01 ธันวาคม 2016

รู้จักศาสตร์พระราชาผ่านนวนิยาย รักห่มฟ้า

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา บรรยากาศของประเทศมีแต่ความเศร้าโศกและความรักความอาลัยของเหล่าพสกนิกรชาวไทย เนื่องจากตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงทำงานหนักและวางรากฐานการพัฒนาประเทศไว้มากมาย เช่น หลักเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ รวมทั้งแนวทาง ‘ศาสตร์พระราชา’ ซึ่งได้ขยายผลไปยังต่างประเทศจนได้รับการยอมรับเป็นศาสตร์ของโลกไปแล้ว

‘นัดพบนักเขียน’ ฉบับนี้ จึงขอนำผู้อ่านมาพูดคุยกับ 5 นักเขียนที่ได้ร่วมสร้างสรรค์นวนิยายชุด ‘รักห่มฟ้า’ อันได้แก่ ‘พระจันทร์กลางใจ’ โดย ญนันทร, ‘ใต้แสงดารา’ โดย ซ่อนกลิ่น, ‘ฟ้าล้อมทราย’ โดย คณิตยา, ‘พรายแสนดาว’ โดย กรรัมภา และ ‘พราวเวหา’ โดย ลัลล์ลลิล ซึ่งนวนิยายชุดนี้เกิดจากแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงจากโครงการ ‘กำลังใจ’ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและแบ่งปันน้ำใจแก่ผู้ผิดพลาดและด้อยโอกาสทางสังคม รวมทั้งยังได้น้อมนำแนวทาง ‘ศาสตร์พระราชา’ มาเป็นประเด็นสำคัญในการทำให้ผู้ที่ก้าวพลาดได้กลับมามีที่ยืนในสังคมไทยต่อไป ขอเชิญทำความรู้จัก ‘ศาสตร์พระราชา’ ผ่านนวนิยายชุด ‘รักห่มฟ้า’ จากฝีมือการประพันธ์ของ 5 นักเขียนไปพร้อมๆ กัน


ญนันทร ผู้เขียน ‘พระจันทร์กลางใจ’ 

'ญนันทร’ อดีตพยาบาลสาว ผู้ผันตัวเองมาเขียนหนังสือด้วยการทดลองเขียนนวนิยายออนไลน์ในวันที่ไม่ได้ขึ้นเวร จากการชอบอ่านหนังสือ ทำให้เธอชอบการเขียนหนังสือเข้าอย่างจัง เมื่อชีวิตมาถึงทางเลือกที่ต้องดูแลลูก เธอจึงปรึกษากับสามี และตัดสินใจออกจากงานมาเขียนนวนิยายเต็มตัว ‘ญนันทร’ บอกว่า “หลักการเขียนนวนิยายที่ยึดมาโดยตลอดคือการมีพลอตและตัวละครที่เข้มแข็ง และทุกอย่างจะทำงานได้เองโดยอัตโนมัติค่ะ”

การได้ทำงานในชุด ‘รักห่มฟ้า’ นับเป็นครั้งที่ ‘ญนันทร’ ได้ทำงานร่วมกับพี่น้องนักเขียนคนอื่น เพราะนวนิยาย 8 เล่มที่ผ่านมาเป็นการเขียนคนเดียวทั้งหมด “การได้ช่วยกันทำงาน คิดพลอต เสริมประเด็นต่างๆ ก็สนุกดีค่ะ ได้ทำงานร่วมกัน ไปหาข้อมูลลงพื้นที่ด้วยกัน อย่างชื่อเรื่อง ‘รักห่มฟ้า’ เราก็ช่วยกันคิด ยากกว่าคิดพลอตอีกนะคะ เพราะต้องการให้ชื่อคล้องจองกัน และสื่อถึงธีมข้างในเล่มด้วย”

