5

อยากให้รู้ว่ากำลังเปลี่ยนไป


5

อยากให้รู้ว่ากำลังเปลี่ยนไป

 

ถ้ามหาภาพเป็นพวกชอบโวยวายอาละวาด มาหยารัศมีคงจะรู้สึกดีกว่านี้ แต่เขายังคงเป็นคนใจเย็นพร้อมเข้าอกเข้าใจทุกคนเช่นเคย

เธอมองออกว่าเขาไม่พอใจ แต่ยอมถอยเพื่อให้ทั้งหมดปรับตัวเข้ากับสภาวะใหม่ และเธอก็ดูออกว่าเขาอยากจะพาลูกชายที่เพิ่งรู้จักกลับไปอยู่ด้วย แต่เขากลับยอมเป็นฝ่ายมาหาพวกเธอบ่อยๆ แทน เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับการมีพ่อ

“ขอพี่ขึ้นไปดูลูกพลับหน่อยได้ไหม”

ไม่มีเหตุผลที่มาหยารัศมีจะปฏิเสธ ความจริงเธอควรขอบคุณมหาภาพด้วยซ้ำที่ไม่พยายามจู่โจมเข้าหาพลลภัตม์เพื่อทำตัวสนิทสนมคุ้นเคย ซึ่งจะเป็นการสร้างความลำบากใจให้เธอกับลูก

พลลภัตม์เป็นเด็กเข้ากับคนง่ายก็จริง แต่เขาถูกสอนมาว่าอย่าใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า แล้วบิดาที่เคยได้ยินเพียงชื่อ เห็นเพียงรูปถ่ายก็ไม่ต่างจากคนแปลกหน้าเท่าไร

แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็คอยมองตามร่างเล็กๆ ตลอดเวลา มือที่แม้ไม่เอื้อมไปหาแต่ให้ความรู้สึกเหมือนว่ามันอยากจะอุ้ม อยากจะกอด แล้วมหาภาพก็ยืนยันความคิดของมาหยารัศมี เมื่อมาถึงเตียงนอนที่พลลภัตม์กำลังหลับสนิท เขาก็หันมาขอเธอทันที

“ขอพี่อุ้มลูกได้ไหม พี่จะระวังไม่ให้เขาตื่น”

มาหยารัศมีอยากจะปฏิเสธ แต่ทนสายตาอ้อนวอนของมหาภาพไม่ไหว เขาทำเหมือนว่าหากไม่ได้ชื่นชมของล้ำค่าในมือเธอ เขาจะขาดใจตาย และเธอก็ต้องยอมรับว่าของชิ้นนี้เป็นสิทธิ์ของเขาครึ่งหนึ่ง

“เวลาลูกพลับหลับค่อนข้างตื่นยากค่ะ แต่ระวังนิดก็ดี”

เธอไม่จำเป็นต้องเตือน เพราะแค่พยักหน้า มือของเขาก็สอดไปใต้ร่างของเด็กชายอย่างระมัดระวัง พลลภัตม์ที่หลับสนิทไม่แม้แต่จะนิ่วหน้า มหาภาพจึงสามารถประคองเขามาไว้ในอก แล้วค่อยๆ ช้อนศีรษะเล็กขึ้นมาจูบเบาๆ ลงบนหน้าผาก

ภาพสัมผัสแรกของสองพ่อลูกสร้างความร้อนเอ่อขึ้นมาบนขอบตาของมาหยารัศมี เธอกะพริบตาถี่ๆ สะกดมันลงไปก่อนมหาภาพจะทันได้เห็น แล้วเมื่อหันกลับไปมองอีกทีก็พบว่าเขายังจดจ่ออยู่กับลูกในอ้อมแขน จูบสลับกับมอง และเป็นฝ่ายหลั่งน้ำตาออกมาเอง

หลังจากฝืนยอมปล่อยมือวางลูกลงไปนอนต่อสำเร็จ มหาภาพก็หันมาบอกมาหยารัศมีด้วยดวงตาแดงก่ำ แฝงประกายเจิดจ้าเพราะความสุข

“พี่เคยสงสัยว่าถ้ามีลูกจะรู้สึกยังไง แต่ไม่นึกเลยว่าจะดีใจขนาดนี้”

ถ้ามหาภาพตำหนิการที่เธอปิดบังเรื่องพลลภัตม์มาตลอดหลายปี มาหยารัศมีคงไม่รู้สึกผิดถึงเพียงนี้ หนำซ้ำนี่ยังเป็นแค่หนึ่งในความผิดที่เธอปิดบังเอาไว้ โดยไม่คิดจะบอกเขา

 

“ลูกเหรอ!!! ภาพมีลูก ยังไง กับใคร!!!”

