21 ธันวาคม 2016

ร่มแก้ว อ่านและเขียนไปตามวัย

พรชีวัน คือผลงานเล่มล่าสุดของฉัตรารัศมิ์ แก้วมรกต นักเขียนเจ้าของนามปากกา ‘ร่มแก้ว’ ซึ่งเรื่องนี้เธอเขียนช่วงต้นๆ ของเรื่องขณะอยู่ที่อิตาลี และเขียนต่อจนจบหลังกลับมาอยู่ที่เมืองไทย ฉากและบรรยากาศของเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นที่อิตาลีเป็นส่วนใหญ่ โดยมีโลเกชั่นหลักๆ อยู่ที่ฟลอเรนซ์ เมืองที่เธอไปเรียนต่อด้านออกแบบตกแต่งภายใน รวมถึงเมืองใกล้เคียงที่เธอได้เดินทางไปเที่ยว ซึ่งคนที่เคยไปอิตาลี และอ่านเรื่องพรชีวัน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อ่านแล้วนึกถึงช่วงเวลาที่ได้ไป ขณะที่คนไม่เคยไป ก็อินไปกับการเดินทางอันหวานซึ้ง ชวนฝัน ในดินแดนสปาเกตตีเช่นเดียวกัน  

“การได้เดินทางไปสถานที่จริงทำให้เขียนง่ายขึ้นในแง่ที่เราสามารถเก็บจุดเล็กจุดน้อยมาใส่ได้มากขึ้น และด้วยความที่เราเห็นภาพจริงๆ ทำให้ไม่ต้องใช้จินตนาการสร้างขึ้นเองมาก แต่สามารถเก็บจากสถานที่ที่ไปมาใส่เป็นฉากหลัง และยังเก็บบรรยากาศของสถานที่มาใส่ในนวนิยาย อย่างตอนที่เราเดินไปไหนมาไหนในเมืองตามถนนมีแต่เสียงเพลงคนเล่นดนตรี ขณะเดียวกันการที่ได้ไปยังสถานที่จริว เราก็ได้เห็นชีวิต เห็นความเป็นจริงที่มีทั้งมุมดีและไม่ดี ไม่ได้มีแต่ความโรแมนติกอย่างเดียว ก็แอบใส่ในนวนิยายบ้าง”

สำหรับเราการได้ไปเรียนต่อ ไปใช้ชีวิตที่อิตาลีอยู่ในเมืองแห่งศิลปะ คงเป็นช่วงเวลาที่รื่นรมย์ แต่สำหรับร่มแก้วแล้วการไปเรียนต่อเป็นเวลา 1 ปี กลับเป็นช่วงเวลาที่หนักไม่น้อย เพราะทั้งเรียนหนักและยังต้องแบ่งเวลาให้การเขียนนวนิยายส่งนิตยสารถึง 2 เรื่อง ฉะนั้นใน 1 สัปดาห์ เธอจึงต้องมีวันหนึ่งจัดไว้สำหรับการเขียนนวนิยาย

“ก่อนหน้าจะได้ทุนไปเรียน ไปเป็นครูผู้ช่วยสอนที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์อยู่ 1 ปี เป็นงานที่หนักมาก ทำงาน 6 วัน ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาเขียนนิยาย แต่ก็มีเรื่องที่เขียนสต็อกไว้แล้วครึ่งเรื่อง คิดว่าพอไปอิตาลีคงสบายขึ้น ไปเรียนอย่างเดียว แล้วก็คงพอมีเวลาเขียนนิยาย แต่พอไปเรียนจริงๆ เรียนแน่นตลอด ทุกอาทิตย์ต้องมีงานส่งอาจารย์ สต็อกนิยายที่เตรียมไว้หมดพอดี คราวนี้ต้องเขียนตอนต่อตอนเลย”

ร่มแก้วเป็นนักเขียนที่เขียนนวนิยายทั้งแบบรวมเล่มทีเดียว และเขียนแบบทยอยส่งนิตยสาร ซึ่งอย่างหลังเธอบอกว่าได้ฝึกวิธีการทำงานอีกแบบ เพราะหากเขียนรวมเล่มเธอมักใช้เวลาแก้ไขนาน บางทีเขียนถึง 70 เปอร์เซ็นต์แล้วกลับไปแก้ไขใหม่ แต่เมื่อเขียนส่งนิตยสารต้องมั่นใจ และไปข้างหน้าอย่างเดียว หาวิธีแก้ปัญหากับสถานการณ์ เพราะไม่สามารถกลับมาแก้ไขสิ่งที่เขียนไปแล้ว จึงต้องทำงานอย่างละเอียด และยึดมั่นในพล็อตที่วางไว้ โดยมีสมุดจดเป็นเครื่องมือสำหรับเตือนความจำ

