๑
๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓
“เปลี่ยนไปมากเลยใช่ไหม”
นี่เธอแสดงสีหน้าชัดขนาดนั้นเลยเหรอ...
ณิชาหันไปมองชายวัยกลางคนที่ยืนอยู่ข้างๆ ทันที ก่อนจะทำเพียงเผยยิ้มน้อยๆ เมื่อพบว่าความหมายที่แฝงอยู่ในประโยคเมื่อครู่ของเขาต่างจากความรู้สึกของเธอโดยสิ้นเชิง
ใช่... บริษัท เอ-เคเบิล จำกัด (A-Cable Co., Ltd.) เติบโตกว่าเมื่อก่อนมาก การเช่าพื้นที่หนึ่งชั้นเต็มของตึกสูงใจกลางถนนอโศกมนตรีเพื่อใช้เป็นสำนักงานใหญ่ที่เธอเคยคิดว่าหรูหราแล้ว ในวันนี้บริษัทกินเนื้อที่ไปมากกว่า
หนึ่งส่วนสี่ของอาคารเดิม จึงไม่แปลกที่รอยยิ้มของกีรติ ชายรูปร่างสูงผอมผู้มีศักดิ์เป็นน้า และดำรงตำแหน่ง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจ
แต่สำหรับเธอ เด็กผู้หญิงที่เคยวิ่งเล่นในสำนักงานแห่งนี้มานับครั้งไม่ถ้วนกลับไม่รู้สึกคุ้นชินเท่าไรนัก คงเพราะบรรยากาศที่เคยทำให้เธอรู้สึกอบอุ่นเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองจางหายไปจนหมดสิ้น พื้นที่โล่งกว้างถูกแบ่งเป็นสัดส่วนด้วยผนังเบา โต๊ะไม้ขนาดใหญ่ที่แต่ละแผนกจัดเรียงเป็นกลุ่มก้อนถูกแทนที่ด้วยโต๊ะทำงานรูปทรงทันสมัยซึ่งมาพร้อมกับพาร์ติชันรอบทิศทาง พี่ๆ ที่ตอบรับเสียงพูดคุยเจื้อยแจ้วของเธออย่างโอบอ้อมกลายเป็นพนักงานรุ่นใหม่ที่เธอไม่รู้จัก
แต่เธอเข้าใจ ระยะเวลาสิบเอ็ดปีก็นานพอที่จะทำให้ทุกสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไปได้อยู่แล้ว
“หนูนิด”
เสียงนุ่มดึงสายตาของณิชาไปยังวรรณพร หรือป้าวรรณ หญิงวัยใกล้เกษียณที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน
“คุณป้า” เธอยกมือไหว้อย่างนอบน้อม ก่อนจะถูกดึงเข้าสู่อ้อมกอด
“ป้าดีใจนะที่หนูกลับมา” ป้าวรรณลูบศีรษะของเธออย่างแผ่วเบา แล้วผละออกเล็กน้อยเพื่อพูดต่อ “ถ้าวินยังอยู่ เขาก็คงดีใจมากๆ เหมือนกัน”
วูบหนึ่งที่แววตาของณิชาวิบไหว เมื่อชื่อของผู้เป็นพ่อถูกพูดถึงอีกครั้ง
เป็นเวลาสิบเอ็ดปีแล้วที่วินชัย พ่อของเธอจากไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ แน่นอนว่าหัวใจได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ทั้งซ่อมแซมส่วนที่แตกสลาย และสร้างกำแพงหนาขึ้นมาห่อหุ้มไว้ จนบางครั้งเธอเผลอคิดไปว่าตัวเองคือหนูนิด
หรือณิชาที่พร้อมจะเดินไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งแล้ว
แต่เมื่อได้ยินชื่อของพ่อ หรือสบเข้ากับสายตาของคนที่ยังระลึกถึงพ่ออยู่เสมอ เธอก็รู้ได้ทันทีว่าตัวเองไม่เคยทำใจกับการสูญเสียได้เลย
“เดี๋ยวเราไปดูห้องทำงานของหนูกัน”
โชคดีที่ผู้เป็นป้าตัดบทอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าต่อท้ายด้วยประโยคที่มักได้ยินจากญาติคนอื่นๆ เช่น คิดถึงพ่อเนอะ หรือยิ่งโตขึ้นยิ่งหน้าเหมือนพ่อ เธอต้องร้องไห้ออกมาแน่ๆ
“นี่รู้ไหม ว่าน้ากีเขาเก็บตำแหน่งไว้ให้หนูนิดมาเป็นเดือนๆ แล้วนะ” ป้าวรรณเล่าด้วยท่าทีสดใส ขณะมุ่งหน้าไปทางปีกขวาของสำนักงาน
ณิชาหันไปทางน้ากีที่ส่งเสียงหัวเราะเบาๆ เมื่อถูกหยอกล้อ พอจะทราบว่าผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดคนเก่าเกษียณอายุไปเมื่อหนึ่งเดือนก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่การสอบปลายภาคในชั้นปีสุดท้ายของเธอเสร็จสิ้นลง ผู้เป็นน้าจึงชักชวนให้เธอกลับมาทำงานด้วยกัน
แน่นอน...เธอรู้ดีว่าตัวเองไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดในสายงานด้วยประการทั้งปวง เพราะแม้จะเรียนจบด้านการตลาดมาโดยตรง แต่เธอเป็นเพียงหญิงสาววัยยี่สิบสองปีที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี และไม่มีประสบการณ์ทำงาน ยังไม่นับรวมความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของพ่อที่แทบเป็นศูนย์ เพราะเธอย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่ออาศัยอยู่กับยายและน้าสาว หลังจากผู้เป็นพ่อเสียชีวิตลง
และด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ เธอคงตอบปฏิเสธได้อย่างไม่ลังเล...