‘พระจันทร์กลางใจ’ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของผู้ต้องขังหญิงที่ออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอกหลังจากพ้นโทษ “ก็พูดถึงเรื่องการยอมรับ การให้โอกาส และการกลับตัวเป็นคนดีสู่สังคมซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวนะคะ การหาข้อมูลก็ได้รับข้อมูลเรื่องยาเสพติดจากโครงการกำลังใจฯ สถิติและงานวิจัยของผู้ต้องขังจากกระทรวงยุติธรรม รวมไปถึงการบำบัดยาเสพติดของผู้ต้องขังทุกอย่าง ค่อนข้างมีรายละเอียดมาก ได้ข้อมูลก็เอามาย่อยเพื่อเขียนลงในนวนิยายค่ะ”

“ส่วนการเดินเรื่องก็จะเล่นกับแรงเสียดทานของคนในสังคมที่มีต่อนางเอกซึ่งเป็นอดีตผู้ต้องขังหญิง จะเขียนในแง่ของความเป็นจริงค่ะ เพราะไม่มีใครยอมรับเรื่องอดีตได้หรอกจนกว่าเธอจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่ากลับตัวกลับใจแล้วจริงๆ มีอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ เกิดขึ้นมากมายระหว่างพระเอกและนางเอก สองคนนี้เขาจะช่วยเยียวยาซึ่งกันและกัน เพราะนางเอกก็ท้อหลายครั้ง พระเอกเป็นคนดึงนางเอกให้ลุกขึ้นสู้ ส่วนพระเอกเองก็มีปมปัญหาในใจ นางเอกก็เป็นคนช่วยซัพพอร์ต ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ตรงกับคอนเซปต์ที่ว่า ทุกคนควรช่วยให้อดีตผู้ต้องขังกลับมายืนอยู่ในสังคมให้ได้อีกครั้งค่ะ”

‘ญนันทร’ เล่าถึงบรรยากาศการลงพื้นที่จริงว่า “ครั้งแรกที่เจอผู้ต้องขังหญิงก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน แต่พอได้คุยกับเขา ก็พบว่าเขาเป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรานี่แหละ แต่เขาเคยทำผิดพลาดเท่านั้นเอง ได้ฟังผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า อยากให้คิดว่า ผู้ต้องขังที่ออกไปแล้ว เขาคือผ้าขาวนะ เพราะเขาได้ชดใช้ความผิดที่ทำไว้ไปหมดแล้ว เขาเปรียบเสมือนคนที่เกิดใหม่ คุณก็ไม่ควรที่จะมีอคติกับเขาอีกแล้ว ก็คิดตามจริง ทำให้รู้สึกว่า ตัวเองมีทัศนคติที่ดีกับผู้ต้องขังมากขึ้น และเข้าใจในขบวนการค้ายาเสพติดมากขึ้นด้วย และถึงแม้จะใส่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ลงไปค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้อยากให้คนอ่านเครียดนะคะ ยังอยากให้ได้รับความบันเทิงอยู่เหมือนเดิม เพราะมันคือนวนิยายค่ะ”

สำหรับความรู้สึกที่ได้ทำงานชุดนี้ ‘ญนันทร’ กล่าวว่า “ภูมิใจมากและเป็นเกียรติที่สุดในชีวิตค่ะ เพราะได้เห็นพระเมตตาที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภามีต่อผู้ต้องขังหญิง ทรงมีพระราชดำริอันแน่วแน่ที่ต้องการช่วยเหลือเขาเหล่านั้น เมื่อต้องกลับไปสู่โลกภายนอกอีกครั้ง อยากให้คนไทยได้เห็นและเข้าใจถึงพระวิริยะของพระองค์ และช่วยกันให้โอกาสผู้ต้องขังหญิงตามที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มไว้ค่ะ”



ซ่อนกลิ่น ผู้เขียน ‘ใต้แสงดารา’

‘ซ่อนกลิ่น’ เป็นนักเขียนหนุ่มที่มักถูกชวนไปเขียนนวนิยายชุดร่วมกับนักเขียนหญิงในซีรีส์ต่างๆ อยู่เสมอ จากวิศวกรหนุ่ม ผู้ผันตัวเองมาเขียนนวนิยายรักจนมีผลงานเกือบ 40 เล่ม เขาเริ่มต้นเล่าถึงนวนิยายชุดนี้ว่า “โจทย์ที่ได้รับค่อนข้างยาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริต่างๆ รวมไปถึงยาเสพติด ผู้ต้องขัง กฎหมาย และการทูต ซึ่งแต่ละอย่างค่อนข้างยากและหนักครับ”

