๘
ชีวิตสุดแสนอินดี้ เงินก็ไม่มี สติก็ไม่เต็ม
“ยังไม่รู้สึกตัวหรือจ๊ะ” คนที่ยืนรอรถโดยสารประจำทางเพื่อกลับบ้านหลังเลิกงานเอ่ยถามคนในสายเสียงแผ่ว
“กว่ายาสลบจะหมดฤทธิ์ก็คงอีกพักใหญ่” คนปลายสายตอบ
“พ่อก็พักผ่อนบ้างนะจ๊ะ เกิดเป็นอะไรไปอีกคนจะทำยังไง” ศศิมาถอนหายใจ เวลาทำงานเธอจะไม่พกโทรศัพท์มือถือ จึงเพิ่งรู้ว่าที่บ้านเกิดเรื่องตอนเกือบห้าทุ่ม
“พ่อมืดไปแปดด้าน ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าส่วนต่างที่โรง’บาลแจ้ง” หาญปรับทุกข์กับบุตรสาว เขากับภรรยามีอาชีพทำไร่ทำนารับจ้างรายวัน เงินทองที่หามาได้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในครอบครัวเท่านั้น แม้จะมัธยัสถ์อดออมจนเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง แต่ก็ตั้งใจว่าจะรักษาเงินจำนวนนั้นไว้ หากวันใดลูกสาววัยกำลังเรียนหาเงินไม่ทันจะได้มีเงินสำรองเอาไว้ใช้จ่ายในเรื่องสำคัญ
ทว่าเมื่อหลายเดือนก่อนจู่ๆ ก็มีหมายศาลมาติดที่หน้าบ้าน เขาไปคาดคั้นจนได้คำตอบว่ามารดาเอาที่ดินผืนที่เขาปลูกบ้านอยู่ให้น้องชายเอาไปจำนอง เพื่อเอาเงินไปซื้อวัวมาเลี้ยง แต่ปีนั้นทั้งแห้งแล้งและมีโรคระบาดในสัตว์ วัวของน้องชายจึงตายทั้งคอก สุดท้ายจึงต้องหิ้วกระเป๋าออกไปหางานทำที่เมืองหลวง โดยไม่มีใครรู้เลยว่าหลังจากออกจากบ้าน น้องชายของเขาก็ไม่เคยชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สุดท้ายเขาจึงต้องเอาเงินเก็บเพียงก้อนเดียวในชีวิตไปไถ่ที่ดินออกมา หลังจากไถ่ถอนออกมามารดาจึงยอมโอนที่ดินให้เป็นชื่อของเขา
ความโชคร้ายของเขายังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อจู่ๆ แม่ที่เคยแข็งแรงก็ล้มป่วย ปวดท้องขั้นรุนแรง รับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากลำไส้อุดตันจึงต้องผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เสียหายออก แม้จะรักษาตามสิทธิ์การรักษาที่ได้รับ แต่ก็มีค่าส่วนต่างอีกหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบเอง ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่าลูกสาวทำงานหนักเพียงใดเพื่อส่งเสียตัวเองเรียน แต่ในเมื่ออับจนหนทางจึงจำต้องบอกเล่าสถานการณ์ของครอบครัวให้รับรู้
“หนูพอจะมีเงินเก็บอยู่นิดหน่อย เดี๋ยวหนูโอนไปให้นะจ๊ะ” ศศิมาว่า แม้ว่าเงินจำนวนนั้นจะสำคัญมากเพียงไร แต่ก็ยังสำคัญน้อยกว่าชีวิตของย่าที่เลี้ยงดูเธอไม่ต่างจากพ่อแม่อีกคน
“ขอบใจมากนะลูก รอย่าออกจากโรง’ บาลเมื่อไหร่ พ่อจะไปรับจ้างหาเงินมาคืนให้” หาญกลืนก้อนสะอื้นที่จุกอยู่ในคอลงไป นอกจากจะไม่ได้ส่งเสียค่าเล่าเรียนแล้ว ยังเบียดเบียนเงินทองที่ลูกหามาได้ด้วยความลำบาก ถึงจะภูมิใจที่ลูกสาวส่งเสียตัวเองให้เรียนได้ แต่ลึกๆ แล้วก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่สามารถทำหน้าที่พ่อได้ดีกว่านี้
