๔
พ่อคนเย็นชา
พรรณวษามาถึงห้างสรรพสินค้าหลังเปิดเพียงแค่ห้านาที มาถึงก็สั่งชานมไข่มุกแล้วไปเดินเล่นแผนกเด็กเพื่อดูว่ามีอะไรบ้าง เธอส่งข้อความไปบอกเดือนธันวาว่ามาถึงแล้วตั้งแต่จอดรถเสร็จ และให้เขาไปเจอที่แผนกขายของเด็กได้เลย
ถึงเวลาสิบเอ็ดโมงครึ่งไม่มีขาดไม่มีเกิน ชายหนุ่มปรากฏตัวในชุดเสื้อยืดสีขาวกับกางเกงขายาวสีเทา ดูสบายๆ พอกันกับเธอที่ครึ่งบนเป็นเสื้อแขนกุดสีเหลืองสว่าง ครึ่งล่างเป็นกางเกงยีนและส้นสูง
“สวัสดีค่ะคุณเดือนธันวา กินอะไรมาหรือยังคะ” เจอหน้ากันก็ทักทายพอเป็นพิธี พร้อมทั้งส่งยิ้มแห่งความอัธยาศัยดีให้ อีกฝ่ายจะรับไหมนั้นอีกเรื่อง
“เรียบร้อยแล้วครับ คุณล่ะ”
“จัดการชานมไปแล้วหนึ่งแก้วค่ะ แต่วันนี้เพ้นท์ว่าจะเลี้ยงข้าวคุณเป็นการตอบแทนด้วย อ้อ ค่าเสียเวลายังจ่ายอยู่เหมือนเดิมนะคะ ไม่ต้องห่วง”
“ไม่ต้องเลี้ยงข้าวหรอกครับ รีบซื้อเถอะ จะได้รีบเสร็จ คุณจะได้กลับไปดูแลลูกของคุณ ไม่เสียเวลาแล้วก็เสียเงินกับผมมาก”
พูดจบเขาก็เดินไปยังโซนที่นอนเด็กโดยไม่รอการตอบกลับจากเธอ หญิงสาวแอบเบ้ปากเล็กน้อย สงสัยเสียจริงว่าทำไมเขาถึงไม่อัธยาศัยดีกับเธอบ้างเลย
“เพ้นท์ได้เปลมาจากพี่สาวแล้วค่ะ น้องเสือนอนแล้วกำลังดีเลย”
เธอเดินไปบอก คนที่กำลังเลือกเปลชะงัก รู้ว่ามีแล้วจึงเดินไปดูรถเข็นแทน
“เมื่อคืนนอนหลับสบายไหมครับ” ขณะถามไม่มองหน้า เพราะสายตาสนใจอยู่กับรถเข็นเด็กสีดำดูแข็งแรงคันหนึ่ง
“ได้อยู่ค่ะ มีตื่นมาเปลี่ยนผ้าอ้อมตอนกลางคืนหนึ่งรอบ ตอนน้องเสือเด็กกว่านี้เขาร้องตอนกลางคืนบ่อยไหมคะ”
“บ่อยครับ”
“โห อย่างนี้คุณต้องลำบากมากแน่ๆ เลย เมื่อคืนเพ้นท์ดูคลิปวิดีโอวิธีเปลี่ยนแพมเพิร์สเด็กเล็กมา ยากมากเลยค่ะคุณเดือนธันวา” นึกถึงวิดีโอที่ดูเมื่อคืนแล้วเธอก็ทำหน้าเหยเกเพราะแพมเพิร์สเด็กเล็กไม่ใช่แบบสวม แต่เป็นแบบแถบกาว ไหนจะต้องระวังไม่ให้ขาของทารกเสียดสีกับขอบ ยิ่งเด็กตัวเล็กก็ยิ่งเสี่ยงจะบอบช้ำ ต้องกราบขอบคุณโชคชะตาที่ลิขิตให้เธอมาพบน้องเสือในตอนอายุหนึ่งขวบ การดูแลแม้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป
พนักงานหญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาให้คำแนะนำพอดี พูดถึงฟังก์ชันของรถเข็นเด็กยี่ห้อต่างๆ จนพรรณวษาเห็นภาพ เดือนธันวาตั้งใจฟังและเปรียบเทียบอยู่ในหัว แต่ไม่ได้แนะนำอะไรออกไป ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของหญิงสาวแต่เพียงผู้เดียว
“ความจริงคุณพ่อคุณแม่พาคุณลูกมาลองนั่งได้นะคะ” พนักงานสาวบอกอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส วินาทีนั้นลูกค้าทั้งสองเผลอสบตากัน ก่อนจะเบือนหน้าหนีไปคนละทางโดยพร้อมเพรียง
“ให้ลูกอยู่บ้านดีกว่าค่ะ วันนี้มาซื้อหลายอย่าง” พรรณวษายิ้มแห้ง แล้วชี้รถเข็นสีดำตัวแรกที่เห็นว่าเดือนธันวาสนใจเนื่องจากไม่รู้จะเลือกคันไหนดี “ตัวนี้เลยค่ะ ฝากไว้ก่อนนะคะ เลือกครบทุกอย่างจะจ่ายทีเดียว”
“ได้ค่ะ”
ได้ของที่ต้องเสียเงินซื้อให้ลูกแล้ว หญิงสาวก็มีความสุขและมีแรงใจในการเดินเลือกซื้อเพิ่ม พนักงานคนหนึ่งในโซนเสื้อผ้าเด็กเข็นรถเข็นมาให้ เป็นการส่งเสริมให้ลูกค้าชอปปิงมากขึ้น ทีแรกพรรณวษาจะเข็นเอง แต่อีกคนชิงจับรถเข็นเอาไว้ก่อน
“คุณเลือกเลยครับ เขาสูงแปดสิบสามเซนฯ หนักประมาณเก้าโลครึ่ง ไซซ์สามกำลังดี”
พรรณวษาพยักหน้า ทึ่งเล็กน้อยที่เขาจำขนาดตัวเด็กได้ ขณะที่เธอไม่รู้อะไรเลย...ก็นะ เขาเป็นพ่อแท้ๆ นี่
เธอเข้าไปคุยกับพนักงานและเลือกเสื้อผ้าเด็กอย่างเพลิดเพลิน รู้ตัวอีกทีก็กวาดมาเป็นสิบชุด ครั้นจะหยิบชุดที่สิบเอ็ดคนเข็นก็เอ่ยห้าม
“คุณพรรณวษาครับ เก็บไว้ซื้อวันหลังบ้างก็ได้ ไปดูอย่างอื่นบ้างเถอะ”
“ก็ได้ค่ะ” เธอยอมวางชุดที่สิบเอ็ดลงกับที่ ก่อนจะจ้องเขาเป็นเชิงตำหนิแบบไม่จริงจังมากนัก เอาจริงๆ เธอก็ไม่กล้าไปว่าอะไรเขาหรอก “เคยบอกให้เรียกแค่เพ้นท์ ทำไมยังเรียกชื่อจริงอยู่ล่ะคะ มันฟังดูห่างเหินมากเลยนะ”
“เราต้องสนิทกันด้วยเหรอครับ”
อืม เป็นคำถามที่น่าคิด...
“ก็ต้องสิคะ!”
เขาเข้าใจใช่ไหมว่าตัวเองเป็นพ่อเก่า ส่วนเธอคือแม่ใหม่ มีความเกี่ยวข้องกับเด็กคนเดียวกัน ต้องสนิทกันไว้สิถึงจะถูก!
