03 กุมภาพันธ์ 2016

มณีจันท์ เขียนโดยไม่คาดฝัน

       
            เข้าสู่เดือนแห่งความรักของปี 2559 ' นัดพบนักเขียน ' เชิญนักอ่านทุกท่านมารู้จักกับนักเขียนนิยายรักกระแสตอบรับแรง  จากสังคมออนไลน์สู่หนังสือนิยายขายดี  อดีตสาวออฟฟิศผู้รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ  และเริ่มฝึกฝนทำงานเขียนจนกลายมาเป็นความรักในงานที่เขียน  เธอเดินบนถนนสายนี้อย่างจริงจัง  ตั้งใจมาเป็นเวลา 5 ปี กับผลงาน 25 เล่ม  'ณัฐกฤตา'  หรือ  'ตา' เจ้าของนามปากกา 'มณีจันท์' ซึ่งมีที่มาจากชื่อนางเอกละครในดวงใจอย่าง  'มณีจันท์' จาก 'ทวิภพ'  แต่เพราะเห็นว่าคนเกิดวันจันทร์ไม่ควรมี ร เรือ  จึงตัดออกเหลือแค่ ท ทหารการันต์  ซึ่งมุมมองของเธอที่มีต่องานเขียนนิยายรักนั้นก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย  เรามาทำความรู้จักเธอไปพร้อมๆ กันเลย

 ALL  : เริ่มต้นเขียนนิยายตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะอะไร

มณีจันท์ :
ตาทำงานเอกชนอยู่ประมาณ 7 ปี ในบริษัทที่เป็นกรุ๊ป  แต่ช่วง 2-3 ปีสุดท้ายก่อนที่ตาจะลาออก  เขาเปิดธุรกิจใหม่ในเครือขึ้นมา ก็เอาคนที่อยู่ตำแหน่งหัวหน้าขึ้นมาเป็นผู้บริหารเพื่อเช็ดบริษัทขึ้นมาใหม่  ตาก็อยู่ในทีมทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์  เหนื่อยง่าย งานเลิก 4-5 ทุ่มเที่ยงคืน ตี2 ก็ยังเคย  บางเสาร์อาทิตย์ก็ต้องเข้าไป  จนกระทั่งปลายปีทีไรก็แอดมิดทุกที  เป็นอย่างนี้อยู่ 2-3 ปี  แฟนบอกว่าอย่าทรมานตัวเองเลย  ก็ลาออกมาหางานใหม่ที่เข้าออกตรงเวลา  แต่ก่อนออกก็สมัครงานทิ้งไว้และได้งานที่ระยองเรียบร้อยแล้วแต่ตามีคอนโดที่กรุงเทพฯ  เลยสองจิตสองใจว่าไปดีไหม  เป็นงานที่อยากทำ  บริษัทก็ดี  บริษัทใหญ่  กำหนดเริ่มงานต้องรออีกประมาณ 1 เดือน  ระหว่างนั้นไม่รู้จะทำอะไร  เพราะตอนทำงานบริษัท  มันยุ่งจนเวลามีค่ามาก  พักเที่ยงยังแบ่งเวลาไปทำนู่นนี่  พอว่าง 24 ชั่วโมง เลยฟุ้งซ่าน ก็เล่นเน็ต  แล้วเจอนายออนไลน์ซึ่งสมัยเด็กๆ  ตาชอบอ่านหนังสือ  ตอนเรียนชั้นประถมก็อ่านพวกวรรณกรรมเยาวชน  นิทานชาดก  แบบเด็กๆ  พอมัธยมก็เริ่มอ่านนิยาย  มหาวิทยาลัยก็อ่านเล่มหนาขึ้นอย่างนิยายแปล  ช่วงไหนว่างก็อ่านทุกวัน  เคยเขียนใส่สมุดเล่นๆ  แต่ไม่เคยคิดเขียนนิยาย  จนมาถึงช่วงที่ว่าง  เห็นเขาเขียนนิยายออนไลน์กัน  มีคนเข้าไปอ่าน  เลยลองเขียนดูโดยไม่คาดหวังจะเป็นอาชีพ แต่เขียนด้วยสปีดที่เร็วมาก  เพราะถึงเราจะมีเวลาว่าง แต่ก็มีเวลาให้ลองไม่เยอะ  ให้เวลาตัวเองเต็มที่ครึ่งปี  เราต้องได้เงิน  เพราะเราทำงานสายธุรกิจมา  ก็วางแผนเลยว่า  ถ้าเราเขียนหนังสือส่งสำนักพิมพ์  เมื่อไหร่จะออกเล่ม  ได้เงินเท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้ช่วงแรก 6 เดือน เขียนไป 6 เล่ม  สุดท้ายก็ยกเลิกงานที่ระยองไปมาเขียนหนังสือจริงจัง  แบบไม่ต้องมีแรงบันดาลใจอะไร  เพราะเราอ่านหนังสือเยอะ  เป็นพันๆ เล่ม  อ่านมาตั้งแต่เด็ก  แต่งานชุดแรก เล่มแรกๆ ก็ไม่ได้ดีนะ  ทุกวันนี้ก็ยังไม่กล้ากลับไปอ่าน

