18 สิงหาคม 2016

นวนิยาย ‘รักห่มฟ้า’…สร้างและปันกำลังใจให้ทุกคนในสังคม


       เข้าสู่ปีที่ 10 ที่ โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตในเรือนจำ รวมทั้งการแสวงหาแนวทางต่างๆ เพื่อให้คนกลุ่มนี้กลับออกไปสู่โลกภายนอกอย่างมีคุณภาพและไม่กลับเข้ามาสู่วังวนของการกระทำผิดอีกไม่ว่าเรื่องใดๆ นอกจากนี้ยังมีพระดำริให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางการพัฒนาทางเลือกมาปรับใช้กับผู้ต้องขังเพื่อให้ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษได้มีอาชีพสุจริตติดตัว
ที่ผ่านมาสำนักพิมพ์ในเครือสถาพรบุ๊คส์ได้ผลิตนวนิยายชุด “ลูกไม้ของพ่อ” และนวนิยายชุด “แผ่นดินแห่งรัก” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผลิตนวนิยายชุด “แม่ของแผ่นดิน” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ล่าสุดในโอกาสที่โครงการกำลังใจฯ ครบรอบปีที่ 10 สถาพรบุ๊คส์จึงถือโอกาสมหามงคลนี้ผลิตนวนิยายชุด “รักห่มฟ้า” เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

        ธีมหลักของนวนิยายชุดรักห่มฟ้าเกี่ยวกับยาเสพติด เนื่องด้วยปัญหาใหญ่ของเรือนจำไทยในปัจจุบันคือผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ซึ่งการล้นเรือนจำมาจากคดียาเสพติดกว่า 70% โดยถ่ายทอดผ่านภารกิจของพระเจ้าหลานเธอฯ ในฐานะพนักงานอัยการและอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการทางการทูต กระบวนการเจรจาโน้มน้าวข้อมติในระดับสหประชาชาติ กระบวนการยุติธรรมไทย การน้อมนำศาสตร์พระราชาหรือการพัฒนาทางเลือก (AD) มาพัฒนาพฤตินิสัยและจิตใจของผู้ต้องขัง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงตามโครงการกำลังใจฯ โดยถ่ายทอดผ่านนวนิยาย 5 เรื่อง ได้แก่ พระจันทร์กลางใจ โดย ญนันทร, ใต้แสงดารา โดย ซ่อนกลิ่น, ฟ้าล้อมทราย โดยคณิตยา, พรายแสนดาว โดยกรรัมภา และพราวเวหา โดยลัลล์ลลิล
           สถาพรบุ๊คส์ประสานโครงการกำลังใจฯ กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอประทานอนุญาตเข้าไปสังเกตการณ์การปฏิบัติงานในฐานะพนักงานอัยการ ซึ่งพระเจ้าหลานเธอฯ ทรงเมตตาต่อนักเขียนให้เข้าเฝ้าสังเกตการณ์การสืบพยาน ณ ห้องพิจารณาคดี ศาลอาญา จนกระทั่งนักเขียนได้เข้าใจถึงขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง ตลอดจนทรงเปิดโอกาสให้นักเขียนเข้าเฝ้าเพื่อซักถามในประเด็นต่างๆ ของขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม
 

          ล่าสุดเมื่อวันที่ 27-30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังทรงประทานอนุญาตให้นักเขียนติดตามไปสังเกตการณ์การทรงงานในโครงการ “นำแนวทางการพัฒนาทางเลือกมาปรับใช้กับผู้ต้องขัง” ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยนักเขียนทั้งห้าได้พูดคุยกับผู้ต้องขังที่เรือนจำชั่วคราวดอยราง จ.เชียงราย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เรือนจำชั่วคราวที่เข้าร่วมโครงการตามพระดำริในพระเจ้าหลานเธอฯ ที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางการพัฒนาทางเลือกมาปรับใช้กับผู้ต้องขัง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ปรับเปลี่ยนทัศนคติเป็นที่ยอมรับของสังคม และที่สำคัญคือ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยมีอาชีพที่สุจริต ไม่หวนกลับไปทำผิดซ้ำอีก

           และในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา พระเจ้าหลานเธอฯ ได้เสด็จเป็นองค์ประธานการเปิดกิจกรรมการนำแนวทางการพัฒนาทางเลือกมาปรับใช้กับผู้ต้องขัง และนักเขียนได้ร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ต้องขังกับบุคคลต้นแบบของดอยตุงผู้ที่เคยปลูกฝิ่นและค้าฝิ่นแต่สามารถเลิกยุ่งเกี่ยวโดยเด็ดขาด หันมาประกอบอาชีพที่สุจริตและทำคุณประโยชน์ให้แผ่นดิน โดยกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าว พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงร่วมกิจกรรมด้วยอย่างเป็นกันเอง สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ต้องขังอย่างมาก
นอกจากนี้ ได้ศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง 52 ไร่ ศึกษาดูงานในหอแห่งแรงบันดาลใจ ตลอดจนได้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ ของจังหวัดเชียงรายเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการเขียนนวนิยาย อาทิ ฐานปฏิบัติการช้างมูบซึ่งเป็นสถานที่เฝ้าระวังการผลิตและลำเลียงยาเสพติดข้ามพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมา, ศึกษาดูงานด้านการใช้ AD แก้ไขปัญหายาเสพติด ณ หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ, สักการะพระแก้วมรกต (พระหยกเชียงราย) และพ่อขุนเม็งรายมหาราชผู้สร้างเมืองเชียงรายเพื่อความเป็นสิริมงคล ที่วัดพระแก้ว และศึกษาดูงานไร่ชาที่ไร่บุญรอด สิงห์ปาร์ค