“เรารู้จักกันไม่นานหรอก เดี๋ยวก็กลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน”
แต่เหมือนเขาจะไม่เข้าใจอย่างเธอ
ร่างสูงเข็นรถเข็นที่เต็มไปด้วยเสื้อผ้าเด็กไปโซนอื่นบ้าง เธอจึงต้องเดินตามไปพร้อมความรู้สึกขัดอกขัดใจ แต่พูดออกมาไม่ได้ ทว่าเดินตามไม่กี่ก้าวก็สะดุดตากับของเล่นเด็กเสียก่อนจึงเลี้ยวไปดู จากนั้นก็เลือกใส่อ้อมแขนไม่ยั้งอย่างกับเป็นเด็กเสียเอง
เดือนธันวาหันหลังไปมองพลางถอนหายใจยาว แล้วเดินต่อไปเลือกอุปกรณ์อาบน้ำ ขวดนม ผ้าขนหนู และของใช้จำเป็นอื่นๆ แทน ขืนรอหญิงสาวเลือกเองทุกอย่างวันนี้ไม่น่าเสร็จ
เขาหยุดยืนมองของในรถเข็นที่เริ่มจะเป็นกองพะเนิน เริ่มรื้อเช็กทีละอย่าง เพื่อความมั่นใจจึงหยิบโทรศัพท์ออกมาเปิดดูรายการที่เคยจดไว้
“กลับมาแล้วค่า” เสียงเจื้อยแจ้วทำให้สะดุ้งเล็กน้อย หันไปตามเสียงพบว่าพรรณวษาเดินมาหาพร้อมของเล่นเต็มอ้อมแขน มาถึงรถเข็นก็ปล่อยทุกอย่างใส่ในนั้น เพราะมัวแต่ดีใจจึงไม่ทันสังเกตว่าอีกคนยืนตัวแข็งอยู่กับที่
เดือนธันวาเลือกที่จะเงียบ และจดจำไว้ว่าไม่ควรปล่อยให้หญิงสาวไปเดินชอปปิงคนเดียว...
“อุ๊ย ขอบคุณนะคะที่เลือกของใช้ให้” เธอทำหน้าปลื้มใจเมื่อพบว่าในรถเข็นมีของที่เขาหยิบมาใส่ ทุกอย่างล้วนเป็นของจำเป็นต่อเด็กทั้งนั้น “ขาดอะไรอีกไหมคะ”
“คุณน่าจะต้องซื้อทิชชูแห้ง ทิชชูเปียก แพมเพิร์ส สำลี คอตตันบัด ของพวกนี้ซื้อที่ซูเปอร์มาร์เกตได้ครับ ตอนนี้ผมอยากได้ปรอทวัดไข้กับกรรไกรตัดเล็บ ไม่รู้แถวนี้มีหรือเปล่า”
“หูววว ปรอทวัดไข้กับกรรไกรตัดเล็บ เพ้นท์คิดไม่ถึงเลยค่ะ” คนฟังเบิกตากว้างพร้อมทั้งกวาดตามองหาของที่เขาพูด จากนั้นก็ชี้ไปทางโซนของใช้จิปาถะ “เดี๋ยวเพ้นท์ไปดูตรงนั้นให้นะคะ”
จบประโยคเธอก็เดินแยกมาด้วยความกระตือรือร้น ตอนนั้นเองที่โทรศัพท์ส่งเสียงร้อง หยิบออกมาพบว่าเป็นบิดาจึงกดรับสาย
“ค่ะคุณพ่อ”
“เพ้นท์ แม่บอกว่าเพ้นท์ไปซื้อของกับพ่อเด็กเหรอ”
“ใช่แล้วค่ะ กำลังจะเสร็จแล้ว คุณพ่อมีอะไรหรือเปล่าคะ” เธอถามระหว่างไล่สายตาหากรรไกรตัดเล็บ แต่เผอิญกล่องดนตรีดึงดูดสายตาก่อนจึงหยิบมาพลิกดู
“ไม่มีอะไร พ่อแค่อยากเจอเขาบ้าง ไหนๆ เราก็เอาลูกเขามาเลี้ยงแล้ว”
“ตอนนี้อยู่ห้างน่ะสิคะ คุณพ่อสะดวกมาไหม”
“ไม่สะดวก เพ้นท์ถามเขาดีกว่าว่าสะดวกมากินข้าวเย็นที่บ้านเราไหม บอกเขาว่าพ่อกับแม่อยากเจอ”
พรรณวษาชะโงกหน้าจากชั้นวางของไปมองคนที่กำลังคุยกับพนักงาน เดาไม่ออกเลยว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร แต่เธอก็อยากเชิญเขาไปที่บ้านเพื่อตรวจเช็กความเป็นอยู่ของน้องเสือเหมือนกัน