โทษกมลชนกไม่ได้ที่พูดจาไม่ปะติดปะต่อเพราะความประหลาดใจ ขนาดคำถามที่ว่ากับใคร เธอยังเอ่ยออกมา ทั้งที่มหาภาพบอกไปแล้วว่าพลลภัตม์เป็นบุตรชายของเขากับมาหยารัศมี

“ผมก็เพิ่งรู้ครับ ลูกหยีคงมีเหตุผลบางอย่าง”

“เอาเถอะ เรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว ภาพจะเอายังไงต่อ จะให้ลูกมาอยู่ที่นี่ไหม น้าจะเตรียมห้องไว้รอ อยากเห็นหน้าหลานเหมือนกัน”

หลังจากตั้งสติได้ กมลชนกก็ลำดับความสำคัญของเรื่องอย่างรวดเร็ว เริ่มจากการดูแลหลานชาย แต่มหาภาพไม่พลาดที่จะสังเกตว่าเธอไม่เอ่ยถึงการให้เขารับผิดชอบมาหยารัศมี ไม่แม้แต่จะเชื้อเชิญหญิงสาวให้เข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัว

มหาภาพมองออกและเข้าใจความหวังดีของกมลชนก ไม่ว่าเมื่อไร ผู้หญิงที่เหมาะจะเป็นแม่ของลูกเขาในสายตาของเธอก็ไม่ใช่มาหยารัศมี แต่ต้องเป็นคนที่ดีที่สุด ซึ่งคงไม่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้

ความคาดหวังเป็นปัญหาใหญ่ในความรักเสมอ คนเรามักจะอยากให้คนที่เรารักได้รับแต่สิ่งที่ดีที่สุด เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ จนบางทีอาจลืมไปว่าความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีจริง และสิ่งที่ดีที่สุดที่ทุกคนต้องการ ก็คือความสุข ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์แบบเลย

“ผมกับลูกหยียังไม่ได้คุยรายละเอียดกันครับ”

จากการเลียบๆ เคียงๆ ถามของเขาระหว่างช่วยเธอจัดเก็บของ ทำให้รู้ว่ามาหยารัศมีกำลังจะรับงานเป็นผู้จัดการร้านอาหารแห่งหนึ่ง เธอมีแผนการมากมายสำหรับตัวเองและลูก ซึ่งไม่รู้ว่าเธอลืมไปหรือไม่ว่าควรรวมเอาเขาเข้าไปในแผนการด้วย แต่มหาภาพมั่นใจว่าเขาจะแทรกตัวเข้าไปในแผนเหล่านั้นได้สำเร็จด้วยความมุ่งมั่นที่เหนือกว่า

“ลูกหยีเป็นคนใจร้อนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว น้ากลัวว่าจะเลี้ยงหลานเสียคน”

น้ำเสียงเป็นห่วงเป็นใย ไม่อาจกลบเกลื่อนถ้อยคำว่าร้ายแกมยุแยง แต่คนฟังรู้ถึงทัศนคติที่คนพูดมีต่อมาหยารัศมีดี ถึงอย่างนั้นเขายังทักท้วง

“ลูกพลับอยู่กับแม่มาห้าปีแล้วนะครับ เท่าที่ผมเห็น แกเป็นเด็กดีมาก” แค่คิดถึงเจ้าตัวเล็ก ใบหน้าของมหาภาพก็ประดับรอยยิ้ม

ภายนอกเด็กชายเป็นส่วนผสมระหว่างมหาภาพกับมาหยารัศมี ท่าเดินอาดๆ จับจ้องทุกคนด้วยสายตาเหนือกว่า แล้วยังคำถามที่มีมาเป็นระยะ นั่นคือลักษณะของคนที่มั่นใจในตัวเองแบบเดียวกับผู้เป็นแม่ ยังดีที่พลลภัตม์ไม่ติดนิสัยเอาแต่ใจมาด้วย ตรงกันข้าม เขามีความช่างสังเกตและเอาใจใส่แบบพ่อ ต่อให้ยังไม่คุ้นเคยกันก็ห่วงว่ามหาภาพจะไม่สบายหรือไม่ คอยมอง คอยส่งน้ำดื่ม แล้ววิ่งไปตั้งหลักแอบมองห่างๆ น่ารักเสียจนเขาอยากจะลักพาตัวกลับมาบ้าน แต่ถ้าทำจริงๆ เขาจะหอบมาทั้งแม่ทั้งลูก แล้วกักตัวไม่ให้ไปไหนไกลตา

