บทนำ

บทนำ

ปิยโต ชายเต โสโก

ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีแต่ความเศร้าโศก

เมืองพิษณุโลก พุทธศักราช ๒๑๑๗

“มาลัยเจ้าค่ะคุณปราง”

หญิงสาวส่งยิ้มอ่อนจางให้บ่าวของตน มือเรียวรับมาลัยมะลิซ้อนหอมกรุ่นที่ตั้งใจร้อยเรียงไว้ ก่อนจะบรรจงคล้องลงบนโกศมุกสีขาวสะอาดตา นัยน์เนตรคู่งามหม่นหมอง เพียงหวนระลึกถึงใบหน้าเจ้าของเถ้าอัฐิในโกศใบนี้คราใด กระบอกตาทั้งสองพลันแสบร้อนเสียจนต้องฝืนข่มอารมณ์อ่อนไหว

ล่วงเลยมาราวขวบปีแล้วที่มารดาจากไปด้วยโรคภัยที่รุมเร้ายาวนาน กอปรกับข่าวร้ายที่ได้รับทราบพาให้ร่างกายที่ล้มเจ็บเป็นทุนเดิมมิอาจทานทน คุณหญิงเขียนจันทร์จึงสิ้นใจเสียก่อนที่จะได้มีโอกาสหวนคืนสู่เมืองพิษณุโลกสองแคว สถานที่ที่เคยหมายมั่นไว้ว่าจะต้องเป็นเรือนตายในห้วงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

ลูกพาคุณแม่กลับคืนเรือนของเราแล้วหนาเจ้าคะ

ปลายนิ้วเรียวสวยลอบกรีดหยาดน้ำใสที่ไหลรอดจากทางหางตา แสดงออกว่าหล่อนนั้นหาได้โศกเศร้าอาลัยไม่ 

แต่มีหรือบ่าวไพร่ซึ่งอยู่รับใช้กันยาวนานจะมองไม่ออก คุณหนูของตนเพียงแสร้งทำว่าตนเองนั้นเข้มแข็ง ยิ่งกำแพงที่เจ้าหล่อนเพียรสร้างสูงชันเพียงใด ยิ่งตอกย้ำว่าภายในจิตใจของหญิงสาวผู้นี้เหน็บหนาวแสนสาหัส

“รีบเข้าวังเถิดเจ้าค่ะ หากสายกว่านี้ ประเดี๋ยวจักโดนเอ็ดเอาได้นะเจ้าคะ”

นางน้อม บ่าวคนสนิทของคุณหญิงเขียนจันทร์ว่า มือป้อมแตะลงบนท่อนแขนเรียวเสลา เห็นโฉมสะคราญของคุณหนูแล้วอดคะนึงถึงผู้เป็นมารดามิได้ เพราะดวงหน้างามล้ำนี้ถอดแบบมาจากคุณหญิงเขียนจันทร์ครั้งยังสาวมิผิดเพี้ยน คงมีเพียงแววตาแสนเย็นชา และท่าทางไว้ตัวที่ผิดแผกออกไป แต่มิใช่เรื่องแปลกอันใด เนื่องจากสตรีนางนี้เป็นถึงบุตรีของขุนนางชั้นเจ้าพระยา ซ้ำยังถูกอบรมบ่มกิริยาในรั้ววังมานับแต่เยาว์วัย การวางตัวย่อมไม่เหมือนสาวชาวบ้านธรรมดา

ผิว่าชะตาชีวิตของปรางนั้นแสนอาภัพ เพราะนอกจากสิ้นบิดาไปแต่ครั้งสงครามช้างเผือก ยังต้องสิ้นมารดาด้วยโรคตรอมใจ ยามนี้จึงเหลือเพียงตัวคนเดียว ด้วยไม่มีพี่น้องหรือญาติสนิทที่จะให้พึ่งพิงได้

เมื่อไม่มีพันธะใดให้ต้องห่วงกังวล หลังเสร็จสิ้นงานศพของคุณหญิงเขียนจันทร์ที่กรุงศรีอยุธยา ปรางจึงตัดสินใจตามเสด็จพระมหาอุปราชและพระชายากลับมายังเมืองสองแคว ซึ่งเป็นบ้านเกิดเดิม 

