ์หรือ ชญาน์พิมพ์ ภรจตุพรชัย (ทอฟฟี่) ผู้ประพันธ์จึงมาเป็นแขกคนสำคัญในคอลัมน์นัดพบนักเขียนฉบับนี้

เส้นทางนักเขียนชญาน์พิมพ์เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

ชญาน์พิมพ์ : ทอฟฟี่ชอบอ่านหนังสือ ชอบอ่านนิยาย เจอตัวหนังสือก็จะอ่านว่ามันคืออะไร ชอบนั่งคิดเรื่องการแยกคำ ตอนทำงานเป็นนักข่าวบันเทิง ต้องตัดต่อเทปถึงตี 2-3 ก็เลยเข้าไปหานิยายออนไลน์อ่าน อ่านแล้วก็รู้สึกว่า อยากลองเขียนบ้างจัง ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้ตีพิมพ์อะไรทั้งสิ้นค่ะ แค่อยากลองทำเฉยๆ เพราะมีพล็อตเยอะมาก เลยหยิบพล็อตที่น่าสนใจและใกล้เคียงกับงานที่ทำอยู่ มาเขียนเป็นนิยายออนไลน์เรื่องแรกชื่อข่าววุ่นลุ้นรักเขียนไปสักพัก ก็มีสำนักพิมพ์ติดต่อมาว่าอยากจะตีพิมพ์เรื่องนี้ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่ม ทอฟฟี่รู้สึกเลยว่านี่แหละคือสิ่งที่ฉันอยากทำ (ยิ้ม)

เมื่อเทียบกับตอนเป็นนักข่าว ชีวิตเปลี่ยนไปแค่ไหน

ชญาน์พิมพ์ : เปลี่ยนไปมาก มีชีวิตสงบขึ้น ได้อยู่กับตัวเอง ได้อยู่กับคุณแม่ มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น มีเวลาทบทวนอะไรหลายๆ อย่าง จริงๆ งานเขียนหนังสือเป็นงานหนักนะคะ แต่ก็ทำให้เรามีความสุข (ยิ้ม) ทอฟฟี่มีจุดเปลี่ยนตอนตัดสินใจเลิกทำงานนักข่าว เพราะว่าคุณตาไม่สบาย ทอฟฟี่ทำงานกลับบ้านตี 2-3 คุณแม่กับน้องสาวพยายามโทรมาบอกว่าคุณตาอาการไม่ดี แต่งานทอฟฟี่ยังไม่เสร็จ สุดท้ายตัดสินใจชับรถกลับบ้าน แล้วคืนนั้นคุณตาก็เสีย เลยเริ่มมานั่งคิดว่า เราไม่มีเวลากลับมาดูคนรอบข้างเลย จึงตัดสินใจเลิกเป็นนักข่าว หันมาเขียนหนังสือแทน ทอฟฟี่คิดว่าตัดสินใจถูกนะคะ ตอนนี้มีความสุขมาก แม้จะต้องทำงานหนักขึ้น แต่งานเขียนก็เป็นสิ่งที่ทอฟฟี่รักและยังทำให้อยู่กับแม่ทุกวันด้วยค่ะ

ตอนนี้ทอฟฟี่เขียนอะไรอยู่บ้าง

ชญาน์พิมพ์ : ที่ยังค้างอยู่คือโปรเจ็คต์นิยาย 7 บาป (The Seven Deadly Sins) ได้แรงบันดาลใจมาจากบาป 7 ประการในศาสนาคริสต์ เซ็ตนี้มี 7 เล่มค่ะ แล้วก็โปรเจ็คต์ต่อจาก 15 ปี 15 รักของสถาพรบุ๊คส์ ทอฟฟี่ได้เรื่องรักต่างเผ่าพันธุ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเสือค่ะ จริงๆ เรื่องเสือมีคนเขียนเยอะ สิ่งสำคัญคือจะทำให้เสือของเราแตกต่างจากคนอื่นยังไง ทอฟฟี่ชอบอินเดีย เลยไปหาตำนานเกี่ยวกับเสือของอินเดีย ไปเจอตำนานบูชาความรักในเขตป่าซุนดาร์บานส์ ไปเจอตำนานที่เขาบูชาเทพเจ้าก็คือเทวีบอนบิบี ที่น่าสนใจมากๆ ค้นหาข้อมูลเยอะมากค่ะ ทอฟฟี่ได้คำว่าพยัคฆบถมาจากพระไตรปิฎก พยัคฆบถแปลว่าทางเสือเดิน เขาเล่าว่าเสือจะเดินเป็นวงกลม พวกฤาษีโบราณจะตั้งบ้านอยู่กลางวงกลมนี้ เพราะว่ากลิ่นเสือจะอยู่รอบๆ ทำให้สัตว์น้อยใหญ่ไม่กล้าเข้ามารบกวน เพราะกลัวเสือ ทอฟฟี่เลยตั้งเป็นเมืองลับแล และวก็มีเหตุการณ์เรื่องของความรัก ตั้งใจว่าจะปิดเซ็ตนี้ให้ได้