‘ใต้แสงดารา’ เป็นชื่อนวนิยายที่ ‘ซ่อนกลิ่น’ รับผิดชอบเขียนในชุดนี้ เขาบอกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้โอกาสผู้ต้องขังหญิง รวมทั้งเรื่องจิตใจของผู้ต้องขังหญิงเมื่อต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานของสังคมเมื่อได้ออกมาใช้ชีวิตปกติ “นางเอกเป็นผู้ต้องขังที่ถูกพักโทษ ตอนนั้นถือว่าเขายังได้รับโทษอยู่ แต่ก็สามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้ และมาเจอพระเอกซึ่งเป็นผู้คุมประพฤติ” ‘ซ่อนกลิ่น’ ได้ไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจริงหลายครั้ง “ผมมีโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศในทัณฑสถานหญิงบางแห่ง พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างตามโครงการพระดำริ เช่น มีห้องสมุด มีการจัดเสวนาสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ต้องขัง ฯลฯ แล้วก็ได้ไปพูดคุยกับผู้ต้องขังหญิงจริงๆ ครั้นไปลงพื้นที่ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย ผมได้สัมผัสว่าเขารู้สึกอย่างไร ผู้ต้องหาหญิงส่วนใหญ่จะถูกผู้ชายหลอก โดยเฉพาะหลอกให้ขายยาบ้า ซึ่งพอถูกจับ ผู้ชายเขาก็ไม่ได้มาดูดำดูดีหรอกครับ ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติซึ่งเป็นคนทำงานด้านนี้จริงๆ ท่านก็กรุณานำประสบการณ์ตรงมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการทำงานของสำนักงานคุมประพฤติที่เราไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ ผมก็ได้มานำเสนอไว้ในนวนิยายครับ”

เมื่อผู้ต้องขังหญิงกลับสู่โลกภายนอกอีกครั้ง ‘ซ่อนกลิ่น’ ให้ความเห็นว่า “เป็นใครก็คงระแวง ผมเข้าใจทั้งสองฝ่ายนะครับ ฝ่ายหนึ่งอยากได้โอกาส อีกฝ่ายหนึ่งไม่แน่ใจ จะทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ นั่นก็คือโครงการกำลังใจในพระดำริของพระองค์ภาฯ การทำงานชิ้นนี้ทำให้ผมได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ผู้ต้องขังบางคน แม้ตั้งใจว่าจะไม่กลับเข้าไปสู่วังวนของยาเสพติดอีกแล้ว แต่เมื่อเจอความกดดันและแรงเสียดทานจากโลกภายนอก ไม่มีงานทำ ไม่มีคนคบ เขาก็กลับไปสู่วงจรเดิมๆ อีก นี่คือจุดกำเนิดของการฝึกอาชีพต่างๆ เพื่อให้พวกเขาได้กลับมาใช้ชีวิตในโลกภายนอกได้”

‘ซ่อนกลิ่น’ ภูมิใจกับงานชิ้นนี้มาก ถือเป็นการทำงานที่ได้ตอบแทนแผ่นดิน ตอบแทนสังคม “แม้จะเป็นงานที่ยากเพราะมีเรื่องข้อเท็จจริงอยู่เต็มไปหมด ผมเองก็ไม่อยากให้เกิดข้อผิดพลาด แต่การเขียนในลักษณะนี้ เรามุ่งเป้าความเป็นนวนิยาย ไม่ใช่สารคดี ก็ต้องแบ่งสัดส่วนให้เหมาะสมทั้งความสนุกและข้อเท็จจริง ผมอยากให้คนอ่านรับรู้ถึงกระบวนการยุติธรรมและการให้โอกาสคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังหรือใครก็ตาม ผมมองว่าไม่มีใครอยากทำผิด แต่เมื่อทำผิดพลาดไปแล้ว เขาก็ย่อมอยากได้รับโอกาส ถ้าเขาได้รับโอกาส เขาก็ย่อมอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้มีชีวิตใหม่เหมือนกัน”



