บทที่ ๘
ยิหวาอดเหลือบตามองคนหลายชื่อไม่ได้ ในบ้านกับในไร่เขาเป็นพ่อเลี้ยง กับพ่อของหล่อนเขาเป็นคุณหนู เพราะพ่ออยู่กับพ่อแม่ของเขามาตั้งแต่ชายหนุ่มยังเล็กๆ จนเมื่อมีหล่อนซึ่งพ่อสอนให้เรียกเขาว่าคุณท่าน เขาก็ยังเป็นคุณหนูของพ่ออยู่เช่นเดิม กับหล่อนเขาให้เปลี่ยนมาเรียกคุณภู และตอนนี้เขาก็เป็นดอกเตอร์เมื่ออยู่กับทีมนักวิจัยของเขา
หญิงสาวถามตนเองในใจ ยังมีอะไรอีกบ้างหนอที่หล่อนยังไม่รู้เกี่ยวกับชายผู้เป็นสามีคนนี้
“เดี๋ยวผมจะออกไปดูรายงานจากพิงค์ ถ้าเสร็จจากนี่แล้วผมยังไม่เข้ามา ฝากพาหนูดีไปแนะนำกับพิงค์ด้วยนะภัทร”
“ครับ ดอกเตอร์” ภัทรรับคำ
ยิหวาหันไปยิ้มให้คนที่ชายหนุ่มฝากฝังให้พาหล่อน ‘ทัวร์แล็บ’ ในขณะที่คนสั่งการหมุนตัวเดินออกไปจากห้อง อ้อมไปทางล็อกเกอร์ที่เขาเคยพาหล่อนมาดูหนหนึ่ง หญิงสาวเลยเดาว่าเขาคงจะไปเปลี่ยนเสื้อผ้า หล่อนจึงหันกลับมาให้ความสนใจคนตรงหน้าซึ่งชวนหล่อนคุย
“คุณหนูดีคงทราบปัญหาเกี่ยวกับมาดามปล็องติเยร์แล้ว”
“ใช่ค่ะ คุณภูบอกว่าพอโดนอากาศแล้วกลิ่นหาย” ยิหวาว่าตามที่ชายหนุ่มเคยบอก
“ครับ จริงๆ แล้วเรื่องออกซิเดชันแล้วกลิ่นหายเป็นเรื่องปกติในน้ำมันหอมของหลายๆ อย่าง แต่สำหรับมาดามปล็องติเยร์นี่รุนแรงจนกลิ่นหายหมด ไม่ใช่แค่จางลงเหมือนอย่างอื่น”
“แล้วมีทางแก้ไหมคะ” ยิหวาถาม
“ดอกเตอร์พยายามหายีนที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงอยู่ครับ ถ้าหาเจอก็คงแก้ไขได้” ภัทรตอบ
“แก้ยังไงหรือคะ”
“กดไม่ให้มันทำงานตามปกติครับ พอยีนไม่ทำงานก็ไม่เกิดปฏิกิริยา พอไม่เกิดปฏิกิริยากลิ่นก็ไม่หาย”
“คุณภูบอกว่าพยายามมาสองปีแล้ว” ยิหวาพึมพำ รู้สึกยาวนานเหลือเกินกับการพยายามแก้ปัญหาเพียงปัญหาเดียว แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ใช้ประโยชน์จากกุหลาบพันธุ์นี้อย่างที่ตั้งใจไม่ได้เลย
“ครับ ต้องใช้เวลา ยีนมีเป็นล้านๆ ตัว เดายากว่าตัวไหนที่ทำให้เกิดปฏิกิริยานี้”
“สุ่มมาจากยีนที่มีทั้งหมดเลยหรือคะ” ยิหวาถามตาโต ยีนจำนวนมหาศาล ต้องใช้เวลาอีกกี่ปีจึงจะรู้ว่าตัวไหนเป็นต้นเหตุของปฏิกิริยานี้
ภัทรยิ้มกับคำถามและสีหน้าตกอกตกใจของหล่อนก่อนจะตอบ
“ไม่หรอกครับ นักวิทยาศาสตร์มีการศึกษาวิจัยอยู่ตลอด ทำให้เราพอมีข้อมูลประกอบการ ‘เดา’ ว่าน่าจะเป็นตัวไหน จากนั้นก็มาทดลองในแล็บอีกทีว่าที่เรา ‘เดา’ นั้นถูกหรือผิด ส่วนรายละเอียดการวิเคราะห์นั้นคุณหนูดีรอคุยกับพิงค์ดีกว่าครับ พิงค์เป็นแอนะลิสต์ของเรา อยู่ในห้องเล็ก”
เมื่อเห็นสีหน้างงๆ ของคนฟัง ภัทรจึงขยายความ