“จะลองชวนให้นะคะคุณพ่อ ได้ไม่ได้ยังไงจะบอกอีกทีค่ะ”
“อื้ม ถ้าเลือกของเสร็จแล้วไม่มีอะไรทำก็กลับบ้านเลยนะ อย่าทิ้งลูกไว้กับคนอื่นนาน พ่ออนุญาตให้แตนกับอ้อยช่วย ไม่ได้อนุญาตให้เลี้ยงแทน”
“รับทราบค่า”
เมื่อวางสายจากศุกลแล้วเธอก็ถือกล่องดนตรีกลับไปหาเดือนธันวาที่เพิ่งได้ปรอทวัดไข้มา เขามองของในมือเธอด้วยความไม่เข้าใจ เพราะมันห่างไกลจากกรรไกรตัดเล็บมาก เรียกได้ว่าคนละประเภท
“กรรไกรตัดเล็บล่ะครับ”
“เออใช่!” พรรณวษาเบิกตาโตเพราะเพิ่งนึกออก “ขอโทษทีค่ะ เพ้นท์มัวแต่คุยโทรศัพท์เลยลืม เมื่อกี้คุณพ่อโทร. มาชวนคุณไปกินข้าวเย็นที่บ้าน ไปด้วยกันนะคะ”
เดือนธันวาส่ายหน้าทันที
“โถ่ ลองไปดูความเป็นอยู่ของน้องเสือสักหน่อยสิคะ คุณจะได้เบาใจว่าเขาอยู่ดีมีสุข ครั้งเดียวเอง” เธอคะยั้นคะยอด้วยความพยายาม ในหัวเตรียมแผนสำรองไว้แล้ว
“ถ้าคุณมั่นใจขนาดนั้นผมก็มั่นใจว่าทุกอย่างเรียบร้อยครับ ไม่ต้องไปหรอก”
“เรียกค่าเสียเวลาได้เลยค่ะ หรือจะรีเควสต์อาหารอะไรก็ได้ เพ้นท์หามาให้ได้หมด ขอแค่คุณไปร่วมมื้อเย็นวันนี้ก็พอ คุณพ่อคุณแม่ของเพ้นท์อยากเจอคุณ เพราะว่าพวกเราต้องเลี้ยงลูก...เอ่อ น้องเสือ” หญิงสาวยับยั้งคำว่า ‘ลูกของคุณ’ ทัน เพราะนั่นมันเป็นอดีตไปแล้ว
ชายหนุ่มไม่อยากไป แต่ถูกเธอหว่านล้อมทุกทางเช่นนั้นก็ยากจะปฏิเสธ ใจหนึ่งก็อยากรู้ว่าบ้านใหม่ของน้องเสือเป็นเช่นไร ใหญ่โตอย่างที่ณัชชาเคยโม้ให้ฟังจริงหรือเปล่า แล้วคนที่บ้านของเธอจะต้อนรับเด็กชายที่ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขไหม...
เขาก้มมองนาฬิกาข้อมือ ก่อนจะเงยหน้าสบตาหญิงสาวที่จ้องรอคำตอบอย่างใจจดใจจ่อ
“ชั่วโมงละสองพันเหมือนเดิมนะครับ เราเจอกันสิบเอ็ดโมงครึ่ง กินข้าวเสร็จคงประมาณหกโมงครึ่ง เจ็ดชั่วโมงหมื่นสี่”
“ได้เลยค่ะ ไม่มีปัญหา ถ้าเกินกว่านี้บวกเพิ่มได้ตามสบายเลย เพ้นท์เข้าใจ”
สิ่งที่เธอเข้าใจคือเขาอึดอัดใจทุกครั้งเมื่อต้องกลับไปอยู่ใกล้น้องเสือ พ่อที่พยายามลืมลูกต้องใช้ความพยายามมาก แต่สิ่งที่เธอกำลังทำคือชักนำทั้งสองมาอยู่ใกล้กัน สร้างความผูกพันที่ทำให้การตัดขาดยากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องจ่ายเท่าไรเธอก็ไม่เกี่ยง ขอให้ความอึดอัดในใจเขาได้ลดลงบ้างก็พอ
แต่ความคิดในหัวของเดือนธันวามีแค่ว่า พรรณวษาเคยคิดเสียดายเงินบ้างไหม...