“พ่อก็พูดเหมือนหนูเป็นคนอื่นไปได้ ทีเมื่อก่อนหนูแอบเอาเงินที่พ่อวางไว้หลังตู้กับข้าวไปซื้อขนม หนูยังไม่เคยหามาคืนพ่อเลย” ศศิมารับรู้ถึงความกดดันและความเสียใจที่ส่งผ่านมาทางน้ำเสียง หญิงสาวจึงเย้าบิดาเสียงทะเล้น ก่อนจะเสเปลี่ยนบทสนทนาไปเป็นอีกเรื่อง
“แล้วนี่แม่หลับแล้วหรือจ๊ะ”
“พ่อให้แม่กลับไปนอนที่บ้าน” หาญตอบ เพราะมารดายังอยู่ในห้องพักฟื้นหลังผ่าตัดที่ไม่สามารถเข้าไปเฝ้าได้ เขาจึงอาศัยนอนตามราวม้านั่งนอกห้อง และให้ภรรยานั่งรถโดยสารกลับไปนอนที่บ้าน
“ห้าทุ่มกว่าแล้ว พ่อก็ควรจะนอนได้แล้วนะจ๊ะ เดี๋ยวหนูถึงบ้านแล้วจะรีบโอนเงินไปให้นะ”
“หนูยังไม่ถึงบ้านหรือลูก” หาญถาม
“ยังจ้ะ หนูกับไอเพิ่งเลิกงาน แต่พ่อไม่ต้องเป็นห่วงนะ ห้าทุ่มที่นี่ก็เหมือนสามสี่โมงบ้านเรา คนยังรอกันเต็มป้ายรถเมล์”
“กลับบ้านดีๆ นะลูก”
“จ้ะพ่อ งั้นแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ รถมาแล้ว” ศศิมากดวางสายแล้ววิ่งตามดุจตะวันไปขึ้นรถโดยสารที่ยังจอดไม่สนิท ชีวิตในเมืองกรุงก็แบบนี้ถ้ามัวแต่จะรอให้รถจอดสนิทก็คงไม่ทันคนอื่น
เมื่อพาตัวเองเบียดขึ้นรถจนสำเร็จแล้ว จึงดันตัวเข้าไปด้านในให้มากที่สุดเพื่อให้เพื่อนร่วมทางคนอื่นก้าวขึ้นมายืนบนรถให้ได้มากที่สุด แม้ว่าการทำแบบนี้จะเบียดเสียดเยียดยัดกันไปบ้าง แต่ก็จะทำให้ทุกคนกลับถึงบ้านได้เร็วขึ้น เพราะยิ่งดึกมากขึ้นเท่าไร ระยะห่างของรถโดยสารก็จะนานขึ้นมากเท่านั้น
“ย่าเป็นยังไงบ้าง” ดุจตะวันเอ่ยถามหลังจากจ่ายค่าโดยสารเรียบร้อยแล้ว
“หมอตัดลำไส้ที่ตันออก คงต้องพักฟื้นอีกพัก”
“แกเอาเงินให้พ่อหมด แล้วค่าเทอมเทอมหน้าจะเอาที่ไหนจ่าย”
“ไม่เป็นไร ก็แค่ทำงานให้เยอะขึ้น” ศศิมายิ้มทั้งที่ถอนหายใจ
“แค่นี้ก็แทบจะไม่ได้นอนแล้วนะอิง” ดุจตะวันว่า
“แกอย่าลืมสิไอว่าเย็นวันเสาร์อาทิตย์ ฉันยังมีเวลาว่างอีกตั้งหลายชั่วโมง พรุ่งนี้จะลองถามพี่พอลล่าดูว่ามีงานอะไรให้ทำได้บ้าง” ศศิมาเอ่ยถึงรุ่นพี่ที่คณะที่คอยแนะนำงานพิเศษให้พวกเธอมาตลอด
“งั้นก็ตามใจ แต่ถ้าไม่ไหวก็บอกแล้วกัน ฉันก็พอมีอยู่หน่อย”
“อืม ขอบใจนะ” ศศิมายิ้มแต้ ถึงจะลำบากกายไปบ้าง แต่เธอก็นับว่าโชคดีที่มีเพื่อนแท้อย่างดุจตะวันคอยเคียงข้างเป็นกำลังใจให้เสมอมา
สองนักศึกษาสาวยืนโหนราวรถโดยสารประจำทางร่วมชั่วโมงจึงถึงป้ายรถหน้าหมู่บ้าน แม้ว่าบริเวณนั้นจะมีวินมอเตอร์ไซค์ให้บริการ แต่ทั้งสองก็เลือกที่จะเดินเข้าบ้านแทน นอกจากจะประหยัดได้แล้ว การเดินก็ยังทำให้กล้ามขาของพวกเธอแข็งแรงอีกด้วย เมื่อกลับถึงบ้านศศิมาจึงรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วโอนเงินที่เธอเตรียมไว้สำหรับจ่ายค่าเทอมเทอมถัดไปไปให้บิดา เพื่อเป็นค่ารักษาย่าที่กำลังเจ็บป่วย
“ไม่เป็นไรน่า แกมันนักสู้อยู่แล้วอิงฟ้า ต้องสู้ ต้องสู้ ถึงจะชนะ” ศศิมาชูกำปั้นขึ้นกลางอากาศให้กำลังใจตัวเอง ก่อนจะล้มตัวลงนอน
“ร้านอยู่ชั้นไหน” ชลชาติเอ่ยถามคนสนิท
“ชั้นสองครับ” ธีร์ตอบ
“อืม” ชลชาติพยักหน้า รอจนรถจอดสนิทแล้วจึงเดินเข้าประตูห้างสรรพสินค้าไปพร้อมกับธีร์และพัฒน์
...