ถ้าน้ากีไม่ทิ้งท้ายบทสนทนาไว้ด้วยประโยคสำคัญ
‘กลับมาสานต่อสิ่งที่พ่อหนูทำไว้ด้วยกันนะ’
“ลูกน้องก็ถามว่าเมื่อไหร่จะหาคนมาเสียที” ป้าวรรณยังคงพูดต่อ “เอ็นซีเคเบิลก็ถามว่าให้ส่งคนมาให้ไหม
นี่ก็บอกไม่เอาลูกเดียว”
เอ็นซีเคเบิล หรือ บริษัท ณรงค์ชัย ไวร์แอนด์เคเบิล จำกัด (มหาชน) (Narongchai Wire & Cable PLC.) คือบริษัทที่เข้ามาซื้อกิจการและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในช่วงเวลาที่เอ-เคเบิลกำลังเผชิญกับปัญหาด้านการเงิน
อย่างรุนแรง แม้จะไม่รู้รายละเอียดมากนัก แต่เธอก็พอจะเข้าใจว่าการตัดสินใจขายกิจการเพื่อความอยู่รอดคงเป็นทางออกที่ผู้ใหญ่คิดมาเป็นอย่างดีแล้ว
“ก็ผมอยากให้หนูนิดมาทำนี่ครับ” ผู้เป็นน้าตอบด้วยรอยยิ้มกว้าง
“กลัวทำให้คุณป้ากับน้ากีผิดหวังจัง”
“เฮ้ย! ไม่หรอก หนูนิดไม่ต้องกลัว” น้ากีวางมือบนไหล่ของหลานสาว “ค่อยๆ เรียนรู้ไป ทีมขายกับทีมการตลาดพร้อมช่วยอยู่แล้ว ยิ่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดนะ รอเจอหนูนิดเลยแหละ เพราะเขาอยู่มาตั้งแต่รุ่นพี่วินแล้ว ที่ชื่อคุณมดน่ะ หนูนิดจำได้ไหม”
“พี่มด...” ณิชาใช้เวลานึกอยู่สักครู่ “อ๋อ! ที่ตัวเล็กๆ ใส่แว่นใช่ไหมคะ”
“ใช่ๆ คนนั้นแหละ”
“ถ้างั้นช่วงแรกเราให้คุณมดประกบหนูนิดเลยดีไหมกี” ป้าวรรณเสนอความคิดเห็น คงมองออกว่าหลานสาวยังเป็นกังวล
“ได้ครับ ไม่มีปัญหา” น้ากีรับคำแล้วเดินนำไปยังห้องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ตั้งอยู่ด้านในสุดของอาคาร ก่อนจะดันประตูไม้ออกกว้างเพื่อเชื้อเชิญให้เธอเข้าไปสำรวจด้วยตัวเอง
ผู้เป็นเจ้าของกวาดสายตาทั่วห้องทำงานโทนสีขาวที่บรรจุเฟอร์นิเจอร์รูปลักษณ์เรียบง่ายทว่าทันสมัยไว้อย่างครบครัน
ยอมรับว่าแทบไม่หลงเหลือเค้าเดิม แต่แน่นอน...เธอยังจำได้ดี
“ห้องเดียวกับพี่วินเลยนะ”
ใช่...พ่อเคยทำงานในห้องนี้จริงๆ นั่นทำให้เธอคาดเดาได้ว่าน้ากีและป้าวรรณคงตั้งใจจัดเตรียมไว้ให้เธอโดยเฉพาะ
“ขอบคุณนะคะ” ณิชาหันไปตอบรับความใจดีของทั้งสองคนด้วยรอยยิ้มกว้าง ก่อนจะเดินลึกเข้าไปด้านในและทักขึ้นเมื่อมองเห็นประตูขนาดเล็กที่ไม่คุ้นตา “นี่ห้องอะไรเหรอคะ”
“ห้องเก็บของน่ะ” น้ากีตอบขณะยกมือขึ้นกอดอก “เอาไว้เก็บพวกเอกสารเก่าๆ ที่ไม่มีในคอมพิวเตอร์ หนูนิดลองเข้าไปดูก็ได้นะ บางแผ่นยังใช้มือเขียนอยู่เลย”
เธอหัวเราะเบาๆ พอจะนึกภาพออกว่าคงเป็นกระดาษขนาดเอฟสี่แผ่นบาง สีเหลืองเข้ม และใกล้ขาดเต็มที