“ถ้าเป็นตอนเด็กๆ เวลาเขียนนวนิยาย มีพลอตนิดหนึ่งก็ลงมือเขียนเลย แต่พอโตขึ้น ถ้าเขียนไปเลยจะทำให้เรื่องซ้ำกับของเดิมได้ง่าย ต้องมีการวางแผนก่อน มีเรื่องย่อแบบละเอียด ซึ่งแต่ก่อนเรามีแค่พลอตอย่างเดียว เช่น ให้นางเอกพระเอกอยู่บ้านใกล้กัน เกิดวันเดียวกัน คุณย่าอยากให้แต่งงานกัน แล้วกลับมาเจอกันตอนโต เหมือนกับมีพลอตแค่ 5 ตอนแรก แต่พอเขียนไปได้ 5 ตอน มักเกิดปัญหาว่าจะทำให้เรื่องดำเนินต่อไปยังไง ทำให้มีปัญหาว่าเขียนๆ ไป แล้วต้องกลับมาแก้ เพราะเราคิดไม่จบ แต่ถ้าคิดให้จบมีเรื่องย่อไว้ก่อนว่าจะมีปม มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ทำความคิดให้เป็นระบบก่อน จะทำให้เขียนง่ายขึ้น”

ร่มแก้วเอาสมุดจดพลอต จดรายละเอียดของนวนิยายที่เขียนมาให้ดู ปกติเธอมักแยกเป็นเล่มๆ ไว้เพื่อความสะดวกในการหา การทบทวน อย่างเล่มที่เธอเปิดให้ชมเป็นสมุดสำหรับเรื่องพรชีวัน ที่นอกจากเขียนเรื่องย่อไว้ ยังมีคาแรกเตอร์ตัวละคร ความคิดต่างๆ ที่เจ้าตัวบันทึกไว้ บางหน้าทำเป็น Mind Map บางหน้าเธอก็วาดรูปตัวละครในนวนิยายของตัวเองไว้

นอกจากวาดรูปการ์ตูนในสมุดแล้ว เรายังเห็นผลงานวาดภาพสีน้ำมันของร่มแก้วติดประดับไว้ตามผนังบ้าน ล่าสุดเธอยังไปเรียนวาดภาพสีน้ำ เป็นงานอดิเรกอีกด้วย นอกจากงานศิลปะแล้ว อีกสิ่งที่นักเขียนสาวคนนี้ชอบก็คือการอ่าน เห็นได้จากมุมทำงานของเธอที่จัดเป็นห้องสมุดขนาดย่อม

“เราเซ็ตห้องนี้ไว้ตั้งแต่ย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังนี้ ว่าจะใช้เป็นห้องทำงาน มีโต๊ะทำงาน ตู้เก็บหนังสือ เป็นมุมอ่านหนังสือของเราด้วย มีหนังสือที่เก็บมาแต่เด็ก อย่างวรรณกรรมเยาวชนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เรื่องแปล เรื่องสั้น แล้วก็พวกนวนิยายของนักเขียนที่ชอบ รวมทั้งผลงานเขียนของตัวเอง แล้วก็จัดที่นั่งเขียนหนังสือไว้ริมหน้าต่าง แต่พอนั่งไปพบว่าแดดร้อน เลยต้องเปลี่ยนมุมเขียน ตอนนี้ก็นั่งทำงานได้ทุกที่ในบ้านค่ะ แล้วพอมาสังเกตนิสัยตัวเอง พบว่าเป็นคนนั่งที่เดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนนั่งที่เดิมแล้วตันเขียนไม่ออกต้องเปลี่ยนที่ถึงจะเขียนได้ เลยมีโต๊ะเตี้ยๆ ตั้งไว้ในห้องนอน มีโต๊ะที่ห้องทำงาน บางทีก็ไปนั่งโซฟาห้องรับแขก ย้ายไปทั่วบ้าน เดี๋ยวนี้มีออกไปนอกบ้าน ไปเขียนตามร้านกาแฟด้วย”