การเขียนนิยายเล่มหนึ่ง ทอฟฟี่ต้องค้นหาข้อมูลเยอะมากใช่ไหม

ชญาน์พิมพ์ : ใช่ค่ะ แต่บางทีหาข้อมูลไว้ร้อยแปดพันเก้ากลับได้ใช้นิดเดียว เราต้องย่อยข้อมูลเพื่อให้คนอ่านได้รับทั้งสาระและความบันเทิง แต่นวนิยายต้องเน้นความบันเทิงเป็นหลัก ไม่ใช่สาระอย่างเดียว ทอฟฟี่วางไว้ว่าเดือนธันวาคมจะไปอียิปต์กับคุณแม่ ไปเก็บข้อมูล เพราะจะเขียนนวนิยายชุดฤดูพรางรักมีพรางคิมหันต์ พรางเหมันต์ และพรางพิรุณ เป็นสามเรื่องสามประเทศ ต้องไปดูของจริง ถ้าไม่ได้กลิ่นสถานที่จริงๆ ทอฟฟี่จะเขียนไม่ได้ เหมือนตอนที่เขียนเรื่องโศลกรักใต้แสงดาวเขียนไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้กลิ่นอินเดีย จะทำยังไง ก็ต้องไปอินเดียสิคะ (ยิ้ม)

ถือเป็นจุดเด่นของงานเขียนตัวเองด้วยไหม

ชญาน์พิมพ์ : น่าจะเป็นส่วนหนึ่งค่ะ ทอปฟฟี่พยายามไปสัมผัสของจริงแล้วเอามาเขียน ตอนเขียนเรื่องเสือ ทอฟฟี่ก็ไปวัดป่าสวนหลวงตามหาบัวที่เมืองกาญจน์มา เพราะอยากรู้ว่าเวลาเสือคำรามเป็นยังไง อุ้งเท้าเสือเป็นยังไง ขนเสือแข็งหรือนิ่ม อยากได้กลิ่นเสือก็เข้าไปดม (หัวเราะขำ) พอดูที่นี่เสร็จก็ไปสวนเสือศรีราชาต่อ ทอฟฟี่ต้องการข้อมูลและการได้สัมผัสของจริง ถ้านั่งเทียนเขียนอย่างเดียว ใช้จินตนาการอย่างเดียว ไม่มีความจริงเลย มันก็ไม่ได้ ต้องใช้ความจริงบวกกับจินตนาการค่ะ คุณทมยันตีบอกว่า เวลาเขียนหนังสืออย่ามุ่งเน้นแต่ความบันเทิงอย่างเดียว ต้องให้คนอ่านได้รับสาระความรู้ติดหัวไปบ้าง บันเทิงสัก 80 เปอร์เซ็นตื อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นสาระ ก็เลยคิดอย่างนั้นและตั้งใจมาตลอด ว่าจะไม่ให้ความบันเทิงอย่างเดียว แต่อยากให้เขาได้ไปค้นต่อ

การที่เราได้ไปสัมผัสของจริงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้ใช้ฉากต่างๆ ตรงนั้นด้วยไหม

ชญาน์พิมพ์ : ใช่ค่ะ (ยิ้ม) เป็นคนที่ทำงานในหัวตลอดเวลา เวลาไปอินเดียก็มานั่งคิดแล้วว่า จะให้พระเอกนางเอกเจอกันตรงนี้ดีไหม เห็นคนเขาทำพิธีอารตี (พิธีบูชาไฟ) ริมฝั่งคงคาก็รู้สึกว่ามันโรแมนติกมาก คิดถึงเวลาติวาลี (เทศกาลติวาลี เทศกาลแห่งแสงไฟ) เขาจะเอาตะเกียงเล็กๆ วางเต็มไปหมด ถ้าเราให้คนสองคนมาเจอกันในบรรยากาศอย่างนี้จะเป็นยังไง ก็จดบันทึกเอาไว้ นึกคำพูดอะไรแปลกๆ ได้ก็จะจด เป็นคนที่มีอะไรแล่นเข้ามาในหัวเสมอ