คณิตยา ผู้เขียน ‘ฟ้าล้อมทราย’

นักข่าวสาวเจ้าของนามปากกา ‘คณิตยา’ เขียนหนังสือมากว่า 10 ปี มีผลงานของตัวเองมาแล้ว 13 เล่ม นวนิยายในชุด ‘รักห่มฟ้า’ ถือเป็นงานเขียนลำดับที่ 14 แนวเขียนที่เธอถนัดคือแนวรักโรแมนติก

‘ฟ้าล้อมทราย’ เป็นภารกิจสำคัญที่ ‘คณิตยา’ รับผิดชอบ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาททางการทูต “ในเล่มจะสะท้อนว่าประเทศไทยใช้บทบาททางการทูตอย่างไรเพื่อขยายผลในเรื่อง ‘ศาสตร์พระราชา’ ซึ่งเป็นแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รวมทั้งโครงการของสมเด็จย่าที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดไปสู่เวทีนานาชาติ จะทำอย่างไรให้นานาชาติยอมรับ รวมไปถึงการผลักดันเรื่องการดูแลผู้ต้องขังหญิงในโครงการ ‘กำลังใจ’ ของพระองค์ภาฯ ด้วย โดยล่าสุดพระองค์ภาฯ ได้นำแนวทางเลือกของศาสตร์พระราชาและเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาช่วยให้ผู้ต้องขังที่ออกไปแล้วไม่หวนกลับมาทำผิดอีก โดยให้มีอาชีพรองรับ” ‘คณิตยา’ ได้นำเรื่องราวเหล่านี้มาสร้างเป็นนวนิยายผ่านตัวละครต่างๆ โดยมีภารกิจสำคัญของชาติเป็นตัวประกัน ‘

'คณิตยา’ เล่าว่า ตลอด 7 เดือนของการทำงานร่วมกันกับพี่น้องนักเขียน นวนิยายชุดนี้ทำให้เธอเติบโตขึ้นมาก เพราะต้องหาข้อมูลอย่างระมัดระวังและรอบคอบอย่างที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องข้อเท็จจริงในโครงการพระราชดำริต่างๆ การลงพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่นักเขียนกลุ่มนี้ขาดไม่ได้ “ฉากที่เขียนส่วนมากจะเกิดในต่างประเทศ คือกรุงเวียนนา แต่การได้ไปดูงานร่วมกันที่เชียงราย ก็ถือเป็นการไปดูบรรยากาศ เห็นบรรยากาศการทำงานในโครงการของสมเด็จย่า ที่ท่านนำมาใช้แก้ไขปัญหายาเสพติด มีการหยิบมาประกอบเรื่องบ้าง โดยนำบรรยากาศความสำเร็จของโครงการต่างๆ มาบรรยายเพื่อใช้โน้มน้าวทางการทูต และแสดงให้เห็นว่า เมื่อสถาบันกษัตริย์ดำริโครงการช่วยเหลือประชาชนแบบนี้ ทุกคนจะมีทางรอด มีโอกาสและมีอาชีพเลี้ยงตัว”

เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อนวนิยายชุดนี้ ‘คณิตยา’ บอกว่า “อยากให้คนอ่านได้ซึมซับซาบซึ้งกับสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงวางรากฐานไว้ อยากให้เห็นความพยายามของพระองค์ที่ทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อคนไทยมาโดยตลอด แล้วก็อยากให้คนอ่านมีความเพลิดเพลิน ได้เห็นการทำงานของนักการทูต ที่บางคนอาจมองว่าเป็นชีวิตที่สวยงาม ใส่สูท จิบไวน์ตลอดเวลา อยากจะบอกว่าไม่ใช่เลย ชีวิตนักการทูตในต่างประเทศเป็นงานที่ต้องดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนตลอด 24 ชั่วโมง แถมยังต้องอาศัยชั้นเชิงในการทำงานเพื่อให้ภารกิจต่างๆ ของชาติสำเร็จลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ การได้มีส่วนร่วมในนวนิยายชุดนี้ถือเป็นเกียรติประวัติของตัวเองอย่างที่สุดค่ะ”



