7

เชฟขนมหวาน


7

เชฟขนมหวาน

 

วันแรกของสัปดาห์ใหม่ กิรฏามาที่ร้านกอหญ้า เบเกอรี เฮาส์ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าเพื่อเตรียมเปิดร้าน

ร้านของเธอตั้งอยู่ที่คอมูนิตีมอลล์แห่งหนึ่งภายในซอยทองหล่อนั่นเอง ที่นี่รวบรวมร้านค้าไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร เสื้อผ้าแฟชั่น ของใช้ในชีวิตประจำวัน และบริการต่างๆ ซึ่งร้านขนมของกิรฏาตั้งอยู่ในโซนมาร์เกตบริเวณชั้นหนึ่ง

ภารกิจของหญิงสาวในทุกเช้าก็คือเข้าครัวทำขนมหวานเมนูต่างๆ ไว้รอจำหน่ายให้ลูกค้าในเวลาเปิดร้านตอนสิบเอ็ดโมง ระหว่างวันก็จะทำขนมเพิ่มเป็นระยะ และขนมบางอย่างต้องทำเสิร์ฟร้อนๆ เธอก็จะทำเมื่อมีออร์เดอร์เข้ามาเท่านั้น ไม่ทำค้างไว้ให้เสียของ เมื่อว่างจากในครัวจึงจะออกไปช่วยพนักงานรับออร์เดอร์ ทำเครื่องดื่ม และเสิร์ฟขนม

ขนมของร้านกอหญ้า เบเกอรี เฮาส์ขึ้นชื่อเรื่องความสดใหม่ เพราะทุกชิ้นทำวันต่อวัน หากวันไหนเหลือก็จะแบ่งให้พนักงานนำกลับบ้าน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะขายหมดก่อนปิดร้านตลอด

วันนี้หญิงสาวจะทำขนมเมนูใหม่ของร้านออกขายเป็นครั้งแรกหลังจากทดลองสูตรจนมั่นใจในรสชาติ เมนูที่ว่าก็คือซูเฟล่แพนเค้กเนื้อนุ่มฟูเด้งดึ๋งสไตล์ญี่ปุ่นนั่นเอง กิรฏาจะทำท็อปปิงออกมาสามรสชาติให้เลือกคือ ครีมนมสดน้ำผึ้ง ครีมชีส และสุดท้ายคือครีมชาไทย เพราะอยากจะใส่ความเป็นไทยผสมผสานเข้าไปด้วย

ภายในครัวทำขนมของร้านกอหญ้า เบเกอรี เฮาส์มีอุปกรณ์ครบครัน และจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อความสะดวกในการหยิบใช้

ตอนนี้กิรฏากำลังวุ่นอยู่ในครัวกับผู้ช่วยเพื่อทำขนมหวานเมนูต่างๆ ซึ่งแต่ละวันจะทำเจ็ดถึงสิบเมนูหมุนเวียนกันไปเพื่อความไม่จำเจ วันนี้มีเมนูน้องใหม่อย่างซูเฟล่แพนเค้กด้วย

ส่วนผสมในการทำขนมชนิดนี้ไม่ได้เยอะแยะอย่างที่ใครหลายคนคิด แต่ขั้นตอนการทำต้องอาศัยความละเอียดลออกว่าจะออกมาเป็นซูเฟล่แพนเค้กเนื้อนุ่มเด้งแสนน่ากิน

กิรฏาในชุดผ้ากันเปื้อนสีขาวสวมหมวกเชฟเก็บผมเรียบร้อยเอื้อมมือไปหยิบชามแก้วจากชั้นวางมาตอกไข่ และแยกไข่แดงกับไข่ขาวออกจากกัน จากนั้นก็ตีไข่แดงผสมกับนมสด น้ำตาล เกลือ และเติมกลิ่นวานิลลาลงไปเล็กน้อย

“เดี๋ยวพี่ตุ๊กติ๊กเอาไข่ขาวไปตีกับน้ำตาลเลยค่ะ หญ้าเตรียมน้ำตาลไว้ในถ้วยให้แล้ว ค่อยๆ ใส่ทีละส่วนนะคะ” หญิงสาวหันไปบอกติณณา ผู้ช่วยของเธอ ในขณะที่มือเรียวกำลังใช้ไม้พายคนส่วนผสมในชามแก้วให้เข้ากัน