ก่อนจะเป็นนวนิยายเล่มหนึ่ง ทอฟฟี่มีวิธีการทำงานอย่างไรบ้าง

 ชญาน์พิมพ์ : ก่อนเขียนทอฟฟี่จะวางพล็อตไว้ก่อนเสมอ ปริ๊นต์เป็นกระดาษไว้เลยว่าพล็อต คาแร็กเตอร์ตัวละคร ธีมเรื่อง จำนวนหน้าเป็นอย่างไร จะทำทรีตเม้นต์ไว้ ทอฟฟี่เคยเรียนเขียนบทกับภิญโญ กองทอง อาจารย์สองเรื่องทรีตเมนต์ ก็เลยเอามาปรับใช้ ตอนที่ไปเรียนก็ยังเป็นนักข่าวอยู่นะคะ แต่ในที่สุดก็ได้ใช้จริงๆ บางคนถามว่าเรียนไปทำไม ไม่ได้เขียนบทละครสักหน่อย แต่ทอฟฟี่ว่าศาตร์การเขียนมันเชื่อมโยงกันหมด อยู่ที่ว่าคุณเอามาปรับใช้ได้แค่ไหน ในโลกนี้ไม่มีอะไรสูญเปล่านะคะ ถ้าคุณรู้จักเอาปรับใช้ ทอฟฟี่เขียนงานทุกวันไม่เคยหยุดค่ะ บางครั้งทำงานมากเกินไป เขียนไม่ออก ก็จะออกไปเดินเล่น อ่านหนังสือ ขอให้หลุดออกจากตรงนั้นก่อน พอสมองรีเฟรชปุ๊บ ทอฟฟี่จะเขียนต่อได้ค่ะ (ยิ้ม)

นวนิยายเล่มแจ้งเกิดของทอฟฟี่คือเรื่องอะไร

 ชญาน์พิมพ์ : คิดว่าเป็นเซ็ตมาเฟียค่ะ น่าจะเป็นกาลครั้งหนึ่งในหัวใจกับตราบดินสิ้นฟ้าสัญญารักนิรันดร์ตอนเขียนเล่มแรก มีคนรู้จักประมาณหนึ่ง แต่พอมาเขียนกาลครั้งหนึ่งฯ ทำให้คนอ่านรู้ว่าทอฟฟี่มีตัวตนแบบนี้ ไม่ได้ใสเหมือนในเล่มแรก เล่มนี้มีความโหด มีดาร์คไซด์ เป็นแอ๊คชั่นดราม่า ทอฟฟี่รู้สึกว่านิยายต้องมีเรื่องบู๊ จากนั้นก็พัฒนาเป็นชญาน์พิมพ์เต็มตัวในเรื่องตราบดินสิ้นฟ้าสัญญารักนิรันดร์ที่มีแนวทางของตัวเองว่า พระเอกหาดีไม่ได้อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) แล้วก็ต้องเป็นโรแมนติคแอ๊คชั่นดราม่า จะมีมุกตลกแทรกอะไรก็แล้วแต่ ทอฟฟี่จะกลับมาจุดนี้เสมอ ถ้าเขียนนิยายไม่มีฉากบู๊   ไม่ใช่ชญาน์พิมพ์ (ยิ้ม) แล้วก็เป็นคนที่ไม่ชอบทิ้งตัวละคร จะใส่ทุกอย่างให้เต็มทุกตัว ทุกเรื่อง ตัวละครทุกตัวทอฟฟี่รักเหมือนลูก ไม่อยากทิ้งเขา เลยมีหนังสือที่เป็นซีรีส์ค่อนข้างเยอะค่ะ

ทำไมถึงตั้งใจนำเสนอพระเอกให้มีบุคลิกร้ายๆ 

ชญาน์พิมพ์ : กลุ่มคนอ่านของทอฟฟี่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เขามีจินตนาการและต้องการโลกแห่งความฝัน ถ้าเขาต้องการความจริง เขาจะไม่อ่านนิยาย เขารู้ว่าพระเอกอย่างนี้ไม่มีอยู่จริง ทอฟฟี่มีหน้าที่ทำให้โลกไม่สมจริงนั้นดูสมเหตุสมผลและสมจริงที่สุด ทอฟฟี่รู้ว่ากลุ่มคนอ่านของทอฟฟี่ชอบอ่านอะไร เราต้องเขียนงานที่เขาต้องการอ่าน สร้างความฝันเขาให้สมจริงค่ะ

รู้สึกอย่างไรกับนิยายเรื่องกาลครั้งหนึ่งในหัวใจที่เป็นละครฮิตอยู่ตอนนี้ ชญาน์พิมพ์ : ดีใจมากค่ะ เรื่องเขาแคสติ้งตัวละครดีมาก พอเห็นน้องมิกค์ ทองระย้าสวมบทพระเอกแล้ว เข้าใจเลยว่าทำไมเลือกคนนี้ น้องเล่นบู๊ได้ ดราม่าได้ เล่นได้หมด ส่วนน้องพิม-พิมประภา ก็ใช่มาก ในส่วนเรื่องการดัดแปลงบทประพันธ์ก็มีบ้าง เขาจะดัดแปลงอะไรลงไปเราไม่ว่า เพราะถือเป็นการทำงานร่วมกัน เราเชื่อใจเขาว่าจะทำออกมาดี เขาทำงานกันเต็มที่มากค่ะ ทอฟฟี่รู้สึกว่าบทประพันธ์นี้ได้ไปอยู่ในมือของคนที่เขาเห็นคุณค่าของมัน เขาก็ให้เกียรติเรามาก เวลาติดต่อประสานงานก็พูดจากับเราสุภาพ ทุกคนน่ารักมาก