 
          ด้านเพียรพริมา เหมือนประสาท เจ้าของนามปากกา “ญนันทร” ผู้เขียนเรื่อง “พระจันทร์กลางใจ” กล่าวว่า ได้นำเรื่องของกำลังใจและแรงบันดาลใจของมนุษย์มาเป็นธีมหลัก หลังได้ร่วมฟังการเสวนาและเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการกำลังใจฯ พบว่าความผิดพลาดของผู้ต้องขังส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้ใจตัวเอง ดังนั้น หากมนุษย์มีกำลังใจและแรงบันดาลใจที่จะทำความดี ย่อมส่งผลให้เกิดการทำผิดซ้ำน้อยลง สิ่งแรกที่ตั้งใจใส่เข้าไปคือความบันเทิงที่สอดแทรกปัญหายาเสพติดที่มีความซับซ้อนและแทรกซึมอยู่ในทุกส่วนของสังคม ซึ่งยังมีคนบางกลุ่มเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว หากความจริงแล้วแทบจะอยู่เพียงใต้จมูก อีกทั้งยังนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับผู้ที่เคยทำผิดพลาดและอยากกลับตัวแต่ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานของสังคมที่ทำให้การดำเนินชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก จึงได้นำมาถ่ายทอดเพื่อสร้างทัศนคติอันดี และหวังว่านวนิยายชุดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างกำลังใจให้พวกเขาเหล่านั้นออกมาเผชิญโลกข้างนอกด้วยความมั่นใจ

มนต์ชัย ศิริลัทพร เจ้าของนามปากกา “ซ่อนกลิ่น” ผู้เขียนเรื่อง “ใต้แสงดารา” กล่าวว่า ธีมเรื่องนี้พูดถึงผู้ต้องขังที่ได้รับอิสรภาพออกมาด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจที่จะสร้างอนาคตใหม่ แต่กลับถูกแรงเสียดทานจากสังคม จากผู้คนที่มีอคติ คอยลดทอนกำลังใจและบีบคั้นให้พวกเขาต้องกลับเข้าสู่วังวนเดิมๆ ซึ่งก็ไม่มีใครเป็นฝ่ายผิด เพราะระหว่างสองฝ่ายมีม่านบางๆ แห่งความไม่แน่ใจขวางกั้นไว้ จุดประสงค์ของเรื่องนี้คือทำลายม่านบางๆ นั้น และทำให้ทั้งสองฝ่ายปรับตัวเข้าหากันและคืนความรักแก่สังคม หวังว่าผู้ที่อ่านเรื่องนี้จบจะเข้าใจกระบวนการยุติธรรมอย่างถ่องแท้มากขึ้น โดยเฉพาะการคุมประพฤติซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือคนที่ตกสู่กระบวนการนี้ในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากการควบคุมให้อยู่ตามกฎระเบียบเท่านั้น รวมทั้งเข้าใจความรู้สึกของผู้ต้องขังซึ่งก้าวพลาดและคิดกลับใจเมื่อกลับสู่สังคม เพื่อสร้างโอกาสให้พวกเขาได้กลับเป็นคนดีอีกครั้ง

          ขติยา มหาสินธ์ เจ้าของนามปากกา “คณิตยา” ผู้เขียนเรื่อง “ฟ้าล้อมทราย” กล่าวว่า ธีมเรื่องนี้มุ่งเผยแพร่โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงของโครงการกำลังใจฯ และแนวทางตามศาสตร์พระราชาในเวทีสหประชาชาติ จนเกิดเป็น the Bangkok Rule และ UN Guiding Principles on AD ตามลำดับ ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จก็ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านการทูตของพระเจ้าหลานเธอฯ ในขณะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ซึ่งในเรื่องพูดถึงความสามารถของเลขานุการเอกที่สามารถเผยแพร่ AD จนต่างประเทศให้การยอมรับและชื่นชมศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