กว่าจะซื้อของครบทุกอย่างก็ปาไปบ่ายสองโมง หลังจากไปเก็บของที่รถหญิงสาวก็ชวนให้เขาหาอะไรกินก่อนกลับเพราะเธอหิว ตั้งใจว่าจะเลือกร้านอาหารสักร้าน แต่เขาปฏิเสธ
“ผมไม่หิวเท่าไร คุณซื้ออะไรที่กินง่ายๆ ใส่กล่องกลับดีไหมครับ”
“อยากไปบ้านเพ้นท์แล้วเหรอคะ” เธอถามเป็นเชิงแซวเล่น แต่คู่สนทนาเล่นทำเป็นอยู่หน้าเดียวคือหน้านิ่ง
“ถ้าผมนับไม่ผิด คุณน่าจะทิ้งลูกมามากกว่าสี่ชั่วโมงแล้วนะ ไม่เป็นห่วงเขาเหรอครับ”
คนถูกตำหนิผ่านสายตากลืนน้ำลายอึกใหญ่ก่อนจะยิ้มแห้ง “ก็ได้ค่ะ เดี๋ยวซื้อไปกินบ้านก็ได้”
“ถ้าคุณไม่ถือเรื่องกินบนรถ คุณซื้อไปก็ได้ เดี๋ยวผมขับรถให้”
“ขับรถให้เพ้นท์?” เธอทวนคำ เขาพยักหน้า “โอเคค่ะ ขอบคุณนะคะ!”
ถือว่าเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมากที่เขาอาสาขับรถให้ และพรรณวษาไม่เสียเวลาเกรงใจเพราะไม่อยากทนหิว ทั้งคู่ลงลิฟต์ไปชั้นล่างสุดซึ่งมีอาหารหลากหลายอย่างให้เลือกซื้อ นิสัยคนหิวอย่างเธอคือกว้านซื้อทุกอย่างที่น่ากิน กินไม่หมดก็อุทิศให้แตนกับอ้อยไป ที่สำคัญคือต้องซื้อไก่ทอดไปฝากสองสาวด้วย
ขณะที่เธอถืออาหารเต็มมือ เดือนธันวาซื้อแค่หมูหย็องหนึ่งถุง โรตีสายไหม ขนมจีบกุ้ง และน้ำเปล่าหนึ่งขวดเท่านั้น
บางทีเธอก็สงสัยว่าอดีตคุณพ่ออาจจะขัดสนเรื่องเงินอยู่ถึงได้กินน้อยขนาดนี้ เมื่อวานเย็นก็เห็นกินกล้วยอยู่แค่สองลูก
กลับไปที่รถเธอก็เปิดพิกัดไปบ้านให้ จากนั้นก็ปล่อยให้เขาขับ ส่วนตัวเองนั่งกินของที่ซื้อมาอย่างเอร็ดอร่อย ก่อนหน้านี้เธอถามว่าเขามาอย่างไร อีกฝ่ายตอบว่าเมื่ออยู่กรุงเทพฯ จะเดินทางไปไหนมาไหนด้วยแท็กซี่เพียงอย่างเดียว
ประตูรั้วถูกเปิดด้วยรีโมตจากมือเธอ เมื่อรถเคลื่อนมาจอดหน้าบ้านแตนกับอ้อยก็พากันออกมารับ ก่อนจะต้องแปลกใจเมื่อเจ้านายลงมาจากฝั่งข้างคนขับ
“น้องเสือล่ะ”
“นอนหลับอยู่ในห้องนั่งเล่นค่ะ แตนเอาผ้ามาปูให้นอน พอดีป้าติ๋มจะเข้าไปทำความสะอาดห้องคุณเพ้นท์น่ะค่ะ เลยต้องพาน้องออกมาก่อน”
“อืม ช่วยยกของหน่อย ฉันซื้อมาเยอะเลย ของกินก็มีนะ”
แตนกับอ้อยไม่สนใจพรรณวษาอีกเมื่อเห็นร่างสูงที่เพิ่งเปิดประตูลงมาจากตำแหน่งคนขับ สองพี่น้องอ้าปากค้าง ตกตะลึงกับใบหน้าดูดีไร้ที่ติชวนใจสั่น สีหน้าและแววตาเรียบนิ่งราวกับทะเลยามคลื่นสงบดูน่าค้นหาอย่างแปลกประหลาด หากเป็นดาราคงถูกขนานนามว่าสามีแห่งชาติ
เจ้านายของพวกเธอไปตกมาจากไหน!