“ห้องคอมพิวเตอร์ที่ติดกับแล็บนี่เองครับ ไม่รู้ดอกเตอร์เคยพาคุณหนูดีไปดูหรือยัง”
“อ๋อ ค่ะ คุณภูพาไปแล้วค่ะ แต่วันนั้นไม่มีใครอยู่” ยิหวาถึงบางอ้อ
“วันนี้พิงค์อยู่ครับ เดี๋ยวผมพาเดินดูแล็บเสร็จจะพาเข้าไปคุยกับพิงค์”
“ได้ค่ะ ขอบคุณนะคะคุณภัทร” ยิหวาว่าพร้อมยกมือไหว้ เพราะชายหนุ่มมีอาวุโสกว่าหล่อนหลายปี
ภัทรยกมือรับไหว้ภรรยาของเจ้านายแทบไม่ทัน ในใจนึกเอ็นดูที่หล่อนมืออ่อน ไม่ถือตัวว่าอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าเขา
หลังจากนั้นวิศวกรพันธุศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการของไร่ภูคีรีก็พาภรรยาเจ้าของไร่เดินดูอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องปฏิบัติการ อธิบายการทำงานของเครื่องมือแต่ละอย่าง พาดูงานทดลองที่ยังค้างอยู่ และตอบคำถามที่หญิงสาวถามอย่างละเอียด จนดูเหมือนว่า ‘ผู้เยี่ยมชม’ จะหมดคำถามแล้ว ภัทรจึงเอ่ยชวน
“เดี๋ยวไปหาพิงค์กันนะครับคุณหนูดี”
“ไปสิคะ” ยิหวาตอบรับอย่างกระตือรือร้น
หญิงสาวเดินตามชายหนุ่มไปยังประตูเพื่อออกจากห้องปฏิบัติการ แต่ยังไม่ทันถึง ผนังห้องก็เลื่อนออก และคนตัวโตที่อยู่ห้องทำงานด้านนอกก็เยี่ยมหน้าเข้ามาเสียก่อน
“อ้าว ดอกเตอร์มาพอดี ผมกำลังจะพาคุณหนูดีไปหาพิงค์เลยครับ” ภัทรบอกผู้เป็นนาย
“เสร็จแล้วหรือ งั้นไม่รบกวนคุณแล้วภัทร เดี๋ยวผมพาหนูดีไปเอง ขอบคุณนะ” ชายหนุ่มว่า
“ยินดีครับดอกเตอร์” ภัทรตอบรับแล้วเบี่ยงตัวเปิดทางให้ยิหวาเดินออกจากห้องปฏิบัติการ
เมื่อเดินไปถึงคนที่รออยู่ที่ทางเดินหน้าห้อง เขาก็ยื่นมือมาแตะข้อศอกหล่อน บอกเสียงไม่ดังนัก
“ไปสิ ไปคุยกับแอนะลิสต์ของเรากัน”
คีรีพาหญิงสาวตรงไปยังห้องคอมพิวเตอร์ซึ่งประตูปิดสนิท เคาะเบาๆ ก็ได้ยินเสียงผู้หญิงอนุญาตดังออกมาจากด้านใน จึงเปิดประตูเข้าไป
“อ้าว ดอกเตอร์ พิงค์เอารายงานไปวางไว้ให้ที่โต๊ะ เห็นหรือเปล่าคะ” คนที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เงยหน้าขึ้นมาถาม แล้วชะงักไปเมื่อเห็นว่าเขาไม่ได้เข้ามาเพียงลำพัง
“ได้แล้ว ขอบคุณครับ” ชายหนุ่มตอบ ก่อนจะหันไปหาคนยืนเคียงแล้วบอก “พิงค์ พุทธชาติ แอนะลิสต์ของเรา”
ยิหวายกมือไหว้ ในขณะที่ชายหนุ่มแนะนำตัวหล่อนต่อผู้ที่อยู่หลังโต๊ะทำงาน
“หนูดี ภรรยาผมเอง”
คนฟังทำตาโต มองผู้เป็นนายสลับกับสาวน้อยข้างกายเขาด้วยท่าทางประหลาด ก่อนจะถามตะกุกตะกัก
“เอ่อ...มีอะไรให้พิงค์รับใช้หรือเปล่าคะ”
“ผมอยากให้หนูดีเรียนรู้งานของเรา ถ้าคุณพอมีเวลา ช่วยเล่าเกี่ยวกับงานของคุณให้หนูดีฟังได้ไหม” ชายหนุ่มแจ้งความประสงค์