“เออ! แต่ห้องนี้มีประตูสองฝั่งนะ ปกติพนักงานจะเข้าจากอีกฝั่งหนึ่ง ถ้าหนูนิดต้องการความเป็นส่วนตัวก็ใส่กุญแจได้เลย ไม่มีปัญหา” น้ากีมองหน้าปัดนาฬิกาบนข้อมือแล้วพูดต่อ “เก้าโมงกว่าแล้ว เดี๋ยวน้ากับป้าวรรณไปประชุมก่อน หนูนิดนั่งรอคุณมดแป๊บหนึ่งนะ”
“ได้ค่ะ”
ณิชาเอ่ยเพียงเท่านั้น ก่อนจะมองตามแผ่นหลังของทั้งสองคนที่ค่อยๆ ห่างออกไปและปล่อยให้ความเงียบสงบเข้ามาแทนที่
การทิ้งตัวลงบนเก้าอี้นวมบุหนังไม่ได้ช่วยบรรเทาความหนาวเย็นจากเครื่องปรับอากาศ เช่นเดียวกับการทำงานในห้องเดิมของพ่อ แต่ไม่มีโต๊ะไม้สีเข้มที่เคยเต็มไปด้วยกองแฟ้ม โซฟาที่เธอเคยนอนกลิ้งไปมา หรือแม้แต่ตู้เก็บเอกสารทรงเตี้ยที่เธอเคยขีดเขียนด้วยดินสอสี
ตลกดีเหมือนกัน...อุตส่าห์มอบห้องนี้ให้ แต่กลับไม่หลงเหลือสิ่งใดที่เคยอยู่ในความทรงจำของเธอเลย
“ติ๊ด!”
เสียงเตือนข้อความชักชวนให้ณิชาหยิบโทรศัพท์มือถือออกมาจากกระเป๋าสะพาย ก่อนจะเผยยิ้มเมื่อมองเห็นคำทักทายในแอปพลิเคชันวอตส์แอปป์ของฝ้าย เพื่อนสนิทที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา
Pui-Fai Supatsorn : ทำงานวันแรก สู้ๆ นะแก
นั่นสินะ...
ข้อความของเพื่อนเตือนสติได้เป็นอย่างดี
เธอกลับมาเพื่อสานต่อสิ่งที่พ่อเคยสร้างไว้ ไม่ได้กลับมารำลึกความหลังเสียหน่อย
นั่นทำให้หญิงสาวพ่นลมหายใจเฮือกใหญ่พลางลุกขึ้นจากที่นั่ง ก้าวไปทางผนังกระจกซึ่งอยู่ฝั่งขวาของโต๊ะทำงานแล้วยืนชมทิวทัศน์ที่ไม่น่าอภิรมย์นักของถนนอโศกมนตรีอยู่สักครู่ ก่อนที่หางตาจะสบเข้ากับประตูบานเล็กอีกครั้ง...
“อุ๊ย!”
ณิชาอุทานเบา ๆ ด้วยเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า คิดถูกหรือไม่ที่ตัดสินใจเข้ามาเยี่ยมชมห้องเก็บของเพื่อฆ่าเวลา เพราะทันทีที่ประตูถูกเปิดออกกว้าง เธอก็พบกับกล่องกระดาษ กองเอกสาร และตัวอย่างสินค้ามากมายที่ตั้งเรียงรายเต็มชั้นวาง แค่มองผ่านๆ ก็พอจะเดาได้ว่าพวกมันไม่ได้ถูกแบ่งแยกตามแผนกหรือถูกจัดไว้ตามการใช้งาน เพราะฉะนั้น ถึงเธอจะยืนอยู่ในห้องนี้ต่อไป ก็คงไม่ได้อะไรมากไปกว่าการกำเริบของโรคภูมิแพ้
แต่ก่อนที่เธอจะถอดใจและเดินออกไปจากห้อง ดวงตากลมกลับมองเห็นสมุดปกแข็งสีแดงเลือดหมูที่ตกอยู่บนพื้นใต้ชั้นเหล็กฉาก แน่นอนว่าเธอคงไม่สนใจนัก ถ้าตัวเลขสี่หลักที่ปรากฏบนหน้าปกไม่ใช่...
‘๒๕๕๒’
ในสมองของณิชาไม่มีความหมายอื่น นอกจากปี พ.ศ. ที่สมุดเล่มนี้ถูกนำมาใช้งาน...นั่นเท่ากับว่าเขาหรือเธอผู้เป็นเจ้าของอาจจะทำงานที่บริษัทนี้ในช่วงเวลาที่พ่อของเธอยังมีชีวิตอยู่
เอาละ เริ่มน่าสนใจแล้ว...