          กนิษฐา ปานเกตุ เจ้าของนามปากกา “กรรัมภา” ผู้เขียนเรื่อง “พรายแสนดาว” กล่าวว่า ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการฝึกอาชีพต่างๆ จากโครงการพัฒนาดอยตุงมาใช้ในหมู่บ้านสมมุติที่ชื่อว่าหมู่บ้านแสนดาว จากการลงพื้นที่ ได้พูดคุยกับผู้ต้องขังและได้รับรู้ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด เหตุผลใหญ่ที่ทำให้เกิดความผิดพลาดจนเข้าไปอยู่ในวังวนยาเสพติดก็คือปัญหาครอบครัว ถ้าสถาบันครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง มีอาชีพ มีกิน มีจิตใจที่เข้มแข็ง ชนะใจตัวเองได้ ก็จะดำรงตนอยู่ในความถูกต้องและไม่หลงผิดอีก ในเรื่องจึงนำโครงการต่างๆ เข้ามาให้เห็นถึงอาชีพจากความพอเพียง ทุกเรื่องของนิยายชุดนี้เน้นปัญหายาเสพติด แต่ก็ยังสอดแทรกความบันเทิงเพื่อไม่ให้เนื้อหาหนักเกินไป ได้รับรู้และเปิดมุมมองในสิ่งใหม่ๆ ให้โอกาสแก่ผู้เคยผิดพลาด ชี้นำทางผู้เคยหลงผิด และล้อมรั้วป้องกันบ้านด้วยความอบอุ่นและพอเพียง ให้ชุมชนเข้มแข็งรู้จักประมาณตน เมื่อมีอาชีพ มีความพอเพียง มีจิตใจที่เข้มแข็ง เราก็จะก้าวต่อไปได้อย่างภาคภูมิ

 


         เปรมปรีดา วงศาบาล เจ้าของนามปากกา “ลัลล์ลลิล” ผู้เขียนเรื่อง “พราวเวหา” กล่าวว่า พราวเวหาเป็นเรื่องสุดท้ายในชุดรักห่มฟ้า นำเสนอบทบาทหน้าที่ของอาชีพอัยการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญา แต่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ต้องหาหรือจำเลย จากการที่ได้สัมภาษณ์บุคคลเหล่านี้มา กลับไม่เคยทราบว่าบทบาทหน้าที่ของอัยการคืออะไร รวมไปถึงขาดความเข้าใจกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวและสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกคนได้ นิยายเรื่องนี้จึงพยายามอธิบายออกมาให้ผู้อ่านเข้าใจกระบวนการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
         “ประเทศเราทำสงครามกับยาเสพติดมาหลายทศวรรษ แต่ยังไม่สามารถเอาชนะได้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนดูว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ในนิยายชุดนี้ผู้อ่านจะได้เห็นภาพรวมของปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมถึงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมซึ่งปกติอาจเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับประชาชนทั่วไป แต่พวกเราก็พยายามย่อยข้อมูลในสิ่งที่เข้าใจยากให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น ผู้อ่านจะได้รับรู้โครงการต่างๆ ที่ทุกภาคส่วนได้ริเริ่มขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน หวังเป็นอย่างยิ่งว่านิยายชุดนี้จะได้มีส่วนสร้างทัศนคติและสะท้อนมุมมองในหลายแง่มุมให้กับผู้อ่านได้เข้าใจในปัญหายาเสพติดมากยิ่งขึ้น” ลัลล์ลลิลกล่าว

        เจติยา โลกิตสถาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สถาพรบุ๊คส์เคยร่วมงานกับโครงการกำลังใจฯ มาหลายครั้ง คือการบริจาคหนังสือและสร้างมุมห้องสมุดให้แก่ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำหลายๆ จังหวัดผ่านโครงการกำลังใจฯ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของทางบริษัทอยู่แล้ว แต่ในปีนี้ทางบริษัทได้รับโอกาสพิเศษที่จะสร้างสรรค์นวนิยายชุดใหม่ เพื่อเป็นสื่อกลางให้คนทั่วไปเข้าใจถึงปัญหายาเสพติดของบ้านเรา รวมทั้งสะท้อนภารกิจของพระองค์ท่านอีกด้วย ทำให้ดิฉัน นักเขียน และพนักงานบริษัททุกคนยิ่งมีความภูมิใจมากขึ้นไปอีกที่จะได้ทำงานถวายท่าน และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะถ่ายทอดมุมมองที่หลายคนไม่เคยนึกคิดมาก่อน รวมทั้งอธิบายกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และให้กำลังใจคนที่เคยทำผิดพลาดให้กลับมามีพื้นที่ยืนในสังคมอีกด้วย


“รักห่มฟ้า” สะท้อนถึงความรักของพระเจ้าหลานเธอฯ ที่ช่วยโอบอุ้มและประคับประคองผู้ด้อยโอกาสและผู้พลาดพลั้งในสังคมให้หยัดยืนอยู่ในสังคมต่อไปได้ พวกเราทุกคนอยู่ใต้ผืนฟ้าเดียวกัน หากห่มฟ้าผืนนี้ไว้ด้วยรักและกำลังใจ สังคมไทยคงอยู่ได้อย่างปกติสุข…

 ขอขอบคุณข้อมูลประชาสัมพันธ์จาก 
matichon.co.th