บทที่ ๑๐

๑๐

 

 เป็นครั้งแรกที่เกื้อกูลได้ก้าวเข้ามาในบ้านของคนที่จะเกี่ยวดองด้วย จากสภาพทั่วไปก็นับว่าพระยาธรรมานุรักษ์ร่ำรวยมั่งคั่งตามสมควร แม้ตัวเรือนจะยังเป็นเรือนเก่า ไม่รื้อแล้วปลูกสร้างแบบบ้านสมัยใหม่นั่นคือแบบตึกก่อปูนอย่างที่นิยมกันในสมัยนี้ แต่ก็โอ่อ่าภูมิฐานจัดว่าน่าอยู่แบบผู้ดีที่สืบทอดมรดกของปู่ย่าตายายได้อย่างสมบูรณ์ แต่แล้วชายหนุ่มก็ต้องแปลกใจเมื่อบุษบงพาเลียบไปยังด้านหลังแทนที่จะขึ้นเรือนใหญ่ ความจริงก็น่าแปลกใจตั้งแต่ที่หญิงสาวบอกว่าคุณหญิงแขไม่สบายแล้วไม่มีใครไยดีแล้ว

 ชายหนุ่มก้าวขึ้นเรือนขนาดเล็กที่ถูกเรือนใหญ่ด้านหน้าบดบังจนมิด ภายนอกดูทรุดโทรมจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนระดับเจ้านายของบ้าน คุณหญิงแขเดิมนั้นเป็นภรรยาของเจ้าคุณทหารประจำกรมช่าง มีเกียรติมีหน้ามีตาแล้วทำไมถึงต้องมาอยู่เรือนไม้หลังเล็ก 

กระทั่งได้เข้าไปด้านใน เขาก็พบว่าในความทรุดโทรมนั้นผู้อยู่ในเรือนพยายามตกแต่งให้มีสภาพพร้อมอยู่และเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างน่าชมเชย ตู้ทุกใบมีผ้าถักอย่างประณีตปูไว้ด้านบน ลวดลายสวยงามของผ้ากลบความเก่าของเครื่องไม้จนสิ้น อีกทั้งผ้าม่านก็เป็นผ้าที่มีลายปักละเอียดราวกับภาพวาด ทำให้คนที่ทำงานศิลปะอย่างเขาถึงกับทึ่ง ไม่คิดว่าจะมีใครมีฝีมือในการเย็บปักได้เท่านี้

 ชายหนุ่มเดินผ่านพื้นกระดานมันปลาบไปจนถึงด้านใน บนเตียงใหญ่มีหญิงชรานอนอยู่ นี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้พบคุณหญิงแขซึ่งแม้จะเจ็บป่วยท่านก็ยังดูงดงาม ไม่ได้ทรุดโทรมแต่ประการใด หากไม่มีใครบอกกล่าวก็นึกเพียงแต่ว่าท่านนอนหลับอยู่เท่านั้น แต่ภาพของท่านก็ทำให้เขาหดหู่ไม่น้อย ในความคิดของเขานั้นคุณหญิงแขไม่ควรจะมีสภาพอย่างนี้ ท่านคือคนที่มีเกียรติและเท่าที่รู้ท่านอยู่ในศีลในธรรมเสมอมา แต่ทำไมในบั้นปลายชีวิตลูกหลานจึงทอดทิ้งเหลือเพียงบ่าวสองคนคอยดูแลและจงรักภักดี 

เกื้อกูลหันไปมองบุษบงที่มีสีหน้าร้อนใจ นับว่าหล่อนเป็นคนดีมีความกตัญญูเป็นอย่างยิ่งที่บากบั่นไปตามหาคนมาช่วยเหลือ ทั้งที่ลูกหลานของท่านกลับนิ่งดูดาย

 “ฉันว่าเราควรพาไปศิริราช” เกื้อกูลออกความเห็น แม้เขาจะไม่ใช่หมอก็พอรู้ว่าอาการของคุณหญิงแขค่อนข้างหนัก ดังนั้นควรพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจึงจะเป็นการดีที่สุด

 “ผมเห็นด้วยนะ เราควรจะพาไปโรงพยาบาล” โรเบิร์ตกล่าวสนับสนุนอีกแรง

 “ศิริราช” บุษบงทวนคำอย่างทดท้อ “เราจะไปกันอย่างไรล่ะคะ ไกลก็ไกล แถมเรายังไม่มีเรือลำใหญ่ที่พอจะพาไปได้อีก”

 ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นหมอไทย หมอจีน หมอฝรั่งหล่อนยอมทั้งนั้น ขอเพียงให้คุณหญิงแขได้รับการรักษาก็พอ

 “ฉันจะเป็นคนพายให้เอง ส่วนเรื่องเรือ ถ้าไม่มีลำใหญ่ก็เอาลำเล็กไปนั่นละ” เกื้อกูลกล่าว

 “แต่ว่ามันอันตราย” บุษบงค้าน ไม่ได้กลัวว่าตัวเองจะจมน้ำ แต่เกรงว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นคุณหญิงแขจะเป็นอันตราย

 “ไว้ใจฉันเถอะ ฉันจะพาเธอและคุณหญิงไปส่งศิริราชอย่างปลอดภัย”

 บุษบงลังเลอยู่ชั่วครู่ก่อนที่จะตอบรับข้อเสนอของเขา เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้ผู้มีพระคุณของหล่อนได้รับการรักษา และอาจจะเป็นโอกาสเดียว หากรอจนเช้าคุณสร้อยอาจจะลูกไม้อีก และนั่นก็เหมือนกับการฆ่าคุณหญิงแขให้ตายทางอ้อม

 “ค่ะ ถ้าอย่างนั้นเราไปกันเลย เดี๋ยวบุษจะไปเอาเรือมาเทียบท่าฝั่งนี้ เพราะถ้าไปที่ท่าน้ำคุณสร้อยอาจจะเห็นแล้วเราก็จะไม่ได้ไปกัน”

 “เอาตามที่เธอบอก เดี๋ยวฉันกับโรเบิร์ตจะพาคุณหญิงไปรอที่ท่าด้านหลัง”

 เมื่อตกลงกันได้บุษบงก็วิ่งฝ่าความมืดไปยังศาลาท่าน้ำ เพื่อเอาเรือที่ตนเองใช้ไปตลาดอยู่เป็นประจำมาเทียบท่าน้ำด้านหลัง และเมื่อพายมาถึงก็พบว่าทุกคนพร้อมกันแล้ว จำปานำเสื่อกกมาปูบนพื้นเรือ ตามด้วยผ้าผืนหนาจากนั้นโรเบิร์ตและเกื้อกูลก็นำคุณหญิงแขซึ่งบัดนี้หมดสติเพราะพิษไข้ลงเรือ แม้จะเต็มไปด้วยความทุลักทุเลแต่ก็เรียบร้อยดีในเวลาอันรวดเร็ว

 เรือลำเล็กบรรจุผู้โดยสารได้เพียงสามคนเท่านั้น บุษบงจึงอาสาไปกับคุณหญิงแขโดยเกื้อกูลทำหน้าที่พายเรือ ส่วนจำปาแม้จะอยากไปด้วยแต่ทุกอย่างไม่เอื้ออำนวยจึงจำต้องรออยู่ที่บ้าน เมื่อทุกอย่างพร้อมบุษบงก็หยิบไม้พายขึ้นมา แต่ถูกห้ามเอาไว้เสียก่อนจากชายที่เพิ่งรู้จักแต่เต็มใจช่วยเหลือหล่อนอย่างน่าประหลาดใจ

 “เธอดูแลคุณหญิงท่านไปเถอะ หน้าที่พายเรือปล่อยให้เป็นของฉันเอง”

 “แต่ว่ามันไกล คุณอาจจะหมดแรงได้”

 “อย่าประเมินฉันต่ำนัก ไว้ใจฉันเถอะ บอกทางมาก็พอ เธอรู้ใช่ไหมว่าไปทางไหน”

 “ค่ะ ทราบ”

 จากนั้นบุษบงก็ทำตามที่ชายหนุ่มบอกคือเพียงแค่บอกทางไม่จับไม้พายอีกเลย เรือลำน้อยก็ค่อยๆ เคลื่อนผ่านดงต้นลำพู หิ่งห้อยที่เกาะอยู่ตามกิ่งใบแตกฮือเมื่อเรือเข้าใกล้ ส่องแสงสว่างระยิบระยับเหมือนดาวดวงน้อย หากบุษบงไม่ร้อนใจราวกับตกอยู่ในกองไฟเช่นนี้หล่อนคงมีความสุขมากทีเดียว

 จากคลองเล็กๆ ก็ออกสู่แม่น้ำใหญ่ ในยามมืดค่ำเช่นนี้ค่อนข้างอันตราย เกื้อกูลจึงพายใกล้ฝั่งแม้จะต้องออกแรงมากกว่าพายกลางแม่น้ำและโดนคลื่นซัดแรงกว่า แต่ก็น่าจะปลอดภัยกว่า