“สวัสดีค่ะ แวะชิมชารสชาติใหม่ก่อนได้นะคะ”
“...”
“รสชาตินี้ปราศจากน้ำตาล เพราะฉะนั้นนอกจากจะอร่อยสดชื่นแล้ว ยังดีต่อสุขภาพด้วยนะคะ”
...
ปกติแล้วชลชาติเป็นคนที่ไม่ชอบความวุ่นวาย มักจะหาทางหลีกเลี่ยงจากสถานที่ที่มีคนมารวมตัวกันอยู่เสมอ ทว่าจากเสียงประชาสัมพันธ์และจำนวนคนที่ออกันอยู่หน้าบูทประชาสัมพันธ์สินค้ารสชาติใหม่ ในฐานะผู้บริหารธุรกิจที่ดูแลเรื่องยอดขายของผลิตภัณฑ์ก็อดที่จะชำเลืองตามองไม่ได้
“เจ้านี้เก่งนะ เปิดตัวรสชาติใหม่ทีไรก็ประสบความสำเร็จ” ชลชาติกล่าว
“ปีก่อนเครื่องดื่มชาเขียวมีอัตราเติบโตขึ้นสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ทั้งที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อย่างอื่นติดลบ” พัฒน์ว่า
“แต่เจ้านี้น่าจะครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด” ธีร์ว่าต่อ
“อืม” ชลชาติพยักหน้ารับ ขณะก้าวขึ้นไปยืนบนบันไดเลื่อน เมื่อบันไดเลื่อนเลื่อนขึ้นในระดับหนึ่งจึงมองเห็นบรรยากาศภายในบูทประชาสัมพันธ์ที่ตกแต่งสไตล์มูจิญี่ปุ่นชัดเจน
“นั่น...” คนความจำดีขมวดคิ้ว เมื่อเห็นหญิงสาวรูปร่างคุ้นตาทำหน้าที่แจกเครื่องดื่มฟรีอยู่ตรงนั้น
“เหมือนนักศึกษาฝึกงานคนนั้นนะครับ” ธีร์ตั้งข้อสังเกต
“คนเดียวกันครับนาย” พัฒน์เคยนั่งรอขนมอยู่ร่วมยี่สิบนาที จึงมีเวลามากพอในการสังเกตรูปร่างหน้าตาของหญิงสาว ต่อให้เธอแต่งเนื้อแต่งตัวต่างไปจากเดิม แต่เขาก็มั่นใจว่าคือคนคนเดียวกัน
ผู้เป็นนายพยักหน้ารับรู้ เสี้ยวหนึ่งของความรู้สึกนึกชื่นชมที่ได้เห็นเด็กในวัยนี้ขยันทำงาน ไม่เว้นแม้แต่วันเสาร์ที่ควรได้หยุดพักผ่อนอยู่กับครอบครัว
ชลชาติเข้าไปร่วมแสดงความยินดีกับรุ่นพี่ที่เปิดร้านอาหารสาขาใหม่ร่วมสิบนาที แล้วจึงขอตัวกลับ เมื่อบันไดเลื่อนเลื่อนลง สายตาก็สบเข้ากับรอยยิ้มสดใสของเด็กประหลาดโดยความบังเอิญ คุณพ่อลูกหนึ่งวัยสามสิบเจ็ดปีรีบดึงสายตากลับคล้ายกับต้องของร้อน อารามร้อนรนจึงก้าวขาตามการเลื่อนลงของขั้นบันได ประหนึ่งเด็กชายที่เผลอทำความผิดแล้วกลัวครูฝ่ายปกครองมาพบก็ไม่ปาน
