บทที่ ๙

โตตามวัย ใฝ่ศึกษา มีความกล้า แต่ไร้ค่าเทอม

การจราจรในเมืองกรุงยังคงหนาแน่นแม้จะเป็นเช้าวันเริ่มต้นใหม่ของสัปดาห์ ผู้บริหารหนุ่มที่มีประชุมแรกตอนเจ็ดโมงครึ่งจึงต้องเผื่อเวลาในการเดินทาง แต่ถึงจะเผื่อเวลาเอาไว้มากเท่าไรก็ยังมาถึงอาคารสำนักงานก่อนเวลาประชุมเพียงสิบห้านาที ชลชาติลดสมาร์ตโฟนที่เปิดอ่านเอกสารประกอบการประชุมลง ทอดสายตามองพนักงานที่กำลังเดินเข้าประตูบริษัท 

ในฐานะเจ้าของกิจการ เขานึกขอบคุณพนักงานทุกคนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ล้วนแต่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ และชื่นชมพนักงานที่กำลังเดินเข้าประตูด้านหน้าอาคารสำนักงานมาเป็นพิเศษ พวกเขาเหล่านั้นจะต้องออกจากบ้านกันกี่โมงกี่ยาม จึงได้มาถึงที่ทำงานก่อนเวลาเริ่มงานร่วมชั่วโมงแบบนี้ 

ชลชาติยกมุมปากขึ้นบางๆ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นขมวดหัวคิ้ว เมื่อสายตาสบเข้ากับหญิงสาวในชุดนักศึกษาสองคนที่ยืนกระพุ่มมือไหว้ศาลพระภูมิเทวา ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากนักศึกษาฝึกงานจะมาถึงที่ทำงานไวกว่าพนักงานประจำ แต่ที่ทำให้เขาสะดุดตาก็เพราะหนึ่งในสองนั้นคือ คนที่เขาเพิ่งเจอในงานเลี้ยงเมื่อคืน 

“แจ้งฝ่ายบุคคลว่า ฉันมีรางวัลพิเศษสำหรับเด็กฝึกงานที่ไม่เคยมาทำงานสายตลอดการฝึกงาน” ชลชาติเอ่ยกับผู้ช่วย แม้ว่านิสัยของเด็กคนนั้นจะแปลกประหลาดไปบ้าง แต่ความขยันของเธอก็ทำให้เขาอดชื่นชมไม่ได้

“ครับ” ธีร์กับพัฒน์รับคำ

“อิง” 

“หือ” ศศิมาเอียงหน้าขึ้นมองคนที่นั่งอยู่ข้างๆ กัน เพราะเหนื่อยล้าจากการทำงานตั้งแต่เช้าจนดึกดื่นถึงเจ็ดวันติด วันนี้เธอสองคนจึงใช้เวลาก่อนเริ่มงานนั่งพักเหนื่อยตรงม้าหินอ่อนที่ตั้งอยู่ในบริเวณสวนหย่อมข้างศาลพระภูมิเทวา

“แกหาเงินทันแน่นะ” ดุจตะวันถาม

“ทันสิ” ศศิมายิ้มแต้ทั้งที่แทบจะปรือตาไม่ขึ้น

“ฉันตัดสินใจแล้วนะว่าจะทำขนมขายวันเสาร์อาทิตย์” 

“ดีเลยอะแก ฉันว่าจะทำแปลงปลูกเผือกกับมันเพิ่มอยู่เหมือนกัน” 

“แกมีเวลาเหรอ” 

“มีสิ ค่อยๆ ขุดดินไปวันละนิดละหน่อย”

“ตื่นตีสี่กว่า กลับถึงบ้านห้าทุ่มกว่า แกจะขุดเวลาไหนล่ะ ฉันจะได้หลบหินจากข้างบ้านทัน” 

ศศิมาหัวเราะร่วน “ฉันขุดไม่ดังหรอกน่า แกสบายใจได้ รับรองว่าจะไม่ทำให้ลุงข้างบ้านดุแกไปมากกว่านี้”

“โอ๊ย เริ่มต้นวันดีๆ แกอย่าพูดถึงตาลุงนั่นได้มั้ย ฉันหลอน” ดุจตะวันส่ายหน้าแรงๆ พักอยู่ที่บ้านหลังนั้นมาร่วมสามปี ก็เพิ่งเคยเจอลูกชายของคุณป้าข้างบ้านเป็นครั้งแรกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คนบ้าอะไรก็ไม่รู้ดุยิ่งกว่าร็อตไวเลอร์ 