ตลอดสองฝั่งมีเรือนแพของผู้คนซึ่งบัดนี้ดับไฟมืด ทั้งแม่น้ำจึงหลับใหล นานๆ ครั้งถึงจะมีเรือขนาดใหญ่มาให้เห็นสักลำ 

นับชั่วโมงกว่าที่เกื้อกูลพายเรืออย่างไม่ย่อท้อ แล้วบุษบงก็ถอนหายใจอย่างโล่งอกเมื่อเห็นป้ายขนาดใหญ่ที่มีไฟส่องสว่างตรงท่าน้ำเขียนว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’

 “ถึงแล้วค่ะ ด้านหน้านั่น” บุษบงบอกอย่างดีใจระคนโล่งอก ในที่สุดหล่อนก็พาคุณหญิงแขมาส่งโรงพยาบาลได้สำเร็จ

 เกื้อกูลคัดท้ายเรือเข้าไปเทียบฝั่งตามที่หญิงสาวบอก และเมื่อเรือเทียบท่า พนักงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยก็เข้ามาถามไถ่และให้การช่วยเหลือ ไม่นานหลังจากนั้นคุณหญิงแขก็ถูกส่งถึงมือแพทย์ แต่ในขณะที่ตรวจรักษา บุษบงถูกกันให้อยู่ภายนอก

 ทุกนาทีที่ผ่านไปใจหล่อนก็ยิ่งกระวนกระวาย อีกทั้งยังหวาดหวั่น ว่าไปนี่คือการมาเหยียบโรงพยาบาลเป็นครั้งแรกในชีวิตหล่อน ระหว่างที่กำลังเคว้งคว้างอยู่นั้น มือหนึ่งก็เอื้อมมาจับไหล่ หญิงสาวสะดุ้งสุดตัวเพราะความตกใจก่อนที่จะถอนหายใจเมื่อพบว่าเป็นมือเกื้อกูลนั่นเอง

 “ไม่เป็นไรแล้วละ ถึงมือหมอแล้ว คุณหญิงแขคงปลอดภัย” เกื้อกูลปลอบใจ เขาเพิ่งเดินมาสมทบกับหล่อนหลังจากเสียเวลาอยู่กับการหาที่ผูกเรือ

 บุษบงหันไปทางเขาและพบว่าบัดนี้เสื้อที่เขาสวมนั้นชุ่มไปด้วยเหงื่อ ใบหน้าที่ขาวจัดแดงเพราะการออกแรง แต่เขาไม่แสดงท่าทางเหนื่อยอ่อนหรือปริปากบ่นสักนิด หนำซ้ำยังมาอยู่เป็นเพื่อนและปลอบใจ ซึ่งหล่อนไม่คาดคิดเลยว่าเขาจะมีน้ำใจถึงเพียงนี้

 “ขอบคุณคุณมากนะคะ หากไม่ได้คุณ ฉันคงไม่รู้ว่าจะมาโรงพยาบาลอย่างไร” บุษบงกล่าวเสียงสั่น ตื้นตันกับน้ำใจของเขาอย่างเหลือเกิน

 “เล็กน้อยเท่านั้น อย่าคิดมากไปเลย”

 แม้เขาจะกล่าวเช่นนั้น แต่หล่อนกลับไม่คิดอย่างนั้น สิ่งที่เขาทำนับว่ามีบุญคุณกับหล่อนอย่างเหลือเกิน เมื่อไรที่เสร็จเรื่องคุณหญิงแข หล่อนจะหาวิธีตอบแทนบุญคุณเขาอย่างแน่นอน

 บุษบงนั่งรอหน้าห้องด้วยใจร้อนรนซึ่งไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่นำญาติมาส่งโรงพยาบาลในเวลาดึกอย่างนี้ จนกระทั่งพยาบาลเปิดประตูออกมาแล้วเรียกหา บุษบงจึงลุกเข้าไปภายในห้องตามคำเรียกนั้น

 “คนไข้เป็นปอดบวม คงต้องนอนที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาและดูอาการ” หมอผู้ตรวจอาการกล่าวทันทีที่พบหน้าหล่อน