ย่างเข้าเวลาห้านาฬิกาของเช้าวันอาทิตย์ หญิงสาวสองคนก็พากันเดินออกไปรอรถโดยสารประจำทาง ถึงจะหาวบ้าง ขาพันกันตอนเดินบ้าง แต่ศศิมากับดุจตะวันก็ฝ่าฟันความเหนื่อยล้าง่วงงุน พาตัวเองมาถึงร้านกาแฟเยื้องมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ หญิงสาวและเพื่อนร่วมงานอีกสองคนช่วยกันตรวจตราความเรียบร้อย เมื่อถึงเวลาหกนาฬิกาจึงปลดล็อกประตู รอให้บริการลูกค้าขาประจำและขาจรที่ตื่นเช้าพอๆ กับพวกเธอทั้งสี่คน
“ปวดขามากเลย” ดุจตะวันบิดตัวอยู่หลังเคาน์เตอร์
“ฉันก็ด้วย” ศศิมาว่า ทุกวันเสาร์และอาทิตย์เธอกับดุจตะวันจะมาทำงานที่ร้านกาแฟตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสามโมงเย็น ปกติหลังจากส่งมอบงานให้พนักงานรอบบ่ายแล้ว เธอทั้งสองก็จะกลับบ้าน ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน ปลูกผักปลูกดอกไม้ไปตามประสา แต่นับจากวันที่โอนเงินค่าเทอมให้บิดาจนเกลี้ยงบัญชี เธอจึงใช้เวลาหลังเลิกงานที่ร้านกาแฟไปทำงานพิเศษเพิ่ม ดังนั้นจึงเท่ากับว่าเธอยืนทำงานตั้งแต่เช้าจนกระทั่งมืด
หญิงสาวหมุนคอคลายความเมื่อยล้า ก่อนจะเอ่ยถามดุจตะวันถึงกิจการใหม่ที่เพิ่งทดลองตลาดเมื่อวานเป็นวันแรก
“กิจการใหม่ของแกเป็นไงบ้าง”
“หมดเกลี้ยงเลยแก วันนี้ว่าจะขุดเผือกที่แกปลูกไว้ทำบัวลอยเผือกมะพร้าวอ่อนขายอีก” กล้วยต้นข้างบ้านสุกพร้อมกันหลายเครือ เธอเสียดายกลัวกินไม่ทัน จึงทำขนมกล้วยโพสต์ขายในไลน์ขายของในหมู่บ้าน ปรากฏว่าผลตอบรับดีกว่าที่คิด ขนมหมดเกลี้ยงในเวลาเพียงไม่ถึงชั่วโมง
“แต่ฉันมีงานต่อ ใครจะช่วยแกสอยมะพร้าว” ศศิมาว่า เพราะพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านปลูกมะพร้าวไว้หลายต้น ผู้จัดการหมู่บ้านบอกว่าลูกบ้านสามารถสอยไปรับประทานได้ แต่นอกจากเธอกับดุจตะวันแล้วก็น่าจะไม่มีเพื่อนบ้านคนไหนใช้บริการผลผลิตจากต้นมะพร้าวอีก
“ไม่เป็นไร ฉันสอยเองได้” ดุจตะวันตอบก่อนจะยืดตัวขึ้นตั้งตรง ส่งยิ้มหวานทักทายลูกค้ารายแรกที่เพิ่งเปิดประตูเข้ามาในร้าน “อาซามิ คาเฟ่ สวัสดีค่ะ”
“อเมริกาโนร้อนสี่ แซนด์วิชสี่ครับ” ลูกค้ารายแรกสั่งเมนูที่ต้องการ พลางชำเลืองมองพนักงานอีกคนที่ยืนเช็ดแก้วอยู่ข้างๆ พนักงานรับออร์เดอร์
“อ้าว” ศศิมาวางแก้วกับผ้าในมือลง ก่อนจะกระพุ่มมือขึ้นระหว่างอก “คุณนั่นเอง พักอยู่แถวนี้หรือคะ”
“เปล่าครับ แค่มาทำธุระแถวนี้”