“ได้สิคะ ด้วยความยินดีเลย มาทางนี้สิคะ” พิงค์หรือพุทธชาติตอบรับอย่างกระตือรือร้น พลางกวักมือเรียกสาวน้อยที่มองหล่อนด้วยสายตาใคร่รู้ให้เดินอ้อมมาด้านหลังโต๊ะทำงานที่หล่อนนั่งอยู่
“ขอบคุณมากนะคะคุณ...พิงค์” ยิหวาลังเลว่าจะเรียกหญิงสาวท่าทางคล่องตรงหน้าด้วยชื่อจริงหรือชื่อเล่นดี ในที่สุดก็เลือกใช้ชื่อเล่นอย่างที่คนอื่นเรียก
“อุ๊ย คุณเคินอะไรคะ เรียกพี่พิงค์ดีกว่า คนกันเอง” พุทธชาติว่าอย่างไม่ถือตัว
“ค่ะ พี่พิงค์” ยิหวารับคำอย่างว่าง่ายขณะเดินอ้อมโต๊ะทำงานไปหาคนหลังโต๊ะ
“นั่งก่อนสิคะ” พุทธชาติเอ่ยเชิญพร้อมผายมือไปยังเก้าอี้ตัวที่ว่าง ก่อนจะหันกลับมาหาชายหนุ่มคนเดียวในห้อง “ดอกเตอร์จะอยู่ด้วยไหมคะ”
“ผมจะดูอะไรหน่อย สัญญาว่าจะไม่รบกวน คุยกันไปเถอะ” ชายหนุ่มตอบพร้อมกับเดินไปนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เครื่องที่ว่างอยู่ เปิดเครื่อง และดู ‘อะไร’ บางอย่างอย่างที่เขาบอก
“คุณหนูดีอยากรู้อะไรคะ” พุทธชาติหันไปทางหญิงสาวอ่อนวัยกว่า เมื่อเห็นหน้าตาอ่อนเยาว์ แววตาใคร่รู้ ก็รู้สึกเอ็นดู อยากจะตอบทุกคำถามที่ ‘เด็ก’ คนนี้อยากรู้
“งานของพี่พิงค์ต้องทำอะไรหรือคะ” ยิหวาถาม
พุทธชาติยิ้มให้แล้วตอบอย่างกระตือรือร้น
“พี่พิงค์เป็นแอนะลิสต์ค่ะ หรือถ้าจะเรียกอย่างเป็นทางการแบบภาษาไทยเต็มๆ ก็ว่า นักวิเคราะห์ชีวสารสนเทศ หรือวิเคราะห์ข้อมูลทางชีววิทยา อย่างสมมุติว่าดอกเตอร์อยากรู้ว่ายีนของมาดามปล็องติเยร์แตกต่างกับยีนของกุหลาบพันธุ์อื่นตรงไหน ทำไมถึงได้เกิดออกซิเดชันรุนแรง พี่พิงค์ก็จะเอาข้อมูลของกุหลาบพันธุ์ต่างๆ มาเปรียบเทียบกัน ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นะคะ รันโปรแกรมเสร็จก็จะได้ข้อมูลการเปรียบเทียบยีนของกุหลาบพันธุ์ต่างๆ จากนั้นพี่พิงค์ก็จะมาวิเคราะห์ข้อมูล แล้วก็ทำรายงานให้ดอกเตอร์”
ยิหวาฟังด้วยความทึ่ง งานของพุทธชาติเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับหล่อนและน่าสนใจมากด้วย หล่อนไม่เคยรู้ว่ามีงานแบบนี้อยู่ในโลกเลย
“แล้วพี่พิงค์ได้ข้อมูลของกุหลาบพันธุ์ต่างๆ มาจากไหนหรือคะ” หล่อนถาม
พุทธชาติมองคนถามด้วยดวงตาเป็นประกาย ชอบใจที่เด็กสาวดูอยากรู้อยากเห็น หล่อนรู้ดีว่างานของหล่อนไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก บางทีหากภรรยาสาวน้อยของผู้เป็นนายสนใจ ประเทศไทยอาจจะมีนักวิเคราะห์เพิ่มขึ้นอีกคนก็ได้ จึงตอบอย่างอารมณ์ดี