“แกเปิดตลาดไว้ก็ดี เผื่อเสาร์อาทิตย์ไหนไม่มีงานพิเศษ ฉันจะได้หาอะไรทำขายพ่วงไปด้วย” ศศิมาวกกลับไปที่เรื่องงานพิเศษของพวกเธออีกรอบ

“อืม กำไรวันละสองสามร้อยก็ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ” ดุจตะวันพยักหน้าเห็นด้วย ก่อนจะยกมือขึ้นปิดปากหาว “อยากมีจักรยานสักคันเอาไว้ปั่นส่งขนม เดินทั่วหมู่บ้านขาลากกว่ายืนเสิร์ฟทั้งวันอีก”

“ก็ดีนะ แต่ราคาก็หลักพันอยู่” ศศิมาว่า

“นั่นสิ ทำไงดี จะให้ไปยืมจักรยานคุณป้าอีก ฉันก็ไม่กล้าแล้ว” 

“แกทนเดินอีกสักสองสามอาทิตย์ก็แล้วกัน รอเบี้ยเลี้ยงฝึกงานเดือนแรกออกก่อนแล้วค่อยซื้อ” ศศิมาเสนอ 

“จริงด้วย เอาส่วนที่เป็นค่าเดินทางไปต่อยอดซื้อจักรยานก็ดีเหมือนกัน”

“ออกคนละครึ่งนะ จะได้ใช้ด้วยกัน” ศศิมาว่าต่อ 

“ได้อยู่แล้ว” ดุจตะวันยักคิ้ว ก่อนจะลุกขึ้นยืน “ไปกันเถอะ ฉันคีย์งานค้างไว้อยากทำต่อให้เสร็จ”

“ฉันก็อยากไปชงโอวัลตินกินสักแก้วเหมือนกัน” ศศิมาพยักหน้า จากนั้นจึงแยกย้ายกันไปทำงาน

เช้าวันจันทร์ที่แสนยุ่งเหยิงดำเนินผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเข็มสั้นบนหน้าปัดนาฬิกาย่างเข้าเลขสอง จึงเข้าสู่วาระการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทลักษมีเมธี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 

เจ้าสัวอรรณพกับคุณหญิงทิพย์ประภานั่งเป็นประธาน โดยมีชลชาติและนทีธัชช์นั่งคู่กันอยู่ข้างๆ คนเป็นพี่เหลือบตามองน้องชายเป็นระยะ จนคนเป็นน้องอดรนทนไม่ไหว ทำปากขมุบขมิบถามเพื่อให้ได้ยินกันเพียงสองคน

“ผมหล่อจนอดใจไม่ไหวเลยหรือไงเฮีย” พันโทนทีธัชช์ถาม 

“ไร้สาระ” คนเป็นพี่ส่ายหน้า ขยับตัวเข้าใกล้น้องชายเล็กน้อยก่อนถาม “จะส่งน้ำรินเข้ามาทำงานเมื่อไหร่” 

“เฮียจะเปิดกลุ่มธุรกิจอาหารเพิ่มหรือไง” นทีธัชช์ตอบเสียงกลั้วหัวเราะ คู่หมั้นของเขาเรียนจบทางด้านการทำอาหารมาโดยตรง จึงไม่รู้ว่าควรให้เธอเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งอะไรดี

“ได้สิ ถ้าน้ำรินอยากทำ” 

“ป๋ามาก” นทีธัชช์ทำตาวาว ก่อนจะโน้มใบหน้าเข้าหาพี่ชายอีกนิด “แต่ไม่ต้องหรอกเฮีย น้ำรินอยากเริ่มทำอะไรเล็กๆ ดูก่อน อีกอย่าง แต่งแล้วผมก็อยากมีลูกเลย ภูมิกับเดชทำแต้มนำไปไกลแล้ว”

“แล้วแกคิดยังไงถึงเข้าประชุมวันนี้” 

“ก็มันตรงกับวันหยุด ก็เลยอยากลองมานั่งฟังดู จะได้เข้าใจเฮียมากขึ้น” คนที่มีแผนอยู่ในใจยักคิ้ว ครั้งสุดท้ายที่เขาเข้ามาที่นี่ก็น่าจะราวๆ หกปีก่อน บอกตามตรงว่าถ้าปล่อยให้เดินเข้ามาเอง เขาคงหาห้องประชุมไม่เจอ

“ก็ดี จะได้รู้ไว้ว่าวันๆ หนึ่งฉันต้องเจอกับอะไรบ้าง”

“ใกล้เข้าเลขสี่นี่ขี้บ่นขึ้นนะเฮีย”