“แต่ถ้าคาราคาซังกันแบบนี้ ภาพจะคุยกับพ่อแม่ของน้ำฟ้ายังไง” ในที่สุดกมลชนกก็เผยความกังวลอันดับต้นๆ ของตนออกมา

น้ำฟ้า หรือระรินทิพย์ เป็นญาติห่างๆ ของกมลชนก รุ่นราวคราวเดียวกับมาหยารัศมี แต่นิสัยต่างกันลิบลับ ขณะที่ฝ่ายหลังไม่พอใจอะไรก็ใส่ฉอดๆ ไม่เคยไว้หน้าผู้ใหญ่ แต่ระรินทิพย์กลับน่ารักอ่อนหวาน คล้ายๆ กับบัวบูชา แต่มีความดีจากข้างในชนิดที่คู่หมั้นคนแรกของมหาภาพเทียบไม่ติด จะว่าไปทั้งสองคนก็มีนิสัยกับท่าทางแบบผู้หญิงหัวเก่าแบบเดียวกับกมลชนก เธอจึงยินดีให้หลานชายคบหาด้วย

มหาภาพฟังน้าสาวอ้างถึงผู้หญิงอีกคนแล้วก็ได้แต่แอบถอนใจ เขากับระรินทิพย์รู้จักกันผ่านๆ ตั้งแต่เด็ก เพิ่งจะเริ่มคุ้นเคยกันไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพราะการชักนำของกมลชนก แต่เขาไม่ได้คิดอะไรเกินเลยกับเธอ เพียงแค่รับปากว่าจะดูๆ กันไปก่อน ไม่แค่เขาเท่านั้น ฝ่ายหญิงเองก็พูดเป็นนัยว่าชอบพอคนอื่นอยู่

“เอาเถอะ เรื่องนั้นเราค่อยมาคุยกันทีหลังได้”

เห็นสีหน้าท่าทางของหลานชายยามที่เธอเอ่ยถึงญาติห่างๆ เพื่อขัดขวางการเข้ามาของมาหยารัศมี กมลชนกก็รู้ว่าพูดไปมีแต่จะทะเลาะกันในที่สุด จึงเปลี่ยนมาเป็นประนีประนอม

“เราคุยกันคงไม่มีประโยชน์หรอกครับ หรือถ้าจะคุยก็ต้องคุยกันพร้อมลูกหยี” บางเรื่องต้องพูดกันให้ชัดเจน และเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาภายหลัง มหาภาพจึงแสดงออกถึงจุดยืนของเขา

“ผมอยากให้ลูกมาอยู่กับผม แต่ผมจะไม่แย่งลูกมาจากแม่ แล้วก็จะไม่ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีด้วย”

สีหน้าของกมลชนกดูไม่ดีเลย เธอเม้มปากแน่น สองมือกำเข้าหากันจนข้อนิ้วขึ้นสีขาว มหาภาพรู้ว่านี่เป็นสัญญาณว่าน้าของเขาจะใช้ความโกรธจนล้มป่วยมาเป็นเครื่องมือ

“น้ามลครับ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนที่ผมเคารพรักก็ยังเป็นน้านะครับ”

บ่าที่เกร็งของกมลชนกคลายลงเล็กน้อย แต่ก็ยังแสดงท่าทีปั้นปึ่งใส่หลานชายอยู่ดี เธอเมินหน้าหนี แล้วใช้น้ำเสียงเหน็บแนมเขา

“แต่ไม่ถึงวัน ภาพก็เห็นลูกหยีดีกว่าน้าแล้วไม่ใช่หรือ เมื่อคืนก็ไปค้างที่นั่น” ถึงมหาภาพจะส่งข้อความมาบอกว่ามีธุระด่วนจำเป็นต้องค้างที่อื่น แต่กมลชนกก็ร้อนรนเพราะความเป็นห่วงอีกฝ่ายทั้งคืน

“ธุระด่วนจริงๆ ครับ ตอนทำงานไง แล้วก็ทำผมยุ่งจนลืมกินข้าว โดนหมอฉีดยาไปสองเข็ม เลยหลับยาวไปเลย” เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่ดี เพราะคนฟังเลิกตั้งท่าหาเรื่อง

“โรคกระเพาะกำเริบอีกแล้วเหรอภาพ”

“ครับ จะว่าไปนี่ก็เริ่มปวดๆ อีกแล้ว”

ความเครียดเป็นตัวเร่งอาการปวดท้อง ถึงเขาจะไม่ได้อดอาหาร แต่การมานั่งถกเถียงกับผู้เป็นน้า ก็เพิ่มกรดในกระเพาะอาหารได้เป็นอย่างดี

