09 พฤษภาคม 2015

เปิดใจอาจารย์ผุสดี ถึงที่มาของกิจกรรม "นักเขียนพบนักอ่านกับ นาถลดา เจ้าของผลงาน นิราศรักกรุงกวี"

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เคยพระราชทานพระราชดำรัสตอนหนึ่งไว้ว่า  “ภาษาไทยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง  คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดความเห็นอย่างหนึ่ง  เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่งเช่นในทางวรรณคดี เป็นต้น  ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาให้ดี  ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหน” 

       ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติ  เป็นวัฒนธรรมที่ควรเรียนรู้และสืบสาน ด้วยเห็นความสำคัญของภาษาประจำชาติ ผุสดี เครือกนก อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยระดับ Middle School โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดีวิเทศศึกษาจึง ได้จัดกิจกรรม “นักเขียนพบนักอ่าน” ขึ้นเพื่อใช้ในวิชาเรียนวิชา ‘ภาษาและวัฒนธรรมไทย’ ของนักเรียนระดับชั้นเกรด 8  เพื่อให้ความรู้เรื่องภาษาเพื่อการสื่อสารแก่นักเรียน 40 คน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558
 
      “เนื่องจากเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ ช่วงเวลาของการเรียนส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ จึงทำให้มีความรอบรู้เกี่ยวกับความเป็นไทยน้อยกว่านักเรียนในโรงเรียนไทยทั่วไป การเลือกหนังสือให้เขาอ่านก็เป็นกลวิธีหนึ่งที่ตรงกับจุดประสงค์ของการเรียนวิชานี้ค่ะ” อาจารย์ผุสดีบอกถึงที่มาของกิจกรรมนี้
 
      กิจกรรม “นักเขียนพบนักอ่าน” ครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดีวิเทศศึกษา โดยอาจารย์ผุสดีเปิดเผยว่า ตนและคณะใช้เวลาคัดเลือกหนังสืออยู่พอสมควร  และในที่สุดก็เลือกเรื่อง ‘นิราศรักกรุงกวี’ ของ นาถลดา มาใช้ในชั้นเรียน เนื่องจากเรื่องนี้มีการวางพลอตเรื่องได้น่าสนใจ เชื่อมโยงเหตุการณ์ระหว่างอดีตสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นกับปัจจุบันได้อย่างลงตัว นอกจากผู้อ่านจะเพลิดเพลินไปกับสำนวนภาษาที่สละสลวยแล้ว ยังได้รับเกร็ดความรู้ที่หลากหลายโดยเฉพาะความเป็นไทย  ซึ่งผู้แต่งบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านบทร้อยกรองที่ไพเราะ ที่โดดเด่นคือได้นำ ‘สุนทรภู่’ มาเป็นตัวละครในเรื่อง
  
     นอกจากนี้ผู้เขียนยังสอดแทรกข้อคิด คติธรรมในการดำเนินชีวิต วิถีชีวิตของผู้คนทั้งในยุคอดีตและปัจจุบันไว้ในนิยายเรื่องนี้ด้วย
 
     “สำหรับนักอ่านที่อยู่ในวัยเรียน การใช้ภาษาของผู้แต่งเป็นภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย แสดงความเปิดกว้างของแนวความคิดของนักเขียนรุ่นใหม่โดยนำคำศัพท์ที่นิยมใช้ในโลกโซเชียลบางคำมาใช้ประกอบในงานเขียน ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความเป็น ‘นวนิยายร่วมสมัย’ ที่เด็กๆ อ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี”
  
     “การอ่านนวนิยายเรื่องนี้มีประโยชน์มาก เพราะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วรรณคดีไทย ที่สำคัญคือการให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว รวมถึงการใช้สำนวนภาษาอย่างถูกต้องผ่านตัวละครที่ผู้เขียนเรียงร้อยออกมา” อาจารย์ภาคภาษาไทยกล่าวทิ้งท้าย