“ได้เลยค่ะ” ติณณาหยิบเครื่องตีมาและทำตามขั้นตอนที่กิรฏาบอกอย่างคล่องแคล่ว

สาววัยกลางสามสิบไม่เคยเรียนทำอาหารหรือขนมมาก่อน แต่มีความสนใจในการทำขนมหวานมาก จึงมาขอเรียนรู้กับกิรฏาโดยไม่รับเงินเดือน จากตอนแรกที่คอยหยิบจับอุปกรณ์ให้อย่างเดียว ตอนนี้ทำขนมได้คล่องแล้วเพราะเป็นคนเรียนรู้เร็ว สอนแค่ไม่กี่ครั้งก็จำได้ กิรฏาจึงจ้างอีกฝ่ายให้ทำงานด้วยเสียเลย เพราะตอนนี้ร้านมีลูกค้ามากขึ้นกว่าเมื่อก่อนจนเธอทำคนเดียวไม่ทัน แต่ถ้าในอนาคตติณณาอยากจะไปเปิดร้านเป็นของตัวเอง หญิงสาวก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน

“ใช้ความเร็วปานกลางก่อนนะคะ พอเติมน้ำตาลส่วนสุดท้ายแล้วค่อยปรับเป็นความเร็วสูงสุดค่ะ” เจ้าของร้านสาวกำกับเป็นระยะ

“โอเคค่า”

กิรฏาร่อนแป้งและผงฟูลงไปในชามตามปริมาณที่ชั่งตวงเอาไว้ แล้วใช้ไม้พายคนส่วนผสมต่อจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ในขณะที่ผู้ช่วยของเธอตีไข่ขาวกับน้ำตาลเสร็จพอดี

“แบบนี้โอเคยังคะ” ติณณาเอียงชามให้ดูไข่ขาวที่ตีด้วยความเร็วสูงจนกลายเป็นเนื้อโฟมละเอียดฟูแน่นเต็มชาม หรือที่ภาษาคนทำอาหารเรียกว่าเมอแรงก์

“ถ้าคว่ำชามแล้วไม่หกแสดงว่าใช้ได้ค่ะ”

อีกฝ่ายลองเอียงชามเก้าสิบองศา ก่อนจะยิ้มกว้าง “ไม่หกค่ะ”

“เริดค่ะ เดี๋ยวส่งมาทางนี้เลยค่า”

“นี่ค่า”

“ขอบคุณค่ะ” กิรฏารับชามแก้วมา จากนั้นก็ตักเมอแรงก์ไข่ขาวมาใส่ชามของเธอ และคนให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

เสร็จแล้วก็ตั้งกระทะเทฟลอนบนเตาโดยใช้ไฟอ่อน ทาน้ำมันให้ทั่ว ตักแป้งที่ผสมเรียบร้อยแล้วลงไป และใช้ช้อนตักน้ำหยอดใส่กระทะสองช้อน ก่อนปิดฝาไว้เพื่อให้แป้งแพนเค้กค่อยๆ สุก รอจนด้านล่างกลายเป็นสีน้ำตาล จึงพลิกกลับด้านอย่างระมัดระวัง ทิ้งไว้อีกพักจนแน่ใจว่าสุกทั่วถึงแล้วก็ตักออกมาใส่จาน ใส่ท็อปปิง โรยน้ำตาลไอซิง และตกแต่งจานให้สวยงามยิ่งขึ้นด้วยดอกไม้กินได้และผลไม้เพื่อเพิ่มสีสัน

“เรียบร้อยแล้วค่า” กิรฏายิ้มอย่างพอใจในผลงาน

“ฮ้อมหอมอ้ะน้องกอหญ้า” ติณณาทำหน้าฟินเมื่อได้กลิ่นหอมหวนชวนน้ำลายสอ

“เดี๋ยวเรามากินกันก่อนเลยค่ะ” ดวงตากลมโตทอประกายมีชีวิตชีวา

“โอเคค่า พี่พร้อมมาก” ว่าแล้วผู้ช่วยของเธอก็ลองใช้ส้อมจิ้มขนมดู “หืม นุ้มนุ่ม เด้งดึ๋งสุดๆ” จากนั้นเจ้าตัวก็ตักมาใส่ปากและเคี้ยวพลางหลับตาพริ้ม