เรือนหลังเก่าถูกเผาวอดวายไปด้วยไฟสงคราม หญิงสาวและบ่าวชราที่อยู่รับใช้กันมายาวนานจึงต้องมาอาศัยอยู่ยังเรือนที่ทางการสร้างไว้เพื่อรองรับครัวไทยมอญ ตลอดจนผู้คนที่หนีโพยภัยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของอุปราชพระองค์ใหม่

แม้จะลำบากกว่าครั้งเก่าก่อน แต่เมื่อปรางย้ำชัดเป็นหนักหนาว่าหล่อนอยู่ที่นี่ได้ นางน้อมจึงมิกล้าขัดความต้องการนั้น 

“ที่เหลือข้าฝากเป็นธุระทีหนาแม่น้อม”

เพราะเพิ่งย้ายขึ้นมาได้มินาน ข้าวของในเรือนจึงยังไม่เรียบร้อยดี ไหนจะของที่เพิ่งส่งตามมาทางเกวียนอีก ทราบความจากจดหมายว่าจะมาถึงเรือนในช่วงบ่ายคล้อย นางน้อมจึงรับคำ ดวงตาฝ้าฟางคอยมองตามแผ่นหลังของหญิงสาวไปจนลับสายตา

“แม่ปราง”

ร่างอรชรสืบเท้าไปยังทิศทางที่เสียงเรียกดังขึ้น เห็นเกลอเก่าที่ต้องแยกจากกันเมื่อครั้งถูกหงสาวดีเข้ารุกราน ดวงตากลมโตจึงฉายแววดีใจ รอยยิ้มยินดีที่ระยะหลังแทบจะมิปรากฏให้เห็นอาบไล้ทั่วใบหน้าหวานละมุน

“แม่เพ็ญรึนั่น ข้ามิได้ตาฝาดไปใช่ฤาไม่”

อารามยินดีทำให้หญิงสาวเก็บความตื่นเต้นไว้มิอยู่ สองมือจึงเขย่าแขนของสหายรักประหนึ่งดรุณีน้อย ซึ่งก็นับว่าน้อยคนนักที่จะได้เห็นอากัปกิริยาเช่นนี้ของสตรีที่มักตีหน้านิ่งอยู่เป็นนิตย์ 

“ต้องเป็นข้าน่ะซี แม่ลืมเกลอเก่าผู้นี้ไปแล้วหรือไร”

“ปูโธ่ ข้ามิได้หมายความเยี่ยงนั้น...นี่เจ้า...”

เมื่อเห็นร่างเล็กแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มเฉกเช่นนางในดุจกัน ดวงตากลมโตจึงเบิกขึ้น

“เพลานี้องค์ดำทรงเกณฑ์คนเข้ารับราชการในวัง เพื่อทดแทนกำลังพลเดิมที่ถูกโอนย้ายไปกรุงศรีฯ พี่เพิ่มแลตัวข้าจึงได้เข้าวังรับใช้พระองค์ท่าน สมดังความปรารถนาของพ่อแลแม่แล้วละแม่ปราง”

แววตาของปรางอ่อนแสงลงเมื่อได้ยินยลประโยคหลัง ครอบครัวของเพ็ญนั้นมิใช่ข้าราชการหรือขุนนาง ทว่าเป็นครอบครัวของชาวนา ที่มารู้จักกันได้เป็นเพราะนางผาด มารดาของเพ็ญเป็นเพื่อนรักกับคุณหญิงเขียนจันทร์ มิตรภาพของมารดาจึงนำพามาสู่รุ่นลูกสืบไป ส่งผลให้ปรางและเพ็ญได้สนิทสนมกันมาตั้งแต่จำความได้ ก่อนที่จะต้องแยกห่างกันไปด้วยศึกสงครามซึ่งกินเวลาเนิ่นนานราวสิบขวบปี ปรางจึงมีเรื่องมากมายที่อยากไต่ถาม เพราะไม่รู้ว่าที่ผ่านมาสหายและครอบครัว ต้องผจญกับเคราะห์กรรมเช่นใดบ้าง