“ไปๆ หาอะไรเบาๆ รองท้องเป็นมื้อเย็นแล้วค่อยกินยานอนก่อน เรื่องงานทิ้งไปวันนึง พรุ่งนี้ก็เสาร์อาทิตย์ พักผ่อนเยอะๆ จะได้ไม่ทรุดลงไปอีก”

เรื่องมาหยารัศมีจึงยุติลงชั่วคราว ชายหนุ่มพักผ่อนแต่วัน เพราะร่างกายของเขาไม่ไหวจริงๆ ถึงอย่างนั้นสมองของเขาก็ไม่อาจหยุดคิด

หกปีผ่านไปไวเหมือนเมื่อวาน สนามบินแห่งเดิมที่มาหยารัศมีเดินจากไปเป็นสถานที่ที่เธอเดินกลับมา ทว่าคราวนี้มหาภาพจะไม่ปล่อยให้เธอจากไปอีก ไม่เพียงเพราะเธอเป็นแม่ของลูกเขา แต่เพราะเขาเริ่มมั่นใจว่าคิดกับเธอมากกว่าในฐานะน้องสาว

ขอเวลาอีกนิด เขาจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น แต่ขณะกำลังจะเคลิ้มหลับ มหาภาพก็ผุดความสงสัยบางอย่างขึ้นมา...ทำไมกมลชนกถึงไม่สงสัยเลยว่าพลลภัตม์เป็นลูกชายของเขาจริงหรือไม่ ทั้งที่ไม่เคยเจอหน้าเด็กชายเลย ทำไมน้าของเขาที่เกลียดแม่ของลูกเขาจับใจถึงเชื่อว่าอีกฝ่ายไม่โกหกเอาเด็กมาแอบอ้าง

 

ไม่ว่าทางบ้านของมหาภาพจะโต้แย้งกันอย่างไร หรืองานของเขาจะวุ่นวายหรือไม่ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับมาหยารัศมี เธอมีแผนการมากมายที่ต้องทำ เริ่มจากพาพลลภัตม์ไปกินอาหารมื้อค่ำในร้านที่เธอกำลังจะรับตำแหน่งผู้จัดการ

บรรยากาศในร้านนิวแบงคอกเป็นส่วนผสมระหว่างร้านอาหารไทยฟิวชันกับร้านอาหารอเมริกันที่มีกลิ่นอายนิวยอร์ก เปิดให้บริการตั้งแต่สิบเอ็ดโมงไปจนถึงสี่ทุ่ม เป็นมื้ออาหารกลางวันและอาหารค่ำ แต่ในฐานะผู้จัดการร้าน เธอต้องอยู่ดูแลร้านตั้งแต่สิบโมงครึ่งไปจนถึงสี่ทุ่มครึ่ง

เวลาสิบสองชั่วโมงในที่ทำงานทำให้มาหยารัศมีต้องใคร่ครวญอย่างหนักก่อนตอบตกลงรับงานนี้ เพราะปัญหาสำคัญคือเธอจะไม่มีเวลาอยู่ดูแลพลลภัตม์ และเธอจะไม่ยอมให้เขาเติบโตขึ้นมาด้วยมือพี่เลี้ยงเด็ก ทว่าเจ้าของร้านซึ่งเคยเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมาก่อนช่วยแก้ปัญหาให้

‘น้าจะจ้างลูกพลับมาเป็นพนักงานต้อนรับที่นี่เอง จะได้ช่วยงานน้องทิวด้วย’

ภาคินีพูดติดตลก แต่หมายความตามนั้นจริงๆ เพียงแต่ค่าจ้างของพลลภัตม์จะเท่าๆ กับทิวเดน ลูกหลงวัยไม่กี่เดือนของเธอ นั่นก็คือเวลาที่ได้อยู่กับแม่

ด้วยวัยสี่สิบสอง ถ้าเป็นคนอื่นคงจะดูประหลาดกับการได้เป็นคุณแม่ แต่ภาคินีดูเหมือนผู้หญิงอายุสามสิบต้นๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีลูกชายอายุห่างพี่ถึงยี่สิบหกปีเช่นนี้

เพราะเห็นแก่สุขภาพของผู้เป็นแม่ที่เลือกจะคลอดลูกอีกครั้งทั้งที่มีความเสี่ยง แทนไทซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการบริหารร้านอาหารไทยในนิวยอร์กจึงย้ายครอบครัวกลับมาบ้านเกิด และเปิดร้านอาหารไทยกลิ่นอายอเมริกันขึ้นมา เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงาน โดยอาศัยทำเลใกล้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หลังจากสาขาแรกมีชื่อเสียงและทำกำไรให้อย่างงาม ก็เปิดสาขาสองโดยให้คนที่เขาไว้ใจได้มาเป็นผู้จัดการ