“เป็นยังไงคะ” นัยน์ตาหวานฉายแววลุ้น

ติณณายกนิ้วโป้งให้ “อร่อยมากกก มันละมุน นุ่มลิ้น หอม ละลายในปาก ไม่หวานเกินไปด้วย โอ๊ย ฟินค่ะ”

“เย้ สูตรนี้ผ่าน พี่ตุ๊กติ๊กคอนเฟิร์ม” กิรฏาชูไม้ชูมือพลางยิ้มปลาบปลื้ม

“น้องกอหญ้าทำอะไรก็อร่อยหมดแหละค่ะ” ผู้ช่วยสาวมองมาอย่างชื่นชม

“ขอบคุณค่า” แม้จะได้รับคำชมเสมอ แต่หญิงสาวก็ยังพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง “พี่ตุ๊กติ๊กสงสัยขั้นตอนไหนไหมคะ หญ้าจะได้อธิบายอีกที”

“ไม่มีค่ะ น้องกอหญ้าอธิบายละเอียดดีมากเลย ครั้งเดียวก็จำได้แล้ว”

“โอเคค่า งั้นครั้งต่อไปทำตามสูตรนี้เลยนะคะ” เวลาที่เธอไม่ได้เข้าร้านก็จะมีติณณานี่ละที่ทำขนมแทน

กิรฏาก็เหมือนเด็กผู้หญิงหลายๆ คนที่เริ่มต้นทำอาหารครั้งแรกตอนเล่นขายของ โดยเอาดิน ใบไม้ ใบหญ้า ดอกไม้ หรืออะไรก็ตามที่หาได้ในธรรมชาติมาทำเป็นอาหาร ส่วนอุปกรณ์อย่างหม้อ กระทะ ตะหลิว ก็ใช้กระป๋อง ถังน้ำ และกิ่งไม้แทน

ลูกค้าประจำของเธอก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็ก้องบดินทร์ที่ถูกป้ามลฤดีบังคับให้มาเป็นเพื่อนเล่นกับเธอที่บ้านนั่นละ

...

‘สวัสดีค่าคุณลูกค้า รับอะไรดีคะ ร้านเรามีทั้งเค้กเนยสด เค้กช็อกโกแลต และเค้กใบเตยเลยค่ะ’ เด็กหญิงกิรฏาในวัยหกขวบซึ่งนั่งพับเพียบเอี้ยมเฟี้ยมอยู่บนพื้นสนามหญ้าหน้าบ้านเอ่ยเสียงเจื้อยแจ้ว บนศีรษะของเธอสวมมงกุฎดอกไม้สีหวานที่ทำขึ้นเอง

‘ไม่รับ’ เด็กชายก้องบดินทร์ที่ตอนนั้นอายุเก้าขวบตอบเสียงห้วนเพราะอยากจะไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนมากกว่า

‘ไม่ได้นะคะ แม่ค้าอยากขายค่ะ’ แววตาของเด็กหญิงเป็นประกายแน่วแน่ เธออุตส่าห์เตรียมของมาขายมากมาย ลูกค้าจะมาบอกว่าไม่ซื้อได้ยังไง

‘อืมๆ สั่งก็ได้ เอาเค้กมะพร้าว’ เด็กชายบอกอย่างตัดรำคาญ

‘เค้กมะพร้าวไม่มีค่ะ มีเค้กเนยสด เค้กช็อกโกแลต เค้กใบเตย’

‘แต่ฉันอยากกินเค้กมะพร้าวนี่’

เด็กหญิงกิรฏาถอนหายใจพรืด ‘โอ๊ย ก็ได้ๆ ค่ะ รอสักครู่นะคะ’

‘มาโอ๊ยใส่ลูกค้าได้ไง ฉันจะไปบอกชาวบ้านให้หมดว่าไม่ต้องมาซื้อร้านนี้’ เด็กชายก้องบดินทร์ยกมือขึ้นกอดอก เอ่ยเสียงเอาเรื่อง

