ผมติดพันผ่านนิทานพม่า (ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ พ.ศ. 2551) อ่านทุกเรื่องจนไปเจอเรื่องเข้าบรรยากาศ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่...ชื่อ เรื่องห้าเกลอ
กาลครั้งหนึ่ง มีพี่น้องสี่คน และคนรับใช้คนหนึ่ง
คนรับใช้ชื่อนายตอไม้ รูปร่างเตี้ยล่ำแข็งแรง ดูจะไม่ใช่คนรับใช้ทั่วไป เพราะมีความรอบรู้ความชำนาญ ทั้งยังเข้มแข็งกว่าพี่น้องสี่คนบางบทบาท จึงดูจะเป็นผู้นำเสียด้วยซ้ำไป
พี่น้องสี่คน คนแรก ชื่อ นายวิวาท เหตุเพราะเขามีปกตินิสัย ชอบท้าใครต่อใครให้มาสู้ คนที่สองชื่อ นายยาว เพราะรูปร่างสูงกว่าพี่น้องทุกคน คนที่สาม ชื่อ นายกุมทรัพย์ เพราะเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ ระมัดระวังเรื่องการใช้เงิน
คนที่สี่ชื่อ นายเล็ก นอกจากเป็นน้องเล็กคนสุดท้อง ทั้งรูปร่างยังเล็กกว่าพี่น้อง
พี่น้องทั้งสี่รวมทั้งคนรับใช้ ท่องเที่ยวเดินทางหาประสบการณ์ไปตามเมืองต่างๆ ไม่เจอเมืองไหนน่าสนใจ
จนกระทั่งไปถึงเมืองหนึ่ง ว่ากับว่าเจ้าเมืองมีฤทธิ์อำนาจมาก ก็เกิดสะดุดหยุดคิด เกิดมาทั้งที น่าจะทำชีวิตให้ยิ่งใหญ่ ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ นายตอไม้ ผู้รับใช้เสนอให้ช่วยกันยึดเมืองนี้ไว้...พี่น้องทั้งสี่เชื่อมั่นในฝีมือ ก็เห็นด้วย
ปฏิบัติการยึดเมืองทำกันง่ายๆ ถึงประตูเมือง สี่พี่น้องและผู้รับใช้ก็มอบหมายให้พี่คนโต นายวิวาทเข้าไปท้ารบกับเจ้าเมือง เจ้าเมืองทำท่าจะสู้ไม่ไหว สั่งให้ทหารรุม
สี่พี่น้องหนึ่งผู้รับใช้ก็รวมตัวกันแสดงพละกำลัง นายวิวาทใช้ความยาวของตัว ฆ่าเจ้าเมืองได้ ทหารเห็นเจ้านายตายก็ยอมแพ้ ยกเมืองให้ผู้ชนะทั้งห้าครอบครอง
ปัญหาเกิดขึ้นทันที...ใครในคนทั้งห้าควรเป็นเจ้าเมือง
สี่พี่น้องเห็นตรงกันคนรับใช้นายตอไม้...ฉลาดหลักแหลมและเป็นผู้นำ ควรเป็นเจ้าเมือง
แต่นายตอไม้...ไม่เห็นด้วย เขาแนะว่า "นายวิวาท" พี่คนโตควรเป็นมากกว่าเพราะเป็นผู้เริ่มสงครามรบกับเจ้าเมืองเก่าด้วยความกล้าหาญ
นายวิวาทปฏิเสธเห็นว่า "นายยาวน้องคนที่สองเหมาะสม...เพราะมีฝีมือในการต่อสู้เข้มแข็งกว่าใครอื่น"
นายยาวไม่ยอมรับ บอกว่าบ้านเมืองมีทรัพย์สมบัติให้ต้องบริหารจัดการมาก ต้องให้นายกุมทรัพย์ถึงจะเหมาะ
แต่นายกุมทรัพย์ก็บอกว่า ไม่สามารถจะปกครองเมืองได้เลย หากไม่ได้ความช่วยเหลือของพี่น้องและคนรับใช้
“นายเล็ก นี่แหละ เหมาะเป็นเจ้าเมืองที่สุด" นายกุมทรัพย์เสนอย่างมั่นใจ "เขาตัวเล็กก็จริง แต่มีความสุภาพอ่อนโยน จนใช้ปกครองคนทั้งบ้านเมืองได้สบาย"
น้องคนเล็กปฏิเสธด้วยเหตุผล... “ผมตัวเล็กเกินไป เป็นเจ้าเมืองได้ก็ทำหน้าที่ไม่ได้ดี"
คนทั้งห้าอ้างเหตุผลต่างๆ นานา เกี่ยวกันเป็นเจ้าเมืองอยู่หลายชั่วโมง เมื่อเริ่มเหนื่อย เขาก็ได้ข้อยุติว่า พวกเขาทั้งห้านั่นแหละ...ต้องเป็นเจ้าเมืองทุกคน ช่วยกันปกครอง
นิทานพม่าเรื่องนี้ มีคำสอนว่า...เจ้าเอานิ้วมือทั้งห้าในตัวคนมาเปรียบเทียบ
นิ้วหัวแม่มือ เปรียบเสมือนนายตอไม้ คนรับใช้ เพระาเป็นพี่ใหญ่ที่แข็งแรง นิ้วชี้คือนายวิวาท เพราะมื่อทะเลาะกับใครคนไหน ก็จะชี้นิ้วไปหาคนนั้น
นิ้วกลางคือ นายยาว เหตุผลพอฟังได้ มันยาวกว่านิ้วอื่น นิ้วนาง คือ นายกุมทรัพย์ เพราะเมื่อสวมแหวน ก็ต้องสวมนิ้วนี้ และนิ้วก้อย คือ นายเล็ก เป็นนิ้วเล็กที่อ่อนแอ
นิ้วทั้งห้ามีความสามารถต่างกันนี่แหละ เป็นเพื่อนที่ซื้อสัตย์และแสนดี ช่วยให้ชนะอุปสรรคต่างๆ โดยไม่ต้องสงสัย
ผมอ่านคำสอนเรื่องเหลอทั้งห้าแล้ว...มองไปที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พวกท่านมากันจากทุกภาคส่วน ทุกพรรคการเมือง เสียงวิจารณ์จากคนต่างสี มีทั้งชอบใจ ไม่ชอบใจ
มองโลกในแง่งาม คนจำพวกร้อยพ่อพันแม่นี่แหละเป็นสัดส่วนผสมที่ดี
สัดส่วนที่จะทำให้ความเป็นกลางของรัญธรรมนูญลงตัว ตั้งใจทำกันให้ดีๆ นี่คือรัฐธรรมนุญที่จะใช้ต่อไปอย่างถาวร โดยไม่มีใครอยากฉีกทิ้งอีกเลย.
(จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
คอลัมน์ชักธงรบ ปีที่ 66
ฉบับที่
21084
วันอังคารที่
13 ตุลาคม
พ.ศ.
2558)
ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายหนังสือคุณภาพ
18 ซอยลาดปลาเค้า 63 ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220