 ALL  : ตอนเริ่มเขียนยากไหม

มณีจันท์ :
ไม่ยากเลย  ตอนเริ่มเขียนน่ะไม่ยาก  แต่พองานขายได้แล้วได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง  ความยากเริ่มจากตรงนี้แหละ  เพราะเรามีฐานแฟนคลับเยอะขึ้น  เขามาจากทุกกลุ่ม  ทุกอาชีพ  ทุกการศึกษา  มีอาจารย์มหาวิทยาลัย  มีด็อกเตอร์ มีนักอ่านอยู่ต่างประเทศเยอะมาก  มันมีจำนวนมากที่เขาเก่งกว่าเรา  มีความรู้มากกว่าเรา  พอเราเขียนเสร็จเรียบร้อยปุ๊บ  ขายได้  ก็รู้สึกว่าเราก็ไม่สามารถที่จะสร้างงานที่มันแย่ๆ ได้อีกแล้ว  เลยต้องกดดันตัวเองนิดหนึ่งให้มันดีขึ้น


 ALL  : มีกลวิธีการเขียนในอดีตกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร

มณีจันท์ :
จริงๆ ไม่ค่อยต่างนะคะ  แต่ด้วยประสบการณ์ที่เรามีมากขึ้น  เราจะมีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนขึ้นว่าต้องเขียนอะไรยังไง  แต่ไม่ได้หาข้อมูลจนรอบรู้เสร็จถึงมาเขียนนะคะ  ตอนแรกเราจะมีแค่พล็อตคร่าวๆ ในหัวจริงๆ แค่ 5 บรรทัดก็พอ  แค่เราเห็นพล็อตปุ๊บ  ก็รู้ว่าจะเขียนจบได้หรือเปล่า  แต่จริงๆ  งานเขียนที่ดี  ควรจะเขียนเรื่องย่อแล้วมาขยายเพื่อวางแผนได้ดีขึ้น  คืองานของตาจะเป็นแนว suspense, thriller action (มีปม  ข้อสงสัย)  ดังนั้นงานต้องให้คนอ่านคาดเดาได้ยาก  การเขียนแบบนี้จะต้องมีการวางแผนที่ดี  ถึงจบสวย  แต่นิสัยของตาจะไม่ใช่คนวางแผน  เพราะฉะนั้นบางทีเลยต้องกลับมาแก้รายละเอียดที่หลังเพื่อให้สอดคล้องกันไป  คือเรารู้สึกว่าวางแผนแล้วไม่สนุกกับการเขียนแต่แนะนำว่าถ้าเป็นนักเขียนใหม่จริงๆ ควรทำเรื่องย่อ  ควรวางแผนไว้  แต่ตาชอบด้นสด

 ALL  : ทำมาทั้งหมด 25 เรื่อง ตลอด 5 ปี วางพล็อตอย่างไรไม่ให้ซ้ำกับตัวเองและคนอื่น
 