‘คุณลูกค้ากวนนี่คะ’

‘แต่เธอเป็นแม่ค้า ต้องอดทน ไม่ว่าลูกค้าจะพูดอะไร’

คนตัวเล็กค้อนขวับ ก่อนจะสงบปากสงบคำและทำเค้กมะพร้าวที่ลูกค้าจอมกวนสั่ง โดยเอาดินเหนียวมาปั้นและตัดให้เป็นทรงสามเหลี่ยม จากนั้นก็เอาใบไม้และดอกไม้มาตกแต่งข้างบนอย่างประณีต

‘เค้กมะพร้าวได้แล้วค่ะ’ เธอยื่นจานขนมหวานแสนสวยให้เขา

อีกฝ่ายรับไปและมองแบบขำๆ แต่ก็ไม่ได้พูดก่อกวนอีก

‘รับเครื่องดื่มอะไรดีคะ’ พอขายขนมเสร็จ เด็กหญิงกิรฏาก็หันไปขายเครื่องดื่มบ้าง

‘มีอะไรบ้าง’

‘มีโค้ก สไปรท์ แล้วก็น้ำผลไม้ค่ะ’ มือเล็กชี้ไปยังขวดน้ำที่นำมาตัดปากออก และมีน้ำสีต่างๆ บรรจุอยู่

‘เอาเบียร์ มีไหม’

‘ไม่มีค่ะ เด็กไม่ควรดื่มเบียร์’

‘งั้นเอาโค้กก็ได้’

‘ค่า’ เด็กหญิงยิ้มแป้นและเทโค้กที่ทำจากน้ำผสมดินใส่แก้วให้เขา ‘ทั้งหมดสามสิบบาทค่ะ’

‘เอาไปหมดเลย ไม่ต้องทอน พอดีบ้านรวย’ ก้องบดินทร์ยื่นใบไม้ปึกใหญ่ที่ใช้แทนเงินสดให้เธอ

‘ขอบคุณมากเลยค่ะ’ คนตัวเล็กยิ้มปลาบปลื้ม แม้ว่าจะเป็นเงินปลอม แต่พี่ก้องให้หมดแบบนี้แสดงว่าต้องชอบขนมและเครื่องดื่มร้านของเธอมากแน่ๆ

...

กิรฏาชอบเล่นขายของเป็นประจำจนป้าพิสมัยคงจะเห็นแววบางอย่างในตัวเธอ พออายุได้แปดขวบ ท่านจึงเริ่มสอนให้ทำอาหารและขนมง่ายๆ เอง ตอนทำไข่เจียวสำเร็จเป็นครั้งแรก หญิงสาวจำได้ว่าเธอภูมิใจในผลงานของตัวเองมาก และนั่งกินไข่เจียวจดหมดเกลี้ยงจานแบบยิ้มไม่หุบเลย

แม้ป้าจะสอนทำอาหารทั้งคาวหวาน แต่กิรฏาสนใจการทำขนมหวานเป็นพิเศษ เพราะหนึ่งคือชอบกิน และสองคือเธอรู้สึกสนุกสนานกับการตกแต่งหน้าเค้กและขนมต่างๆ มาก ป้าพิสมัยที่ถนัดอาหารคาวมากกว่าและถ่ายทอดวิชาให้จนหมดแล้วจึงส่งให้ไปเรียนกับเชฟขนมหวานที่สถาบันแห่งหนึ่งตอนอายุได้สิบขวบ

กิรฏาได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมายในโรงเรียนสอนทำอาหาร ป้าพิสมัยเองเมื่อเห็นว่าหลานชอบอะไร ท่านก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่ ป้าลงทุนซื้ออุปกรณ์ทำขนม เตาอบ และอื่นๆ มาไว้ที่บ้านครบครัน เพื่อให้หลานได้ฝึกทำนอกเหนือจากที่โรงเรียน ทำเอากิรฏาปลาบปลื้มดีใจสุดๆ

ฝีมือการทำขนมของเด็กสาวพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนเชฟที่สอนแนะนำให้ไปสมัครเข้าร่วมรายการแข่งขันทำอาหารทางทีวีตอนอายุสิบสองปี แม้เธอจะไม่ได้อันดับหนึ่ง แต่ก็เข้ารอบจนถึงแปดคนสุดท้าย และได้รับประสบการณ์สุดล้ำค่าที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้