เธอจึงหยิบสมุดขึ้นมาแล้วเปิดอ่านหน้าแรกอย่างไม่ลังเล
05 / 01 / 2552
ใช่จริงๆ เจ้าของระบุทั้งวันที่ เดือน และปีไว้อย่างชัดเจนบนหัวกระดาษ
ถ้าเป็นแบบนี้...จะมีเรื่องราวของพ่อให้เธออ่านบ้างไหมนะ
“คุณหนูนิดใช่ไหมคะ”
ณิชาชะงักเมื่อเสียงเรียกดังขึ้นจากด้านหน้าห้องเก็บของ ก่อนจะหันไปมองและพบกับหญิงวัยกลางคนที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี
“พี่มด” เธอเดินออกมาแล้วยกมือไหว้อย่างนอบน้อม “สวัสดีค่ะ”
“โห! โตเป็นสาวแล้วสวยจังเลย” พี่มดหรือมลฤดีร้องทักด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นระคนยินดี พลางใช้สองมือลูบต้นแขนของหญิงสาวอย่างอ่อนโยน “ถ้าเจอกันข้างนอก พี่ต้องจำไม่ได้แน่ๆ เลยค่ะ”
ณิชาหัวเราะเบาๆ รู้สึกโล่งใจไม่น้อยที่รุ่นพี่ยังมีท่าทางเอ็นดูเธอไม่ต่างจากเมื่อสิบเอ็ดปีก่อน แม้ว่าบุคลิกของเธอจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ทั้งความสดใสร่าเริง และนิสัยช่างพูดช่างเจรจา
“พี่มดสบายดีนะคะ”
“สบายดีค่ะ”
พี่มดตอบเพียงเท่านั้น ขณะที่ณิชาเริ่มสังเกตเห็นว่ารอยยิ้มของคู่สนทนาค่อยๆ หุบลง หลังจากจ้องตรงมายังใบหน้าของเธอครู่ใหญ่
“คุณหนูนิด... เหมือนคุณพ่อมากๆ เลยนะคะ”
นั่นไง! โดนจนได้...
นึกไว้อยู่แล้วว่าต้องได้ยินประโยคนี้
ณิชาเบนสายตาออกจากคนตรงหน้าเล็กน้อยด้วยไม่อยากให้ความวูบไหวปรากฏชัด ก่อนจะใช้สมุดที่หยิบ
ติดมือมาเป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนเรื่องพูดคุย “เอ่อ...นิดเจอสมุดเล่มนี้ในห้องค่ะ ไม่แน่ใจว่าเป็นของใคร”
“ไหนคะ เดี๋ยวพี่ดูให้” พี่มดรับสมุดไว้แล้วพลิกหน้ากระดาษไปมา “น่าจะเป็นของภูมิ เลขาฯ ของคุณวินน่ะค่ะ”
“เลขาฯ เหรอคะ...” เพราะเข้าใจว่า ‘ภูมิ’ น่าจะเป็นชื่อของผู้ชาย ณิชาจึงร้องถามแล้วนึกทบทวนอยู่ครู่ใหญ่ ก่อนจะส่งเสียงหัวเราะชอบใจเมื่อภาพของเด็กหญิงหนูนิดจอมแก่แดดปรากฏขึ้นในสมอง “เออ! จริงด้วย”
เพราะผู้เป็นแม่จากไปด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ พ่อจึงเลี้ยงดูเธอมาเพียงลำพัง เมื่อมีพ่ออยู่ใน
ทุกช่วงเวลาของชีวิต อาการติดและหวงแหนจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ยิ่งเข้าสู่ช่วงวัยที่ละครโทรทัศน์เริ่มมีผลต่อการเรียนรู้ เธอก็ยิ่งแผลงฤทธิ์เดช ทั้งออกคำสั่งห้ามพ่อมองหรือส่งยิ้มให้สาวๆ ที่เดินผ่าน และห้ามพูดคุยกับพนักงานผู้หญิง
แบบสองต่อสองโดยเด็ดขาด
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับเลขานุการซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องใกล้ชิดและไปไหนมาไหนด้วยกัน
เป็นประจำ แต่เพราะไม่อยากขัดความสุขของลูกสาว พ่อจึงแก้ปัญหาด้วยการขอให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจัดจ้างผู้ชายมารับหน้าที่นี้แทน
แต่สำหรับคุณภูมิ เธอยอมรับว่าเป็นเพียงภาพเลือนรางในความทรงจำ อาจเพราะเขาเข้ามาทำงานในช่วง
สองถึงสามปีหลัง ซึ่งเป็นเวลาที่เธอกำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย และเริ่มมีการบ้านมากขึ้นตามลำดับ
ทำให้แทบไม่มีโอกาสได้พบเจอกันดังเช่นเลขานุการคนอื่นๆ แม้จะรู้สึกคล้ายกับว่าเคยได้ยินชื่อนี้จากปากของพ่อในฐานะลูกน้องที่สนิทสนม และได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมาก แต่ก็จำไม่ได้อยู่ดีว่าเขามีรูปร่างหน้าตาเช่นไร
“แล้วคุณภูมิยังทำงานอยู่ที่นี่ไหมคะ”
“เอ่อ...คือว่า...” พี่มดค่อยๆ หรี่เสียงลงจนดูเหมือนว่าประโยคถัดมาอาจไม่ใช่เรื่องดีนัก “เขาเสียไปแล้วค่ะ”
รอยยิ้มสดใสจึงหุบลงทันทีที่ได้ยินคำตอบ
“เขาเป็นคนขับรถให้คุณวินในวันนั้นน่ะค่ะ”
ณิชารู้สึกวูบโหวงราวกับว่าหัวใจถูกกระตุกลงสู่พื้น ภาพเหตุการณ์ที่พยายามลบออกไปถูกฉายย้อนกลับมาอีกครั้ง...