ชลชาติถลึงตา ทว่าก่อนที่จะทันได้กำราบคนปากดี นทีธัชช์ก็ล้วงสมาร์ตโฟนออกมาจากกระเป๋า

“ภูมิโทร. มา” นทีธัชช์บอกพี่ชายก่อนจะลุกขึ้นเดินออกไปรับสายนอกห้องประชุม 

ชลชาติจึงเบนความสนใจกลับไปยังวาระการประชุมอีกครั้ง ทว่าผ่านไปไม่ถึงสามนาที ก็ได้รับข้อความของคนที่เพิ่งเดินออกไปจากห้อง ว่ามีงานด่วนต้องเดินทางไปชายแดน 

“ยังไม่มีข้อมูลของบริษัทเข้าสมองสักตัวก็ไปอีกแล้ว” รองประธานกรรมการบริหารส่ายหน้าน้อยๆ จากนั้นจึงเปิดเอกสาร รับฟังการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ด้วยความตั้งใจ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เด็กชายสมุทรรับหน้าที่ดูแลว่าที่อาสะใภ้แทนอาของตัวเองที่ติดภารกิจที่ชายแดน ดังนั้นจึงไม่ได้เจอพี่นางฟ้าคนโปรด ครั้นเมื่อวนาลีเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่ชลบุรี เด็กชายจึงร้องขอให้บิดาพาไปกินขนมที่คาเฟ่ที่ศศิมาทำงานอยู่

“เขาอาจจะไม่ทำงานวันนี้ก็ได้นะต้นน้ำ” ชลชาติเอ่ยกับบุตรชาย อย่างวันเสาร์ที่ผ่านมาเขาก็เพิ่งเจอเธอทำงานอยู่ในบูทประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มชาเขียว จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าเด็กคนนั้นไม่ได้ทำงานที่คาเฟ่ในวันเสาร์อาทิตย์

“แต่ต้นน้ำอยากกินขนมของพี่นางฟ้า” เด็กชายวางคางลงบนเข่าของบิดา เอียงหน้าขึ้นทำตาปรอย

“ไปทันสนิทกับเขาตอนไหนหืม ถึงได้ติดอกติดใจกันแบบนี้” คนที่เพิ่งมีเวลาได้หยุดพักผ่อนอยู่บ้าน หลังจากตรากตรำงานทุกวันมาร่วมเดือนวางมือบนศีรษะเล็ก โน้มใบหน้าลงเอ่ยถามเสียงอ่อนโยน

“ต้นน้ำชอบพี่นางฟ้า” เด็กชายทำหน้ามุ่ย

“ก็ได้ครับ ป๊าจะไปพา แต่ต้องสัญญาก่อนว่า ถ้าเกิดไปแล้วไม่เจอต้นน้ำจะไม่งอแง” 

“สัญญาครับ” เด็กชายยกนิ้วก้อยขึ้นเกี่ยวกับนิ้วก้อยของบิดา

เมื่อได้ข้อสรุปดังนั้นชลชาติจึงพาบุตรชายไปเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วขับรถออกไปจากบ้านกันตามลำพังสองพ่อลูก หากไม่มีตารางงานเขาก็มักจะไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง ใช้เวลาอยู่กับบุตรชายให้มากที่สุด จะว่าเป็นการชดเชยระยะเวลาที่เขาคร่ำเคร่งอยู่กับงานก็ว่าได้ 

และก็เป็นอย่างเช่นที่ชลชาติคาดเดา เพราะเมื่อไปถึงคาเฟ่ใกล้ที่ทำงาน ก็พบกับพนักงานทีมใหม่ที่เขาไม่เคยเห็นหน้าค่าตาในช่วงเย็นวันจันทร์ถึงวันศุกร์ 

“ไหนบอกว่าอยากกินขนมไง ทำไมถึงกินคำเขี่ยทิ้งคำแบบนั้น” ชลชาติถาม หลังจากนั่งมองบุตรชายตักขนมแล้วพลิกเล่นกับจานอยู่นานสองนาน

“ไม่หอม ไม่หวานเหมือนที่พี่นางฟ้าทำ” เจ้าตัวเล็กว่า

ชลชาติกลั้นขำ เด็กหนอเด็ก คงเข้าใจว่าใครยกมาเสิร์ฟคือคนนั้นเป็นคนทำกระมัง “ขนมเหมือนกัน สูตรเดียวกัน จะรสชาติไม่เหมือนกันได้ยังไง”

“ไม่เหมือนสักนิด” เด็กชายแย้ง

“ทำไมจะไม่เหมือน” 