สิ่งที่ได้ยินทำให้บุษบงตกใจจนทำอะไรไม่ถูก เพราะนึกไม่ถึงว่าคุณหญิงแขจะต้องนอนโรงพยาบาลซึ่งเป็นสิ่งที่ไกลตัวอย่างเหลือเกิน ตั้งแต่จำความได้หล่อนไม่เคยเฉียดใกล้โรงพยาบาล หากเจ็บป่วยก็ให้หมอจีน หมอไทยมาดูอาการ จากนั้นก็นอนพักอยู่ที่บ้าน

 โชคดีเหลือเกินที่เกื้อกูลเข้ามาด้วย ระหว่างที่หล่อนหันรีหันขวางทำอะไรไม่ถูกอยู่นั้น เขาก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออีกครั้ง จัดการทุกอย่างให้จนกระทั่งคุณหญิงแขได้ห้องพัก

 โชคดีอีกอย่างที่ห้องพักที่ได้นั้นเป็นห้องเดี่ยว ซึ่งเกื้อกูลบอกว่ามีไม่มากนักในโรงพยาบาล และห้องชนิดนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่าห้องธรรมดา แต่เขาก็คิดว่าน่าจะดีกว่า เพราะห้องธรรมดาผู้ป่วยนอนรวมกันร่วมสิบเตียง คุณหญิงแขอาจจะถูกรบกวนจากผู้ป่วยเตียงอื่น และคงไม่ดีแน่หากใครรู้ว่าแท้จริงแล้วท่านเป็นใครแต่กลับต้องมาอยู่อย่างคนไข้อนาถา ผู้คนจะเอาไปติฉินนินทาได้

 บุษบงไม่โต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น จะพูดให้ถูกคือหล่อนมึนงงเกินกว่าจะคัดค้าน สุดท้ายก็ยอมให้เขาจัดการทุกอย่าง จนกระทั่งนำคุณหญิงแขไปยังห้องนั้น

 เมื่อถึงห้องคนไข้ พยาบาลก็เริ่มทำการรักษา บุษบงมองทุกขั้นตอนด้วยความแปลกใจ ทุกอย่างดูแปลกใหม่ไปหมดทั้งเครื่องไม้เครื่องมือและวิธีการ โดยเฉพาะการเช็ดตัว เท่าที่เคยรู้มาหากเป็นไข้หนาวสั่นถึงเพียงนี้ โบราณจะไม่ให้โดนน้ำโดยเด็ดขาด แต่ที่นี่กลับเช็ดตัวซึ่งกินระยะเวลาค่อนข้างนานจนหล่อนอดจะกังวลไม่ได้

 “อย่าห่วงเลยจ้ะ เช็ดตัวก็เพื่อระบายความร้อน ความร้อนสูงจะเป็นอันตราย” พยาบาลหันมาอธิบายให้ฟัง 

หล่อนพยักหน้าเข้าใจทั้งที่ไม่เข้าใจเท่าไรนัก แต่เมื่อมาถึงที่นี่หล่อนก็ให้ความไว้วางใจคนที่มีหน้าที่ดูแลรักษาคุณหญิงแขอย่างเต็มที่โดยไม่โต้แย้งอะไรทั้งสิ้น

 นอกจากการเช็ดตัวแล้วยังมีสิ่งที่แปลกกว่านั้นนั่นคือการฉีดยา พยาบาลจิ้มกระบอกแก้วเล็กๆ ด้านในมียาสีขาวขุ่น ตรงปลายมีเข็มปลายแหลมติดเข้าไปที่ต้นแขนของคุณหญิงแข หล่อนเห็นสีหน้าเจ็บปวดของท่านก็ใจไม่ดี ร้อนถึงเกื้อกูลต้องอธิบาย

 “ยาฉีด ให้ผลเร็วกว่ายากิน เจ็บนิดเดียวเท่านั้นเหมือนมดกัด”

 “คุณเคยโดนฉีดยาอย่างนี้หรือ” หล่อนถามประสาซื่อ ไม่คิดว่าการที่ถูกเข็มทิ่มเข้าไปในเนื้อจะเจ็บเหมือนมดกัดอย่างที่เขาบอก

 คำตอบที่ได้รับคือรอยยิ้มและการส่ายหน้า “ไม่เคยหรอก ได้ยินมาก็เลยเล่าให้ฟัง”

 บุษบงอดไม่ได้ที่จะค้อนเขาเสียหน้าคว่ำ จึงได้รับเสียงหัวเราะอันแจ่มใสกลับมา

 กว่าเรื่องราวจะเรียบร้อยก็เกือบเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ดึกมากและไม่น่าเชื่อว่าการรักษาจะได้ผลเร็วราวปาฏิหาริย์ คุณหญิงแขลืมตาขึ้นมาครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะหลับตาลงไปอีก ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วกับการที่ท่านเคยนอนนิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวส่วนใดของร่างกายเลยก่อนหน้านี้

