10 เมษายน 2017

ประมวลพระบรมฉายาลักษณ์ทรงคุณค่าผ่าน...กีรติฉายาลักษณ์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด กิจกรรมเสวนา “แรกยล...กีรติฉายาลักษณ์” โดย เอนก นาวิกมูล และ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นักสะสมของและภาพในอดีต ณ เวทีกลาง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45

กีรติฉายาลักษณ์ ประมวลพระบรมฉายาลักษณ์หรือพระบรมรูปในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์จากปกนิตยสารและหนังสือเก่าอันทรงคุณค่า โดยนำเสนอภาพที่สมบูรณ์เป็นเรื่องสำคัญเพราะนอกจากหนังสือประมวลภาพจะช่วยให้เราได้รับความรู้เรื่องพระราชประวัติ เรายังได้เห็นภาพบ้านเมือง เหตุการณ์ ผู้คน การแต่งกาย ฯลฯ ในแต่ละช่วงด้วย และที่ควรพิจารณาอย่างยิ่งคือ การออกแบบปกหรือตัวอักษรอันประณีตงดงาม แปลกตา ในสมัยที่ไม่มีคอมพิวเตอร์กราฟิก

เอนกกล่าวว่า ความตั้งใจจะประมวลพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นหมายเหตุช่วยจำนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ครั้งทำหนังสือ “สิริฉายาลักษณ์” เมื่อ พ.ศ. 2552 แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการ ทำให้หนังสือที่พิมพ์ครั้งนั้นมีจำนวนเพียง ๕๒ หน้า ยังมีพระฉายาลักษณ์ที่ยังไม่ได้นำเสนออีกจำนวนมาก จนเมื่อปลาย พ.ศ. 2559 คุณวรพันธ์ โลกิตสถาพร แห่งบริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด ปรารภว่าควรจัดทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงร่วมมือกับคุณธงชัยทำขึ้นมา

โดยสรุป หนังสือชุด “ฉายาลักษณ์” ทั้ง ปีติฉายาลักษณ์ สิริฉายาลักษณ์ นพฉายาลักษณ์ ขัตติยฉายาลักษณ์ และปรีดิฉายาลักษณ์ ที่ออกมาแล้ว รวมถึง กีรติฉายาลักษณ์ จะเน้นการประมวลพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์ ซึ่งตีพิมพ์อยู่ทั่วไปบนปกนิตยสารและในหนังสือพิมพ์ต่างๆ นับแต่ต้นรัชกาลที่ 9 จนถึงยุค 2510 ยากที่จะมีผู้ใดเก็บรักษาไว้ได้ทั้งหมด
       
ด้วยเหตุที่นิตยสารและหนังสือพิมพ์ต้องใช้พื้นที่ จึงมักจะอ่านแล้วก็แล้วกันไป ไม่ใคร่มีใครเก็บ แม้ตามห้องสมุดต่างๆ ก็ใช่ว่าจะเก็บรักษาได้ครบทุกเล่ม ในส่วนของพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์นั้น ประชาชนบางคนเก็บด้วยวิธีตัดเฉพาะปกนิตยสารมาทากาวปิดลงในสมุดวาดเขียนเล่มใหญ่ๆ ทำนอง Scrapbook ของฝรั่ง ที่มีความประณีตมาก ฉลุภาพเก็บเฉพาะพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์เป็นหลัก ตัดฉากหลังที่เป็นตึกหรือผู้คนอื่นๆ กับคำบรรยายทิ้งไปก็มี ด้วยความที่เอนกและธงชัยชอบเก็บนิตยสารและสิ่งพิมพ์รุ่นเก่าซึ่งมีปกและเนื้อในเป็นพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์อยู่บ้างส่วนหนึ่ง จึงได้นำมารวมกันแล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือให้ได้หยิบอ่านกันง่ายขึ้น