“อ้อ ลืมแนะนำ นี่คือคุณเดือนธันวา เป็นคุณพ่อของน้องเสือ”
“พ่อน้องเสือ!” สองพี่น้องสามัคคีกันเบิกตาค้างด้วยความตกใจ ก่อนที่คนพี่จะได้สติก่อนและแนะนำตัวไว้เผื่อเขาจะพิจารณา
“หนูชื่อแตนนะคะ เป็นคนดูแลน้องเสือ”
“หนูชื่ออ้อยค่ะ น้องสาวพี่แตน ดูแลน้องเสือเหมือนกัน น้องเลี้ยงง่าย น่ารัก โตมาน่าจะหล่อเหมือนคุณพ่อ” อ้อยบิดม้วนเขินอายประกอบจนพี่สาวทนหมั่นไส้ไม่ไหว กระแทกศอกใส่หนึ่งที
“นี่ ไปขนของจากรถได้แล้ว ของใช้ขึ้นห้องฉันไปเลย ส่วนของกินไว้ในครัว” พรรณวษาส่ายหน้าอ่อนเพลียกับความบ้าผู้ชายของทั้งคู่ ก่อนจะผายมือเชิญแขกเข้าบ้าน “เชิญได้เลยค่ะคุณเดือนธันวา ไปที่ห้องนั่งเล่นกัน”
เขาพยักหน้าและเดินไปพร้อมกับเธอ ลับหลังชายหนุ่มสองสาวใช้แอบกรี๊ดกร๊าดกันต่อ การได้เสพหนุ่มหล่อในระยะประชิดให้ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าจนต้องเร่งมือขนของกันอย่างขยันขันแข็ง หากเสร็จงานเร็วจะได้เข้าไปเนียนคุยด้วย
เดือนธันวาเห็นน้องเสือหลับปุ๋ยอยู่บนผ้านวมกลางห้องนั่งเล่นคนเดียวก็บอกไม่ถูกว่าตนเองรู้สึกเช่นไร เขายืนค้างอยู่ที่ประตูนานมาก มองทั้งเด็กและแม่เด็กที่เข้าไปนั่งดูลูกใกล้ๆ ก่อนที่พรรณวษาจะหันมาส่งยิ้มบางให้เขา
“อยู่ดูเขาไปก่อนนะคะ เพ้นท์จะไปช่วยแตนกับอ้อยจัดของ สักประมาณสิบนาทีจะกลับมา”
“ครับ”
ความจริงอยากจะท้วงว่าเธอไม่ควรปล่อยเขาเอาไว้กับเด็กเพราะว่าตอนนี้เขาคือคนแปลกหน้า แต่เธอมีงานต้องไปทำ จะรั้งไว้ก็ใช่เหตุ
อีกเหตุผลที่ไม่อยากอยู่ด้วยตามลำพังเพราะเกรงว่าจะห้ามใจตัวเองไม่ได้...