มณีจันทร์ :
พล็อตไม่ค่อยซ้ำค่ะ  แต่ข้อเสียของตาคือเขียนนิยายแบบบุคลิกของพระ-นางค่อนข้างแคบ  จริงๆ แบบอื่นก็เขียนได้  แต่รู้สึกไม่ค่อยสนุก  แต่ถ้าเขียนแบบที่เราชอบเราจะรู้สึกว่าสนุก  ดังนั้นนักอ่านที่เขาชอบความหลากหลายมากๆ เขาก็อาจจะรู้สึกว่าตัวละครพระ-นาง ตัวเอกของเรามันไม่ค่อยต่างกัน  แต่พล็อตจะต่างกันไป  ซึ่งเราก็ไม่ได้แก้ไขอะไรเพราะสนุกจนอิ่มตัวกับมันแล้ว  คนอ่านก็โอเค  แต่ตอนนี้ก็เริ่มปรับให้ดีขึ้น  ส่วนเรื่องไม่ซ้ำใครนี่ จริงๆ พล็อตนิยายมันซ้ำอยู่แล้ว นิยายมีเป็นล้านๆเรื่อง แทบจะไม่มีพล็อตไหนเป็นพล็อตใหม่ เพียงแต่ในรายละเอียด ในความไม่ใหม่นั้น  เราสามารถมีวิธีเขียนและเนื้อหาของมันยังไงให้มันน่าสนใจกว่าของคนอื่น  คือให้มันมีจุดขายของตัวเอง ไม่ใช่เหมือนงานท้องตลาดทั่วไป  จุดเด่นคือเขียนยังไงให้แตกต่าง  เป็นความเหมือนที่แตกต่าง  เขาอ่านแล้วจดจำได้

 ALL  : ส่วนใหญ่ชอบออกนิยายชุด เป็นซีรีส์ มีแนวคิดการวงพล็อต กลยุทธ์และจุดประสงค์ในการเขียน อย่างไร

มณีจันท์ : มันมีซีรีส์อยู่ 2 แบบ คือเป็นของเราเองกับเป็นซีรีส์ของสำนักพิมพ์  ถ้าเป็นสำนักพิมพ์  เขาวางคอนเซ็ปต์หรือธีมของเรื่องไว้แล้ว  ราก็แค่มาแยกแต่ละคน  เช่น ' MY HERO '  เกี่ยวกับแรงบันดาลใจให้คนทำความดี  ก็ให้นักเขียนในกลุ่มคิดว่า  แต่ละคนจะประกอบอาชีพอะไร เพื่อให้สื่ออกไปทิศทางเดียวกัน ตัวละครมีความสอดคล้องและเกี่ยวข้องกัน  แต่ถ้าเป็นของตัวเองนี่ง่าย  เรารู้อยู่แล้วว่าเราจะเขียนอะไร  ส่วนใหญ่เราจะวางคอนเซ็ปต์หลักของเรื่องไว้ก่อน  เช่น 'ชุดบุปผารัญจวน'  เราเขียนเรื่องฆาตกรรมในครอบครัว  ก็จะจำแนกใน 3 เล่ม  ให้ตัวละครมีความเกี่ยวข้องกัน  อาจผ่านตัวใดก็แล้วแต่เพื่อคลี่คลายคดีฆาตกรรมให้จบในซีรีส์  อันนี้คือคอนเซ็ปต์หลักพล็อตหลัก  แต่เราก็มีพล็อตย่อยซึ่งสมบูรณ์ในตัวเองโดยที่เขาอ่านแล้วก็จะไม่รู้สึกค้างคา  โดยทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องต่อกัน  อ่านเล่มเดียวจบสมบูรณ์ในตัวเอง  แต่อาจมีบางจุดของพล็อตหลักที่อาจต้องต่อในเล่มถัดไป  แต่ส่วนใหญ่แฟนนิยายตาค่อนข้างเหนียวแน่นจะอ่านต่อกันทั้งซีรีส์  จุดประสงค์เราคือเขียนนิยายรัก  อย่างแรกต้องสนุกกับบันเทิง  จากนั้นเราก็อยากให้เขาอ่านแล้วได้อะไรจากนิยายบ้าง  ไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้นะ  อาจเป็นการส่งผ่านค่านิยม  ทัศนคติ  แบบอย่างที่ดี  ในฐานะที่เราเป็นสื่อต้องทำหน้าที่สื่อ  คือเขาอ่านแล้วก็น่าจะได้อะไรบ้าง