ที่เลวร้ายกว่านั้น คือมีใครอีกคนเพิ่มเข้ามาด้วย
ใครอีกคน...ซึ่งคงเป็นที่รักของครอบครัวไม่น้อยไปกว่าพ่อของเธอ
ใครอีกคน...ซึ่งคงไม่รู้เลยว่านั่นจะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายในชีวิต
“แต่คุณหนูนิดเก็บไว้ได้เลยนะคะ” พี่มดปรับโทนเสียงให้สูงขึ้นเล็กน้อย คงอยากขับไล่ความเศร้าหมองที่เริ่มฉาบเคลือบบนแววตาของเธอ “อาจจะมีเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าเก่าๆ ก็ได้ เพราะว่าสมัยนั้น คุณวินแกติดต่อลูกค้า
โซลาร์เซลล์เองหมดเลยค่ะ”
“อ่อ...”
ใจหนึ่งอัดแน่นด้วยความหวั่นเกรง เพราะเป็นไปได้ว่าจะพบกับจุดจบของทั้งสองคนในสมุดเล่มนี้
แต่อีกใจ...
“ได้ค่ะ เดี๋ยวนิดลองดู”
“ถ้าคุณชานนท์มีอะไรจะแนะนำนิด แนะนำได้เลยนะคะ ไม่ต้องเกรงใจ”
ช่วงเช้าของผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดคนใหม่หมดไปกับการศึกษาข้อมูลทั้งหมดของบริษัท ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา สถานการณ์ในปัจจุบัน จนถึงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่มีมากกว่าหนึ่งร้อยชนิด ส่วนช่วงบ่ายเป็นการเอ่ยคำทักทายแก่บรรดาพนักงานที่ทยอยเข้ามาแนะนำตัว
และคุณชานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินก็เป็นหนึ่งในนั้น
“ผมคงไม่มีอะไรแนะนำหรอกครับ น่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนมากกว่า” ชายหนุ่มผู้เป็นลูกน้องคนสนิทของป้าวรรณพูดด้วยท่าทีนอบน้อม “ถ้าคุณหนูนิดต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติม แจ้งผมได้เลยนะครับ”
“ได้ค่ะ” เธอพยักหน้า “ขอบคุณมากนะคะคุณชานนท์”
“ยินดีครับ” เขารับคำ “งั้นผมขอตัวก่อนนะครับ”
ณิชาจึงยกมือขึ้นไหว้แล้วยืนรอให้แขกที่น่าจะเป็นคนสุดท้ายเดินออกไปจากห้อง
และใช่...หลังจากนั้นคือเวลาพักผ่อน
เธอทิ้งตัวลงบนเก้าอี้นวมพลางระบายความเหนื่อยอ่อนด้วยการพ่นลมหายใจกลุ่มใหญ่ ก่อนจะบิดเอียงคอไปทางซ้ายและขวาเพื่อยืดเส้นยืดสาย...
นั่นทำให้สมุดเล่มเดิมเข้ามาอยู่ในสายตาอีกครั้ง
เอ-เคเบิลเมื่อสิบเอ็ดปีที่แล้วจะวุ่นวายเช่นนี้หรือไม่...
เธอคงไม่มีวันรู้ ถ้าไม่ลองเปิดอ่านหน้าถัดไป
06 / 01 / 2552
(นัดหัวหน้าทีม คุณวินจะสอนวิธีใช้เอง)
จากการสำรวจคร่าวๆ ดูเหมือนว่าทั้งพ่อและเลขานุการจะทำงานเกินกว่าหน้าที่ไปมากทีเดียว โดยเฉพาะ
ในส่วนของแผงโซลาร์เซลล์ที่พ่อเป็นทั้งผู้ริเริ่ม และลงมาจัดการแทบทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง
หากทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ คงรู้สึกดีใจไม่น้อย ด้วยแผงโซลาร์เซลล์กลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้มากกว่า
ผลิตภัณฑ์หลักอย่างสายไฟฟ้าถึงเกือบสองเท่า
อีกหนึ่งเรื่องที่ณิชาคาดเดาและนึกชื่นชมในใจ คือความรอบคอบของคุณภูมิ สังเกตได้จากการจดบันทึกงาน
ที่ต้องสะสางในแต่ละวันไว้อย่างละเอียดและชัดเจน
12 / 01 / 2552
ที่สำคัญ ชายหนุ่มน่าจะมีอายุไม่มากนัก หรือไม่ก็ยังมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว เพราะเขามักจะเพิ่มเติมความรู้สึกที่มีต่องานนั้นๆ ไว้เสมอ และบางข้อความก็ทำให้เธอเผลอหัวเราะออกมาเบาๆ
02 / 02 / 2552
แต่ถึงแบบนั้น ก็ยังไม่มีข้อมูลใดที่พอจะใช้ประโยชน์ได้ในปัจจุบัน
จนกระทั่ง...
18 / 09 / 2552
เบอร์โทรศัพท์ 089780447
เอาละ...