มาหยารัศมีเคยทำงานกับแทนไทและภาคินีมาก่อนช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะลาออกไปคลอดลูก แล้วทุ่มเทเวลาให้แก่ลูกตลอดสองสามปีแรก พร้อมๆ กับเรียนปริญญาโทไปด้วย หลังเรียนจบก็รับงานเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานร้านอาหารแฟรนไชส์ชื่อดังอยู่อีกหนึ่งปี ก่อนจะเข้าไปเป็นผู้จัดการสาขาเพื่อสั่งสมประสบการณ์อีกหนึ่งปี และตัดสินใจกลับบ้านเกิด หวังจะสร้างธุรกิจของตนขึ้นมาบ้าง ซึ่งก่อนหน้าที่จะทำเช่นนั้น เธอต้องการความพร้อมมากกว่านี้ โชคดีที่ได้รับโอกาสนั้น

โชคดีเหมือนเป็นคำที่อธิบายการทำงานของมาหยารัศมี แต่ตัวเธอผ่านอะไรมามากกว่าที่คนอื่นรู้ จากคุณหนูที่ไม่เคยแม้กระทั่งจะยกจานข้าวของตัวเองไปยังอ่างล้างจาน กลับยอมเข้าไปทำงานในร้านอาหารด้วยความตั้งใจที่จะเก็บเงินเพิ่มขึ้นอีกนิด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกในท้อง แล้วงานในร้านก็ไม่ได้สบายเลย

เพราะเธอแจ้งล่วงหน้าว่ายอมรับค่าแรงน้อยลง แลกกับการไม่ยกของหนักเนื่องจากกำลังตั้งครรภ์ ประกอบกับบุคลิกที่ค่อนข้างน่าหมั่นไส้ของเธอ ทำให้พนักงานเก่าๆ ส่งงานสกปรกให้เธอทำ ไม่ว่าจะกำจัดของเสีย หรือทำความสะอาดพื้น มาหยารัศมีแยกไม่ออกเลยว่าที่เธออาเจียนไม่หยุดเพราะแพ้ท้อง หรือจากการเห็นสิ่งปฏิกูลเหล่านั้น ทนได้ไม่ถึงสองสัปดาห์เธอจึงลาออก แล้วบากหน้าไปของานที่ร้านอาหารซึ่งเจ้าของร้านเป็นคนไทย ทั้งที่กลัวว่าเรื่องตั้งท้องจะหลุดไปถึงหูบิดา

คำขอยอมลดเงินเดือนและชั่วโมงการทำงานเพื่อแลกกับการดูแลครรภ์ของมาหยารัศมีดึงความสนใจให้แก่เจ้าของร้านอย่างภาคินี เมื่อผู้จัดการร้าน ซึ่งก็คือลูกชายของเธอกลับจากไปทำธุระที่เมืองไทย เขาก็เรียกมาหยารัศมีไปสัมภาษณ์รอบสองเป็นการส่วนตัว

‘คุณคิดจะดูแลลูกอย่างไร’

นี่ไม่ควรเป็นคำถามสำหรับการจ้างงาน ที่ผ่านมาคำถามที่มาหยารัศมีได้รับจากบรรดานายจ้างก็มักจะเป็นว่า

‘การตั้งท้องของคุณจะกระทบการทำงานไหม...’ หรือ ‘ถ้าเกิดปัญหาอะไร ทางเราไม่รับผิดชอบได้หรือเปล่า’

ดังนั้นสิ่งที่มาหยารัศมีสัมผัสได้จากคำถามของแทนไทก็คือ เขาเป็นห่วงลูกในท้องของเธอ หญิงสาวจึงอธิบายแผนการในอนาคตที่เธอวางไว้สำหรับเลี้ยงดูลูก ใจความสำคัญมีเพียงอย่างเดียว ลูกของเธอต้องเติบโตอย่างมีความสุข และตลอดการเติบโตนั้น เขาจะมีแม่คนนี้อยู่เคียงข้าง

มาหยารัศมีพูดได้ทำได้ ถึงจะมีหลายครั้งที่เธอไม่ได้อยู่กับพลลภัตม์เพราะความจำเป็น ไม่ว่าจะเดินทางกลับมาต่อวีซาที่ประเทศไทย เธอก็ฝากลูกให้อยู่ในความดูแลของภาคินีแล้วรีบกลับมารับเขาคืนให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ครั้งที่สองที่ต้องแยกจากเขามาเมืองไทย เธอก็โทร. หาลูกทุกครั้งที่ทำได้