 ALL  : จดจำเรื่องราวจากเล่มต่อเล่มอย่างไรให้ปะติดปะต่อ  ไม่ติดขัดหรือขัดแย้งกับข้อมูลเดิม

มณีจันท์ : นิยายตามันยาวมาก  ตาเขียนเล่มหนาตัวละครก็เยอะ  ไม่เหมือนบางคนเขาตัวละคร 10 ตัว ก็จบ  แต่ของตาบางทีมีตัวละคร 50-70 ตัว  ดังนั้นเวลาเขียนก็ต้องมีไฟล์ Excel แยก เพื่อจดจำว่าตัวละครนี้  รูปร่างหน้าตา บุคลิกแบ็คกราวน์เป็นยังไง  ส่วนไหนที่เราเปิดปมไว้ เราก็ต้องโน้ตไว้ตั้งแต่แรก  สุดท้ายก็ต้องไล่ปิดปมให้หมด  ต้องทำแยกไว้อีกไฟล์ เวลาอ่านรอบแรกจะเจอที่หลุด  แต่พอมาอ่านทวน  ก็จะพบว่าเปิดตรงนี้ไว้แล้วสุดท้ายปิดมันรึเปล่า  เวลาที่เราเขียนอะไรไป  ถ้าไม่เกี่ยวกับพล็อตหลัก  ก็จะไม่เขียนอะไรที่ไม่จำเป็น  และมีเหตุผลว่าทำไมเราถึงเขียน  มันมีผลกับพล็อตของเรื่อง  ดังนั้นเราต้องตามแก้ไขให้หมดในตอนจบ  และต้องคุมบทที่1  กี่หน้า  บทที่2 กี่หน้า  ก็จะมีชื่อ บทที่1  ตอนนี้ชื่อนี้  หน้านี้ถึงหน้านี้  เพราะแต่ละตอนต้องมีความหนาประมาณเดียวกัน  ใช้โปรแกรม Excel จะสะดวกที่สุด

 ALL  : ตลอด 5 ปี มานี้ โลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว คุณคิดว่างานเขียนของตนเปลี่ยนไปรึเปล่า

มณีจันท์ : เปลี่ยนไป  ในแง่ที่พล็อตมันลึกขึ้น  สามารถสร้างพล็อตที่น่าสนใจได้มากขึ้น  แต่ว่าก็ยังเป็นนิยายรักเหมือนเดิมค่ะ  แต่เราเขียนมา 25 เรื่อง เหมือนจะถึงจุดอิ่มตัวละ  ตอนนี้กำลังเปลี่ยนแนว  แต่ใช้นามปากกาเดิม

 ALL  : เป็นนักอ่านมาก่อน  แล้วมีนักเขียนในดวงใจไหม

มณีจันท์ : มีค่ะ มีเยอะมาก  ไล่ไม่ถูกเลย  อย่างเช่น พี่ปุ้ย - กิ่งฉัตร,  คุณศรีสุรางค์,  คุณรอมแพง,  ทมยันตี,  ว. วนิจฉัยกุล  สมัยเด็กอ่านรุ่นครู  แต่นิยายสมัยใหม่มันต้องเป็นไปตามตลาด  ตามยุค  ดังนั้น  ถ้าเราชอบนักเขียนคนไหน  จะซื้อหมดซื้อทุกเล่ม  บางทีเราคุยกับนักอ่านที่อ่านหนังสือเหมือนกัน  เราเขียนหนังสือแต่เป็นนักอ่านด้วย  ดังนั้นถ้ารู้ว่าเรื่องไหนสนุก  นักเขียนคนไหนเขียนดี  ก็เอามาอ่านหมดค่ะ  เป็นแฟนพันธุ์แท้ 20-30 ท่านเลย  ไม่ใช่แค่นักเขียนไทย  นิยายต่างประเทศ  นิยายแปลอ่านหมด  ตอนนี้ก็ยังอ่านอยู่  แต่อ่านน้อยลง  เพราะมีผลว่าพอเราเขียนเสร็จปุ๊บ  เราต้องสร้างความแตกต่างให้งาน  ไม่ใช่ออกมากี่เล่มก็ยังเหมือนเดิม  ดังนั้นด้วยการอ่านงานของคนอื่นคือตาจะเลือกอ่านแต่งานที่ขายดี  งานที่บุคคลอื่นบอกว่าเขียนดี  เราก็จะไปตามอ่านแล้วดูว่าทำไมถึงเขียนสนุก  เขียนดี  ขายดี  ก็ดึงเทคนิคตรงนั้นมาพยายามหาจุดขายของเขามาทำเป็นสไตล์เราให้เกิดไอเดียว่า  อ้อ มันอย่างนี้  เขาเขียนได้อย่างนี้  ถ้าเป็นเราเราอาจนึกไม่ถึง  กับอีกอย่างคือ  ตาจะชอบให้นักอ่านเล่นเกมมาส่งพล็อตว่าตัวเองชอบแบบไหนก็ส่งมาให้เราแลกกับหนังสือ  บางทีเขาก็มีไอเดียดีๆ  ทำให้เราสนุกกับการเขียนมากขึ้น  เขาก็ได้อ่านสิ่งที่ยากอ่านด้วย

