03 พฤษภาคม 2016

เปิดนิทานอาเซียน เรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน

         บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด นำโดย วรพันธ์ โลกิตสถาพร กรรมการผู้จัดการ จัดการเสวนา “เปิดนิทานอาเซียน เรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน” โดยมีวิทยากร คือ รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ กรรมการวิชาการ ราชบัณฑิตสถาน, อ.ตูซาร์ นวย จากประเทศเมียนมาร์, อ.ส่าหรี สุฮาร์โย จากประเทศอินโดนีเซีย, ทอมแถม นาถจำนง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ เริ่มต้นบอกเล่าถึงที่มาของนิทานว่า เป็นเรื่องที่เล่ากันมาตั้งแต่สมัยก่อนที่ยังไม่มีตัวหนังสือ ในพระไตรปิฎกก็มีนิทานโดยเป็นส่วนของ พระสูตร โดยจะเป็นนิทานชาดกเล่าเรื่องชีวประวัติชาติก่อนของพระคุณเจ้า 500 เรื่อง โดยชาติที่ใหญ่ที่สุดคือชาติที่เป็น ช้าง คือ พญาช้างฉัททันต์ ส่วนที่เล็กที่สุด คือ นกแขกเต้า สมัยก่อนเล่านิทานกันด้วยปาก จึงเรียกกันว่า มุขปาฐะ โดยเล่าภาษาร้อยแก้ว ต่อมามีการเขียนเกิดขึ้นจึงพัฒนาเป็นการแต่งในรูปแบบร้องกรองกาพย์ กลอนต่างๆ ขึ้นมา
ด้าน อ.สรตี แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับนิทานของชาวเวียดนามอย่าง “จ่างกวิ่ง” หากเปรียบก็เหมือน “ศรีธนญชัย” ของไทย ยกตัวอย่างตอนที่มีชาวอินเดียมาท้าแข่งวาดภาพกับศรีธนญชัย แต่ในเวียดนาม คู่ต่อสู้ของจ่างกวิ่ง  คือชาวจีน ทำให้มองกลับไปได้ถึงประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่าชาวเวียดนามก็ต้องการปลดปล่อย นิทานเป็นสิ่งที่ระบายความกดดันในใจของคนถูกบังคับด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคม
อ.ส่าหรี กล่าวว่า สมัยก่อนอินโดนีเซียมีชาวเนเธอร์แลนด์มาปกครองกว่า 350 ปี ช่วงนั้นชาวบ้านได้รับการกดขี่จากชาวดัดซ์มากมาย มีคนคนหนึ่งชื่อว่า ชิปิตุง ซึ่งเปรียบเหมือนโรบินฮูด ออกขโมยของชาวดัดซ์ตามบ้านแล้วก็ไปแจกจ่ายชาวอินโดนีเซียที่ยากจน แต่ท้ายที่สุดเขาก็ถูกยิงเสียชีวิต จึงมีการอนุรักษ์บ้านที่เชื่อกันว่าเป็นของชิปิตุง และสร้างมัสยิดบริเวณนั้น ชื่อว่า มันสยิดชิปิตุง เพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึงเขาด้วย
ด้าน อ.ตูซาร์ ก็ได้เล่านิทานเกี่ยวกับการสอนเด็กๆ ให้รักมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่งที่ร่ำรวยแต่ไม่เคยกลับไปเหลียวแลพ่อแม่เลย วันหนึ่งตัวเขากลายเป็นสีม่วง ตัวเหม็น อัปลักษณ์ จนภรรยาและเพื่อนๆ หนีกันไปหมด แต่เมื่อเขากลับไปหาแม่ที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง น้ำตาของแม่ทำให้เขากลับมาเป็นปรกติ
ปิดท้ายด้วย ทองแถม นาถจำนง ที่เชื่อมโยงอาเซียนกับนิทานไว้ว่า นอกจากประเด็นทางด้านวัฒนธรรม การให้คติสอนใจในนิทานแล้ว ที่สำคัญในทัศนะคติผมมันยังใช้เจาะลึกหาอดีตเพื่อค้นพบอะไรบางอย่าง รากเหง้าที่ร่วมกัน จะโยงนิทาน ก่อนที่ศาสนาจะเข้ามา เราจะเห็นวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น การสร้างเรือนเสาสูง การเดินทางทางเรือ
นิทานนั้นไม่ได้ให้แค่ความเพลิดเพลิน แต่ยังให้คติธรรมสอนใจ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้าน วัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งเรื่องของวัฒนธรรมนี้ก็เป็นเสาที่สามของอาเซียนที่เราทุกคนต้องเรียนรู้
 

ขอขอบคุณข้อมูลประชาสัมพันธ์จาก โลกวันนี้