24 พฤศจิกายน 2016

‘ซ่อนกลิ่น’ จากวิศวกรสู่เส้นทางนักเขียน

“ผมเพิ่งปิดต้นฉบับเรื่อง ‘ใต้แสงดารา’ เขียนเสร็จก็เคลียร์โต๊ะทำงานทีหนึ่ง ถ้ามาตอนเขียนต้นฉบับ ของจะเต็มโต๊ะเลยครับ”

มนตร์ชัย ศิริลักพร นักเขียนนวนิยาย เจ้าของนามปากกา ‘ซ่อนกลิ่น’ เล่าถึงโต๊ะทำงานของเขา ซึ่งวันที่เราไปเยี่ยมเยียนนั้นเป็นช่วงหลังจากเขาส่งต้นฉบับนวนิยายเรื่องใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีส์ชุดรักห่มฟ้า นวนิยายรักที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมไทยที่นำไปสู่การให้โอกาสแก่ผู้ที่ผิดพลาดจนชีวิตต้องไร้อิสรภาพ และที่สำคัญได้น้อมนำแนวทางของศาสตร์พระราชามาเป็นประเด็นสำคัญในการทำให้ผู้ที่ก้าวพลาดได้กลับมามีที่ยืนในสังคม

ซ่อนกลิ่นสร้างสรรค์ผลงานนวนิยายมาแล้วถึง 30 เรื่อง และเป็นนักเขียนที่ร่วมเขียนนวนิยายซีรีส์ดังและถูกนำไปสร้างเป็นละครหลายเรื่อง อาทิ ชุดบ้านไร่ปลายฝัน เรื่อง ดวงใจอัคนี ชุด The Sixth Sense สื่อรักสัมผัสหัวใจ เรื่อง เล่ห์บ่วงมนตรา ชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพ เรื่อง คุณชายรัชชานนท์ ชุด The Cupids บริษัทรักอุตลุด เรื่อง ซ่อนรักกามเทพ และล่าสุดที่ตอนนี้ออกวางจำหน่ายแล้วก็คือ ชุดรักห่มฟ้า เรื่อง ใต้แสงดารา

“นวนิยายชุดนี้สะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมก็มีพระเอก นางเอก เป็นอัยการ เป็นทูต เป็นตำรวจ ฯลฯ เป็นคนที่ทำงานอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ก่อนหน้าจะเขียนเราไปศึกษาดูว่าในกระบวนการยุติธรรมมีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง ผมก็ไปเจอพนักงานคุมประพฤติ เราไม่รู้เลยว่าพนักงานคุมประพฤติทำอะไร จนได้ไปหาข้อมูล ลงพื้นที่ ได้สัมภาษณ์ ถึงรู้ว่าเขามีหน้าที่หลายอย่าง เช่น พอตำรวจกับอัยการส่งหลักฐานให้ศาล ศาลก็จะสั่งพนักงานคุมประพฤติให้สืบเสาะว่าทำไมเขาถึงกระทำความผิด ซึ่งข้อมูลพวกนี้ศาลจะนำไปพิจารณาโทษด้วย จะเห็นว่าคนทำผิดในกรณีเดียวกัน แต่ศาลลงโทษไม่เหมือนกันเพราะมีรายงานตัวนี้อยู่ ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ เลยให้พระเอกเป็นพนักงานคุมประพฤติ ส่วนนางเอกเป็นผู้ต้องขังที่เพิ่งออกจากเรือนจำ”

นักเขียนหนุ่มคนนี้เขียนนวนิยายครั้งแรกเมื่อราว 10 กว่าปีก่อน ช่วงที่ทำงานเป็นวิศวกรโยธา เขาบอกว่าหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนก็คือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ผลงานของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง และเดอะไวท์ โรด ของ ดร.ป๊อบ โดยเฉพาะเรื่องหลังนั้น เมื่อเปิดดูประวัตินักเขียนก็พบว่า ดร.ป๊อบ อายุ 14-15 เท่านั้นช่วงที่เริ่มเขียน