‘ถึงหญ้าจะต้องออกจากการแข่งขัน แต่หญ้าก็ไม่เสียใจค่ะ เพราะมาแข่งครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่รักการทำอาหารเพิ่มขึ้นหลายคนเลย แถมยังได้รู้จักกับเชฟที่สอนอะไรดีๆ ให้หญ้ามากมาย หญ้าจะฝึกฝนตัวเองต่อไป และจะไม่หยุดแค่นี้แน่นอนค่ะ’ นั่นคือคำที่เด็กหญิงกิรฏากล่าวทิ้งท้ายในรายการ

ตอนใกล้จบมัธยมปลาย หญิงสาวลังเลอย่างมากว่าควรมุ่งเรียนต่อไปทางการทำขนมหวานโดยตรงเพื่อทำงานเป็นเชฟมืออาชีพในโรงแรมห้าดาว หรือจะทำแค่ในเวลาว่างอย่างที่ผ่านมาดี ซึ่งคนที่ให้คำปรึกษาเธอได้ดีที่สุดก็คือป้าพิสมัยนี่ละ

‘หนูลองถามตัวเองดูก่อนว่าเราทำขนมไปเพื่ออะไร แล้วเป้าหมายของเราคืออะไร’

‘หญ้าทำเพราะว่ามีความสุขค่ะ แต่ถ้าหญ้าไปเป็นเชฟในโรงแรม งานต้องกดดันมากแน่ๆ จากที่มีความสุขเวลาได้อยู่ในครัว หญ้าคงจะเครียดแทน คือหญ้าไม่ได้มีแพสชันว่าตัวเองจะต้องเป็นเชฟที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกอะไรอย่างนั้น หญ้าแค่อยากทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่ได้กินขนมของหญ้ามีความสุขก็พอแล้ว แต่พอเห็นเพื่อนๆ ที่เรียนทำขนมด้วยกันเขามุ่งมั่นอยากจะเป็นเชฟมืออาชีพกันมาก หญ้าก็เลยกลับมาคิดกับตัวเองว่า เอ๊ะ ทำไมเราไม่ทะเยอทะยานอะไรเลย หรือเราควรจะตั้งเป้าหมายให้สูงแบบคนอื่นบ้าง’

‘ก็ได้คำตอบแล้วนี่นา คนเรามีจุดที่พอใจต่างกัน คนที่อยากเป็นเชฟมืออาชีพ เขาก็ไม่ผิด ส่วนเราที่พอใจจะอยู่จุดนี้ ได้ทำขนมให้คนอื่นกินแล้วมีความสุข ไม่ได้ต้องการชื่อเสียงหรือเกียรติยศ ก็ไม่ผิดเหมือนกัน อย่างป้าเป็นคนชอบร้องเพลง แต่มันก็ไม่จำเป็นว่าป้าต้องหาทางให้ตัวเองเป็นนักร้องออกอัลบัมโด่งดังถึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ ก็ฉันมีความสุขที่ได้ร้องอ้ะ ใครอยากเป็นนักร้องดังก็เรื่องของเขา ฉันขอแค่นี้ก็พอแล้ว สรุปคือ...อะไรที่หนูทำแล้วสบายใจก็ทำเลยลูก ป้าไม่ขัดข้อง อ้อ ขออย่างเดียวอย่าทำผิดกฎหมายและศีลธรรมก็พอ’

‘ขอบคุณนะคะป้าพริ้ม หญ้าหายลังเลแล้ว หญ้าคิดว่าจะเปิดร้านเบเกอรีเป็นของตัวเองหลังเรียนจบค่ะ ฝันของหญ้าก็เท่านี้แหละ’