 พยาบาลออกไปจากห้องแล้ว บัดนี้เหลือเพียงบุษบงกับเกื้อกูลเท่านั้น และเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติบุษบงก็รู้สึกเหมือนมือตัวเองเป็นของเกะกะ ไม่รู้จะวางไว้ตรงไหน จนกระทั่งเกื้อกูลเอ่ยขึ้น

 “นั่งเถอะ เธอเหนื่อยมามากแล้ว”

 “คุณเองก็เหมือนกัน วิ่งจัดการให้ทุกอย่าง ฉันซิเอาแต่ตะลึงทำอะไรไม่ถูกสักอย่างเดียว” หล่อนกล่าวโทษตัวเอง 

 “ถ้าเรียบร้อยแล้วฉันคงต้องกลับก่อน” เกื้อกูลเอ่ยขอตัว เขารู้กาลเทศะพอว่าในเวลาเช่นนี้หมดหน้าที่ของตนเองแล้ว

 “จะกลับอย่างไรคะ”

 “พายเรือกลับ” เขาตอบอย่างที่หล่อนคิด

 “ไม่ได้หรอกค่ะ พายเรือกลับคนเดียวมันอันตรายมาก” หล่อนร้องห้าม เพราะดึกมากแล้ว อีกทั้งระยะทางก็ไม่ได้ใกล้ๆ หล่อนลังเลอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะตัดสินใจชวนให้เขานอนด้วยกันที่ห้องพักของคุณหญิงแข คงไม่น่าเกลียดอะไรในเมื่อหล่อนและเขาไม่ได้อยู่กันตามลำพังสองต่อสอง “ถ้ายังไงนอนเสียที่นี่ พรุ่งนี้เช้าค่อยกลับ”

 ในแววตาของเกื้อกูลก็มีรอยลังเลเช่นกัน หล่อนจึงรีบอ้างเหตุผล

 “ไม่เป็นไรหรอกค่ะ คงไม่มีใครกล้าคิดไม่ดี และอีกอย่างฉันไม่กล้าให้คุณกลับไปตอนนี้ หากเกิดอะไรขึ้นฉันคงรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต”

 สุดท้ายเขาก็พยักหน้าตอบตกลง และเดินไปนั่งที่เก้าอี้มุมห้องเอนตัวพิงผนัง จากนั้นไม่นานก็หลับไปอย่างง่ายดายเพราะความเหน็ดเหนื่อย

 เมื่อแน่ใจว่าเขาหลับไปแล้วจริงๆ บุษบงก็ยิ้มออกมา เป็นยิ้มแรกตั้งแต่เกิดเรื่องร้ายขึ้นมา หล่อนอดดีใจในความโชคดีของตนไม่ได้ หากหล่อนไม่หันไปมองทางเรือนทาสคงไม่ได้นึกถึงคุณโรเบิร์ตและครูแหม่มขึ้นมา และหล่อนก็คงไม่ได้ไปขอความช่วยเหลือจากเขา ป่านนี้คุณหญิงแขก็คงจะยังป่วยหนักอยู่ที่บ้านโดยที่หล่อนทำอะไรไม่ได้เลย

 เกื้อกูลตื่นขึ้นมาตอนเช้ามืด เมื่อคืนหลังจากนั่งลง เขาก็หลับไปโดยไม่รู้ตัวเลย ชายหนุ่มกวาดตามองหาบุษบงทันทีที่รู้สึกตัว และพบว่าหล่อนนั่งฟุบอยู่กับเตียงคุณหญิงแขนั่นเอง

 เขามองภาพนั้นนิ่งนาน รู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกที่ตื่นเช้ามาแล้วเจอกับภาพงดงามเช่นนี้ แสงจากไฟฟ้าแรงเทียนน้อยสาดส่องเข้ามาทำให้เห็นเสี้ยวหน้าอันอ่อนโยนซึ่งยังคงปรากฏริ้วรอยแห่งความกังวลทำให้เขาถึงกับตะลึงงันกับภาพนั้น อิริยาบถของหญิงสาวแสดงถึงความทุกข์ แต่ในความทุกข์นั้นกลับมองเห็นถึงพลังบางอย่าง มันคือความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อและความกตัญญูรู้คุณ แม้ว่าบุษบงจะไม่ใช่คนที่สวยที่สุดเท่าที่เคยพบ แต่ความดีในตัวทำให้เขาคิดว่าไม่มีความงามใดเทียบกับหล่อนได้อีกแล้ว