กรรัมภา ผู้เขียน ‘พรายแสนดาว’

สาวสวยวัย 27 ยิ้มเก่งนาม ‘กรรัมภา’ เขียนนวนิยายมาตั้งแต่เรียนปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จนกระทั่งเรียนจบ ปัจจุบันเธอเขียนนวนิยายมาแล้วประมาณ 20 เล่ม และยึดอาชีพ ‘นักเขียน’ แทนวิชาชีพที่เธอร่ำเรียนมา เธอบอกอย่างภูมิใจว่า “แฟนหนังสือของกรรัมภาจะรู้เลยว่าแนวถนัดของกรรัมภาคือแอกชันดราม่า ระเบิดภูเขาเผากระท่อมค่ะ”

‘กรรัมภา’ ได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่อง ‘พรายแสนดาว’ ร่วมกับพี่ๆ อีก 4 คน “เล่มนี้จะเน้นเรื่องโครงการ Alternative Development (AD) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ศาสตร์พระราชา’ คือการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะนำมาปรับใช้กับผู้ต้องขังหญิงเพื่อไม่ให้เขาหวนกลับไปทำผิดอีก ภายในเล่มเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณหมอคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตและทำงานในกรุงเทพฯ โดยไม่รู้จักคำว่า ‘ศาสตร์พระราชา’ จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอได้มีโอกาสไปทำงานเป็นแพทย์อาสา เธอจึงพบว่าสิ่งเหล่านี้จับต้องได้จริง คำว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ไม่ใช่แค่การปลูกผัก แต่มีเรื่องความไม่ประมาท การประมาณตน การสร้างภูมิคุ้มกัน และอื่นๆ อีกค่ะ”

‘พรายแสนดาว’ เดินเรื่องผ่านตัวละครชื่อ ‘ดวิษา’ ซึ่งเป็นแพทย์อาสาที่ออกมาทำงานบนดอยสูง เธอได้พบกับพ่อเลี้ยงภูผา ผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับขบวนการค้ายาเสพติดที่เหมือนกับคนรักเก่าของเธอราวกับเป็นคนคนเดียวกัน ดวิษาจึงเริ่มพิสูจน์อะไรบางอย่างด้วยการเข้าหาและพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อต้องเขียนถึงเรื่องราวบนดอยสูงและขบวนการค้ายาเสพติดตามบริเวณตะเข็บชายแดน การลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลจริงที่จังหวัดเชียงรายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ‘กรรัมภา’ เล่าว่า “ดีใจที่ได้มีโอกาสไปเห็นสถานที่จริง การปฏิบัติงานจริง ทำให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ มากขึ้นและนำมาถ่ายทอดต่อได้อย่างสมบูรณ์ขึ้นด้วย อย่างตอนที่ได้ไปดูโครงการต่างๆ ของสมเด็จย่า เช่น โครงการทำกระดาษสา ก็ได้นำมาเขียนเป็นอาชีพของชาวบ้านในเรื่องด้วยค่ะ” สำหรับการเป็นนักเขียนนวนิยายที่เคยเขียนแต่งานที่เกิดจากจินตนาการของตัวเอง แต่เล่มนี้ ‘กรรัมภา’ ต้องเขียนโดยมีโจทย์กำหนด นักเขียนสาวบอกว่า “เขียนยากค่ะ เพราะเป็นงานใหญ่ แล้วก็ต้องเชื่อมโยงกับพี่ๆ นักเขียนคนอื่นด้วย แต่ได้ประสบการณ์จากการทำงานชิ้นนี้เยอะมาก ทั้งการไปดูงานที่เชียงราย ได้เห็นการทำงานของทหารและตำรวจ และได้สัมผัสกับสถานที่จริง