‘ตามนั้นจ้ะ ป้าจะเป็นลูกค้าคนแรกเลย’ ท่านยิ้มอารี

เมื่อเรียนจบมัธยมแล้ว กิรฏาจึงเลือกสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาสื่อสารการแสดง ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เธอสนใจอยากเรียนรู้ ส่วนในเวลาว่างหญิงสาวก็ยังคงเรียนทำขนมและฝึกฝนด้วยตัวเองอยู่เสมอ จนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ได้มาเปิดร้านกอหญ้า เบเกอรี เฮาส์เป็นของตัวเองจนถึงปัจจุบัน ต่างจากเพื่อนๆ ร่วมสาขาส่วนใหญ่ที่ไปทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในวงการบันเทิง

ที่จริงก็มีรุ่นพี่ชักชวนเธอให้เข้าไปทำงานในวงการบันเทิงเหมือนกัน แต่กิรฏาปฏิเสธไป เพราะอยากทำสิ่งที่ฝันมานานให้เป็นจริงก่อน แล้วเรื่องอื่นค่อยว่ากัน บางทีเธออาจจะเปลี่ยนใจไปทำงานด้านการแสดงในอนาคตก็ได้ ใครจะไปรู้

แน่นอนว่ามีบางคนสงสัยและถามเธอว่าจบนิเทศฯ ทำไมมาเปิดร้านเบเกอรี ไม่เห็นจะตรงกับสายที่เรียนมาเลย แต่หลายคนก็เป็นแบบนี้ไม่ใช่เหรอ จบสาขาหนึ่ง แต่พอทำงานจริงอาจคนละทางกับที่เรียนมาเลยก็ได้

อย่างที่บอกว่าเธอเรียนนิเทศฯ เพราะสนใจศาสตร์ด้านการแสดง และไม่เห็นว่าการที่จบนิเทศฯ แต่ไม่ได้ไปทำงานในวงการบันเทิงเป็นเรื่องแปลกตรงไหน โลกใบนี้ไม่ได้มีถนนให้เดินแค่สายเดียวสักหน่อย คนเรามีสิทธิ์เลือกเส้นทางของตัวเอง ถ้าเส้นทางนั้นทำให้มีความสุขก็เดินหน้าไปเลย อย่าได้แคร์ค่ะ

ถ้าถามว่าได้ความมั่นนี้มาจากใคร ตอบเลยว่าไม่ใช่ใครที่ไหน ป้าพิสมัยสุดที่รักของเธอนี่ละ ตอนสมัยสาวๆ น่ะท่านเผ็ดอย่าบอกใครเชียวละ

ป้าเล่าให้ฟังว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ท่านกับป้ามลฤดีมีดีกรีความสวยติดอันดับต้นๆ ของสถาบันเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังเป็นผู้นำเชียร์ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ดังนั้นเรื่องหนุ่มๆ ไม่ต้องพูดถึง มีทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง และรุ่นเดียวกันเข้ามาขายขนมจีบไม่ขาดสาย

แต่คนที่เอาชนะใจป้าได้ก็คือลุงสรพงษ์ ที่กลายมาเป็นคู่ชีวิตของท่านในเวลาต่อมา ส่วนเพื่อนรักอย่างป้ามลฤดีก็แต่งงานกับลุงก้องเกียรติ พ่อของก้องบดินทร์นั่นเอง

ลุงสรพงษ์เป็นลูกชายคนโตของเจ้าของบริษัทพฤกษ์อนันต์การ์เมนต์ ซึ่งทำธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งขายทั้งในไทยและต่างประเทศ ปีหนึ่งๆ มีรายได้หลายสิบล้านบาท

พ่อแม่ของลุงสรพงษ์คาดหวังอย่างสูงให้ท่านมีลูกชายมาสืบตระกูล แต่โชคร้ายที่ลุงเป็นหมันทำให้มีลูกไม่ได้ ในขณะเดียวกันภรรยาของลุงบวร น้องชายของลุงสรพงษ์ซึ่งแต่งงานไล่เลี่ยกันก็ตั้งท้องลูกชายพอดี พ่อแม่ของลุงสรพงษ์จึงหันไปฝากความหวังไว้กับทายาทของลูกชายคนรองแทน เพราะเมื่อลุงสรพงษ์และน้องชายซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานบริษัทแก่ตัวลง คนที่จะมาสานต่อกิจการของพฤกษ์อนันต์การ์เมนต์ที่ดำเนินมายาวนานกว่าสี่สิบปีก็คงมีเพียงแค่ลูกชายของลุงบวรเท่านั้น