สมัยเรียนเธอแทบจะหอบลูกเข้าห้องเรียนด้วย ส่วนช่วงที่ทำงานผู้จัดการร้านอาหารในนิวยอร์ก ซึ่งเธอดูแลช่วงอาหารกลางวัน จึงฝากลูกไว้กับสถานรับดูแลเด็กเล็กที่เชื่อถือได้ แล้วไปหาเขาทันทีที่เลิกงาน คำตำหนิของนายจ้างเรื่องที่เธอไม่อยู่ล่วงเวลา ไม่มีผลใดๆ ทั้งนั้น เพราะอันดับหนึ่งในใจของเธอคือลูกชาย

แล้วเพราะมาหยารัศมีดำเนินชีวิตในลักษณะนั้น เธอจึงต้องมีค่าตอบแทนให้แก่การเรียนและการทำงาน ด้วยการทุ่มเทเวลานอกเหนือจากการดูแลพลลภัตม์ ไปกับการอ่านหนังสือและทำวิจัยการตลาดอย่างจริงจัง ขณะทำงานก็ทุ่มเทเกินร้อยเพื่อไม่ให้ใครตำหนิเธอในเรื่องผลงานได้ ดังนั้นต่อให้เธอไม่ทำงานล่วงเวลา และต้องลางานเป็นระยะเพื่อดูแลลูก เจ้าของร้านก็ยังเสียดายที่เธอลาออก

แต่ไม่ว่าการทำงานในอเมริกาจะเงินเดือนสูงเพียงไหน บ้านเกิดของเธอก็เรียกร้องให้เธอกลับมา หนำซ้ำยังได้โอกาสดีในการทำงานพร้อมกับดูแลลูกชายสุดที่รักได้ด้วย เพราะต่อให้พลลภัตม์ไม่มีปัญหาในการเติบโตท่ามกลางคนต่างชาติ แต่เธอก็อยากให้เขาได้ใช้ชีวิตในเมืองไทย แม้ว่าที่นี่เธอจะไม่มีญาติสนิทอยู่ด้วยเลยก็ตาม

คำว่าไม่มีญาติสนิทส่งผลให้สมองส่งสัญญาณเตือนเธอด้วยภาพของมหาภาพ มาหยารัศมีรู้ว่าคนอย่างเขาห่างไกลจากคำว่าไร้ความรับผิดชอบ แม้ว่าก่อนหน้าที่จะกลับมาเมืองไทย เธอจะไม่เคยคุยกับเขาเรื่องลูกสักคำ แต่เธอมั่นใจว่าแทนที่จะต้องไปขอร้องอ้อนวอนให้เขามาดูแลเธอกับลูก เธออาจจะต้องออกปากขอให้เขายอมอยู่ห่างๆ จากพวกเธอด้วยซ้ำ

ท่าทางอาลัยอาวรณ์ของมหาภาพตอนที่ต้องกลับไปบ้านของเขาชวนให้มาหยารัศมีนึกขำ ถ้าเธอไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนใจร้ายพรากพ่อพรากลูก

นึกถึงตรงนี้สายตาของเธอก็ตวัดมองพลลภัตม์ เพราะเขาถามทันทีหลังจากตื่นนอนว่าแดดดี้ไปไหนด้วยความผิดหวัง จนเธอต้องบอกว่าพรุ่งนี้พ่อจะมาหาแต่เช้าตรู่เพื่อพาทั้งคู่ไปจ่ายตลาด

“มัมมี้ แดดดี้จะมีข้าวกินไหม”

“แม่บอกแล้วว่าแดดดี้มีตังค์กินข้าว”

มาหยารัศมีเตือนด้วยรอยยิ้ม แต่ใจกระตุกเพราะความห่วงใยที่พลลภัตม์ไม่เคยมอบให้ใคร โดยเฉพาะคนที่เขาเรียกว่าคนแปลกหน้า

“แล้วแดดดี้จะลืมอีกไหม ต้องเตือนไหม”

เห็นได้ชัดว่าเด็กชายจำได้ทุกรายละเอียด เธอไม่แปลกใจในความเฉลียวฉลาดของเขา เพราะการเติบโตมากับแม่ที่วุ่นวายกับรายละเอียดปลีกย่อยเพื่อให้สองแม่ลูกอยู่อย่างไร้ปัญหา สอนให้เขาใส่ใจทุกอย่างรอบตัวเพื่อแบ่งเบาภาระให้มารดา จนบางครั้งเขาก็ดูโตกว่าวัย

แต่สิ่งที่มาหยารัศมีแปลกใจก็คือเขาสนใจในตัวมหาภาพมากกว่าที่แสดงออกต่อหน้าชายหนุ่ม จดจำทุกอย่างที่พูดคุยกับพ่อได้ทั้งหมด