“มีศูนย์ข้อมูลทางชีววิทยาตั้งอยู่ที่อังกฤษค่ะ ชื่อเอ็มเบลอีบีไอ เป็นแหล่งให้บริการข้อมูลสำหรับทั่วโลก ฟรีด้วยนะคะ เวลานักวิทยาศาสตร์วิจัยได้ความรู้ใหม่ๆ ก็จะนำข้อมูลไปเก็บไว้ที่ศูนย์นี้ เหมือนเป็นห้องสมุดข้อมูล ใครอยากใช้อะไรก็ดึงมา พี่พิงค์อยากรู้อะไรก็ดึงข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ได้หมด” พุทธชาตินิ่งไปนิดคล้ายกับกำลังคิดอะไร ก่อนจะถาม
“คุณหนูดีรู้จักเซิร์นไหมคะ”
“เซิร์น...ศูนย์วิจัยทางฟิสิกส์ที่สวิตเซอร์แลนด์น่ะหรือคะ” ยิหวาถาม หล่อนรู้จักเซิร์นจากนิยายของ แดน บราวน์
“ใช่แล้วค่ะ เอ็มเบลอีบีไอนี่ก็เหมือนเซิร์น แต่เป็นทางชีววิทยา ในขณะที่เซิร์นเป็นฟิสิกส์”
“อ้อ...ค่ะ” ยิหวาทำเสียงรับรู้
“นั่นละค่ะ ก็เป็นแหล่งข้อมูล คราวนี้พอพี่พิงค์วิเคราะห์ข้อมูลและเขียนรายงานให้ดอกเตอร์ ดอกเตอร์ก็เอาข้อมูลนั้นไปทำงานต่อได้ ด้วยความรู้ทางด้านวิศวกรรมชีวโมเลกุลของดอกเตอร์” บอกแล้วก็หันไปมอง ‘ดอกเตอร์’ ก่อนจะหันมาทำท่ากระซิบกระซาบ
“รู้ไหมว่าดอกเตอร์เนี่ยวิศวกรพันธุศาสตร์ระดับหัวกะทิเลยนะคะ ถ้าไม่ต้องกลับมาทำไร่กุหลาบ ป่านนี้คงเป็นหัวหน้าวิศวกรอยู่อเมริกาไปแล้ว บริษัทฝรั่งมารอซื้อตัวให้พรึ่บ”
“เว่อร์ไปแล้วพิงค์” คนที่ถูกพาดพิงเอ่ยเสียงเรียบ
“อ้าว พูดจริงนี่คะ ตอนนั้นใครบ้างจะไม่รู้จักดอกเตอร์คีรี” พุทธชาติเถียงแล้วหันมาพูดกับยิหวา “ตอนนั้นดอกเตอร์เนื้อหอมมากค่ะ ใครๆ ก็เสียดายที่ดอกเตอร์ตัดสินใจกลับเมืองไทย”
“พี่พิงค์เรียนที่เดียวกับคุณภูหรือคะ” ยิหวาถาม คาดเดาเอาจากคำบอกเล่าของหญิงสาวตรงหน้า
“ค่ะ ตอนพี่พิงค์ไปถึง ดอกเตอร์กำลังจะกลับเมืองไทยพอดี แต่อย่างที่บอกว่าดอกเตอร์เป็น ‘ทอล์กออฟเดอะทาวน์’ ของคนที่นู่นอยู่พักนึงเชียวค่ะ พอพี่พิงค์เรียนจบกลับมา เลยตามมาของานดอกเตอร์ทำ”
“พี่พิงค์เรียนสาขาอะไรหรือคะ”
“ไบโออินฟอร์เมติกส์ค่ะ ภาษาไทยว่าชีวสารสนเทศ คุณหนูดีสนใจไหมคะ พี่พิงค์ให้คำแนะนำได้นะ” พุทธชาติเสนออย่างกระตือรือร้น
“สาขานี้ที่เมืองไทยมีไหมคะ” ยิหวาถามเสียงละห้อย จำได้ดีว่าเจ้าของทุนการศึกษาบอกหล่อนชัดเจนว่าเขาจะส่งหล่อนเรียนเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากสาขาวิชานี้ไม่มีเปิดสอนในมหาวิทยาลัยในเมืองไทย แม้หล่อนจะสนใจแค่ไหนก็คงอดอยู่ดี
“มีนะคะ มีเปิดสอนอยู่หลายที่เชียวละ ถ้าจำไม่ผิดที่ มช. ก็มีนะ แต่เป็นระดับปริญญาโท...ใช่ไหมคะดอกเตอร์” ท้ายประโยคพุทธชาติหันไปถามคนที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อีกเครื่อง
“อืม” ชายหนุ่มตอบรับ
“ถ้าคุณหนูดีอยากรู้อะไรเกี่ยวกับการเรียนสาขานี้ ถามพี่พิงค์ได้ตลอดเวลานะคะ รับรองเลยว่าจะตอบให้ทุกอย่าง”
ความคิดเห็น |
---|