เมื่อหญิงสาวออกไปจากห้องนั่งเล่นชายหนุ่มก็เข้าไปนั่งแทนที่ เหม่อมองเด็กชายอยู่เนิ่นนานจนเริ่มพลิกตัว วินาทีที่ตากลมเปิดรับแสงและพบว่าเขานั่งอยู่ข้างๆ ร่างเล็กก็ทะลึ่งตัวลุกขึ้น ทันใดนั้นร่างสูงก็ลุกพรวดขึ้นเพื่อถอยห่าง
“ป้อออ!”
“เป็นอะไรคะน้องเสือ อ้าว...”
เดือนธันวาหันไปทางประตูและพบว่าแม่บ้านวัยกลางคนคนหนึ่งเดินเข้ามา ทั้งสองสบตากันชั่วครู่ ก่อนที่หญิงผู้นั้นจะเข้าไปรวบตัวน้องเสือขึ้นมาอุ้ม เพียงเสี้ยววินาทีก่อนที่เด็กน้อยจะได้เอื้อมแตะขาของเขา
“สวัสดีค่ะคุณ เอ่อ...คุณเป็นใครเหรอคะ”
“ชื่อเดือนธันวาครับ เป็นเพื่อนของคุณพรรณ...เพ้นท์ครับ” ชายหนุ่มระลึกขึ้นได้ว่าหากเอ่ยชื่อจริงจะดูไม่สนิทสนมถึงขั้นพาเข้ามาบ้าน และเขาไม่อยากเป็นคนพูดเองว่ามีความเกี่ยวข้องกับเด็กเช่นไร
“อ้อ ป้าชื่อติ๋มนะคะ เป็นแม่บ้านที่นี่”
พรรณวษาเคยเล่าให้ฟังว่าคนในบ้านที่ดูแลน้องเสือได้มีแค่ตัวเธอเอง แตน และอ้อยเท่านั้น จึงค่อนข้างแปลกใจที่เห็นแม่บ้านผู้นี้อุ้มเด็กขึ้นมา
“ป้อ หาป้อ”
ติ๋มทำหน้าแปลกใจ มองน้องเสือที่เอื้อมแขนสองข้างจะให้เดือนธันวาอุ้ม ความสังหรณ์ทำให้เอ่ยถามตามตรง
“คุณใช่พ่อของน้องเสือหรือเปล่าคะ”
“เคยเป็นน่ะครับ”
แม่บ้านวัยกลางคนอึ้งเงียบ มองหน้าคนตอบก็เห็นแต่เพียงความเฉยชา เมื่อสักครู่หล่อนเข้ามาในห้องในจังหวะที่เขาถอยห่างจากเด็ก ทำเหมือนไม่อยากแม้แต่จะให้ลูกแตะตัว
แปลกคนจริง
“ป้อออ” เด็กน้อยไม่ละความพยายาม คนอุ้มจึงเอ่ยชวน
“ถ้าคุณอุ้มสักหน่อย คุณเพ้นท์คงไม่ว่าอะไรนะคะ”
“ไม่เป็นไรครับ” อีกฝ่ายปฏิเสธทันที “ผมว่าเขาคงหิว ก่อนนอนกลางวันเขาได้กินอะไรหรือเปล่าครับ”
“แตนมันบอกว่ากินไปแค่มื้อเช้าค่ะ กินน้อยด้วย แต่ป้าทำข้าวต้มไว้ในครัว ว่าจะเอามาให้กิน เอ่อ...” ติ๋มมองน้องเสือก่อนจะส่งสายตาถามความเห็นเขา เพราะถ้าหล่อนออกไปตักข้าวต้มเดือนธันวาก็ต้องอยู่ดูแลเด็กคนเดียว
ซึ่งเขาไม่เลือกทางนั้น
“ผมช่วยตักข้าวต้มให้ก็ได้ครับ”
เมื่อเขาว่าอย่างนั้นหล่อนก็ไม่เถียงให้มากความ เนื่องจากไม่รู้ว่าในใจเขาคิดอะไรอยู่ถึงไม่อยากแตะตัวลูกชาย