อย่างไรก็พ่อลูกกัน เป็นข้อสรุปที่เธอมอบให้เรื่องเหล่านี้

“ลูกพลับส่งข้อความไปเตือนดีไหมครับ เผื่อแดดดี้กินยานอนไปแล้ว”

มาหยารัศมีเสนอ เพราะไม่แน่ใจว่าจากอาการป่วยจะทำให้มหาภาพนอนแต่หัววันหรือไม่ และความจริงเธอเองก็ห่วงเขาเช่นกัน

เวลาหกปีไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปมากมายเท่าที่เธอคิด ตอนเห็นมหาภาพทรุดกายลงไปด้วยท่าทางเจ็บปวด มาหยารัศมียอมรับว่าตนใจหายวาบเพราะคิดว่าเขาบาดเจ็บหนัก พอรู้ว่าอาการโรคกระเพาะของเขากำเริบ เธอก็อยากจะกรี๊ดๆๆ ใส่หน้าเหมือนตอนอายุสิบห้า ทว่าอย่างน้อยวัยและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นก็สอนให้เธอลดการแสดงอารมณ์ลงไป เปลี่ยนเป็นหันไปขอร้องให้คนช่วยดูแลเขาแทน เพราะเกรงว่าจะเป็นการแสดงออกนอกหน้าว่าเธอเหลือเยื่อใยเส้นโตให้แก่เขา

แต่การส่งข้อความไปคงไม่ได้เป็นการแสดงออกที่เกินเลยไปนัก เพราะเธอสามารถอ้างได้ว่าทำเพราะลูกกังวลใจเรื่องพ่อ

การใช้งานโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเด็กที่เติบโตในเมืองใหญ่ ความจริงพลลภัตม์ก็มีโทรศัพท์เครื่องหนึ่งเพื่อใช้ติดต่อกับแม่เวลาที่แยกกันในช่วงที่เขาไปโรงเรียน แต่เพื่อความสะดวกครั้งนี้ เธอจึงให้เขาส่งข้อความผ่านโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือของเธอที่มีรายชื่อติดต่อของมหาภาพ

“ทำยังไงครับ”

คำถามของลูกเตือนให้เธอนึกได้ว่าที่ผ่านมาเด็กชายส่งภาพ หรือสัญลักษณ์แทนข้อความให้แก่เธอ เนื่องจากเขายังไม่สามารถสะกดคำยากๆ ได้ การส่งข้อความเตือนให้พ่อกินข้าวคงยากเกินความสามารถของเด็กวัยนี้ไป

มาหยารัศมีดุตัวเองที่ระมัดระวังการแสดงออกเกินเหตุ กับแค่การถามว่ามหาภาพกินข้าวหรือยังทำให้ถึงกับไม่ยอมพิมพ์ข้อความไปหา ต้องให้พลลภัตม์ส่งเอง อันที่จริงเธอพิมพ์แล้วบอกว่าลูกถามก็ได้

“แม่พิมพ์ว่า แดดดี้อย่าลืมกินข้าว จากลูกพลับ”

พิมพ์ข้อความเสร็จแล้ว มาหยารัศมีก็เอียงโทรศัพท์มือถือในมือให้พลลภัตม์ดู เด็กชายย่อมอ่านภาษาไทยไม่ออก แต่ยินดีที่ได้เห็นข้อความนั่น เมื่อเธอกดส่งไปแล้ว เด็กชายก็เตือนอีก

“ผมลืมบอกให้แดดดี้กินยา”

‘แดดดี้อย่าลืมกินยา จากลูกพลับ’

ต่อให้นึกในใจว่าหากไม่ลืมกินข้าว ก็ย่อมไม่ลืมกินยา แต่มาหยารัศมีก็ไม่ขัดความตั้งใจดีของลูก หลังจากวางโทรศัพท์มือถือลง ยังไม่ทันเตือนพลลภัตม์ให้ตั้งใจกินข้าว ก็มีเสียงข้อความตอบกลับ

‘กินข้าวกินยาแล้ว ขอบคุณนะครับ จากแดดดี้’

เพราะเป็นข้อความที่ส่งจากมหาภาพ มาหยารัศมีจึงเอียงโทรศัพท์มือถือให้พลลภัตม์ดูพร้อมกับชี้ไปตามตัวอักษรพร้อมทั้งอ่านออกเสียง เด็กชายออกเสียงตามโดยไม่ต้องบอก เพราะเคยชินกับการทำเช่นนั้น ซึ่งช่วยให้เขาเข้าใจทั้งสองภาษาได้ไวขึ้น

‘ลูกพลับกับลูกหยีกินข้าวให้เยอะๆ นะครับ’

