10 พฤศจิกายน 2016

“ปรีดิฉายาลักษณ์” ภาพเล่าเรื่องรัชกาลที่ 9 ในดวงใจ

         
เอนก นาวิกมูล เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบและสะสมของเก่าจนทำให้เกิดเป็น “บ้านพิพิธภัณฑ์” อย่างที่หลายท่านรู้จักกัน และด้วยความรักในสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้เอนกเก็บพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์จากนิตยสาร วารสาร และหนังสือพิมพ์ จนรวบรวมเป็นหนังสือ “ปรีดิฉายาลักษณ์” ขึ้นมา

เอนกเล่าถึงที่มาของหนังสือปรีดิฉายาลักษณ์ว่า “เมื่อตอนปี 2549 ผมพร้อมด้วยคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์และคุณพงษ์ศักดิ์ สีสด ผู้บริหารเนชั่น ก็มีความคิดกันว่าอยากรวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เลยทำเป็นหนังสือชื่อ ปีติฉายาลักษณ์ จากนั้นก็ช่วยกันรวบรวม และเรียงตามลำดับตั้งแต่ยุคที่ท่านขึ้นครองราชย์ปี 2489 ต่อมาก็ยังมีเล่มย่อยออกมาอีกเช่น สิริฉายาลักษณ์ อันนี้รวมเน้นไปที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ และก็ยังมีนพฉายาลักษณ์ รวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ”



 
เมื่อหนังสือเล่มนี้ขาดตลาดไปนาน วรพันธ์ โลกิตสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด จึงอยากจะพิมพ์หนังสือชุดนี้อีกครั้งโดยใช้ชื่อ “ปรีดิฉายาลักษณ์” ซึ่งได้เพิ่มภาพ ไม่ให้ซ้ำจากปีติฉายาลักษณ์ นัก โดยเป็นการนำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า
“บ้านผมที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จะมีรูปในหลวงติดอยู่เยอะมาก ไม่ใช่แค่บ้านผม บ้านทุกหลังจะมีหมด ประชาชนรักในหลวงมาก นำรูปท่านมาบูชา ผมก็เห็นมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ผมรู้สึกว่าท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่สง่างาม เป็นพระมหากษัตริย์ที่ตั้งพระทัยในการทำงานอย่างมุ่งมั่นมาตลอด พระปณิธานของท่านแน่วแน่มาก จนกระทั่งท่านป่วย ท่านก็ยังทรงงาน นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทุกคนเคารพและชื่นชมพระบารมี โดยเฉพาะผม มองในแง่คนทำงาน และผมคิดว่าในหลวงท่านมีความตั้งใจในการทำงานสูงมาก ไม่นับงานด้านอื่นอย่างทางด้านศิลปวัฒนธรรมนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเราก็ยกย่องท่านเป็นอัครมหาศิลปิน” เอนกกล่าวถึงความประทับใจต่อในหลวงรัชกาลที่ 9
จากการสะสมพระบรมฉายาลักษณ์เหล่านี้ ทำให้เขาเองเห็นภาพสภาพสังคมในยุคต่างๆ ไปด้วย 



 
“เมื่อตอนท่านเสด็จประพาสตามจังหวัดต่างๆ เราก็ได้รู้ว่าผู้คนสมัยนั้นแต่งตัว และมีหน้าตาอย่างไร  เขามีบ้านเรือนลักษณะอย่างไร สมัยก่อนบ้านเรือนสวยงาม แต่ตอนหลังมันก็ถูกปรับเปลี่ยนให้มีหลายแบบขึ้น การที่เราได้เห็นภาพท่านด้วยแล้วก็ได้เห็นภาพบ้านเมือง ภาพวิถีชีวิต ภาพคนที่มาเฝ้ารับเสด็จด้วยความรักและบูชาในหลวง แค่นี้ก็เพลิดเพลินแล้ว มันเป็นจดหมายเหตุทางสังคมอย่างหนึ่ง มันมีจุดเล็กจุดน้อยที่คนจะสังเกตได้จากภาพเหล่านี้ แล้วก็ไปค้นต่อได้ เพราะว่าเราจะพยายามบอกหรืออธิบายภาพว่ามาจากหนังสืออะไร หรือว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไร เป็นแนวทางสำหรับให้คนได้เรียนรู้”
จากการพูดคุยกับเอนก นาวิกมูลในครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจคำว่า “ภาพบางภาพ สามารถอธิบายเรื่องราวได้มากมายมหาศาล”