“ดร.ป๊อบอายุ 14-15 เองตอนเขียน แล้วเราอายุ 30 กว่ามัวทำอะไรอยู่นะ แล้ว ดร.ป๊อบก็บอกว่าที่เขามีทุกวันนี้ได้เพราะเว็บไซต์เด็กดี ผมก็ไปทำความรู้จักเว็บไซต์เด็กดี ทำให้รู้ว่าเป็นเว็บที่มีนักเขียนส่งผลงานไปลงเยอะ ผมก็ลองดูบ้าง แต่งเรื่องหิมพานต์ แรงบันดาลใจมาจากแฮร์รี่ ที่ในเรื่องมีสัตว์ในตำนานมากมาย ของไทยก็มีพวกสัตว์ในป่าหิมพานต์ เลยเข้าห้องสมุดค้นข้อมูลแล้วลองเขียนโดยใช้จินตนาการ ขณะเขียนหิมพานต์ก็ไปดูหนังฆาตกรรมเรื่องหนึ่ง เกิดไอเดียขึ้นมา เลยเขียนเป็นนิยายสืบสวนสอบสวน เรื่อง 615 รหัสมรณะ ต่อมาได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์ให้รวมเล่ม ซึ่งกลายเป็นหนังสือเล่มแรกของผม”

จากจุดเริ่มต้นที่เขียนลงในเว็บไซต์ และได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักอ่าน ซ่อนกลิ่นก็เริ่มสนุกกับการเขียนนวนิยาย ช่วงเวลากลางวันเขาทำงานประจำกลับมาถึงบ้านประมาณ 2 ทุ่ม หลังจากทำธุระส่วนตัวเสร็จ จึงมานั่งที่โต๊ะทำงานเพื่อเขียนนวนิยายจนถึงประมาณเที่ยงคืน ตี 1 แม้กลับจากทำงานจะเหน็ดเหนื่อย แต่ทุกครั้งเมื่อได้นั่งลงที่โต๊ะ เปิดจอคอมพิวเตอร์ เรื่องราวของตัวละครก็พรั่งพรูเข้ามาในหัว จนเมื่อ 2 ปีหลังนี้เองที่ซ่อนกลิ่นตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเป็นนักเขียนเต็มตัว เนื่องจากเห็นว่ารายได้จากการเขียนนวนิยายสามารถเลี้ยงชีพได้

เมื่อยึดการเขียนหนังสือเป็นอาชีพหลัก ช่วงเวลาการทำงานเขาจึงเปลี่ยนตาม จากเดิมทำงานตอนกลางคืนก็เปลี่ยนมาเป็นกลางวัน โดยหลังจากส่งลูกๆ ไปโรงเรียน เขาจะมานั่งที่โต๊ะทำงาน ถึงแม้เวลานั้นยังคิดไม่ออก แต่การมานั่งที่โต๊ะก็เป็นกิจวัตรประจำวันของเขาไปแล้ว

“ทำงานอยู่บ้านสามารถจัดสรรเวลาได้ รู้สึกมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น เช้าขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน กลับมานั่งทำงาน นั่งเล่นเฟซบุ๊กบ้าง บ่าย 3 โมงไปรับลูกกลับบ้าน พอถึงบ้านก็กลับมานั่งเขียนหนังสือต่อ บางทีเบื่อๆ ก็เปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งร้านกาแฟ เอาโน้ตบุ๊กไปนั่งเขียนที่นั่น บางทีก็นัดนักเขียนที่อยู่ในละแวกนี้มานั่งกินกาแฟด้วยกัน”

ซ่อนกลิ่นเล่าว่า แต่ก่อนโต๊ะทำงานตั้งอยู่ในห้องนอนชั้นบน พอลูกๆ เริ่มโตขึ้นจึงจัดพื้นที่ใหม่ โต๊ะทำงานย้ายลงมาอยู่ห้องนั่งเล่นชั้นล่าง บริเวณเดียวกันมีโต๊ะคอมพิวเตอร์ของลูก รอบๆ มีตู้หนังสือเตี้ยๆ เก็บหนังสือที่ใช้เป็นข้อมูลการเขียน หนังสือของเพื่อนนักเขียน รวมถึงหนังสือที่เขาชอบอ่าน