 ALL  : เมื่อ e-Book มีบทบาทกับวงการนักเขียนคุณต้องปรับตัวไหม

มณีจันท์ : ตอนแรกมันเติบโตเร็วมาก  แต่โชคดีที่เราเริ่มลง e-Book ตั้งแต่ปีแรก  ที่มันยังขายได้น้อย  ตอนนี้เหมือนกับว่านักอ่านจำนวนมากเขาเปลี่ยนจากการอ่านหนังสือมาอ่าน e-Book ยอดขายตรงนั้น  เราก็เลยไม่เสียไป  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคกลับกลายเป็นคนเอาเวลาอ่านหนังสือไปใช้กับโซเซียลมีเดีย  ท่องอินเตอร์เน็ต  ใช้เวลาออนไลน์เยอะมาก  จนความสนใจที่จะอ่านหนังสือหรือใช้เวลาอ่านหนังสือมันน้อยลง  ดังนั้นก็จำเป็นต้องมี e-Book เพราะง่ายสำหรับเขา  กดอ่านจากปลายนิ้วได้  พกไปไหนมาไหนได้  ช่วยให้จำนวนคนที่อยากอ่านไม่ลดลง  เพราะเขาใช้มือถือได้ตลอดเวลาและเข้าถึงง่าย

 ALL  : นักอ่านพูดถึงงานของคุณแตกต่างกัน  แล้วคุณมองงานเขียนตนเองอย่างไร

มณีจันท์ : ก็เป็นนิยายรักนะคะ  คนชอบก็มี  คนไม่ชอบก็มี  แต่เวลาที่ได้รับฟื้ดแบ็คในทางลบ  ส่วนใหญ่ก็จะไม่เสียเซลฟ์นะคะ  เราเข้าใจ  รู้ว่าเขาฟื้ดแบ็คมาด้วยความรู้สึกส่วนตัวหรือมีประโยชน์กับงานว่าตรงนี้เราเขียนไม่ดีจริงๆ  ก็จะได้มุมมองเพิ่มขึ้น  เราไม่มองมันในแง่ที่ทำตัวเองเครียด  แต่จะเอามาปรับใช้กับงานต่อมามากกว่า  มองงานตัวเอง  ตารู้สึกว่ามันกลางๆ  เป็นนิยายรักประโลมโลกที่มีสาระบ้าง  แต่ไม่หนัก

 ALL  : อยู่ในวงการนิยายรักที่ทำนักอ่าน 'ฟิน'  กันเต็มบ้านเต็มเมือง  แล้วตัวมณีจันท์เอง 'หวาน' ไหม