ขอถอนคำพูดที่ว่าชายหนุ่มเป็นคนละเอียดรอบคอบ เพราะหมายเลขที่เขาจดไว้ นับอย่างไรก็ไม่ครบสิบตัว
ซึ่งเธอคงไม่ได้สังเกตถึงขั้นนี้แน่ ถ้าเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ไม่ใช่คนที่เธอคุ้นเคย
ดิเรก...
พ่อของฝ้าย
ณิชาจึงต่อสายหาเพื่อนสนิทผ่านแอปพลิเคชันวอตส์แอปป์ทันที ก่อนที่ปลายสายจะส่งเสียงสดใสจนน่าอิจฉา
“ฮัลโหล...เลิกงานแล้วเหรอยะ”
“ยังสิแก ยังไม่สี่โมงเลย”
“ฉันเที่ยวจนจะกลับบ้านแล้วเนี่ย”
เพื่อนของเธอยังอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะนี้น่าจะเป็นเวลาตีหนึ่งเศษ “หมั่นไส้จริง ๆ”
ปลายสายหัวเราะคิกคัก เช่นเดียวกับรอยยิ้มบนใบหน้าของณิชาที่บ่งบอกว่าคิดถึงเพื่อน และอยากพูดคุยให้มากกว่านี้ แต่รู้ดีว่าควรถามในเรื่องที่ค้างคาใจเสียก่อน
“แก ฉันถามอะไรหน่อยสิ...จำตอนที่เรายังอยู่ที่ไทยได้ปะ งานวันแม่ ที่พ่อฉันกับแม่แกเจอกันที่โรงเรียน”
ใช่...เธอไม่ได้พูดผิด
พ่อไม่เคยปล่อยให้เธอรู้สึกว่าการไม่มีแม่คือปมด้อย และการเข้าร่วมกิจกรรมวันแม่แห่งชาติในฐานะผู้ปกครองก็เป็นวิธีหนึ่งที่พ่อแสดงออกมาตลอด
“แล้วแม่แกบอกว่า พ่อแกกำลังสนใจเรื่องโซลาร์เซลล์ ให้พ่อฉันติดต่อไปอะ”
“โห! แก... งานวันแม่ครั้งสุดท้ายนี่ตอนประถมฯ เลยนะเว้ย ใครจะไปจำได้วะ”
นั่นสิ...
ไม่แปลกที่ฝ้ายจะจำไม่ได้ ตัวเธอเองก็เกือบลืมไปแล้วเช่นกัน ถ้าแววตาที่อัดแน่นด้วยความกระตือรือร้นของพ่อไม่ติดค้างอยู่ในความทรงจำ
“แต่แป๊บหนึ่ง เดี๋ยวฉันถามป๊าก่อน”
ด้วยรู้จักนิสัยของเพื่อนสนิทเป็นอย่างดี ทำให้เธอยังคงรอสายทั้งที่ฝ้ายเงียบหายไปครู่ใหญ่
“แก...ป๊าไม่ได้ใช้ของบริษัทแกว่ะ โทษที”
แต่ดูเหมือนว่าคำตอบจะไม่น่าชื่นใจนัก...
“แต่แกโทร. หาป๊าได้เลยเว้ย ฉันเกริ่นไว้ให้แล้ว เผื่อวันไหนขยายโรงงานจะได้เปลี่ยนมาใช้”
“ได้แก” ณิชาตอบพลางเหลือบมองตัวเลขบนหน้ากระดาษ “ขอเบอร์พ่อแกอีกทีได้ปะ”
“ศูนย์ แปด เก้า เจ็ด แปด หนึ่ง ศูนย์ สี่ สี่ เจ็ด”
ขาดเลขหนึ่ง...
“โอเคแก เดี๋ยวฉันโทร. ไปนะ” มือจึงเอื้อมไปหยิบปากกาแล้วนำมาขีดเส้นตรงในช่องว่างระหว่างเลขแปดและเลขศูนย์อย่างลืมตัว...
กว่าจะนึกขึ้นได้ว่าสมุดเล่มนี้ไม่ใช่ของเธอ เบอร์โทรศัพท์ของคุณอาดิเรกก็มีหมายเลขครบสิบหลักแล้ว
“อุ๊ย!”
โชคดีที่เพื่อนสนิทวางสายก่อนได้ยินเสียงอุทาน หญิงสาวจึงแตะตัวเลขบนหน้าจอแล้วกดปุ่มโทร. ออกโดยไม่สนใจความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยของตัวเองอีก
“ตู้ด!”
มือหนึ่งยกโทรศัพท์ขึ้นแนบใบหู ขณะที่อีกมือพลิกหน้าสมุดเล่มเก่าไปมา ตั้งใจว่าจะรอจนกระทั่งสายถูกโอนเข้าสู่บริการรับฝากข้อความ แต่ดวงตากลับสะดุดกระดาษโน้ตที่ติดอยู่ด้านในเสียก่อน
แน่นอน เธอคงมองข้ามไป ถ้าทุกประโยคที่ถูกเขียนไว้...