หลังจากป้าพิสมัยกับลุงสรพงษ์ใช้ชีวิตคู่ด้วยกันได้ห้าปี ลุงก็หัวใจวายเสียชีวิตอย่างกะทันหันขณะกำลังเดินตรวจโรงงาน สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้ป้าและทุกคนในครอบครัวของท่านเป็นอย่างมาก

หากเป็นครอบครัวอื่น ป้าพิสมัยคงถูกสงสัยว่าแอบวางยาพิษฆ่าลุงเพื่อเอาสมบัติหรือไม่ แต่โชคดีที่ครอบครัวลุงสรพงษ์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น พ่อแม่ของลุงเชื่อใจป้าพิสมัย และให้ความรักความเมตตาลูกสะใภ้เหมือนเดิมเพราะพวกท่านรู้ว่าลุงสรพงษ์เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว และมีผลการชันสูตรจากสถาบันนิติเวชยืนยันว่าเป็นการเสียชีวิตเพราะหัวใจวาย ไม่ใช่ถูกวางยา

ลุงบวรเองก็ไม่ได้มีปัญหากับพี่สะใภ้แม้แต่น้อย เพราะที่ผ่านมาก็เห็นว่าป้าพิสมัยรักพี่ชายของตนอย่างจริงใจ และคอยดูแลเอาใจใส่ลุงสรพงษ์เป็นอย่างดีมาโดยตลอด

เมื่อทนายความเปิดพินัยกรรมออกมา ปรากฏว่าลุงสรพงษ์ยกหุ้นของบริษัทพฤกษ์อนันต์การ์เมนต์ในส่วนของท่านสามสิบห้าเปอร์เซ็นต์ให้ป้าพิสมัยทั้งหมด รวมทั้งบ้านและที่ดินในซอยทองหล่อด้วย ทุกคนก็เคารพการตัดสินใจของผู้ตายโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ

ป้าพิสมัยได้เลื่อนตำแหน่งจากกรรมการผู้จัดการขึ้นมาเป็นรองประธาน ส่วนลุงบวรก็ได้รับตำแหน่งประธานบริหารต่อจากพี่ชาย ในช่วงนั้นเองที่พ่อแม่ของกิรฏาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ป้าจึงรับหลานวัยหนึ่งขวบเศษ ซึ่งเป็นลูกของน้องสาวมาดูแลต่อ

บ้านที่เงียบเหงาเมื่อลุงสรพงษ์จากไปมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง เพราะเด็กหญิงตัวน้อยๆ ที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจของท่าน ป้าเล่าด้วยน้ำเสียงอิ่มเอมว่า ตอนนั้นท่านมีสองโหมดคือโหมดจริงจังในเวลาทำงาน และโหมดอ่อนโยนเมื่อเลี้ยงหลาน แม้บางวันจะเครียดกับงานแค่ไหน แต่พอกลับบ้านก็ต้องทำตัวเป็นนางฟ้าผู้แสนใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใสกับหลานอยู่เสมอ

ป้าพิสมัยทำหน้าที่ทั้งสองอย่างควบคู่กันอย่างเต็มความสามารถ จนกระทั่งอายุหกสิบปีจึงเกษียณอายุออกมาพักผ่อน ใช้เวลาว่างทำสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข และคอยเฝ้าดูลูกหลานเติบโตต่อไป เช่นเดียวกับลุงบวรที่วางมือให้พีรวัสผู้เป็นลูกชายบริหารบริษัทพฤกษ์อนันต์การ์เมนต์ ซึ่งปัจจุบันมีกำไรหลักร้อยล้านแทน แต่พวกท่านทั้งสองก็ยังพร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการทำงานเสมอหากพีรวัสต้องการ

นี่ละเรื่องราวของคุณป้าสุดที่รักของเธอ กิรฏาพูดได้เต็มปากเลยว่า ถ้าไม่มีป้า เธอก็คงไม่มีวันนี้

ขอบคุณมากๆ เลยนะคะป้าพริ้ม

รีวิวผู้อ่าน

0 ผู้รีวิว

จัดเรียงตาม

ความคิดเห็น