ยังมีข้อความต่อมาอีก ราวกับรู้ว่าทั้งสองกำลังนั่งกินอาหารเย็นอยู่ แต่ข้อความต่อมา เขาต้องไม่รู้แน่ว่าเธอรู้สึกอย่างไรตอนอ่าน

‘รักนะครับ จากแดดดี้และพี่ภาพ’

“รักนะครับ จากแดดดี้ และพี่ภาพ”

เสียงเล็กพูดซ้ำทีละคำช้าๆ แต่ชัดเจนเหมือนคนส่งข้อความมาพูดอยู่ตรงนี้ มาหยารัศมีเงยหน้ามองพลลภัตม์ แล้วพบดวงตาที่เหมือนพ่อของเขาเงยขึ้นมามองเธอ เด็กชายเอียงคอนิดๆ สงสัยว่าเธอมองทำไม แล้วทวนประโยคเมื่อครู่อีกรอบ เพียงแต่ตกหล่นบางคำไปบ้าง

“รักนะ พี่ภาพ”

มาหยารัศมีไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองถึงต้องแก้มร้อน ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอได้รับคำว่ารักจากมหาภาพ หกปีก่อนเขาก็พูดต่อหน้าเธอ ดังนั้นเธอเลยย้ำกับตัวเองที่เริ่มคิดเหลวไหลเพ้อเจ้อ ว่าต่อให้เขาไม่ได้หมายความว่ารักแบบพี่ชายน้องสาวเหมือนเคย เขาก็อาจไม่ได้คิดอะไรเลยก็ได้

 

เขาไม่ใช่พวกทำอะไรไม่คิด

มหาภาพแน่ใจว่าตนคิดใคร่ครวญก่อนลงมือทำทุกครั้ง ยกเว้นตอนเมาจนขาดสติเมื่อหกปีก่อน แล้วยาที่หมอจ่ายก็ไม่ได้ออกฤทธิ์มากขนาดที่จะทำให้สมองของเขาทำงานผิดปกติ เพราะแค่ได้ยินเสียงเตือนจากโทรศัพท์มือถือเบาๆ เขาก็รู้สึกตัวหันไปคว้ามันมาอ่าน

ชายหนุ่มยอมรับว่าข้อเสียใหญ่ของเขาคือหมกมุ่นกับการทำงานให้สมบูรณ์แบบ แม้ไม่ถึงกับละเลยคนรอบข้าง แต่มักจะละเลยสุขภาพตนเอง กมลชนกเคยออกปากเตือนให้เขาปิดเครื่องบ้างเวลาพักผ่อน แต่มหาภาพมักจะทำเป็นลืม ซึ่งคราวนี้มันกลับช่วยให้เขาไม่พลาดการส่งข้อความครั้งแรกของลูกโดยแม่ของลูก

หลังจากมาหยารัศมีแสดงออกชัดเจนว่าทั้งสองไม่ได้เป็นอะไรกันนอกเหนือจากฐานะพ่อกับแม่ของพลลภัตม์ มหาภาพจึงค่อนข้างมั่นใจว่าเธอคงไม่ได้ต้องการส่งข้อความแสดงความห่วงใยเป็นการส่วนตัวเช่นนี้มาหาเขา หัวใจของเขาเลยพองฟูกับความรู้สึกที่ลูกชายซึ่งเมินเฉยไม่เล่นกับเขาส่งข้อความมาเตือนให้เขากินข้าวกินยา

ความปลาบปลื้มขับไล่อาการง่วงนอนไปจนหมด เขาอยากจะโทร. หา แต่ก็รู้สึกว่าการส่งข้อความหากันมันน่ารักกว่า และที่สำคัญมันช่วยให้เขาสื่อสารได้ทั้งกับลูกและแม่ของลูก

“รักนะครับ จากแดดดี้” เขาทวนคำที่พิมพ์และกำลังจะส่งไป เมื่อบางอย่างแวบเข้ามาในหัว และส่งต่อไปยังปลายนิ้วที่พิมพ์ข้อความเพิ่มอย่างรวดเร็ว “และพี่ภาพ”

ไม่มีข้อความตอบกลับมา เขายอมรับว่ากระวนกระวายกับความหุนหันพลันแล่นของตัวเองนิดหน่อย แต่หากย้อนเวลากลับไปได้ มหาภาพก็ยังจะพิมพ์คำสั้นๆ สามคำนั้น เพราะเขาอยากบอกมาหยารัศมีว่า คำว่ารักแบบพี่น้องกำลังจะเปลี่ยนไป

รีวิวผู้อ่าน

0 ผู้รีวิว

จัดเรียงตาม

ความคิดเห็น