มณีจันท์ : ไม่หวานเลยค่ะ  ไม่เหมือนเลย  อาจจะเป็นคนโรแมนติค  มีมุมมองนี้บ้าง  แต่เราคิดว่าเราเข้าใจกลุ่มนักอ่านในงานที่ตัวเองเขียนมากกว่า  เราเข้าใจผู้หญิงว่าอยากอ่านอะไร  แต่นิยายก็ไม่ได้หวานมากนะ  แต่นั่นก็คือตัวละครที่สร้างขึ้นมา  บางคนเวลาเขียนนางเอกก็จินตนาการตัวเองเป็นนางเอก  แต่ตาไม่ทำอย่างนั้น  ตารู้สึกว่าเขาเป็นลูก  ลูกชาย ลูกสาวเรา  ก็สร้างบุคลิกเขาขึ้นมาก่อน   แล้วก็ปล่อยให้ดำเนินบทบาทตามบุคลิกของตนเองไป  มันก็เป็นไปได้แหละที่เราใส่ความเป็นตัวเองลงไปบ้าง  แต่ก็ไม่เยอะค่ะ

 ALL  : คิดว่างานเขียนต้องใช้  'ความรัก'  ไหม

มณีจันท์ : ใช้แน่นอนค่ะ  ใช้ความรักในการที่เราอยากเขียนหนังสือเป็นอย่างแรก  แล้วเขียนนิยายรักมันก็เกี่ยวกับความรัก  เราก็ต้องเข้าใจความรักในระดับหนึ่ง  ถึงจะสามารถถ่ายทอดและทำให้คนอ่านอินได้  เริ่มแรกคอเป็นรักที่จะเขียนก่อนเราถึงสามารถใส่ความรักจริงๆ เข้าไปในตัวละครได้

ฝากอะไรถึงนักอ่านและนัก ( อยาก ) เขียนบ้าง

มณีจันท์ : สำหรับนักอ่านก็ต้องขอบคุณมากๆ  ที่สนับสนุนกันตลอดมา  เพราะฐานนักอ่านของตาขยายขึ้นตลอดไม่ลดลงเลยค่ะ  ก็อยากขอบคุณมากที่ตามอ่านตลอด  ส่วนนักอยากเขียนก็เขียนเลย  จะมีน้องๆ  บางคนที่มักมาถามหลังไมค์กับตาว่า "พี่ตา อยากเขียนหนังสือมากเลย แต่หนูไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี"  ตาก็จะบอกว่า "ถ้าอยากเขียนก็ให้เขียนไปเลย"  แต่ก่อนที่จะเขียนได้  ก็ควรเป็นนักอ่านก่อน  คือตาเห็นนักเขียนบางคนเขียนดีตั้งแต่เล่มแรกเลยนะคะ  เขาให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่เคยอ่านหนังสือ  ซึ่งตาคิดว่าน่าจะเป็นพรสวรรค์มากกว่า  แต่ต่อให้มีพรสวรรค์  เราก็ต้องมีพรแสวงด้วย  พยายามที่จะอ่าน  ไม่ใช่แค่อ่านนิยายนะคะ  อ่านหนังสือทุกประเภท  เพราะตามองว่านักเขียนเป็นงานที่โชคดี  มีอิสระที่จะเขียนสิ่งที่เราต้องการ  เรามีความอิสระที่จะหาความรู้ด้านใดก็ได้  เพื่อใส่ลงไปในนิยายของเราแล้วก็ไปย่อยข้อมูลให้คนอ่านเข้าใจ  เช่น  เขียนเกี่ยวกับทหาร  นักอ่านก็จะเข้าใจทหารมากขึ้น  หรืออาชีพอื่นๆ  เราเขียนลงไป  เขาก็จะได้รู้กับเรามากขึ้น  ดังนั้นคนเขียนหนังสือก็จะต้องเป็นคนที่ใฝ่รู้ตลอดเวลา


          ถึงจะอ่านมามาก  เขียนมามากขนาดไหน  แต่ความใฝ่รู้และการอ่านก็ยิ่งเป็นสิ่งที่  'มณีจันท์'  ย้ำอยู่เสมอว่า  ความรักก็เหมือนกับการอ่าน  ไม่ว่าจะจบดีหรือไม่ดี  แต่สุดท้ายพอเรานึกถึง  มันก็เป็นประสบการณ์ดีๆ  อยู่เสมอนั่นแหละ  เพราะฉะนั้นการอ่านหนังสือมีแต่ได้กับได้อย่างแน่นอน
 
ขอขอบคุณข้อมูลประชาสัมพันธ์จาก นิตยสาร ALL Magazine