 ผ้าห่มร่วงลงเมื่อเขาลุกขึ้น นี่คงเป็นอีกหนึ่งน้ำใจที่หล่อนมอบให้ ชายหนุ่มหยิบมันขึ้นมาก่อนจะย่องเข้าไปใกล้หญิงสาวอย่างเงียบกริบ คลี่ผ้าห่มออกแล้วคลุมลงบนร่างบอบบางที่แบกภาระเอาไว้มากมาย เขาคิดว่าถึงเวลาที่เขาต้องกลับแล้ว เพื่อแจ้งข่าวให้ทุกคนรู้ ป่านนี้ทุกคนคงกำลังเป็นห่วงเนื่องจากเขาหายทั้งคืน

            

เกื้อกูลพายเรือกลับเช่นเดียวกับที่พายเรือมา นับว่าเป็นการพายเรือที่ไกลที่สุดในชีวิต แต่ก็มีความสุขมากที่สุดเช่นกัน เขาแวะที่เรือนหลังเล็กก่อนเพื่อแจ้งข่าวแก่จำปา และเมื่อจำปารู้เรื่องนี้ ข่าวก็แพร่สะพัดไปทั่วบ้านอย่างรวดเร็ว 

เรือนใหญ่ซึ่งปกติค่อนข้างเงียบในตอนเช้าเพราะระยะหลังมีเพียงพระยาธรรมานุรักษ์เท่านั้นที่ออกจากบ้านไปทำงาน ส่วนสันติกับแสงจันทร์จะออกไปตอนใกล้เที่ยง ฝ่ายแรกนั้นจะไปยังบ่อนการพนันที่มีอยู่ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ในพระนครส่วนอีกฝ่ายจะไปเดินอย่างโก้หรูสง่างามตามห้างฝรั่งหรือไม่ก็ตามโรงละคร วันนี้กลอยกระหืดกระหอบขึ้นมาบนเรือนเหมือนทุกครั้งที่มีเรื่องสำคัญแจ้งให้คุณสร้อยทราบ แต่ที่แปลกคือวันนี้คุณสร้อยยืนคอยอยู่เพราะในใจคำนึงว่ากำลังจะมีข่าวดี

 “ว่าไงนังกลอย นังแก่นั่นตายแล้วใช่ไหม”

 ร่างอวบของกลอยกระเพื่อมขึ้นลง หอบตัวโยน เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็เปลี่ยนแปลงเหนื่อยง่ายแต่สันดานเดิมนั้นไม่เปลี่ยนแปลง คืออิจฉาริษยาและชอบเห็นคนอื่นพินาศย่อยยับ แต่วันนี้ไม่มีเรื่องเช่นนั้น ความยินดีจึงไม่ปรากฏบนใบหน้า

 “ตายที่ไหนกันเจ้าคะ มันไปศิริราชกันตั้งแต่เมื่อคืน”

 “ไปศิริราช!” คุณสร้อยอุทานเสียงดัง สีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มเมื่อครู่เปลี่ยนเป็นบึ้งตึงทันที “ไปได้ยังไง ก็ข้าสั่งแล้วว่าห้ามใครไปส่ง”

 “นังจำปาบอกว่านังบุษพาไปเจ้าค่ะ พายเรือกันไป นี่นังจำปากำลังจะนั่งรถรับจ้างตามไปเหมือนกัน”

 คิ้วของคุณสร้อยขมวดเข้าหากันด้วยความหงุดหงิด “นี่พวกมันจะวุ่นวายกันไปถึงไหน ไปอยู่ศิริราชเสียค่าหมอ ค่ายา คอยดูเถอะ ข้าจะไม่รับ มาเองก็กลับกันเอง เงินแม้แต่สลึงเดียวข้าก็จะไม่ออกให้”

 “ก็พวกมันไปกันเองก็ให้ออกกันเองซิเจ้าคะ สมควรแล้ว” กลอยเออออตามประสา

 “เอ็งจำไว้นะ เรื่องนี้อย่าให้คุณพี่รู้เด็ดขาด ใครขืนปากโป้งไปบอกท่าน ข้าจะลงหวายให้หลังลายเลยทีเดียว”

 “เจ้าค่ะ บ่าวจะกำชับไม่ให้ใครพูดเรื่องนี้ต่อหน้าท่าน”