“พี่คนนั้น ...” เด็กชายบุ้ยใบ้ไปยังพนักงานที่ทำหน้าที่ยกจานขนมมาให้ในวันนี้ “ไม่ได้เหยาะความรักของพี่นางฟ้า”

“...” ชลชาติลอบถอนหายใจ ความเจ้าคารมนี้ไม่มีอยู่ในดีเอ็นเอของเขาแม้แต่น้อย คิดแล้วก็อดน้อยใจไม่ได้ที่จู่ๆ บุตรชายก็มีกรรมพันธุ์ที่คล้ายคลึงกับผู้เป็นอามากกว่าพ่อ

“ต้นน้ำเสียใจ” 

“ก่อนออกจากบ้านสัญญากับป๊าว่ายังไง จำได้หรือเปล่า” 

“จำได้ครับ ต้นน้ำแค่บอกว่าเสียใจ ต้นน้ำไม่ได้งอแง” เด็กชายวางคางเกยกับโต๊ะ แล้วว่าเสียงอ่อย

“แล้วต้องทำยังไงถึงจะหายเสียใจ” 

เด็กชายยืดตัวขึ้นนั่งหลังตรง ตักขนมใส่ปากอีกหนึ่งคำแล้วจึงตอบ “เพื่อนต้นน้ำไปดูการ์ตูนในโรงหนัง แต่ต้นน้ำคิดภาพตามไม่ออกเลย ป๊าไม่เคยพาต้นน้ำไปดูสักที” 

“ต้นน้ำอยากไปดูการ์ตูนในโรงหนัง” ชลชาติทวนความต้องการของบุตรชาย

เจ้าตัวเล็กพยักหน้าแรงๆ “ต้นน้ำคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่องเลย” 

ชลชาติลอบถอนหายใจ แต่กระนั้นก็กระดกกาแฟจนหมดแก้วแล้วลุกขึ้นยืน “งั้นก็ไป”

“เย้!” เด็กชายชูแขนทั้งสองข้างขึ้น ดูดน้ำหวานอึกใหญ่ แล้วจึงกระถดตัวลงจากเก้าอี้ จับมือบิดาเพื่อเดินกลับไปยังรถที่จอดอยู่หน้าร้าน 

สองพ่อลูกฝ่าการจราจรที่หนาแน่นอย่างแสนสาหัสของเย็นวันเสาร์ ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าในหนึ่งชั่วโมงต่อมา ชลชาติจอดรถแล้วจูงมือเล็กพาเดินเข้าไปในห้าง

“ไปทางไหนครับป๊า” เด็กชายถามเมื่อเห็นบิดาหยุดยืนมองไปรอบๆ

แม้จะจำครั้งสุดท้ายที่ใช้บริการโรงภาพยนตร์ไม่ได้แล้ว แต่กระนั้นคนเป็นพ่อก็ยกมุมปากขึ้นน้อยๆ แล้วจูงมือบุตรชายไปยังป้ายอิเล็กทริกบอกตำแหน่งต่างๆ ภายในห้างสรรพสินค้า

...

“สวัสดีค่ะ วันนี้ร้านของเรามีโพรโมชันมาสามจ่ายสองนะคะ” 

“...”

“แวะขึ้นไปดูเมนูก่อนได้นะคะ ราคานี้คุ้มมากจริงๆ”

หญิงสาวที่สวมชุดกิโมโน ยืนแจกใบปลิวโพรโมชันร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ตรงหัวบันไดเลื่อนส่งเสียงประชาสัมพันธ์พร้อมกับยื่นใบปลิวออกไปให้กลุ่มหนุ่มสาวที่เดินผ่าน

เด็กชายตัวน้อยที่ไม่ค่อยได้ออกมาเที่ยวเล่นตามสถานที่ที่มีคนชุกชุมบ่อยนักหันรีหันขวาง มองทุกสิ่งรอบตัวด้วยความสนใจ เด็กชายสมุทรยืดคอมองไปตามเสียงที่ได้ยินก่อนจะเบิกตาขึ้น

“พี่นางฟ้า!” 