ร่มแก้วบอกว่าหนังสือที่เห็นจัดเรียงไว้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีบางส่วนเก็บไว้ในห้องนอนบ้าง ใส่ในกล่องบ้าง เช่น หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ส่วนที่อยู่บนชั้นเป็นหนังสือที่ยังหยิบมาอ่าน โดยเฉพาะนวนิยายของนักเขียนที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นทมยันตี กิ่งฉัตร ว.วินิจฉัยกุล ฯลฯ

“ตอนเด็กๆ ชอบอ่านแนวพาฝัน พอโตขึ้นก็อ่านนวนิยายแนวผู้ใหญ่ อย่างของอาจารย์ ว.วินิจฉัยกุล เพิ่งมาอ่านระยะหลังๆ อ่านแล้วก็ชอบ และถือว่าท่านเป็นครูในการเขียนอีกคนหนึ่งเลย นวนิยายของท่านเล่าเรื่องชีวิตคนจริงๆ พระเอก นางเอกเป็นคนธรรมดาที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ นางเอกของอาจารย์บางทีแต่งงานและมีลูกแล้ว ผู้ชายที่แต่งงานด้วยก็ไม่ใช่พระเอก แต่สุดท้ายมาเจอพระเอกทีหลัง ทำให้เรารู้สึกว่านวนิยายไม่ต้องมีแต่ความรักหวานแหววก็ได้ แต่มีแง่คิดให้คนอ่าน”

นอกจากการอ่านที่เปลี่ยนไปตามวัยแล้ว ด้านการเขียนเธอบอกว่าเปลี่ยนไปเช่นกัน จากช่วงแรกๆ ที่เขียนแต่เรื่องใกล้ตัว เนื้อหาเน้นไปที่ความรักหวานแหวว มองโลกในแง่ดี แต่เมื่อโตขึ้นก็พัฒนาการเขียนหลากหลายแนวขึ้น เห็นได้ชัดเมื่อมาเขียนเรื่องคุณชายปวรรุจ หนึ่งในนวนิยายชุดคุณชายจุฑาเทพ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สถานการณ์บังคับให้ต้องเขียนนวนิยายแนวพีเรียด และยังเป็นไพรัชนิยายอีกด้วย นอกจากนั้นเธอยังพบว่า ความกุ๊กกิ๊กหวานแหววแบบวัยใสที่เคยใส่ไว้ในนวนิยายก็น้อยลง แต่เพิ่มประเด็นความคิดมากขึ้น

“พอเราโตขึ้นได้รับรู้เรื่องราวของเพื่อน เรื่องของคนในสังคม หรือเจอด้วยตัวเอง ก็รู้ว่าความรักไม่เหมือนในนิยาย ที่เมื่อเจอคนคนนี้แล้วเขาจะเป็นคนรักของเราไปตลอดอย่างเรื่องต้นรักริมรั้ว พระเอกนางเอกเป็นเพื่อนบ้านกันตั้งแต่เด็ก โตมาแต่งงานกัน แฮปปี้เอนดิ้ง ถ้าเกิดให้เขียนเรื่องนี้ใหม่ตอนนี้อาจมีความดราม่ามากขึ้น สุดท้ายแล้วอาจมีปัญหาชีวิตเกิดขึ้นระหว่างพระเอกนางเอก แต่ในตอนที่เขียนโลกของเรายังสวย ปัญหาของคน 2 คน ก็มีแค่หึงกัน แค่เข้าใจผิด ถ้าเขียนใหม่ตอนนี้ก็คงไม่เขียนกุ๊กกิ๊กแบบนั้น เหมือนรู้แล้วว่าชีวิตคนจริงๆ ไม่ได้ง่าย มันไม่เหมือนกับที่เราคิดตอนเด็กๆ”

อย่างไรก็ตาม ร่มแก้วยังยืนยันกับเราว่า จะพยายามรักษาความกุ๊กกิ๊ก ความหวานของนวนิยายของเธอไว้อยู่ เพราะเชื่อว่าคนอ่านนวนิยายก็ยังคงชอบเรื่องรักอยู่ เพียงแต่อาจเป็นมุมมองความรักที่โตขึ้นไปตามวัยและเวลา

(คอลัมน์ Writer's room เรื่อง : มาทิลดา ภาพ : ทามม์ ; นิตยสารขวัญเรือน)