“ถ้าคุณศุกลกับคุณอัมพิกาอยู่ ป้าคงอุ้มน้องเสือแบบนี้ไม่ได้ คุณๆ แกไม่ยอมน่ะค่ะ นี่เห็นว่าไม่อยู่ป้าเลยช่วยดู นังแตนกับนังอ้อยสองคนไม่ไหวหรอก ดูแลตัวเองยังไม่รอด” หล่อนว่าขณะอุ้มน้องเสือเดินนำไปทางครัว ระหว่างทางก็ชวนคุยไปเรื่อยเปื่อย หางตาลอบสังเกตปฏิกิริยาคนฟังเป็นระยะๆ เดือนธันวาแค่พยักหน้ารับรู้ ใบหน้าเรียบนิ่งไม่ยอมให้ใครจับความรู้สึกข้างในได้แม้แต่นิด
ข้าวต้มกุ้งหอมกรุ่นส่งกลิ่นเตะจมูกเมื่อเข้ามาในครัว ติ๋มยืนอุ้มเด็กอยู่ข้างเคาน์เตอร์และคอยออกปากบอกให้อีกคนทำตาม
“ถ้วยอยู่ในตู้ข้างบนค่ะ ช้อนอยู่ในลิ้นชักด้านล่าง”
ชายหนุ่มเอื้อมมือหยิบถ้วยใบย่อมออกมาก่อน ต่อด้วยเปิดลิ้นชักที่อีกฝ่ายชี้และหยิบช้อนพลาสติกสีเดียวกันออกมา ข้างหม้อข้าวต้มมีทัพพีวางอยู่ ยื่นมือเรียวไปอังข้างหม้อ เช็กเรียบร้อยแล้วว่าไม่ค่อยร้อนก็ใช้ทัพพีตักข้าวต้มใส่ถ้วยจนเกือบเต็ม เลือกกุ้งชิ้นเล็กใส่ลงไป จากนั้นก็หันไปหาถุงหมูหย็องของตนเองซึ่งอ้อยนำมาวางไว้ก่อนหน้านี้ ก่อนจะแกะถุงและโรยลงไปบนนั้น
แน่นอนว่าการกระทำทั้งหมดอยู่ในสายตาของแม่บ้าน
“ใส่ของรสหวานลงไปเขาจะกินได้เยอะขึ้นครับ” เดือนธันวาเงยหน้าอธิบายให้อีกคนฟัง พลันสายตาเลื่อนไปเห็นน้ำลายเด็กน้อยกำลังไหลเยิ้ม “หมูหย็องถุงนี้ผมให้ป้าเก็บไว้เลยนะครับ”
“ค่ะ แล้วยังไงต่อดีคะ จะป้อนเองหรือจะให้ป้าป้อน”
“ผมป้อนให้ก็ได้ครับ”
ติ๋มช่วยอุ้มน้องเสือไปนั่งบนเก้าอี้สูง หันหน้าเข้าโต๊ะกลางครัว ส่วนชายหนุ่มเอาถ้วยข้าวต้มมาวางตรงหน้าแล้วตักคำเล็กส่งให้ถึงปากเด็ก รอจนเด็กชายเคี้ยวกลืนหมดแล้วถึงค่อยป้อนให้อีกคำ
คนมองสงสัยไม่หายว่าทำไมเขาถึงได้ทำตัวประหลาดขนาดนี้ ทำทีเหมือนไม่สนใจแต่ก็สนใจ ไม่อยากแตะตัวแต่ป้อนข้าวให้ เฝ้าสังเกตอยู่ตลอดว่าเด็กชายอมข้าวไว้ในปากหรือไม่ จะสำลักตอนไหน เมื่ออาหารเลอะปากก็หยิบทิชชูสามแผ่นมาวางไว้ข้างจาน มือน้อยหยิบทิชชูมาแตะปากตัวเอง หล่อนเห็นว่าไม่สะอาดจึงช่วยเช็ดให้
“ขอบคุณครับ” เดือนธันวาเอ่ยออกมาโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ความคิดเห็น |
---|