ไม่ใช่ลายมือของพ่อ
ณิชากดปุ่มวางสายแล้วรีบเลื่อนสมุดเข้ามาใกล้ ก่อนที่หัวใจจะกระตุกวูบราวกับหยุดการเคลื่อนไหว เพียงเพราะคำขึ้นต้นแสนธรรมดา
หนูนิดลูกรัก
แต่ขอบตาที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงระเรื่อเทียบไม่ได้เลยกับอาการเมื่อได้อ่านข้อความทั้งหมด
สุขสันต์วันเกิดนะลูก
ปีนี้พ่อไม่มีอะไรจะให้ นอกจากหนูหน่อยที่พ่อเผลอทำขาด
พ่อเย็บให้ใหม่แล้วนะลูก
ต่อไปนี้ หนูหน่อยจะกลับมาอยู่เป็นเพื่อนหนูเหมือนเดิมแล้ว
หนูหน่อย คือตุ๊กตาหมีสีน้ำตาลที่สวมใส่เสื้อแขนยาวและกระโปรงทรงน่ารัก นับเป็นของเล่นชิ้นโปรดที่เธอมักจะหอบหิ้วติดตัวไปด้วยเสมอ จึงนำมาซึ่งความสกปรกเลอะเทอะอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อพ่อโยนหนูหน่อยเข้าไปในเครื่องซักผ้าตามที่เคยเห็นจากโฆษณาทางโทรทัศน์ กลับได้รับผลที่ตรงกันข้าม เพราะนอกจากจะไม่ดูสวยงามเหมือนใหม่แล้ว ตะเข็บด้านข้างตัวตุ๊กตายังปริขาดจนนุ่นบางส่วนหลุดออกมา แน่นอนว่าเธอร้องไห้อยู่พักใหญ่ ก่อนจะค่อยๆ ลืมเลือนไปตามกาลเวลา
แต่เธอไม่รู้เลยว่า พ่อยังคงเก็บหนูหน่อยไว้ ทั้งยังซ่อมแซมจนเสร็จสิ้น เพื่อนำกลับมาให้เธออีกครั้งในวันเกิดปีที่สิบสอง
พ่อขอโทษนะลูก ที่อาจจะทำงานหนักเกินไป
จนไม่มีเวลาเล่นกับหนูเหมือนเมื่อก่อน
แต่พ่ออยากให้หนูรู้ไว้ว่า พ่อรักหนูมากที่สุดในโลก
และจะเป็นทั้งพ่อ ทั้งแม่ รวมถึงทุกๆ อย่างของหนูตลอดไป
เพราะหนูเองก็เป็นทุกๆ อย่างในชีวิตของพ่อเหมือนกัน
รัก
พ่อ
ภาพตรงหน้าเลือนรางลงทุกขณะเมื่อน้ำใสเอ่อคลอรอบเบ้าตา ยิ่งมองเห็นข้อความสั้นๆ ที่เลขานุการหนุ่มเขียนไว้ใต้กระดาษโน้ต เธอยิ่งอดนึกย้อนกลับไปไม่ได้
จะเป็นเช่นไร...หากเหตุการณ์เลวร้ายไม่เกิดขึ้น
28 / 09 / 2552
(อย่าลืมติดกระดาษโน้ตไว้ในกล่อง)
คุณภูมิคงหาซื้อกล่องสีชมพูได้ทัน และคงบรรจุของขวัญได้สำเร็จ นั่นคงทำให้เธอได้เจอกับหนูหน่อยอีกครั้ง และได้อ่านกระดาษแผ่นนั้นด้วยรอยยิ้มกว้าง
ใช่ วันเกิดของเธอควรจะเป็นแบบนั้น...
แบบที่พ่อยังร่วมฉลองกับเธอได้
แบบที่เธอยังมีโอกาสเข้าไปสวมกอดและบอกรัก
เพียงสมองฉายภาพตามที่หัวใจต้องการ น้ำตาที่พยายามเก็บกักไว้ก็ล้นทะลักและไหลอาบทั่วใบหน้าเช่นเดียวกับเสียงสะอื้นที่เล็ดลอดออกมาจากริมฝีปากเม้มแน่น
คงเพราะภาพนั้นแตกต่างจากหน้าสุดท้ายของสมุดโดยสิ้นเชิง...
29 / 09 / 2552
14.00-19.00 น. หอประชุมใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต
“ติ๊ด! ติ๊ด! ติ๊ด!”
แย่แล้ว...คุณอาดิเรกโทร. กลับมา
หากพูดคุยด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเช่นนี้ ปลายสายคงตกใจแน่
ณิชาจึงรีบปาดน้ำตาออกจากแก้ม พยายามสูดลมหายใจเข้าจนลึกและปล่อยออกมายาวๆ เพื่อควบคุมสติ ก่อนจะกระแอมเบาๆ เป็นขั้นตอนสุดท้าย แล้วค่อยกดปุ่มสีเขียวบนหน้าจอ
“สวัสดีค่ะ คุณอาดิเรก” เธอทักทายอย่างสุภาพ “หนูนิดนะคะ เป็นเพื่อนของฝะ...”