“ขยันจังเลยนะคะ วันอาทิตย์แท้ๆ ยังตื่นแต่เช้า” ถึงใต้ตาจะคล้ำโรยรา แต่ศศิมาก็ยังยิ้มร่าชื่นชมคนตรงหน้าด้วยความจริงใจ “รอเครื่องดื่มสักครู่นะคะ”
“ครับ”
ศศิมายิ้มกว้างให้ลูกค้าอีกครั้ง ก่อนจะเดินไปช่วยเพื่อนร่วมงานทำเครื่องดื่ม ส่วนดุจตะวันนำแซนด์วิชไปอุ่นร้อน ศศิมาบรรจงจัดกาแฟร้อนใส่ในถุงหิ้วเพื่อสะดวกต่อการถือ รอจนกระทั่งไมโครเวฟส่งเสียงเตือน จึงนำแซนด์วิชพร้อมกาแฟไปวางบนเคาน์เตอร์
“เรียบร้อยแล้วค่ะ”
“ขอบคุณครับ” ลูกค้ารายแรกค้อมศีรษะลงน้อยๆ ก่อนจะหิ้วแซนด์วิชพร้อมกาแฟออกไปจากร้าน
“แกรู้จักลูกค้าคนนั้นเหรออิง” ดุจตะวันถามหลังจากลูกค้าเดินลับออกจากร้านไปแล้ว
“อืม คุณเขาทำงานที่ลักษมีเมธี กรุ๊ปน่ะ” ศศิมาตอบ ก่อนจะส่งเสียงทักทายลูกค้าสามรายที่เปิดประตูเข้ามาในร้าน
“ขอบใจ” คนที่นั่งรออยู่บนรถรับกาแฟและแซนด์วิชมาถือไว้ เพราะมีนัดคุยงานใกล้มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งในช่วงเช้า จึงไม่ทันรับประทานอาหารมาจากบ้าน เมื่อใกล้ถึงสถานที่นัดและยังพอมีเวลา เขาจึงให้แวะซื้อกาแฟและของกินง่ายๆ มากินรองท้อง
คนที่รับหน้าที่ลงไปซื้อเครื่องดื่มและขนมค้อมศีรษะรับ ส่งเครื่องดื่มที่เหลือให้เพื่อนร่วมงานและคนขับรถ ก่อนจะเบนสายตากลับมาทางผู้เป็นนายอีกรอบ
“มีอะไร” ผู้เป็นนายถาม
“เด็กคนนั้นทำงานอยู่ในร้านครับ”
“เด็กคนนั้น” ผู้เป็นนายขมวดหัวคิ้วเป็นเชิงให้ขยายความเพิ่ม
“เด็กฝึกงานที่คุณต้นน้ำเรียกว่าพี่นางฟ้า” พัฒน์ตอบ
แม้จะแปลกใจแต่ชลชาติก็ตอบรับเพียงการพยักหน้า จิบกาแฟสลับกับอ่านเอกสารที่อ่านค้างไว้จนกระทั่งถึงสถานที่นัดหมาย ชลชาติใช้เวลาเจรจาเรื่องสำคัญร่วมชั่วโมง จากนั้นจึงเข้าออฟฟิศจัดการงานต่างๆ จนกระทั่งสองทุ่มจึงเปลี่ยนชุดเพื่อไปร่วมงานฉลองมงคลสมรสรุ่นน้องที่เคยเรียนด้วยกัน
ชลชาติใช้เวลาอยู่ในงานฉลองมงคลสมรสราวครึ่งชั่วโมง ทว่าจังหวะที่กำลังจะขอตัวกลับ สายตาก็สบเข้ากับใครบางคนที่เดินถือถาดเครื่องดื่มคอยให้บริการอยู่มุมหนึ่งของห้องจัดเลี้ยง
ชายหนุ่มยกแขนข้างซ้ายขึ้นดูเวลา ไม่อยากจะเชื่อก็ต้องเชื่อว่า เด็กสาวที่พัฒน์บอกว่าทำงานอยู่ที่ร้านกาแฟตอนหกโมงเช้ายังเดินยิ้มแย้มเสิร์ฟเครื่องดื่มอยู่ในงานเลี้ยงตอนสี่ทุ่ม เธอเป็นหุ่นยนต์หรือไร ถึงได้ทำงานวันละหลายที่ตั้งแต่เช้าจนมืดแบบนี้
ความคิดเห็น |
---|