เรื่องนี้เป็นแนวแอ๊คชั่นคอเมดี้ แต่เชื่อเรื่องที่ทอฟฟี่ตั้งกลับหวานมาก 

  ชญาน์พิมพ์ : จริงๆ ชื่อเรื่องเป็นจุดเด่นนะคะ เพราะเรื่องนี้เป็นนิยายรัก (ยิ้ม) ทอฟฟี่ชอบอ่านกลอนของท่านรพินทรนาถ ฐากูร ชอบลักษณะการใช้คำของอาจารย์ระวี ภาวิไล ก็เลยชอบดูคำพวกนี้ คิดว่านิยายทุกเล่ม หากชื่อเรื่องไพเราะจะมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะชื่อเรื่องจะบอกถึงคอนเซ็ปต์ของเรื่องนั้นๆ ว่าเกี่ยวกับอะไร เราไม่สามารถตั้งชื่อเรื่องลอยๆ ได้ค่ะ

รู้สึกอย่างไรที่นักอ่านให้การตอบรับชญาน์พิมพ์อย่างล้นหลามขนาดนี้

ชญาน์พิมพ์ : ต้องขอบคุณทุกคนจริงๆ ค่ะ กว่าจะถึงวันนี้นักอ่านของชญาน์พิมพ์คงรู้จักน้องฟีน่า เธอติทอฟฟี่ตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย ทุกวันนี้เรากลายเป็นเพื่อนสนิทกันไปแล้ว เพราะสิ่งที่เธอติเป็นจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเชื่อคนอ่านทุกคำนะคะ เราต้องรู้จักกรอง รู้จักคิด และอย่าดูถูกคนอ่าน บางทีเขาเป๊ะกว่าเราอีก เวลาเขียนจึงควรคิดให้รอบด้าน เวลามีคนติงเรื่องเยื้อหา ทอฟฟี่จะจดตลอดว่าต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง เวลามีคนชี้แนะมา เราก็ต้องขอบคุณนั่นคือเขาอ่านงานเราจริงๆ ถึงมาวิจารณ์ได้ ถ้าเขาเกลียดเราก็คงไม่มายุ่งกับเรา ต้องขอบคุณที่เขาให้โอกาส ทุกวันนี้ถึงได้ใส่ใจคนอ่านมาก ถ้าเขาอยากให้เราปรับปรุงอะไร ถ้าทำได้ก็ทำ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เถียงค่ะ จะขอบคุณเขาแทน

อยากฝากอะไรถึงนักอ่านบ้างไหม

  ชญาน์พิมพ์ : อยากจะฝากให้ติดตามผลงานและเป็นกำลังใจให้ทีมงานละครด้วยค่ะ อยากจะขอบคุณนักอ่านมากที่ให้การสนับสนุนทอฟฟี่มาโดยตลอด ถ้าไม่มีนักอ่านก็ไม่มีชญาน์พิมพ์ในวันนี้ ไม่เคยคิดเลยว่าในชีวิตหนึ่งจะได้รับความรักจากคนที่ไม่เคยรู้จักกัน คุณอ่านหนังสือเราผ่านอักษร คุณรักเราที่ตัวหนังสือของเรา และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เลยมาที่ตัวเรา รวมไปถึงครอบครัวด้วย นักอ่านบางคนอ่านผลงานทอฟฟี่มาตั้งแต่เรียนมัธยม จนตอนนี้เขามีลูกมีเต้า เราโดตมาด้วยกัน มีความผูกพันกัน ทอฟฟี่ถือว่าเราโชคดีจริงๆ ต้องขอบพระคุณมากๆ ค่ะ

ชญาน์พิมพ์ยังคงทำงานที่เธอรักอยู่ทุกวันแบบไม่มีวันหยุด ด้วยเหตุผลที่เธอบอกกับเราว่า งานเขียนคือชีวิต และอาชีพนักเขียนก็คือที่สุดของชีวิตเธอเช่นกัน

cr. จากตัวอักษรถึงละครรัก ของ ชญาน์พิมพ์  คอลัมน์ 'นัดพบนักเขียน' เรื่อง : รินคำ ภาพ : ภาณุวัชร สุเมธี