เมื่อกล่าวถึง 'วัฒนธรรมการใช้ผ้า' หลายคนอาจมองเป็นเรื่องล้าสมัยไกลตัว ทั้งที่ความจริงวิธีคิดวิธีการใช้ผ้านั้นเป็นสิ่งร่วมสมัย มีการเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ดังจะเห็นการออกแบบประยุกต์ใช้ผ้าในแต่ละยุคสมัย เป็นต้นว่าผ้าคาดอก ผ้าสไบ ผ้านุ่ง ผ้าโจง ผ้าคล้องคอ เสื้อยืด กางเกง ทั้งยังสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก
เมื่อหันมองรอบตัว นอกจากเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้ว ยังมีผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ ผ้าปูที่นอน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน ฯลฯ ที่ทำขึ้นจากผ้า และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการใช้ผ้า ซึ่งจะเรียกให้โก้เก๋ ทันสมัยว่า 'แฟชั่นผ้า' ก็คงไม่ผิดเพี้ยนนัก อีกด้านหนึ่ง วัฒนธรรมการใช้ผ้าก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางสังคมได้ ทั้งตัวผ้าเองและวิธีการนุ่งห่มผ้า โดยเฉพาะตัวผ้านั้น เมื่อพิจารณาจากวัสดุเส้นใย สีย้อม ลวดลาย เครื่องมือเครื่องไม้ที่ใช้ทำผ้า ผู้รู้อาจบอกได้ทันทีว่าเป็นผ้าจากถิ่นใด เป็นเอกลักษณ์ของชนกลุ่มใด หรือสะท้อนถึงวัฒนธรรมร่วมในพื้นที่ใด 'บันทึกจับผ้าเล่มนี้' เส้นใยแห่งไมตรีคนอาเซียนลุ่มน้ำโขงผู้เขียนได้บันทึกขึ้นจากประสบการณ์หลายสิบปีในการรู้จักผ้าผ่าน 'การจับ' รวมถึงพูดคุยกับผู้รู้ทั้งผู้ทอผ้าในแต่ละท้องถิ่นและนักวิชาการเรื่องผ้า ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของผ้า แนะนำให้ผู้ที่ไม่รู้จักผ้ามาก่อนให้รู้จักผ้าทอของคนลุ่มน้ำโขง ให้เข้าใจว่าผ้าไทยผ้าทอนั้นเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิต ใส่ให้ทันสมัยได้ทุกวัยทุกวัน รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนผู้ที่สวมใส่ผ้าทอผ้าไทยอยู่แล้ว โดยมีความมุ่งหมายสำคัญเพื่อรักษาวัฒนธรรมแพรพรรณที่งดงามให้สืบต่อไป
---- เริ่มจัดส่งได้ตั้งเเต่วันที่ 28 มีนาคม 2557 ----
SALE