หญิงสาวในชุดกิโมโนหันขวับมองตามเสียง ก่อนจะหนีบรองเท้าเกี๊ยะวิ่งกระดุกกระดิกเข้ามาหา “ต้นน้ำ”

“พี่นางฟ้า สวยจัง” 

ศศิมายิ้มรับ แล้วประนมมือไหว้บิดาของเด็กชายอย่างนอบน้อม “สวัสดีค่ะท่านรอง”

ชลชาติทำเพียงพยักหน้ารับน้อยๆ แต่ถึงกระนั้นก็ลอบสังเกตคนที่ย่อตัวลงนั่งยองๆ หยอกเย้าบุตรชายของตนอย่างละเอียด นักศึกษาที่มาฝึกงานในรอบนี้มีทั้งชั้นปีที่สามและที่สี่ ซึ่งอายุอานามก็น่าจะราวๆ ยี่สิบปี แม้ว่าเด็กคนนี้จะมีบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่แววตาของเธออิดโรย เครื่องสำอางที่ประโคมแต่งหน้าไม่อาจบดบังรอยใต้ตาที่คล้ำและบวม

“ต้นน้ำไปหาพี่นางฟ้าที่ร้านขนมมาแต่ไม่เจอ” 

เสียงของบุตรชายปลุกคนที่หลุดเข้าไปอยู่ในภวังค์ความคิดชั่วขณะให้ตื่นรู้ 

“เสาร์อาทิตย์พี่อิงทำงานอีกที่ครับ”

“ที่นี่หรือครับ” เด็กชายถาม

ศศิมาส่ายหน้าน้อยๆ ก่อนตอบ “ไม่ใช่ครับ พี่อิงทำงานที่ร้านกาแฟแถวมหา’ลัย ส่วนที่นี่เป็นงานพิเศษหลังเลิกงาน” 

“โห พี่นางฟ้าต้องมีตังค์เยอะมากแน่ๆ” 

“สาธุ” ศศิมาประนมมือขึ้นจดหน้าผากรับคำอวยพรของเด็กชาย 

“เพี้ยง” เจ้าตัวเล็กเป่าลมออกจากปากเลียนแบบแม่บ้านเวลาไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ชลชาติกวาดตามองไปรอบๆ เพิ่งคิดขึ้นมาได้ว่าแค่ชุดที่เด็กสาวใส่ก็เป็นที่สะดุดตาของคนที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่แล้ว แม่เจ้าประคุณยังทำตัวเป็นจุดสนใจด้วยการยกมือไหว้เด็กท่วมหัวเพิ่มเข้าไปอีก ให้ตายเถอะ เจอเด็กคนนี้ทีไร ความดันของเขาก็ทำท่าจะพุ่งทะลุเพดานทุกที

“ตายจริง พี่อิงแอบอู้งานนานแล้ว พี่อิงขอกลับไปทำงานก่อนนะครับ” ศศิมาว่า เมื่อคิดได้ว่าเธอยังอยู่ในเวลาทำงาน

“ต้นน้ำกำลังจะไปดูหนัง” เด็กชายอวด

“ดูเผื่อพี่อิงด้วยนะครับ” 

“ได้เลย ดูเสร็จแล้วต้นน้ำจะมาเล่าให้พี่นางฟ้าฟัง” 

หญิงสาวยกมือขึ้นทำสัญลักษณ์ ‘โอเค’ พร้อมขยิบตา ดันตัวลุกขึ้น ประนมมือไหว้ลาผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยืนนิ่งเหมือนคนขาเป็นตะคริว จากนั้นจึงหนีบรองเท้าเกี๊ยะญี่ปุ่นกลับไปยืนที่หัวบันไดเลื่อนดังเดิม

ชลชาติจึงจูงมือบุตรชายพาขึ้นลิฟต์ไปยังชั้นที่โรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ ระหว่างรอเวลาเข้าชมการ์ตูนแอนิเมชันฟอร์มยักษ์ที่ทำเงินได้หลายร้อยล้าน ก็กดส่งข้อความไปยังผู้ช่วยเพื่อสั่งงานบางอย่างเป็นการส่วนตัว

‘ฉันอยากรู้ว่าเด็กคนนั้นมีปัญหาอะไร’

‘เด็กฝึกงานใช่ไหมครับ’ พัฒน์พิมพ์ข้อความตอบกลับมา

‘อืม’ ชลชาติตอบเพียงสั้นๆ เก็บสมาร์ตโฟนใส่กระเป๋ากางเกง แล้วจูงมือบุตรชายไปซื้อขนมและเครื่องดื่มเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าชมการ์ตูนบนจอใหญ่ แม้จะให้กำลังใจตัวเองว่าทำหน้าที่พ่อเลี้ยงเดี่ยวได้ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่บางครั้งเขาก็คล้ายกับคนตาบอด ที่มองไม่เห็นว่าความต้องการของเด็กในวัยนี้คืออะไร


 

รีวิวผู้อ่าน

0 ผู้รีวิว

จัดเรียงตาม

ความคิดเห็น