 เมื่อสั่งการบ่าวเสร็จ คุณสร้อยก็ปั้นปึ่งเข้าไปในห้อง แม้ยังข้องใจอยู่ว่าบุษบงพาคุณหญิงแขไปโรงพยาบาลตามลำพังได้อย่างไรระยะทางก็ออกจะไกล แต่เมื่อมีเรื่องเงินทองมารบกวนจิตใจจึงหยุดคิดเรื่องนั้นไปทันที จากนั้นก็แช่งชักหักกระดูกคุณหญิงแขด้วยความเกลียดชัง หวังอย่างยิ่งว่าการจากบ้านไปของคุณหญิงแขในคราวนี้จะไม่ได้กลับมาอีก

 มิเพียงแต่บ้านของพระยาธรรมานุรักษ์เท่านั้นที่มีเรื่องแต่เช้า บ้านของพระยาพลากรพยุหโยธินเองก็เช่นกัน เมื่อมีจดหมายส่งมา และจากลายมืออันคุ้นตานั้นคุณหญิงโสภาก็รู้ทันทีว่าเป็นจดหมายจากลูกชาย

 เกื้อกูลเคยส่งจดหมายมาเมื่อสองเดือนก่อนว่ากำลังจะขึ้นเรือสินค้ากลับมาบ้าน ซึ่งไม่อาจกำหนดเวลาได้ว่าจะถึงเมื่อไร เนื่องจากไม่มีใครคาดเดาสภาพอากาศในท้องทะเลได้ แต่การเดินทางก็ใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงสองเดือน นี่ก็เลยมาหลายวันแล้วลูกชายยังไม่ปรากฏตัว คนเป็นแม่จึงเป็นห่วงอย่างเหลือเกิน

 คุณหญิงโสภาเอาจดหมายมาเปิดอ่านที่ห้องกินอาหาร และเมื่ออ่านจบก็สอดเอาไว้ในซองอย่างเดิม

 “เกิดอะไรขึ้นหรือคุณหญิง” พระยาพลากรพยุหโยธินเอ่ยถามผู้เป็นภรรยาซึ่งมีสีหน้ายุ่งยากใจทันทีเมื่อฝ่ายนั้นอ่านจดหมายของบุตรชายที่ส่งมาจากต่างประเทศจบ

 คุณหญิงโสภาหันมาถอนหายใจด้วยความเหนื่อยอ่อน ก่อนตอบคำถาม “ก็พ่อเกื้อของเราซิคะ บอกว่าจะอยู่เที่ยวที่ฟิลิปปินส์ก่อน ยังไม่อยากกลับบ้าน”

 “อ้าว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เห็นครั้งที่แล้วเขียนจดหมายมาออดอ้อนไม่ใช่หรือว่าคิดถึงบ้านอย่างโน้นอย่างนี้ พอเอาเข้าจริงทำไมไม่ยอมกลับ” เจ้าคุณถามเสียงขุ่น ไม่ใคร่พอใจการกระทำของลูกชายนัก เนื่องจากนัดหมายเรื่องการดูตัวกับทางบ้านเจ้าคุณธรรมานุรักษ์เรียบร้อยแล้ว

 “แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะคะ หรือผัดผ่อนทางโน้นไปก่อน”

 “น่าเกลียด จะผัดผ่อนได้ยังไง ทางเราเป็นผู้ชาย ทางโน้นจะหาว่าเราไม่ให้เกียรติ เราสองคนนั่นละที่จะต้องไปรับหน้าก่อน”

 คุณหญิงโสภาเห็นด้วยกับความคิดของสามี ทว่ามีบางอย่างที่ยังกังวล “แล้วถ้าตาเกื้อไม่ชอบแสงจันทร์ล่ะคะ เราจะทำอย่างไร”

 คำถามของภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากทำให้พระยาพลากรนิ่งไป สีหน้าส่อแววหนักใจไม่แพ้กัน “ฉันเองก็ไม่รู้ แต่มันเป็นคำสัญญาตั้งแต่รุ่นของเจ้าคุณพ่อ ซึ่งก็โชคดีที่บ้านโน้นไม่มีลูกสาว มีลูกชายคนเดียว ทางฉันก็มีลูกชายคนเดียวจึงไม่ต้องทำตามสัญญา แต่คราวนี้พอถึงรุ่นหลานทางโน้นก็มีหลานสาว ทางนี้ก็มีหลานชาย ฉันก็อยากจะทำตามคำสั่งเสียของเจ้าคุณพ่อให้บ้านเรากับบ้านโน้นได้ดองกัน”