แต่ยังไม่ทันได้แนะนำตัวตามที่คิดไว้ ปลายสายกลับพูดขึ้นเสียก่อน
“อ๋อ! จ้ะ หนูนิด เป็นยังไงบ้าง เห็นฝ้ายบอกว่ากลับมาแล้วใช่ไหม”
“เอ่อ... ใช่ค่ะ”
แปลกจัง...
ทำไมคุณอาดิเรกถึงเอ่ยถามสารทุกข์สุกดิบอย่างสนิทสนม ทั้งๆ ที่ครอบครัวของเธอและฝ้ายรู้จักกันเพียง
ผิวเผินเท่านั้น
‘แต่แกโทร. หาป๊าได้เลยเว้ย ฉันเกริ่นไว้ให้แล้ว เผื่อวันไหนขยายโรงงานจะได้เปลี่ยนมาใช้’
เป็นไปได้ว่าเพื่อนสนิทอาจพูดถึงเธออย่างละเอียด จึงเข้าสู่เรื่องที่เตรียมไว้โดยไม่ได้ใส่ใจอีก
“นิดกลับมาช่วยงานที่บริษัทน่ะค่ะ จำได้ว่าตอนนิดเด็กๆ คุณอาสนใจเรื่องระบบโซลาร์เซลล์ใช่ไหมคะ”
“ใช่ๆ นี่อาก็ใช้มาเป็นสิบปีแล้วนะ”
“อ้อ...ค่ะ” ณิชารับคำ ตั้งใจว่าจะสอบถามถึงคุณภาพและบริการหลังการขายของคู่แข่งในประโยคถัดไป แต่ปลายสายกลับพูดขึ้นอีกครั้ง
“ต้องขอบคุณพ่อหนูมากๆ เลยนะ ที่ช่วยแนะนำอาทุกอย่าง แถมยังลดราคา และพาคนมาดูหน้างานให้ตั้งหลายรอบ”
นี่เธอฟังผิดหรือเปล่า...
คุณอาดิเรกขอบคุณพ่อของเธอด้วยเหตุใด
“ถ้าคุณวินยังอยู่ เขาคงมาคุมงานให้จนเสร็จเลยละ”
หากพูดถึงการแนะนำ เธอยังพอเข้าใจได้ เพราะพ่อไม่ใช่คนหวงความรู้อยู่แล้ว แต่หากพูดถึงการลดราคา และการตรวจสอบสภาพหน้างานก่อนการติดตั้ง พ่อจะทำได้อย่างไร ถ้าคุณอาดิเรกเลือกใช้สินค้าของเจ้าอื่น
“คุณอา...” ยิ่งเอ่ยถึงการควบคุมงานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งมักจะกินเวลายาวนานนับเดือน เธอยิ่งเก็บความสงสัยไว้ไม่ได้ “ใช้โซลาร์เซลล์...ของพ่อเหรอคะ”
“อ้าว! ก็ใช่น่ะสิ อาใช้ของพ่อหนูมาตลอดแหละ”
รอยยิ้มหลังโทรศัพท์มือถือหุบลงทันที
‘แก...ป๊าไม่ได้ใช้ของบริษัทแกว่ะ โทษที’
ประโยคนี้ยังดังก้องอยู่ในหู ฝ้ายไม่ใช่คนพูดจาเรื่อยเปื่อยเสียหน่อย ทำไมถึงตอบคำถามไม่ตรงกับผู้เป็นพ่อ
“ใช้มาตั้งแต่โรงงานที่ชลบุรีแล้ว”
น้ำเสียงหนักแน่นของปลายสายบ่งบอกว่ามั่นใจในเรื่องที่เล่า คิ้วเรียวจึงขมวดพันจนยุ่งเหยิง
“วันไหนว่างๆ หนูมาดูที่โรงงานสิ แล้วจะได้กินข้าวกันด้วย...”
คุณอาดิเรกยังคงพูดต่ออีกพักใหญ่ก่อนจะวางสายไป ทว่าเธอไม่อาจจับใจความได้ เพราะมัวแต่ค้นหาคำตอบให้แก่เหตุการณ์เมื่อครู่
เพื่อนสนิทสื่อสารผิดพลาดอย่างนั้นเหรอ...
หรือว่าการศึกษาข้อมูลของบริษัทอย่างหนักหน่วงจะทำให้โสตประสาทของเธอผิดเพี้ยนไป...
แต่ไม่ว่าจะเป็นทางใด คนที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเพื่อนของเธอ
ณิชาจึงกดปุ่มเพื่อเข้าสู่แอปพลิเคชันวอตส์แอปป์อย่างรวดเร็ว ด้วยต้องการซักถามฝ้ายให้ละเอียด แต่มือเรียวกลับหยุดชะงักเมื่อข้อความสุดท้ายที่ปรากฏขึ้นในหน้าต่างแชต คือคำอวยพรที่คุ้นตา
Pui-Fai Supatsorn : ทำงานวันแรก สู้ๆ นะแก
ไม่มีสัญลักษณ์รูปโทรศัพท์บนหน้าจอ ทำให้น้ำลายอึกใหญ่ถูกดันลงคออย่างยากลำบาก
เพราะนั่นเท่ากับว่า ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา...
เธอไม่ได้โทร. หาฝ้าย!
ความคิดเห็น |
---|