“ตู้หนังสือของผมส่วนใหญ่เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์และเป็นนิยายที่เราได้ดูจากที่เป็นหนังเป็นละครแล้วชอบ อย่างตอนนั้นไปดูคู่กรรม ที่จินตหรากับวรุฒแสดง ดูแล้วชอบก็ไปหาเรื่องคู่กรรมมาอ่าน หรือดูสายโลหิต เวอร์ชั่น ศรราม สุวนันท์ ก็ไปหาซื้อนิยายมาอ่าน แต่พักหลังๆ นี้ มาอ่านของนิโคลัส สปาร์คส์ เยอะ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือก่อนเหมือนกัน”

ในตู้หนังสือของซ่อนกลิ่นจึงมีล็อกหนึ่งจัดไว้สำหรับผลงานของนิโคลัส สปาร์คส์ ที่เขาตามอ่านเกือบทุกเล่มจนระยะหลังๆ ที่เขียนนวนิยายก็ติดกลิ่นอายของนิโคลัส สปาร์คส์ ไปด้วย

“ผมดูหนังเรื่อง เดอะโน้ตบุ๊ค ตอนดูก็รู้สึกว่าเป็นหนังที่ดีจัง แต่พอไปอ่านหนังสือพบว่ามันดีกว่าในหนังร้อยเท่า ทั้งที่เป็นหนังสือเล่มบางๆ เลยไปเหมาซื้อหนังสือของ นิโคลัส สปาร์คส์ มาอ่าน ซึ่งงานของนิโคลัสชัดเจนมากคือความโรแมนติก ทั้งๆ ที่ใช้คำธรรมดา การเดินเรื่องเนิบๆ แต่มีจุดไคลแมกซ์ ระหว่างทางในความเรื่อยๆ ของเขาก็มีความโรแมนติกแฝงอยู่ ตอนเขียนนิยาย 2-3 เรื่องหลัง เพื่อนนักเขียนที่ผมมักให้เขาอ่านต้นฉบับก่อนส่งให้ บ.ก. อ่าน เขาก็ทักมาว่า อ่านนิโคลัส สปาร์คส์ มากเกินไปหรือเปล่า เพราะดูเหมือนติดวิธีการบรรยายของเขามา”

ด้วยความที่ซ่อนกลิ่นเขียนนวนิยายทั้งแบบงานเดี่ยวของตัวเอง และเขียนร่วมกับนักเขียนคนอื่นเป็นซีรี่ส์ เราจึงอดถามเขาไม่ได้ว่าการทำงานแบบไหนยากกว่ากัน

“การทำงานตามโจทย์ เป็นซีรีส์ ยากตอนประสานงาน แต่นอกนั้นแล้วมีข้อดี เริ่มจากเรามีที่ปรึกษาเยอะ ถ้าเราเขียนเรื่องเดี่ยวของตัวเองก็คิดเขียนคนเดียว แต่พอมาทำงานชุดต้องมีการประชุมร่วมกัน บางทีเราคิดตรงนี้ไม่ออกก็มีที่ปรึกษา เพื่อนๆ นักเขียนอีกตั้ง 4 คน และยังสนุกอีกด้วย เพราะเวลาทำงานกับคนอื่น มีการพูดคุย สนทนากัน บางทีไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนก็มี”

ในเมื่อนักเขียนเองก็สนุกกับการเขียนเช่นนี้ แน่นอนว่านักอ่านก็ย่อมได้รับเรื่องราวสนุกๆ จากตัวอักษรของเขาเช่นกัน


(ขอบคุณข้อมูลจาก คอลัมน์ The Writer's room 
เรื่อง : มาทิลดา ภาพ : ทามม์ , นิตยสารขวัญเรือน )