 “ดีนะคะที่ทางเราไม่มีลูกสาว ไม่ต้องดองกับพ่อสันติ คนนั้นฉันคงรับไม่ไหว”

 เจ้าคุณยิ้มบางๆ “ฉันเองก็คงไม่ไหวเหมือนกัน ถึงจะสัญญากันฉันก็ทำใจไม่ได้หรอกที่จะส่งลูกไปลงนรก”

 คุณหญิงโสภาลอบถอนหายใจออกมาเบาๆ หากให้พูดตามตรงก็ไม่ได้คิดอยากได้ใครในบ้านนั้นมาเกี่ยวดองด้วยเพียงแต่ขัดสามีไม่ได้ ในแวดวงของคุณหญิงคุณนายที่ได้พบปะสังสรรค์ต่างก็เล่าสู่กันฟังถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของภรรยาพระยาธรรมานุรักษ์จนไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย

 ส่วนลูกทั้งสองนั้นก็ดูเหมือนจะไม่เป็นโล้เป็นพายสักเท่าไรนัก ลูกชายไม่เล่าเรียนเป็นนักพนันอยู่ตามบ่อนทั้งที่อายุเพิ่งจะสิบห้าย่างเข้าสิบหก ส่วนบุตรสาวที่สามีจะพาลูกชายไปดูตัวนั้นก็เห็นว่าวันๆ เอาแต่เที่ยวเฉิดฉายตามบ้านเพื่อน ผลาญเงินทองไม่ขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการหรืองานเรือน แต่ถึงได้ยินมาอย่างนั้นคุณหญิงโสภาก็ยังไม่ปักใจเชื่อนัก บางทีอาจจะเป็นอารมณ์สนุกของเด็กๆ ซึ่งการได้ไปอยู่เมืองนอกเมืองนามาก็ทำให้ค่อนข้างเข้าใจเรื่องพวกนี้ หล่อนหวังว่าฝ่ายหญิงที่มาเป็นสะใภ้คงสอนสั่งอบรมได้ แต่ฝ่ายชายคงไม่ไหว เมื่อใดที่ผีพนันเข้าสิงอย่าว่าแต่ตัวเองที่วอดวาย คนรอบข้างก็ไม่วายวอดวายไปด้วย

 “แล้วพ่อลูกชายบอกหรือเปล่าว่าจะกลับเมื่อไหร่” พระยาพลากรวกกลับมาที่เรื่องของเกื้อกูลอีกครั้ง

 “เปล่าค่ะ ไม่ได้บอกวันที่แน่นอน บอกเพียงแต่ว่าอาจจะกลับเดือนหน้า”

 “ชักเหลวไหลใหญ่แล้ว” พระยาพลากรบ่นเสียงเครียดพลางหยิบซิการ์มวนใหญ่มาจุดสูบ

 “หรือว่าลูกจะได้เมียแหม่มคะ” นั่นคือสิ่งที่คุณหญิงกังวลมาโดยตลอด ลูกชายของเธอปีนี้อายุยี่สิบสองเต็ม สมควรแก่การมีคู่ครอง การไปเรียนที่ต่างประเทศเป็นเวลานานอาจทำให้เขาติดใจสาวที่นั่นก็เป็นได้

 “อย่าเพิ่งเดาอะไรไปก่อนเลย รอกลับมาแล้วค่อยถามไถ่จะดีกว่า”

 คำตอบนั้นหมายถึงว่าเจ้าคุณเองก็ไม่แน่ใจเช่นกัน ยิ่งทำให้ผู้เป็นภรรยาร้อนใจไปใหญ่

 “ไม่ได้แล้วค่ะ ดิฉันจะเขียนจดหมายไปเรียนถามคุณหญิงประดับว่าลูกของเรามีเมียอยู่ทางโน้นจริงหรือเปล่า ถ้ามีจริงดิฉันไม่ยอมแน่”

 คุณหญิงโสภาลุกขึ้นในทันควัน ไม่สนใจที่จะรับอาหารเช้าอีก แล้วเดินเข้าห้องทำงานของสามี หยิบปากกากระดาษขึ้นมาเขียนถามถึงเรื่องลูกชายของตนเองจากเพื่อนสนิทด้วยความร้อนใจ จากนั้นก็เรียกบ่าวผู้ชายไปส่งจดหมายทันที 

 

รีวิวผู้อ่าน

0 ผู้รีวิว

จัดเรียงตาม

ความคิดเห็น