ครั้นได้รับทราบถึงความสูญเสีย ดวงตาคู่โศกจึงอ่อนแสงลง สองมือกุมมือเล็กของเพ็ญไว้ สัมผัสได้ถึงความสากกร้านดั่งคนตรากตรำทำงาน ยิ่งสำทับว่าช่วงชีวิตที่ผ่านมาเกลอเก่าผู้นี้คงจะลำบากไม่น้อย 

ทว่าคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนชินชากลับทำเพียงระบายยิ้มในหน้า ไม่หวนระลึกถึงความหลังครั้งเก่าก่อนอีก เสียงใสเล่าถึงพี่ชายเพียงคนเดียวที่ตนเองมีด้วยความภาคภูมิใจยิ่ง

“แต่คนที่ปีติยินดีที่สุดคงมิพ้นพี่ข้านี่แล ร่ำร้องอยากจักรับราชการมาตั้งแต่ครั้งเห็นพี่แก้วแลพี่ทัดถวายงานเจ้านายพระองค์ก่อน...จริงซี พูดถึงสองคนนี้แล้ว ข้าจึงนึกถึงพิกุลขึ้นมา นางเป็นเยี่ยงไรบ้าง กลับมาด้วยเจ้าฤๅไม่ แม่ปราง”

ชื่อของหญิงรุ่นน้องทำให้ปรางชะงักนิ่งไปชั่วขณะ ลอบขบริมฝีปากอิ่มเข้าหากัน แต่ไม่ทันได้ตอบสิ่งใด สืบเนื่องจากเสียงห้อตะบึงของขบวนม้าที่ดังอยู่ไม่ไกล เห็นธงสีแดงสดอันเป็นตราประจำพระองค์กอปรกับฝุ่นดินที่คละคลุ้งตามจังหวะการวิ่งของอาชาตัวใหญ่ สตรีทั้งสองจึงเร่งเร้นกายเข้าข้างทาง เพื่อมิให้เป็นที่กีดขวางทหารกล้าในพระเจ้าแผ่นดิน

เสี้ยววินาทีที่เจ้าสี่ขาควบผ่านหน้าไป ร่างแกร่งในเครื่องแต่งกายเช่นขุนศึกแห่งกรุงศรีอยุธยาทำใจคนมองสั่นสะท้าน เพราะแม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ปรางกลับจดจำได้ในทันทีว่าชายบนหลังม้าคือผู้ใด 

ราวกับภาพของเขาสลักลึกลงไปในดวงใจและจิตวิญญาณ เพราะไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านผันมายาวนานเพียงใด ใจดวงนี้ก็ยังจารจำถ้อยคำใจร้ายที่บุรุษผู้นั้นฝากฝังเอาไว้ เสมือนว่าเขาเกลียดชังหล่อนเสียเกินจะพรรณนา

‘หากเจ้าอยากพบหน้าคนรักถึงเพียงนี้ เหตุใดจึงมิยอมไปตามหามันด้วยตนเอง ไฉนจึงปล่อยให้แม่พิกุลไปที่นั่น ทั้งที่เจ้าก็รู้ดีว่ามันหาใช่ที่ของนางไม่ แต่เป็นเจ้า!’

อาการเจ็บร้าวทั่วแผ่นอกบางประหนึ่งฤทัยดวงน้อยกำลังถูกขยำขยี้ พาให้ต้องยกมือเรียวขึ้นทาบทับหน้าอกตนเองไว้ ขบกลีบปากแน่นจนได้กลิ่นคาวเลือดจางๆ แต่เจ้าของร่างหาได้อนาทรไม่ เพราะความเจ็บที่กายมิอาจเทียบได้แม้แต่เสี้ยวเดียวของดวงใจที่ร้าวราน

รีวิวผู้อ่าน

0 ผู้รีวิว

จัดเรียงตาม

ความคิดเห็น